วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

สกู๊ปบทความ : เรื่องไขความลับลมฟ้าและอวกาศ

ไขความลับลมฟ้าและอวกาศ
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

ถือเป็นความโชคดีของเด็กไทยอีกครั้ง ที่ได้มีโอกาสร่วมสนุกกับกิจกรรม Science Show & Workshop หัวข้อ “ไขความลับลมฟ้าและอวกาศ” กับคุณโยอาคิม แลร์ช (Joachim Lerch) นักเขียนชื่อดังจากเยอรมนี เจ้าของผลงาน “นักวิทย์น้อยตะลุยอวกาศ” และ “นักวิทย์น้อยสำรวจภูมิอากาศ”

ที่ประทับใจพิเศษ คือ คุณโยอาคิม ไม่ได้แค่พาเด็ก ๆ ทำการทดลองอย่างเดียว แต่เล่าเรื่องราวและความเป็นมา ทำให้แต่ละกิจกรรมมีความเชื่อมโยง ทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ใครอยากรู้ว่าดิฉันหมายถึงอะไร ลองไปอ่านหนังสือดูนะคะ ก่อนจะทำแต่ละการทดลอง คุณโยอาคิมจะเล่านิทานก่อน กระตุกต่อมเอ๊ะให้สงสัย เมื่ออยากรู้ ก็ลองทำดู ทั้งสองเล่มใช้คอนเซ็ปนี้ และมีตัวละครกลุ่มเดียวกันค่ะ ถึงแม้ว่าหัวข้อครั้งนี้อาจดูหนัก แต่คุณโยอาคิมเชื่อว่าเรื่องสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แต่ต้องไม่สร้างความหวาดกลัวให้กับเด็ก ก่อนจบงาน เด็ก ๆ ช่วยกันระดมความคิดว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และปิดท้ายด้วยการเต้นรำ
ดิฉันรู้จักคุณโยอาคิมครั้งแรกเมื่อสี่ปีก่อน ตอนแรกไม่รู้ว่าเขียนหนังสือ รู้จักเพราะมีเพื่อนนักเขียนชาวเยอรมันอีกท่านบอกว่า ที่เยอรมนีมีเทศกาลวิทยาศาสตร์ที่เจ๋งมาก จัดโดยคุณโยอาคิม ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง งานใหญ่จัดช่วงเดือนตุลาคม สำหรับอายุ 9-99 ปี อีกงานเล็กหน่อยจัดช่วงเดือนพฤษภาคมสำหรับเด็กเล็ก อายุ 4-9 ปี
           ดิฉันได้มีโอกาสไปเที่ยวงานของเด็กเล็ก สนุกมาก ประทับใจที่คุณโยอาคิมสามารถเชิญภาคีมาได้เยอะเป็นร้อย ทั้งภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย และโรงเรียน ทุกบู๊ทเป็นกิจกรรมที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงทั้งหมด คุณโยอาคิมตั้งกติกาเลยว่า ใครจะมาร่วมออกบู๊ท ห้ามมาเป็นนิทรรศการ โดยคุณโยอาคิมจะช่วยแนะนำวิธีการออกแบบกิจกรรมให้สนุก ดึงดูด และเชื่อมโยงกับสินค้าหรือบริการขององค์กรนั้น ๆ งานดีมากจนจัดต่อเนื่องมา 15 ปี ขายตั๋วได้ท่วมท้น สปอนเซอร์ไม่หนี มีแต่จะขอร่วมเพิ่ม แล้วที่พิเศษ คุณโยอาคิมสามารถเชิญนักเขียนและนักแสดงวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศมาแสดง Science Show ที่เทศกาลได้เยอะมาก มี 2 คนเป็นนักเขียนเราและเคยมาทำกิจกรรมกับนักอ่านคนไทยด้วย คือ Joachim Hecker เจ้าของผลงาน “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” “50 ทดลองวิทย์ในชีวิตประจำวัน” และ “ทดลองวิทย์รอบรู้ธรรมชาติ เล่ม 1 และ 2” (เขาแนะนำให้ดิฉันรู้จักกับคุณโยอาคิมนี้) และ Andreas Korn Muller เจ้าของผลงาน “เวทมนตร์สุดมันมหัศจรรย์การทดลองเคมี”
ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นไปกับพลังชีวิตและแรงปรารถนาของคุณโยอาคิมเหลือเกิน เขาไม่ใช่แค่ครูที่ดี แต่เขามีใจนักพัฒนาโดยแท้ นอกจากงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ คุณโยอาคิมยังออกโรดโชว์ไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามโรงเรียน และโรงพยาบาลเด็ก “กิจกรรมวิทยาศาสตร์เติมพลังชีวิตให้กับเด็ก ๆ ที่ป่วยหนักได้จริง ๆ แววตาและสีหน้าของพวกเขาสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”
ช่วงหลังยุโรปมีปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยค่อนข้างมาก คุณโยอาคิมก็ไปทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับเด็ก ๆ ในค่ายลี้ภัยด้วย “วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสากล ไม่ต้องใช้ภาษา แต่เราสามารถใช้มันเป็นเครื่องมือที่จะเปิดใจของเด็ก ๆ และช่วยฝึกทักษะการสื่อสารให้กับพวกเขาได้”
คุณโยอาคิมยังเป็นผู้นำทีมไปรณรงค์เรื่องพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในมอนเตเนโกรและยูกานดาอีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่เมื่อดิฉันทราบว่าเขาเขียนหนังสือ แถมยังเป็นหนังสือการทดลองเกี่ยวกับอวกาศและภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ไม่ค่อยมีคนเขียนกัน เราจึงติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทยทันที และต้องขอขอบพระคุณสถาบันเกอเธ่เป็นอย่างมาก ที่สนับสนุนให้คุณโยอาคิมเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ เพื่อจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์กว่า 180 คนและทำกิจกรรมสนุก ๆ กับเด็ก ๆ กว่า 200 ชีวิต
ดิฉันขอปิดท้ายด้วยข้อคิดจากคุณโยอาคิม “ “ศักดิ์ศรีของนักเรียนนั้นแตะไม่ได้” หลักการของผมคือต้องให้เกียรติผู้เรียนเสมอ ล่าสุดผมจัดการแข่งขันที่ประเทศจีน ว่าใครจะต่อเส้นสปาเกตตี้เป็นโครงสร้างได้สูงที่สุด นักข่าวขอให้ผมวิเคราะห์ว่าทีมที่แพ้ทำผิดตรงไหน ผมปฏิเสธที่จะตอบ เพราะไม่มีใครทำผิดอะไร” ลองหาหนังสือของคุณโยอาคิมมาอ่านกันนะคะ

