วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

Sensory Integration & Active Learning เพื่อสร้าง Active Citizen

Sensory Integration & Active Learning เพื่อสร้าง Active Citizen
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com


          วันนี้ได้ฟังครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข แบ่งปันเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาปฐมวัย ร่วมกับครูอนุบาลอีกกว่า 300 ชีวิตในงานสัมมนา Sensory Integration & Active Learning for Active Citizen รู้สึกตื่นเต้นมาก หลายคนคงกระอักกระอ่วนใจเมื่อเห็นเด็กอนุบาลโตเกินวัย คือ แทนที่จะได้เรียนรู้ผ่านการเล่น กลับต้องติวสอบเข้า ป. 1 ฝึกอ่านเขียน “ก เอือก เกือก” หรือแม้กระทั่งฝึกเขียนคำยาก ๆ เช่น “พระมหากษัตริย์” หรือ “อัฒจันทร์” ขนาดดิฉันยังต้องเปิดพจนานุกรมเลยค่ะ
          ดิฉันเคยถามผู้รู้นะคะว่า ทำไมประเทศเราต้องออกแบบหลักสูตรให้เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ บวกลบ กันเอาจริงเอาจังขนาดนี้ เคยเล่าให้เพื่อน ๆ ต่างประเทศฟัง ยังตกใจ จึงเพิ่งมาทราบว่า ความจริงแล้วหลักสูตรของเราไม่ได้กดดันแบบที่เราคิดเลย แต่เป็นระบบการสอบเข้า ป. 1 ต่างหากที่ตั้งธงสูง จึงเกิดปรากฏการณ์เรียนเพื่อเตรียมสอบเข้า ป. 1
          ครูหวานเล่าว่า ความจริงผู้ใหญ่ของประเทศก็เห็นด้วยนะคะ ว่าอายุ 3-6 ปีเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ พัฒนาศักยภาพได้สูงสุด เป็นเวลาที่ควรเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก นั่นก็คือ เรียนรู้ผ่านการเล่น เรียนรู้จากปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว พัฒนา Sensory Integration (ประสาทรับสัมผัส เอ็นข้อต่อ การเคลื่อนไหวและการทรงตัว) พัฒนา Executive Function (EF) พัฒนาทักษะชีวิต ฝึกคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ กำกับตัวเอง เข้าใจตัวเองและผู้อ่าน ซึ่งเราสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ หากจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning คือ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แบบ hands-on ปฏิบัติจริง

