วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Good Luck มีโชคกับโชคดีต่างกันอย่างไร

อเล็กซ์ โรบิรา กล่าวในหนังสือGood Luck ว่า “โชคนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา แต่โชคดีเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นด้วยตัวเอง ดังนั้นมันจะคงอยู่ตลอดไป”
เมื่อธนาคารทีเอ็มบีซื้อหนังสือ “Good Luck” ไปแจกลูกค้าหลายพันเล่ม ดิฉันจึงตระหนักว่าหนังสือเล่มนี้สำคัญต่อคนไทยในเวลานี้อย่างยิ่งยวด ทำไมหรือคะ ขอตอบด้วยคำคมของ แจ๊ก ลอนดอน “คนเราเกิดมามีชีวิตเดียว ไยไม่พยายามใช้ชีวิตให้เต็มที่”

เมื่อพ่อมดเมอร์ลินท้าทายเหล่าอัศวินให้ไปหาใบโคลเวอร์วิเศษแบบสี่ใบ เพราะจะนำพาโชคมาให้แบบไม่จำกัด แต่ใบโคลเวอร์นี้งอกอยู่ในป่ามหัศจรรย์ เลยภูเขาสิบสองลูกไปที่ด้านหลังของหุบเขาหลงลืม ... โอ้โห หากเราได้ยินแบบนี้ ยังอยากไปหาไหมคะ ฟังดูลำบากเลยเกิน ในหนังสือมีอัศวิน 2 นายที่ยอมรับคำท้า คนหนึ่งอาศัยโชคช่วย อีกคนหนึ่งค้นหาแบบ proactive เพื่อสร้างโชคให้กับตัวเอง ดิฉันคงไม่เฉลยตอนจบของหนังสือ แต่สิ่งสำคัญ คือ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ค่ะ

เดือนที่แล้ว ดิฉันรู้สึกแปลกใจมากที่ต้องปลุกใจรุ่นน้องด้วยคำพูดคล้าย ๆ กันหลายครั้งเหลือ นั่นคือ อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรค  ยอดเขามีหลายเส้นทางที่จะไปถึง หากทางไหนถูกปิด ย่อมมีอีกทาง สำคัญ คือ เราห้ามลืมว่าเราจะไปไหน ยอดเขาของเราคืออะไร ที่แปลกใจ เพราะดิฉันนึกว่านี่คือ common sense แต่ไม่นะคะ ดิฉันรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่บางคนยอมแพ้ง่ายมาก อาจเป็นเพราะชีวิตสะดวกสบายเหลือเกิน ต้องการอะไรพ่อแม่ก็จะหามาให้ พ่อแม่ลำบากแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าหากเจออุปสรรคด้วยตัวเอง หากใช้วิธีที่คิดไว้แล้วไม่ได้ผล ก็จบ ถือว่าทำไม่ได้

ดิฉันถูกใจที่คุณโรบิรากล่าวในกฏข้อที่ 8 ว่า “ไม่มีใครขายโชคได้ โชคดีนั้นไม่มีขาย จงอย่าเชื่อใจผู้เสนอขายโชค” เพราะทุกอย่างที่ได้มาอย่างง่ายเกินไป มักมีอะไรซ้อนเร้นเสมอใช่ไหมคะ

ถึงแม้ว่าปีใหม่ได้เริ่มแล้ว แต่ปีการศึกษานี้ยังไม่จบ ยังเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะสอบไล่แล้วนะคะ เรื่องโชคและโชคดีจึงมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแค่กับผู้ใหญ่ แต่กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ

ดิฉันอ่านใน “
12เคล็ดลับช่วยให้สมองเฉียบแหลมเริ่มจากการตื่นเช้า” ของ Yang Sung Bok มีเคล็ดลับบางข้อที่อยากแบ่งปันให้ทุกบ้านได้อ่านค่ะ เพราะความสำเร็จมาจากการเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งกายและใจ หนังสือเล่มนี้พูดถึงว่า หากเราตื่นเช้า เราจะประสบความสำเร็จในการเรียน
อันดับแรก คือ เลิกไปโรงเรียนสาย โดยการนอนแต่หัวค่ำและตื่นเช้า หากอยากตื่นเช้า ต้องหมั่นฝึกฝนค่ะ ก่อนอื่นเราต้อง
1. ตั้งเป้าหมายกับตัวเองก่อนว่า เราจะนอนแต่หัวค่ำ ตื่นเช้า ลดเวลาเล่นเกม 
2. เขียนจุดมุ่งหมายนั้นแล้วติดไว้ที่ ๆ เห็นได้ชัด เช่นประตูห้องน้ำ อ่านวันละสิบครั้ง   
3. จัดห้องให้สะอาดเรียบร้อย 
4. ลดเวลาเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต  
5. จะลำบากแค่ไหน อย่าล้มเลิกความตั้งใจเด็ดขาด เพราะการเปลี่ยนตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นได้ในวันเดียว
ต่อมาให้ขจัดอุปสรรคในการเรียน มีอะไรบ้างลองเขียนออกมานะคะ เช่น 1. ลดการกินขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะมีฟอสฟอรัส ทำให้สมองล้าง่าย 2. ลดอาหารทอด เพราะย่อยยากและการใช้ความร้อนสูงในการทอดทำให้สูญเสียวิตามิน 3. ลดน้ำอัดลม เพราะทำให้อ้วนและฟันผุ ดื่มมาก ๆ จะรู้สึกคึก ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ อยากวิ่งไปมา 4. ลดการดูโทรทัศน์ เพราะลดความสามารถให้การคิด ขาดสมาธิค่ะ

Yang Sung Bok ยังบอกต่อว่า การตื่นเช้าสามารถลดสภาวะกดดันได้ เวลาเรา (หรือเด็ก) รู้สึกกดดันจะอารมณ์อ่อนไหว เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว และร่างกายจะผลิตสารที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมค่ะ หากเรานอนหัวค่ำ ตามนาฬิกาชีวภาพ สมองจะหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน โดพามีน และเซโรโทนิน ทำให้ร่างกายฟื้นฟู ตื่นขึ้นมาอย่างกระปี้กระเปร่าค่ะ
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนช่วยลูกได้ด้วยนะคะ เช่น 
1. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของการทำงาน ให้รู้ค่าของเงิน  ให้รู้จักช่วยทำงานบ้าน 
 2. ให้ลูกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และเคารพความคิดเห็นของลูก ฝึกให้ลูกกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติตามนั้น  
3. ให้ลูกกำหนดวิธีทำโทษตัวเอง ให้เข้าใจหลักการว่า เมื่อทำผิดต้องยอมรับผิด และเรียนรู้ว่าความผิดสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่นอย่างไร 
4. อย่าใช้ของขวัญเป็นเครื่องโน้มน้าวให้ลูกขยันเรียน เพราะเมื่อโตขึ้นลูกจะให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจค่ะ
คุณโรบีรากล่าวสรุปว่า “การสร้างโชคดีก็คือการสร้างสภาวะที่เหมาะสม ... ความโชคดีจึงขึ้นอยู่กับคุณเท่านั้น”

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น