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ยืนหยัดเข้มแข็ง

ยืนหยัดเข้มแข็ง

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

มีใครเคยถูกข่มเหงรังแก (bully) บ้าง หรือมีใครเคยข่มเหงรังแกผู้อื่นบ้าง หลายคนคงจำคุณ นิค วูยิชิช เจ้าของผลงานเรื่อง “ชีวิตไร้ขีดจำกัด” “หยุดไม่อยู่” และล่าสุด “ยืนหยัด เข้มแข็ง” ได้ คุณนิคไม่มีแขน ไม่มีขา กำเนิดมาพร้อมกับโรค... ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณนิคจะประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยเหลือคนทั่วโลกนับล้าน มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ภรรยาแสนสวยและลูกที่แสนน่ารัก แต่คุณนิคก็เคยผ่านมรสุมชีวิตมามาก เคยเกือบยอมแพ้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีทำให้ตัวเองจมน้ำระหว่างอาบน้ำ
แน่นอนว่า คนที่มีรูปกายแตกต่างอย่างเด่นชัดอย่างคุณนิคคงถูกข่มเหงรังแกมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือทางวาจา แต่แท้จริงแล้วการข่มเหงรังแกมาในหลายรูปแบบ ลองยกตัวอย่างในโรงเรียนนะคะ เด็กบางคนอ้วนพิเศษ สูงโย่งพิเศษ ผิวขาวพิเศษ (เผือก) ผิวดำพิเศษ สิวเยอะเป็นพิเศษ ยากจนเป็นพิเศษ รวยเวอร์เป็นพิเศษ คือแตกต่างจากชาวบ้าน ก็จะถูกล้อเลียน บางครั้งรุนแรง จนทำให้เหยื่อมีปัญหาทางจิต หรือถูกทำร้ายร่างกายบ้างก็มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจได้ ทำอย่างไรให้คนเราไม่ยึด “สิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็น” เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรให้คนที่ถูกข่มเหงรังแกสามารถยืนหยัดเข้มแข็งจากภายในได้ คุณนิคบอกว่า “ถ้าคุณโดนข่มเหงรังแกสิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือการกลั่นแกล้งคำพูดเยาะเย้ยและการกระทำร้ายกาจของพวกเขาแท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวคุณ หรือความบกพร่องใด ๆ ที่คุณอาจมีหรือพฤติกรรมใดๆ ของคุณเลย อันธพาลมีปัญหาของเขาเองจึงแกล้งคุณเพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นเพื่อระบายความโกรธ เพื่อให้รู้สึกมีอำนาจมากขึ้นหรือบางครั้งอาจเพียงเพราะไม่รู้จะทำอะไรดี”

ในงานเปิดตัวหนังสือ “ยืนหยัด เข้มแข็ง” คุณโรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิ The Rainbow Room แบ่งปันว่า “เราไม่รู้หรอกว่าจะถูกข่มเหงรังแกเมื่อไร แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยให้วิธีการรับมือกับวิกฤติการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างมีเกียรติ โดยไม่ทำร้ายคนอื่นด้วย”
ในหนังสือ คุณนิคแบ่งปัน “ระบบป้องกันการข่มเหงรังแกจากภายใน” 10 ข้อ วันนี้ขอเล่าแค่สี่ข้อนะคะ อันดับแรก เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเราเป็นใคร อันธพาลจะได้ไม่ทำให้เราไขว้เขว อันดับที่สอง เราต้องรับผิดชอบพฤติกรรมและความสุขของเราเอง อันธพาลจะได้ไม่มีอำนาจเหนือเรา อันดับที่สาม กำหนดค่านิยมที่ชัดเจน จนไม่มีอันธพาลคนไหนมาโยกคลอนได้ อีกข้อ คือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยภายใน เป็นที่ที่ไม่ให้อันธพาลหรือใครที่ไหนทำให้เรารู้สึกแย่ได้
ด้วยข้อสุดท้าย คุณนิคยังมีตัวอย่างคำถามที่ให้เราถามตัวเองเพื่อค้นพาพื้นที่ปลอดภัย 13 ข้อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครอง เพื่อน หรือครูชมเชยคุณในเรื่องใดบ่อยที่สุด คุณชอบทำอะไรมากที่สุด อะไรที่ปลอบประโลมจิตวิญญาณของคุณและทำให้คุณทุ่มเทกายใจจนลืมทุกอย่างไปหมด เป็นต้น 

คุณนิคบอกว่า หลายคนที่ถูกรังแกกลายเป็นอันธพาลเสียเอง สุดท้ายเป็นวงจรอุบาทว์ จึงมีความตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อทำลายวงจรนี้ พวกเราทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ ขอให้ช่วยกันแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับเพื่อน พี่น้อง ผู้ปกครอง ครู และใครก็ได้ที่คิดว่าจะมีประโยชน์ ติดตามเรื่องราวของคุณนิคได้ที่ www.facebook.com/nickvujicic

ยังมีหนังสือดี ๆ อีกหลายเล่มที่ปลูกฝังให้เราอยู่ร่วมกับคนที่ต่างกับเราได้อย่างสุนทรีย์ เช่น Nancy The Cat (โดย Ellen Sim เกี่ยวกับหนูที่อุปถัมภ์แมวเป็นลูก) เมาคลีลูกหมาป่า (โดย Rudyard Kipling เกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่ถูกหมาป่าอุปถัมภ์) คิดแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (โดย Hong Seo-yeo เกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญของโลกที่มองต่างมุม เช่น บีโทเฟน ดาวินชี เป็นต้น) ลูกเป็นคนพิเศษนะ (โดย Ann Meek เกี่ยวกับเด็กที่มักถูกเพื่อนกีดกันไม่ให้เล่นด้วย) 

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

8th Wonder of the World

8th Wonder of the World
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

     ไม่ว่าหนังสือ “Discover New Zealand Travel Guide” โดย Lonely Planet” และ “ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” โดย Gomdori Co. จะดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถสะท้อนถึงความมหัศจรรย์ของดินแดนกีวีอย่างนิวซีแลนด์ได้ จึงขอนำความประทับใจมาเล่านะคะ
·                     เที่ยว Mou Waho Island Nature Reserve (ทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเล) กับ Chris Riley เจ้าของรางวัลท่องเที่ยวแบบรักษาธรรมชาติ คอนเซ็ป คือ “เกาะจะต้องมีสภาพที่ดีขึ้นกว่าก่อนมา” ครั้งนี้เราเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่ 6,0001 ที่ได้ปลูกต้น Totara บนเกาะนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่อยากปลูกอะไรก็ปลูก คริสต้องขอใบอนุญาตปลูกต้นไม้บนโมวาโฮ โดยต้องเอาเมล็ดที่ร่วงบนเกาะไปเพาะต้นกล้าที่บ้าน แล้วค่อยมาลงดินบนเกาะตามเดิม ตอนที่คนยุโรปมานิวซีแลนด์ใหม่ ๆ เอาต้นสน Racliata มาปลูกเยอะมาก หนามและรูปทรงของมันทำให้นกไม่สามารถวางไข่ได้อย่างปลอดภัย หกปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงต้องทะยอยตัดต้นสนนี้กว่าหกพันต้น (ยังไม่หมด) เพราะไม่งั้นจะปกคลุมไปทั้งเกาะภายในปี 2020 สะท้อนให้คิดว่า ต้นไม้ที่พวกเราไป “ปลูกป่า” มันถูกกับระบบนิเวศเดิมหรือไม่