          ครูหวานแบ่งปันว่า ทิศทางปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยจะมีการพูดถึงการออกแบบรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมให้แนบเนียน เหมาะสมมากขึ้น ยกเลิกการสอบเข้าอนุบาล สอบเข้า ป.1 ไม่ส่งเสริมเรื่องการประกวดหรือแข่งขัน  และหยุดการใช้เทคโนโลยีจอภาพในการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย เป็นต้น
          พูดถึงตรงนี้ มีครูจากหลายโรงเรียนแลกเปลี่ยนอย่างโล่งอก เพราะหลายคนเห็นด้วยกับการจัดการเรียนรู้แบบนี้ แต่ไม่รู้จะต้านกระแสสังคมอย่างไร เมื่อไม่ได้ให้การบ้านเด็ก ก็จะถูกผู้ปกครองต่อว่า เมื่อไม่ได้เน้นเรื่องการเขียน ก็กลัวว่าลูกศิษฐ์จะเข้า ป. 1 ไม่ได้ ทุกวันนี้ ถึงแม้จะพยายามจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (project based learning) แต่ก็ต้องมีช่วงติวสอบด้วย
          ดิฉันได้แบ่งปันว่าโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย เป็นอีกเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยครูให้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ได้ โดยใช้วัฐจักรการสืบเสาะ (inquiry cycle) ซึ่งมีตัวอย่างให้ลงมือทำกันด้วย บนโต๊ะของแต่ละกลุ่มมีกะละมังใส่น้ำ มีแหวนโลหะ 20 วง มีหลอด ไม้เสียบลูกชิ้น คลิบหนีบกระดาษ ดินน้ำมัน แผ่นพลาสติก และให้ออกแบบภาชนะที่จะบรรจุแหวนจำนวนมากที่สุดและลอยน้ำได้ ทุกคนสนุกสนานกันใหญ่ ระหว่างทำจะเกิดกระบวนการตั้งคำถาม รวบรวมความคิดและข้อสันนิษฐาน ทดสอบและปฏิบัติการสืบเสาะ สังเกตและบรรยาย บันทึกข้อมูล และอภิปรายผล แต่ละกลุ่มก็ตั้งคำถามไม่เหมือนกัน
นอกจากกิจกรรมวิทยาศาสตร์ งานนี้ยังมีวิทยากรอีกท่านจากไต้หวัน Mr.Elton Chiu จาก We Play มาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้สื่อการเรียนรู้พัฒนา Sensory Integration นอกจากการเรียนรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (มองเห็น ได้ยิน ฟัง ดม สัมผัส) SI พูดถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทางร่างกาย การเคลื่อนไหว พัฒนาเอ็นข้อต่อ  และการทรงตัวอีกด้วย
          Mr.Elton แชร์ว่าเด็กอนุบาลจำเป็นต้องพัฒนา SI อย่างมาก หากเด็ก ๆ มีโอกาสได้ฝึกการมองผ่านการเล่น จะช่วยเรื่องมิติสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างมือและตา การเล็งเป้า ต่อไปเวลาอ่านหนังสือ จะไม่มีปัญหาเรื่องการอ่านข้ามบรรทัดโดยไม่รู้ตัว ส่วนเรื่องการฟังจะละเอียดอ่อน เป็นไหมคะที่เวลาคนพูดว่า wait และ weight หรือ knows และ nose เรามักจะฟังสลับกัน เพราะฉะนั้นหากเราพัฒนาทักษะการฟังแต่เล็ก การรู้จำเสียง จับคู่เสียง และจดจำเสียงจะไม่เป็นปัญหา


          ด้านประสาทรับสัมผัสยิ่งสำคัญมาก เคยเห็นเด็กบางคนที่เวลาถูกเพื่อนสะกิดแล้วจะตกใจกลัวมากไหมคะ หรือเวลาเดินเท้าเปล่าบนทรายและรู้สึกกลัว รู้สึกเจ็บ เพราะฉะนั้นเราต้องกระตุ้นประสาทรับสัมผัสให้เหมาะสม เพราะยังช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก และความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย มีครูท่านหนึ่งตั้งคำถาม “ที่โรงเรียนมีเด็กคนหนึ่งที่ร้องไห้เมื่อถูกสัมผัส บางครั้งแค่มีคนเดินผ่าน ก็ร้องไห้” Mr.Elton บอกว่านี่เป็นตัวอย่างของเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกเรื่องนี้มา สิ่งที่ทำได้ คือ ครูเอาลูกบอลนวดยางสัมผัสไล้ไปตามแขนขา พร้อมคุยกับเด็กด้วยเสียงนุ่มนวล เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า การสัมผัสเป็นเรื่องที่ปลอดภัย ไม่น่ากลัว


          เมื่อมีครูถามว่าจะจัดกิจกรรมสำหรับเด็กธรรมดาและเด็กสมาธิสั้นร่วมกันอย่างไร Mr.Elton ยกตัวอย่างว่า หากให้เด็ก ๆ เดินบนคาน เด็กสมาธิสั้นจะอยากเดินเร็วมาก และอาจแซงคิว ครูอาจให้เด็กคนนั้นถือถุงทรายบนอุ้งมือทั้งสองข้าง จะทำให้เดินยากขึ้น ต้องใช้สมาธิ และค่อย ๆ เดิน


          ดูเหมือนการจัดการเรียนรู้แบบ Sensory Integration และ Active Learning ไม่ยากเกินเอื้อม จึงขอเชิญชวนครูที่อ่านบทความนี้ลองไปคิดต่อนะคะ ว่าจะไปปรับใช้ในห้องเรียนของท่านอย่างไร


วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

เพราะคุณเป็นเอกชน ภาคสอง

เพราะคุณเป็นเอกชน ภาคสอง

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา



          จากยุคที่รุ่นคุณแม่ดิฉันถูกมองด้วยสายตาอาฆาตว่า “พวกคุณบริษัทเอกชน จ้องมองแต่จะขายของ เอาเปรียบรัฐ” (ทั้ง ๆ ที่ของที่ต้องการขายคือหนังสือ) มาสู่ยุคประชารัฐ ที่ต้องการผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนมาช่วยกันพัฒนาประเทศ ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่แปลกก็คือ โครงการประชารัฐที่เชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาช่วยกันพัฒนาการศึกษา ไม่มีบริษัทด้านการศึกษาใดถูกเชิญให้เข้ากลุ่มกันสักราย ดูเหมือนแต่จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศเข้าร่วมเท่านั้น หรือพวกเราไม่ได้ใหญ่พอ หรือมีหน้าตาในสังคมเพียงพอ?!?
          ทำไมพวกเราที่มีความตั้งใจประกอบกิจการด้านการศึกษา ซึ่งก็รู้ดีอยู่ว่าไม่ได้ทำเพราะอยากรวย พวกเราลงทุนศึกษาเรียนรู้ best practice จากที่ต่าง ๆ ลงทุนด้านเนื้อหาและนวัตกรรมเองทั้งหมด ไม่ได้ไปเอาเงินของรัฐมาทำเลย ถึงไม่ได้อยู่ในสายตา เวลาปรึกษาว่าแบบนี้ดีไหม ประเทศเราต้องการไหม ก็ว่าดี พอเราลงทุนเสร็จแล้ว เป็นภาษาไทยหมดแล้ว เชื่อมโยงหลักสูตรแกนกลางเสร็จแล้ว สนใจจะซื้อไหม มักจะได้คำตอบว่า ซื้อไม่ได้เพราะคุณเป็นเอกชน ทำไมคุณไม่ให้ฟรีล่ะ ฮืมมมมม ตอบไม่ถูกเหมือนกันแฮะ หรือเวลาเชิญเราไประดมความคิด ไอเดียดี ๆ ของเราที่ถูกตีพิมพ์ในบันทึกการประชุมจะไม่ให้เครดิตเรา แต่จะเขียนว่า “สนับสนุนโดยภาคเอกชนต่าง ๆ” แต่ดันใส่ชื่อทุกองค์กรรัฐแบบเต็มที่ ทั้ง ๆ ที่บางคนไม่ได้พูดความเห็นตัวเองด้วยซ้ำ หากชื่อเราไม่ดีพอแม้กระทั่งให้เครดิต ทำไมถึงเชิญเราไป?!?
          ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาของบริษัทด้านการศึกษาชั้นนำของยุโรป แต่ละประเทศมีตัวแทนจากเพียงบริษัทเดียว แลกเปลี่ยนถึงแนวโน้มด้านการศึกษา ความท้าทายที่พบเจอ ได้เรียนรู้อะไรเจ๋ง ๆ หลายอย่าง อาทิเช่น ประเทศฝรั่งเศส ที่ใคร ๆ มักนินทาว่ามีระบบการศึกษาที่เป็นอนุรักษ์นิยมสุด ๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก ฝรั่งเศสเพิ่งปรับปรุงหลักสูตร โดยตั้งนโยบายว่า นอกเหนือจากเนื้อหาหลักที่ต้องการให้นักเรียนรู้ ยังต้องการบูรณาการทักษะในการเรียนรู้ (learning how to learn) ด้วย เช่น สำหรับสาระวิชาประวัติศาสตร์ กำหนด 7 ทักษะ รวมถึง การเอาตัวเองไปอยู่ในเวลานั้น ที่นั้น สามารถอธิบายว่าทำไมถึงใช้วิธีการนี้หรือตัดสินใจแบบนี้ หาข้อมูลจากโลกดิจิตัลเป็น วิเคราะห์และอ่านเอกสารอย่างเข้าใจได้ ใช้ภาษาที่หลากหลายได้ ทำงานเป็นทีมและแบ่งปันข้อมูลได้ เป็นต้น
