คุณคิดว่าคุณรู้จักสมาชิกในครอบครัวคุณมากแค่ไหนคะ คุณอาจตอบว่า “ลูก/พี่/น้อง/แม่ตัวเอง
ไม่รู้จักก็แย่แล้วค่ะ”
แล้วเมื่อคืนคุณคุยเรื่องอะไรบนโต๊ะทานข้าวคะ
คุณรู้สึกไหมคะว่า ทุกวันนี้เรา “คุย” กันน้อยลง เราอาจจะพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้
แต่เราไม่ค่อยได้คุยกันถึงความรู้สึกนึกคิดกัน
โลกปัจจุบันมีกิจกรรมที่ทำคนเดียวค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม
เล่น social media หรือดูโทรทัศน์ หากไม่ดูแลให้สมดุล
จะทำให้การสื่อสารระหว่างคนในครอบครัวลดน้อยลง รู้จักกันน้อยลง และขาดความเข้าอกเข้าใจกันนะคะ
ทุกคนเกิดมามีความรู้สึกนึกคิดต่างกัน
หากไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ละคนก็จะยึดติดความเห็นตนเป็นใหญ่
ตอนดิฉันฝึกงานที่สำนักพิมพ์ Scholastic
ดิฉันประทับใจปรัชญาบริษัทข้อหนึ่งมาก คือ “สร้างสังคมที่ปราศจากอคติและความเกลียดชัง”
ซึ่งทำได้จริงหากสร้างเวทีให้คนเราได้พบกับความคิดเห็น ประเด็นสังคม
และประสบการณ์ที่หลากหลาย
บทบาทของคนทำหนังสือ คือ มีเนื้อหาจากหลายแง่มุมและบริบท
และสิ่งที่ทุกครอบครัวทำได้ คือ จัดเวทีสะท้อนความคิด ซึ่งทำได้ง่าย ๆ
ที่โต๊ะทานข้าวของคุณค่ะ
ตอนดิฉันไปร้านหนังสือที่อเมริกา ซื้อ Chat Box มา 1 กล่องค่ะ
คือกล่องที่บรรจุบัตรคำถาม เป็นไอเดียหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารค่ะ
วันแรกที่เอามาเล่นที่บ้าน คำถามคือ “บ้านในฝันของคุณเป็นอย่างไร”
มีคนหนึ่งว่าดิฉันบ้าแล้วไม่คุยด้วยค่ะ แต่พอคนอื่นเริ่มพูดถึงบ้านในฝันของตัวเอง
ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก เพราะไม่เคยรู้ว่าน้องตัวเองคิดแบบนั้น แบบนี้ จนสุดท้าย
(คนที่ไม่ยอมตอบ) ก็ยอมร่วมวงด้วยค่ะ
ช่วงแรกอาจจะยากหน่อยนะคะ
เพราะพวกเราไม่ค่อยชินกับการพูดความรู้สึกตัวเอง บ้างอาจคิดว่าเสียเวลา
บ้างอาจคิดว่าคนอื่นอาจไม่สนใจ อาจจะเริ่มด้วยแบบเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ค่ะ
สมัยเด็ก
คุณแม่จะให้ดิฉันและน้องสาวผลัดกันเล่าถึงสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นในวันนั้น
หรือบางครอบครัวจะเรียกว่า High-Low ถือเป็นการฝึกคิด ฝึกพูด
ทุกวันเราจะเตรียมเรื่องมาเล่าบทโต๊ะอาหาร
ทำให้เราสังเกตสิ่งที่เราได้พบเจอระหว่างวัน และตั้งคำถามว่าเราคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ค่ะ
คุณฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ นักเขียนชาวญี่ปุ่นกล่าวในหนังสือ
“พลิกวิกฤตเป็นกำไร” ว่าเราควรทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ดิฉันขอทิ้งท้ายตัวอย่างคำถามของคุณฮาเซงาวะให้เป็นหัวข้อบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของคุณนะคะ
- เรื่องที่ได้เรียนรู้ในวันนี้คืออะไร
- วันนี้คิดไอเดียอะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง
- อะไรเป็นอุปสรรคของงาน / สิ่งที่ทำในวันนี้ สาเหตุคืออะไร
- วันนี้ได้ขยับเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นแค่ไหน
- ถ้าให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องประเมินตัวเราวันนี้ น่าจะได้กี่คะแนน
- วันนี้อารมณ์และความรู้สึกเป็นอย่างไร
- เรื่องที่ดีใจและเรื่องที่เสียใจคืออะไร
- วันนี้สภาพร่างกายเป็นอย่างไร ถ้าไม่พร้อม สาเหตุคืออะไร
การพูดคุยแบบนี้เป็นเรื่องดีนะคะ เพราะเป็นการฝึกตั้งคำถาม และ 1
คำถามมีได้หลายคำตอบ
ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมเน้นให้เราท่องจำ คำตอบที่ถูกมีแบบเดียวเท่านั้น วิธีการทำก็ต้องเหมือนกัน
ทำให้เมื่อเจออุปสรรคในชีวิตจริง ไม่รู้จะแก้อย่างไร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น