·                  การอนุรักษ์สัตว์สงวนบนโมวาโฮ เช่น นก Weka ที่แสนเด๋อ (ซื่อมากจนถูกกิน) และแมลง Weta (ที่ฟื้นคืนชีพได้หลังจากถูกแช่แข็งนานกว่าหกร้อยปี!) เจ้าหน้าที่อุทยานจะวางกับดัก (ไข่สด เปลี่ยนทุกห้าสัปดาห์) ไว้ทั่วเกาะ เพื่อจับตัวเพียงพอนหางสั้น ซึ่งว่ายน้ำข้ามทะเลสาบมากิน Weka (สุดยอดไหมคะ) และในการอนุรักษ์แมลง Weta นักเรียนจาก Mount Aspiring College ออกแบบและสร้าง Weta Motel 40 หลัง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นก (รวมถึง Weka) กิน “เทพเจ้าแห่งความอัปลักษณ์” (สมญานามที่ชนเผ่าเมารีตั้งให้) ถือว่าเป็นโครงงาน STEM ชั้นเลิศ
·                 สัมผัสเสียงดังกัมปนาทและพลังของน้ำตก จนเปียกไปทั้งตัวใน Milford Sound ที่ Fjordland National Park ทำให้รู้ซึ้งว่ามนุษย์เราเป็นเพียงเศษธุลีของจักรวาล ช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน แต่ที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้เราจะเห็นน้ำตกนับพันสาย แต่มีของจริงเพียงสามสาย นอกนั้นคือน้ำฝน (เยอะและแรง) ที่ตกลงมาตามร่องบนภูเขา ซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ ที่นี่ฝนตกเยอะมาก ประมาณ 10 เมตรต่อปี (ปกติเขาจะวัดเป็น  มม.) มากเกือบหนึ่งเท่ากว่าป่าอะเมซอนเสียอีก
·                เดินขึ้นเขา Key Summit ใน Fjordland National Park ถึงแม้ไม่เห็นวิวอะไรเพราะหมอกบัง แต่การที่เดินจนสุด เติมเต็มความภูมิใจ ตอกย้ำว่า เวลาเราจะทำอะไร ต้องทำจนสุด อย่ามีข้ออ้าง ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ
·         ผจญสายฝนในหุบเขา Hooker Valley ที่ Mount Cook เพราะไม่เคยเดินในหุบเขา และเพราะเดินจนสุด ไม่ยอมแพ้เดินกลับทั้ง ๆ ที่เปียกและหนาวมาก ทำให้ได้ไปเจอทะเลสาบจากธารน้ำแข็ง น้ำอร่อยมากเช่นกัน
·         เดินบนธารน้ำแข็ง Tasman ด้วยรองเท้าหนามกับ Charlie Hobbs ไกด์ผู้มากประสบการณ์แสนถ่อมตน (อดีตหัวหน้าหน่วยกู้ภัยในแอนตาร์ติกาและอีกมากมาย) ประทับใจความอึดของเขาในการสู้รบกับรัฐบาลเป็นสิบปี กว่าจะเปิดร้านอาหาร The Old Mountaineer ด้วยปัญหาข้อระเบียบที่อยุติธรรมและมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ The Hermitage ซึ่งผูกขาดกิจการในอุทยาน คงไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีปัญหานี้ เส้นใหญ่เท่านั้นถึงจะรุ่งเรือง (น้ำอร่อยอีกแล้ว)

·                   ฟันยัค (Funyak – คล้ายล่องแก่งบนเรือยาง) บนแม่น้ำ Dart River เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นลักษณะแม่น้ำแบบ Braided River (เกิดขึ้นจากธารน้ำแข็ง มีเฉพาะในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ อะแลสกา แคนาดา หิมาลัย) และพบว่าน้ำใน Dart River ช่างอร่อยเหลือเกิน ไกด์ทุกคนต้องผ่านการเรียนเรื่องระบบแม่น้ำอย่างดี เพื่อสามารถกู้ภัยได้ทันที ทำให้เห็นว่าโลกนี้มีหลายวิชาชีพเหลือเกิน และทุกวิชาชีพต้องมีความรู้ การฝึกซ้อม และการประเมินคุณภาพ
·                เผชิญกับความกลัวตอนกระโดดบันจี้จากสะพานคาวาราว ก่อนจะกระโดด ดิฉันหันไปบอกเจ้าหน้าที่ว่า “ฉันคงทำไม่ได้แน่ ๆ” แต่พอเขาบอกว่า “เธอทำได้แน่นอน เงยหน้าขึ้น แล้วกระโดด” ก็ทำได้


สุดท้าย ขอยกนิ้วโป้งพร้อมยืมสมญานามที่ Riyadh Kipling มอบให้นิวซีแลนด์ว่า “8th Wonder of the World!






วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

สอนให้เด็กรักธรรมชาติ

สอนให้เด็กรักธรรมชาติ
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

เดือนที่แล้ว ดิฉันและคุณแม่ไปเที่ยวอุทยานที่นิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น เดินกันยาวนานถึงแปดชั่วโมง ผ่านน้ำตก 4 สาย ป่าสน หนองบึง สู่ทะเลสาบ ต้องยกมือให้การท่องเที่ยวของเขาที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวอย่างดี ทั้งครอบครัวที่มีลูกเล็กจนถึงสองตายาย ทั้งการทำแผนที่ ทำทางเดินที่สะดวก ที่สำคัญ ไม่ทำลายธรรมชาติ ต้นไม้ที่ล้มจะไม่ถูกเคลื่อน ยกเว้นขวางทางเดิน บางช่วงเมื่อเหลียวมองข้างทาง จะเห็นรากไม้สวยตระหง่านตั้งมุมฉากกับพื้น

ดิฉันประทับใจพ่อแม่ที่พาลูก ๆ มาเที่ยว ถึงแม้ว่าฝนจะตก ทุกคนก็ใส่เสื้อกันฝนค่อย ๆ เดินอย่างสบายใจ เด็ก ๆ ตื่นตาตื่นใจมาก หยุดชี้และตั้งคำถามกับทุกสิ่ง ตั้งแต่ใบไม้ แมลง ดอกไม้ หรือสาหร่ายที่ถูกดึงตามสายน้ำ ดิฉันเองยังสงสัยมากว่า น้ำแรงขนาดนั้น ทำไมสาหร่ายจึงไม่ขาด ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ รักธรรมชาติ ต้องออกมาเจอของจริงค่ะ
นอกจากไปสัมผัสของจริง หนังสือยังเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอด ทีมงานของดิฉันจัดพิมพ์หนังสือ “นิทานวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กช่างสงสัย” มี 6 หมวดใหญ่ คอนเซ็ปของหนังสือต้องการ “ชักชวนให้เด็ก ๆ มาเริ่มทำความรู้จักวิทยาศาสตร์ผ่านนิทานแสนสนุก อธิบายหลักการวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีง่าย ๆ อาศัยเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เด็กพบเห็นจริง พร้อมกิจกรรมท้ายเล่มให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ”
การใช้นิทานเป็นเครื่องมือจุดประกายเป็นสิ่งสำคัญมากนะคะ ดิฉันอยากชวนคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูก ๆ ฟังทุกคืน ถึงแม้ว่าลูกจะโตเกินกว่าจะอ่านนิทาน อ่านเปลี่ยนเป็นอ่านวรรณกรรมเยาวชนให้ลูกฟังก็ได้ แล้วจะสลับให้ลูกอ่านให้เราฟังก็ได้ค่ะ
สิ่งที่ต้องการ คือ เรื่องราวในนิทานหรือวรรณกรรมจะกระตุกต่อมเอ๊ะให้รู้สึกสงสัยในสิ่งที่เกิดขึ้น จนเด็ก ๆ ต้องไปค้นคว้าหาความรู้ต่อว่ามันเป็นแบบนั้นได้อย่างไร ซึ่งอาจไปสืบเสาะจากของจริงในสวนหลังบ้าน สวนสาธารณะ อุทยานแห่งชาติ หรือผ่านหนังสือแนวเสริมความรู้ สารานุกรม การ์ตูนความรู้เป็นต้น หากจะต่อยอด เมื่อไปค้นความรู้เสร็จ อาจสงสัยต่อว่ามันจริงอย่างที่หนังสือพูดหรือเปล่า ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการทดลองค่ะ
สุดสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันและเพื่อน ๆ ไปเที่ยวภูหินร่องกล้า มีโอกาสเห็นลานหินปุ่มและลานหินแตก รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ได้เห็นปรากฏการณ์ธรนีวิทยาที่เคยเรียนในวิชาภูมิศาสตร์ด้วยตาของตัวเอง ก่อนหน้านี้เคยเห็นแต่ในหนังสือ เลยอยากบอกทุกคนว่า หากอยากเห็นพื้นหินจากมหาสมุทรที่ถูกดันขึ้นมาเป็นภูเขา ให้มาดูที่นี่ เมื่อเห็นของจริง จะเรียนเข้าใจและสนุกมากขึ้นไปอีก
ยังไม่พอ เราไปต่อกันที่ภูทับเบิก เห็นทะเลหมอกที่สวยงาม ดิฉันตั้งคำถามว่า หมอกกับเมฆเหมือนกันหรือเปล่า แต่ละคนก็มีคำตอบต่างกัน ความขัดแย้งทางความคิดหรือความเข้าใจแบบนี้แหละค่ะที่จะเป็นตัวผลักดันของการเรียนรู้ชั้นดี กลับมาบ้านต้องรีบมาหาคำตอบในหนังสือ ก็มาเจอคำตอบในหนังสือ “สารานุกรมทำไม เฉลยสารพันข้อสงสัยที่คาใจเด็ก ๆ” โดย Choi, Hyang-Suk พอดี เพราะฉะนั้น หากเราอยากให้เด็ก ๆ (หรือแม้ผู้ใหญ่) กระหายเรียนรู้อย่างไร ต้องพาไปเจอปรากฏการณ์แปลกใหม่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมาก ๆ แล้วชวนคุยต่อ เห็นอะไร เพราะอะไร คิดอย่างไร เป็นต้น อยากให้เด็ก ๆ ชื่นชมธรรมชาติอย่างไร ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก


ขอปิดท้ายด้วยบทส่งท้ายของหนังสือ “สิ่งมีชีวิตในป่า” โดย Tatsuhide Matsuoka “ป่าดงดิบของโลกเรานี้ได้ถูกทำลายลง ทำให้พื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 170,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี (1 ใน 3 ของประเทศไทย) ซึ่งแน่นอน พรรณสัตว์ พืชนานาชนิดที่เคยมีอยู่ก็สูญสิ้นไปก่อนที่มนุษย์จะได้รู้จักพบเห็นอีก การสูญเสียนี้มีได้เพียงครั้งเดียว เพราะจะไม่มีการเกิดขึ้นทดแทนได้อีก ... หนังสือภาพนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจสิ่งมีชีวิตบนโลก แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี และหากป่าดงดิบยังคงอยู่ ความฝันที่มนุษย์จะได้พบสิ่งมีชีวิตและความรู้ใหม่ ๆ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เที่ยวอาสา ณ Elephant Nature Park



ตั้งแต่เปิดตัวหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง” ของคุณหนูนา กัญจนา ศิลปอาชา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดิฉันนึกอยากมาเยี่ยม คุณเล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park (ต้นตอของเรื่องในหนังสือ) มาตลอด เพราะอยากรู้จริง ๆ ว่าอะไรผลักดันให้หญิงเหล็กคนนี้ช่วยเหลือช้างไทยมากกว่า 200 ตัว และหากนักท่องเที่ยวไม่ควรสนับสนุนการขี่ช้าง ดูโชว์ช้าง หรือซื้ออ้อยให้ช้างกินบนท้องถนนในกรุงเทพฯ (อ่านความจริงแสนทารุณที่ช้างพวกนี้ต้องเจอได้ในหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง”) เราจะสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยและเชยชมความน่ารักของช้างได้อย่างไร

นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมาเยือนแบบวันเดียวและค้างคืนแล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้มา “เที่ยวอาสา” ด้วย ส่วนมากอาสาสมัครจะมาอยู่ที่นี่หนึ่งสัปดาห์ ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับ Holly Wilson สาวน้อยวัย 23 จากแคลิฟอร์เนีย เธอฝันที่จะท่องเที่ยวและทำงานอาสาสมัครไปพร้อมกัน

“อาสาสมัครส่วนมากมาจากอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย พวกเราจะถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 คน ทุกเช้าตื่นหกโมง ทานข้าวเจ็ดโมง ทำงานสองกะ กะเช้าเริ่มแปดโมง กะบ่ายเริ่มบ่ายโมง กะละประมาณ 3 ชั่วโมง เวียนงานไปเรื่อย ๆ งานที่ทำอาจไม่ได้อยู่กับช้างโดยตรง แต่เป็นงานที่จะช่วยให้ช้างอยู่สบายและทำให้ศูนย์ฯ ดำเนินงานได้ ได้แก่ ทำความสะอาดที่นอนของช้าง คือ เก็บอึและอาหารที่เหลือให้ที่นอนสะอาด เตรียมอาหารช้าง เช่น เอาแตงโมออกจากหลังรถ (เยอะมาก ซื้อทีละสี่ตัน เพราะช้างกินเยอะมากถึง 10% ของน้ำหนักตัว) ล้างให้สะอาด ไม่ให้มีสารเคมีตกค้าง หรือไม่ก็ไปตัดอ้อยหรือข้าวโพด” Holly บอกว่าตัดอ้อยยากหน่อย เพราะมีหนามแหลม ต้องใส่ถุงมือ ตัดข้าวโพดจะง่ายกว่า แต่ใครได้เวรตัดข้าวโพด ต้องไปทั้งวัน เพราะต้องนั่งรถออกไปประมาณหนึ่งชั่วโมง



“ฉันมีความสุขมากที่ได้มาที่นี่ นอกจากทำงานแล้ว ฉันยังได้ไปเดินเล่นกับช้าง เดินทีสามชั่วโมง ได้เจอช้างมากกว่ายี่สิบตัว แล้วไกด์ก็ให้ความรู้และเล่าประวัติช้างแต่ละตัวอย่างรู้จริง ตัวไหนไปช่วยมาจากคณะละครสัตว์ ตัวไหนถูกเจ้าของเดิมทำให้ตาบอด ก่อนฉันมาที่นี่ ฉันท่องเที่ยวไปทั่วประเทศไทย พักที่ฮอลเท็ล บรรยากาศก็จะโกลาหลหน่อย มีฉากปาร์ตี้เยอะ แต่ที่นี่ เราอยู่ท่างกลางป่าเขาลำเนาไหน สวยงามมาก”

“ฉันประทับใจทีมงานที่ทำงานอย่างตั้งใจจริง เช่น เวลาพวกเราปั้นข้าวเป็นลูกกลม ๆ ให้ช้าง ทีมงานจะตรวจละเอียดว่าพวกเราปั้นก้อนเท่ากันตามมาตรฐานไหม เพราะหากไม่เท่า ช้างจะรู้สึกไม่ยุติธรรม อาจมีน้อยใจหรืออิจฉาได้ ช้างก็จะเคืองกันและอิจฉากัน คือใส่ใจลงรายละเอียดจริง ๆ และตอนนี้ที่นี่ไม่ได้ช่วยแค่ช้าง แต่มีช่วยเหลือสุนัขจรจัดจากตอนที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมหลายปีก่อนด้วย ตอนนี้มีสุนัขกว่า 400 ตัว”

ดิฉันถามคุณเล็กถึงที่มาของโครงการอาสาสมัคร “องค์กรที่ทำงานเรื่องสัตว์ส่วนมากเน้นรับการสนับสนุนเป็นเงิน แต่โครงการอาสาสมัครจะช่วยสร้างความยั่งยืน เพราะพี่คิดว่าเป็นการให้การศึกษา เป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนที่จะส่งต่อสารไปในวงกว้าง เพราะเราได้เปิดใจให้พวกเขาเข้าใจเรื่องช้าง คนกลุ่มนี้จะมีพลังนำข้อมูลและความประทับใจไปสื่อสารให้เพื่อนต่อได้”

ดิฉันเห็นถึงความสำคัญของการอาสา ช่วงเวลาที่เราได้ทำประโยชน์ เราภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง ช่วงเวลาที่เราได้ปฏิสัมพันธ์กับ “ชุมชน” และกับเพื่อนอาสาสมัครต่างถิ่น เราได้เปิดโลกทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองชีวิต ตอนนี้เวลาสัมภาษณ์พนักงานใหม่ก็จะพิจารณาคนที่เคยออกค่ายมากเป็นพิเศษ

ลองไปเที่ยวอาสา (หรือเที่ยวเฉย ๆ ) ที่ศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park นะคะ

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน


หากใครเคยมาเที่ยวศูนย์วิทยาศาตร์ Phaenomenta ที่นานมีบุ๊คส์ สุขุมวิท 31 จะสังเกตว่า ที่นี่แปลกกว่าที่อื่น เพราะไม่มีบอกวิธีเล่นและไม่มีคำอธิบายว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร นี่เป็นแนวคิดของ Dr.Lutz Fiesser ผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ Phaenomenta ประเทศเยอรมนี ปัจจุบันมี 3 สาขา

Dr.Fiesser ต้องการปฏิวัติการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ที่ผู้สอนกรอกข้อมูลใส่หัวผู้เรียน โดยไม่รู้เลยว่าผู้เรียนสนใจไหม รับได้ไหม แบบที่เราพูดกันว่า “ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา” Dr.Fiesser บอกว่าการเรียนรู้มี 2 แบบ มีเบบี๋คนหนึ่งได้ตุ๊กตาหมาเป็นของขวัญ (ตั้งชื่อว่าจูลี่) กินนอนกับจูลี่ตลอด หากวันหนึ่งได้เจอหมาตัวจริง เบบี๋จะเชื่อมโยงทันทีว่าหมาคือจูลี่ จูลี่คือหมา Dr.Fiesser เรียกกระบวนการนี้ว่า Assimilation หรือซึมซับ แต่หากวันหนึ่งเบบี๋เจอเป็ด เกิดมาไม่เคยเห็นเป็ดมาก่อน ทำให้สับสนมากว่าคืออะไร กระบวนการนี้สร้างความขัดแย้งในสมอง ทำให้ไม่สมดุล ด้วยธรรมชาติ จะต้องพามาสมดุล เบบี๋ก็จะพยายามทำความเข้าใจ จนสุดท้ายรู้ว่า นี่คือเป็ด กระบวนการนี้คือ Accommodation ความตั้งใจของ Dr.Fiesser ในการก่อตั้ง Phaenomenta ก็คือสร้างบ้านแห่ง Accommodation นั่นเอง คือ สร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจขัดแย้งกับสิ่งที่เคยนึก และด้วยการปฏิบัติจริง ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด และการสนทนา ต่อล้อต่อเถียง เด็ก ๆ จะสร้างความเข้าใจขึ้นมาได้เอง

ปัจจัยที่จะทำให้กระบวนการนี้สำเร็จ คือ ต้องมีเวลา และผู้ใหญ่ห้ามรบกวนกระบวนการเรียนรู้นี้ นั่นคือ ครูห้ามบอก ห้ามถาม ห้ามแจกใบงาน

เวลาเท่าไรจึงจะพอ เมื่อโรงเรียนพาเด็ก ๆ มาทัศนศึกษา ก็มีเวลาแป๊บเดียว และไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะพาลูกมาซ้ำ หากจะขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาออก เราก็ต้องเอาศูนย์วิทยาศาสตร์ไปไว้ที่ที่เด็ก ๆ อยู่ตลอดเวลา นั่นคือโรงเรียน นี่คือต้นกำเนิดของโครงการ Mini Phaenomenta การสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งตอนนี้มาประเทศไทยแล้ว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นานมีบุ๊คส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีสถาบันเกอเธ่เป็นผู้สนับสนุนอีกแรง

คุณอาจถามว่า มันแพงเกินไปไหม ที่แต่ละโรงเรียนจะต้องลงทุนสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ Dr.Fiesser จึงได้ออกแบบและคัดเลือกบางสถานีการทดลองจาก Phaenomenta มาดัดแปลงให้สร้างได้ง่าย ใช้วัสดุที่ไม่แพง ทำวิจัยมากว่า 20 ปี จนออกมาเป็น 52 สถานีที่ผู้ปกครองสามารถสร้างได้เพื่อมอบให้โรงเรียน
ใช่แล้วค่ะ ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างนะคะ ตอนแรกดิฉันแลกเปลี่ยนกับ Dr.Fiesser ว่า พ่อแม่คนไทยไม่ยอมทำแน่นอน มีเงิน ยินดีจ้าง

Dr.Fiesser จึงออกแบบวิธีการของโครงการนี้ คือ เราต้องทำให้ครูเห็นภาพก่อนว่า การสร้างสถานี (ส่วนมากเป็นงานไม้) ง่ายนิดเดียว ทุกคนทำได้ และต้องสร้างความเข้าใจของกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ก่อน จากนั้น โครงการจะเอาสถานี Mini Phaenomenta ไปให้ยืมที่โรงเรียน 2 สัปดาห์ ตั้งไว้ตามทางเดินของห้องเรียน ดิฉันคงยังไม่ลงรายละเอียดมาก แต่จุดสำคัญ คือ โรงเรียนจะต้องนัดให้ผู้ปกครองมาดูปฏิกิริยาที่เด็ก ๆ มีต่อ Mini Phaenomenta ในสัปดาห์ที่สอง ผู้ปกครองจะเห็นเลยว่า เด็ก ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้น ผู้ปกครองก็สามารถลงชื่อเป็นอาสาสมัครช่วยสร้างสถานี รับไปบ้านละสถานี ครูที่ผ่านการอบรมมาแล้ว จะช่วยคุยกับผู้ปกครองให้ว่า ทำได้ง่ายมาก อีกอย่าง หากผู้ปกครองสร้าง เด็ก ๆ จะช่วยกันดูแลสถานีอย่างภูมิใจ มันจะยั่งยืนกว่าด้วยค่ะ

โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อปี 2002 ครั้งที่ OECD จัดการประเมินระดับนานาชาติ PISA เป็นครั้งแรก ผลการประเมินของเยอรมนีตกต่ำมาก ภาคอุตสาหกรรมไปขอร้องให้ Dr.Fiesser ช่วยคิดเครื่องมือที่จะมาช่วยเด็กเยอรมนี จนออกมาเป็น Mini Phaenomenta แบบทุกวันนี้

พวกเราทีมไทยก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ สองสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเชิญ Dr.Fiesser และวิทยากรอีก 4 ท่านมาอบรม Core Trainer หรือวิทยากรหลัก เพื่อที่เราจะได้ขยายผลสู่โรงเรียนในประเทศไทยได้ ถือเป็นสองสัปดาห์ที่สนุกสนานและปลุกเร้าจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างยิ่ง

หากคุณเป็นผู้ปกครองที่สนใจสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ Mini Phaenomenta ให้กับโรงเรียนของลูกหลาน อีเมลมาหาดิฉันเลยนะคะ 

วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ฟังเสียงน้ำเลี้ยงไหลวนใต้เปลือกไม้

การปลูกฝังให้เด็กรักและชื่นชมธรรมชาติทำได้ง่ายจากการอ่านหนังสือและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของสิ่งรอบตัว
เมื่อวานดิฉันได้รับเกียรติร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือนิทาน “ฉันชื่อ...เจน” โดย Patrick McDonnell ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 “ฉันชื่อ...เจน” ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ ดร.เจน กูดออลล์ นักสัตววิทยาชื่อดังของโลก เชี่ยวชาญเรื่องลิงชิมแปนซี ปัจจุบันเป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่สร้างความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ว่าลิงชิมแปนซีไม่ได้เป็นสัตว์พื้นเพของประเทศไทย  ดิฉันตกหลุมรัก “ฉันชื่อ...เจน” เพราะมันพาเรากลับไปความคิดพื้นฐานที่สุด คือ ความเรียบง่ายที่สวยงามของธรรมชาติ ในหนังสือ เจนเป็นเด็กหญิงที่รักสัตว์มาก มีตุ๊กตาลิงชิมแปนซีชื่อจูบิลี เจน (และจูบิลี) ชอบออกไปเล่นนอกบ้านที่สุด ชอบดูนกทำรัง ดูแมงมุมชักใย ดูกระรอกวิ่งไล่กันไปมา ไต่ต้นไม้ เจนรียนรู้เรื่องสัตว์เพิ่มเติมจากการสำรวจสวนหลังบ้านและอ่านหนังสือ เมื่อเจนสงสัยว่าไข่มาจากไหน ก็จะแอบไปดูไก่ไข่ในเล้าไก่ของคุณยาย
Patrick McDonnell เขียนว่า “นี่คือโลกมหัศจรรย์ที่มีแต่เรื่องสนุกและน่าทึ่ง เจนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้” จะดีไม่น้อย หากพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเตือนใจตัวเองได้ทันกาล เมื่อรู้สึกย่อท้อและหมดหวัง เปลี่ยนหน้าเครียดเป็นรอยยิ้มกว้าง เมื่อเห็นพลังของธรรมชาติที่แสนลี้ลับและพิศวง
ดวงอาทิตย์ที่กลมดิก จันทร์เสี้ยวที่ยิ้มให้เรา เสียงนกที่หยอกล้อกัน หรือแม้กระทั่ง “เสียงน้ำเลี้ยงที่ไหลวนอยู่ใต้เปลือกไม้” ที่เจนชอบแนบแก้มฟัง และ “เสียงหัวใจที่กำลังเต้น ตึ้กตั้ก ตึ้กตั้ก ตึ้กตั้ก”
ดร.เจน กูดออลล์ เกิดมาในบ้านที่ไม่ค่อยมีเงิน รักสัตว์และธรรมชาติตั้งแต่เด็ก มีความฝันอยากไปแอฟริกาตั้งแต่ 10 ขวบ ไปอยู่กับสัตว์ อยากไปอยู่ในป่าเหมือนทาร์ซาน (ที่มีแฟนชื่อเจน!) และเมื่อโอกาสมาถึง เธอก็คว้ามันทันที เจนไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย เธอไม่ได้เป็นนักสัตววิทยา
ความจริงแล้วงานแรกของเธอในแอฟริกาคือเป็นเลขาให้นักมานุษยวิทยา หลุยส์ ลีกกี้ แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่รักสัตว์ ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม และค้นหาศึกษาหาคำตอบ มุ่งมั่น และใจเย็น ลีกกี้ก็มอบหมายให้เจนไปศึกษาลิงชิมแปนซีที่แทนซาเนีย ซึ่งต้องบุกเข้าไปในป่าเอง มีผู้ติดตามไม่กี่คน ที่สำคัญต้องอยู่นาน กินนอนในนั้นเลย ครั้งนี้เจนชวนแม่ของเธอเข้าไปด้วย
ศึกษา เฝ้ามองอยู่นาน เจนค้นพบว่าลิงชิมแปนซีประดิษฐ์และใช้เครื่องมือได้ คือ อยู่ดี ๆ ชิมแปนซีก็หักกิ่งไม้ รูดใบไม้ออก แล้วแหย่ไม้เข้าไปในรังมด เหตุการณ์นั้นทำให้โลกต้องหวนคิดว่า “สิ่งใดทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์” แต่เจนเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีปริญญา เส้นทางชีวิตของเจนต้องต่อสู้ทางความคิดกับนักวิทยาศาสตร์หัวเก่ามากมาย
40 ปีในแอฟริกา เจนเห็นถึงปัญหาตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำลายที่อยู่ธรรมชาติของลิงชิมแปนซี แต่เจนก็พบว่า การที่มนุษย์ตัดป่าเพราะยากจน ไม่มีอะไรกิน สร้างแรงบันดาลใจให้ ดร.เจน ก่อตั้งสถาบันเจน กูดออลล์ ขึ้น ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องช่วยให้ชุมชนใกล้ป่าเพาะปลูกอาหารได้มากขึ้น และสอนให้ผู้คนรู้จักวิธีปกป้องสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียง สถาบันฯ ยังมีโครงการชื่อ “Roots and Shoots” เชิญชวนคนหนุ่มสาวให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม และลุกขึ้นมาแก้ปัญหานั้น ปัจจุบันมีเครือข่ายในกว่า 120 ประเทศ
ดร.เจน กล่าวความในใจในหนังสือว่า “เราทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ละวันที่ใช้ชีวิต เราก่อผลกระทบต่อโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่เราก็มีทางเลือกว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบใด ชีวิตมนุษย์เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ฉันอยากขอแรงพวกเราทุกคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว มาช่วยกันทำให้โลกนี้เป็นที่ที่ดีขึ้นสำหรับผู้คน เหล่าสัตว์และสิ่งแวดล้อม”
กลับไปที่นิทาน ดิฉันคิดว่าแรงปรารถนานี้จะลุกโชนได้ หากเด็ก ๆ รักธรรมชาติและรู้สึกว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำให้ดีที่สุดดีกว่าไม่ทำเลย

สัปดาห์นี้ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า British International School Phuket หรือ BISP (เดิมชื่อ Dulwich International College) รู้สึกประทับใจโรงเรียนภายใต้การบริหารของครูใหญ่ Mr. Niel Richards อย่างมาก หลายคนก็อยากคิดว่าโรงเรียนในรุ่นของเรานั้นดีสุด แต่ดิฉันดีใจแทนรุ่นน้องที่ได้รับการศึกษาชั้นเลิศจากโรงเรียนในปัจจุบัน

ก่อนที่ Mr. Richards จะย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่นี่ในปี 2011 ท่านเคยเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียน United World College of the Atlantics ที่เวลส์มาก่อน อัพเดทกันคราวนี้ Mr. Richards เล่าถึงนโยบายของเจ้าของโรงเรียน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่จะทำให้โรงเรียน BISP เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร พร้อมสร้าง “บรรยากาศแห่งความเป็นเลิศ” ในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

ตอนนี้โรงเรียนวางกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบของ Academy หรือที่ Mr. Richards เรียกว่า “หลักสูตรแห่งความใฝ่ฝัน” (aspirational curriculum) ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ต่อยอดจนถึงความเป็นเลิศ ทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสให้นักเรียนแสดงความสามารถเกินความคาดหมาย ทะลุเพดานการสอนแบบดั้งเดิมของโรงเรียน และสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้จากในโรงเรียนสู่โลกภายนอกได้ ตอนนี้ BISP มีทั้งหมด 8 Academy ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นด้านกีฬา ครอบคลุมถึงการว่ายน้ำ (Flying Fish / JSA) ฟุตบอล (Cruzeiro Football Academy) เทนนิส (RPT Tennis) และกอล์ฟ (Golf Academy) นอกเหนือจากด้านกีฬา โรงเรียนยังมี Academy สำหรับภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ศิลปะ การแสดง และธุรกิจ

ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนต้องเรียน Academy เด็กทุกคนจะต้องได้เรียนในหลักสูตรปกติอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่หากคนไหนต้องการพัฒนาศักยภาพให้สูงสุด ก็มาเรียนเพิ่มใน Academy ได้ ตอนนี้นักเรียน BISP ได้ไปแข่งชนะในระดับโอลิมปิกเยาวชน การแข่งขันระดับโลก เอเชียนเกมสม์ ซีเกมส์ และอีกมากมาย

สำหรับดิฉันเอง ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ดิฉันรู้สึกประทับใจเมื่อได้อ่านจดหมายที่ Mr. Richards เขียนถึงผู้ปกครองเกี่ยวกับการเล่นกีฬา จึงขอแลกเปลี่ยนกับทุกท่านนะคะ

Mr. Richards เล่าถึงคราวที่เป็นโค้ชให้ทีมนักเรียน มีนักเรียนคนหนึ่งหันมาบอกว่า “มันเป็นเพียงแค่เกม” ถึงแม้ว่าน้องคนนั้นพูดถูก ทำไม Mr. Richards ถึงรู้สึกโกรธขนาดนี้ ทำให้คิดต่อว่า หากเป็นเพียงแค่เกม ฉันจะคาดหวังให้นักกีฬาเสียสละ ลงแรง ลงใจมากขนาดนี้ได้อย่างไร

“แต่นี่ก็คือหัวใจของกีฬา มันไม่บ่อยที่เราจะมีโอกาสโฟกัสร่างกายและสมองเพื่อมุ่งสู่จุดสำเร็จ โดยเฉพาะหากทำได้เป็นทีม ยิ่งสอนให้เราสลัดความเห็นแก่ตัว และรวมพลังกับ สหาย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดบ่อยกับกิจกรรมประเภทอื่น ในระหว่างการแข่ง ผมคาดหวังว่านักกีฬาจะต้องมีสมาธิและเล่นเต็มที่ ทั้งใจและกาย ถือเป็นการสร้างคุณลักษณะ (character) ให้กับคน ซึ่งก็คือกระดูกสันหลังของชีวิตนั่นเอง

“มันจะเป็นเพียงแค่เกม เมื่อการแข่งขันจบลงแล้ว เมื่อนักกีฬาได้ทำดีที่สุดเพื่อชัยชนะของทีม เมื่อนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลลัพธ์อีกต่อไป มีแต่ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง

ว่าแล้ว Mr. Richards ก็อ้างอิงถึงบทกวี “IF” ของ Rudyard Kipling ที่ขอให้เรามองภาพลวงตาของ “ความสำเร็จ” และ “ความหายนะ” อย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นบทกวีที่ติดอยู่ทางเข้านักกีฬาของสนามแข่งวิมเบิลดัน และยังต่อยอดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับกีฬา แต่กับเรื่องอื่นด้วย เช่น ศิลปะ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่ทักษะทางกายภาพกับความนึกคิดต้องทำงานร่วมกัน”

ดิฉันเห็นด้วยกับข้อความในจดหมายของ Mr. Richards นะคะ ดิฉันเคยให้ข้ออ้างกับตัวเองว่า ไม่ต้องซีเรียสหรอก มันไม่ใช่ทางของเรา จนตัวเองไม่ได้ลองทำให้ดีที่สุด พอมาคิดดู เหมือนเราดูถูกตัวเองนะคะ หากเราไม่ลองให้เต็มที่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำได้


ปิดท้ายด้วยคำถามยอดนิยมของดิฉัน โรงเรียนที่ดีต้องเป็นอย่างไร Mr. Richards บอกว่าโรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนที่แคร์ ท่านเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องอ่อนไหว หมายถึงปัจจัยสำเร็จในการเรียนรู้คือจิตภาวะของนักเรียน ความจริงแล้วเบื้องลึกของมนุษย์ทุกคนมีความเอื้ออาทร หากปราศจากโอกาสที่จะแสดงความห่วงใยให้กับผู้อื่น หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่น ความเอื้ออาทรนี้ก็จะลดหายลงเรื่อย ๆ แต่หากนักเรียนมีโอกาสนี้ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Active Youth

ในที่ประชุมสภาการศึกษาคาทอลิกวันนี้ อ.สุมิตรา พงศธร แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เชิญ อ.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ จากมูลนิธิเพื่อคนไทยมาแบ่งปันผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557: เสียงเยาวชน” มีเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Youth) ยิ่งฟังยิ่งน่าสนใจ เพราะประเด็นที่ดิฉันไปแบ่งปันก็คือเรื่องการสร้าง Active Citizen เหมือนกันค่ะ 
อันดับแรก จากการสำรวจเยาวชนวัย 15-24 ปีจากหลากหลายสถานะ 4,000 คน พบว่าส่วนมากมีความคาดหวังกับตัวเองสูงมาก และรับรู้ถึงความคาดหวังของพ่อแม่ว่าอยากให้เรียนเก่ง อยากให้มีงานที่มั่นคง อันดับสอง พบว่า 70% ของเยาวชนกลุ่มนี้เผชิญกับภาวะเครียดถึงขั้นซึมเศร้า สิ้นหวัง หลายครั้งอยากยอมแพ้ ล้มเลิก อันดับต่อมา พบว่า 80% ของเยาวชนกลุ่มนี้เคยมีประสบการณ์ทุจริต เช่น โกงข้อสอบ ให้เพื่อนลอกการบ้าน 70% เคยทุจริตในรูปแบบอื่น เช่น เซ็นชื่อแทนกัน ให้สินบน และ 80% ของคนกลุ่มนี้คิดว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ผิด บ้างบอกว่า พื้นฐานของตนเป็นคนดี เพราะฉะนั้นนิด ๆ หน่อย ๆ ย่อมไม่เป็นไร
มูลนิธิเพื่อคนไทยสรุประดับของ Active Youth เป็น 5 ระดับ คือ
1. ระดับบุคคล คือ มีน้ำใจ มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ พร้อมจะลงมือแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม
2. ระดับสังคม มีส่วนร่วมในการทำเพื่อส่วนรวม เช่น เคารพกฎระเบียบกติกาทางสังคม พัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
3. ระดับรัฐ มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เลือกตั้ง ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ติดตามตรวจสอบนักการเมืองได้
4. ระดับสิ่งแวดล้อม พยายามอนุรักษ์ พัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกป่า ลดใช้ถุงพลาสติก
5. ระดับคุณค่า คือ ยึดถือสิ่งดี ๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเข้าใจในหลากหลายวัฒนธรรม
อ.กฤตินี พูดต่อว่า Active Youth คิดกว้างกว่าตัวเอง เคารพความหลากหลายของผู้อื่น มุ่นมั่นอยากทำให้ดีขึ้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ แล้วก็ทำจริง แต่ปัญหาของสังคมไทย คือ คนไทยมักคิดเล็ก เพียงทำตัวเองให้ดีก็ดีพอแล้ว ทำเท่าที่จะทำได้ นี่คือข้อจำกัดของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
เมื่อถูกถามว่าโตขึ้นคุณจะทำอะไรเพื่อสังคม เยาวชนในกลุ่มสำรวจมักตอบว่า อยากเป็นคนดี ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตยหรือสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อคนไทยเชื่อว่า หากเราปูเส้นทางให้เยาวชนได้เห็น ทั้งด้วยประสบการณ์ทางตรงและด้วยข้อมูล ชี้ให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง และพาพวกเขาทำ เช่น ในบริบทวันนี้ มีองค์ประชุมเป็นผู้บริหารการศึกษา เราก็สามารถวางนโยบายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับนักเรียน ทั้งด้วยการจัดเวลา จัดระบบการประเมินประจำปีให้ครอบคลุมกิจกรรมเหล่านี้ เป็นต้น
หลายโรงเรียนในปัจจุบันจัดให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่เด็ก ให้มีส่วนร่วมกับสังคม แต่บางทีก็อาจมีทางเลือกจำกัด เช่น บ้านพักคนชรา บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นต้น แต่รู้ไหมคะว่า ประเทศของเรามีทางเลือกในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย ล่าสุดมูลนิธิเพื่อคนไทยจัดงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ที่รวมกว่า 140 องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม เป็นทางเลือกให้เยาวชนของเรามาอาสาช่วยงานได้ค่ะ
นอกจากการทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดิฉันคุยกับ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข ถึงความเชื่อมโยงระหว่าง STEM Education กับการสร้าง Active Citizen เราพูดถึงเรื่องการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่เรียนเพื่อเรียน แต่เรียนแล้ว สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
อ.ธิดาจึงแนะนำให้ดูวีดีโอใน Youtube ชื่อ “เรียนสถาปัตย์ทำไม” เป็นหนึ่งใน 32 คลิปวิดีโอที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับงานสถาปนิก ’57 ที่ผ่านมา ดีมากเลยนะคะ ขอแนะนำให้ไปลองดูกัน เราจะเห็นเลยว่า เราเรียน...ไปทำไม
หากเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เยาวชนของเราเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้น จัดการเรียนรู้ให้มีความหมาย จัดเวลาให้ได้ทำกิจกรรมจิตอาสา เราน่าจะสามารถสร้าง Active Youth ให้กับประเทศไทยได้มากขึ้นแน่นอน

Note: หากต้องการอ่านผลวิจัยเพิ่ม กรุณาดูที่ www.khonthaifoundation.org