          บรรณาธิการหนังสือเรียนของกลุ่ม Editis ของฝรั่งเศสเล่าถึงกระบวนการที่รัฐบาลสื่อสารเป้าหมายในการปรับปรุงอย่างชัดเจนให้เหล่าบริษัทด้านการศึกษา เพื่อให้รับโจทย์ไปปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ของตัวเอง บรรณาธิการทีมนี้ใช้เวลา 8 เดือนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ออกมาดีมาก ๆ ดิฉันได้เห็นก็ต้องร้องว้าว เช่น พอจบหนึ่งบท แทนที่เด็ก ๆ ทุกคนต้องทำแบบฝึกหัดทบทวนเหมือนกัน ก็สามารถเลือกได้ว่า ต้องการเขียน (ก็มีโจทย์แบบหนึ่ง) หรือพูด (ก็มีโจทย์อีกแบบหนึ่ง) เพื่อตอบโจทย์ Personalised Learning หรือแทนที่จะได้เรียนเนื้อหาแบบทื่อ ๆ ก็มีการสร้างเรื่องราว เช่น “สมมุติว่าคุณเป็นทูตจากประเทศจีนไปกรุงโรม ...” และมีการให้ทำโครงงาน เช่น “หากคุณเป็นนักข่าว ต้องไปทำข่าวเกี่ยวกับชุมชน... มีคำใบ้...” แล้วก็ให้ทีมนักข่าวไปสืบเสาะหาความรู้ แล้วเขียนชิ้นงานเป็นบทความเป็นต้น สุดยอดไหมคะ
          กระทรวงศึกษาของฝรั่งเศสยังเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ไม่ใช่ลงทุนเรื่อง hardware อย่างเดียวแบบประเทศเรานะคะ เป็นพี่ใหญ่วางระบบ   platform ส่วนกลางเชื่อมโยงผู้ผลิตเนื้อหาเข้ากับโรงเรียน อาทิเช่น มีการทำอีแค๊ตตาล๊อครวมสื่อการเรียนการสอนดิจิตัลทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบ GAR ที่เป็น portal กลางในการมอบหมายการบ้านให้กับนักเรียน หรือระบบ   BRNE ที่เป็นระบบฐานข้อมูลรวมสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ของทุกวิชา ที่กระทรวงเขียนสเป๊คกลางขึ้นมา (และไม่ได้ล๊อคสเป๊คด้วยนะคะ) และเปิดประมูลให้บริษัทด้านการศึกษาต่าง ๆ มาประมูล ใครเด่นเรื่องวิชาไหน หรือหัวข้อไหน ก็มาทำในหัวข้อนั้น และเนื่องจากเป็นสื่อดิจิตัล บางคนก็ได้งานเยอะ บางคนก็ได้งานน้อย แล้วแต่ความเชี่ยวชาญจริง ๆ
          ฟินแลนด์ก็ทำแบบนี้นะคะ กระทรวงศึกษาเขาลงทุนสร้าง platform กลางขึ้นมาชื่อ EduStore เป็นพื้นที่ให้บริษัทด้านการศึกษาเอาสื่อการเรียนรู้ดิจิตัลมาวางขาย ใส่ตามหมวดกลาง โรงเรียนก็มาจับจ่ายใช้สอยเนื้อหาหรือโมดูลที่ต้องการ ซื้อเยอะก็ค่อย ๆ ถูกลง ฝั่ง market place   ของ   platform นี้จะเชื่อมโยงกับระบบบริหารการเรียนรู้ (learning management system) และบริหารจัดการ (school management system) ของแต่ละโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็จัดการตัวเอง และเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน คือ single log-in

          ถึงแม้ว่าบริษัทด้านการศึกษาเหล่านี้เป็นกังวลว่าระบบกลางแบบนี้จะจำกัดวิธีทำการตลาดแบบปัจเฉก แต่สำหรับดิฉันรู้สึกว่าปรากฏการณ์นี้สุดยอดมาก เพราะเห็นถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาในประเทศเหล่านี้ มองไปข้างหน้า ไม่ได้แค่คิด แต่ทำจริง เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผน สร้างตลาดที่อิสระและเป็นธรรม เพราะสำหรับพวกเราที่ทำธุรกิจ สิ่งที่เราต้องการคือตลาดที่เสรี เป็นธรรม และมีการแข่งขัน เพราะผู้เลือกคือผู้ใช้ หากเราทำสื่อการเรียนการสอนที่ดี บริการดี ผู้ใช้ก็จะเลือกซื้อเอง แต่ความเป็นจริงในประเทศไทยของเรา ระบบนิเวศน์นี้ไม่เอื้ออย่างแรง ไม่รู้ต้องทำอย่างไร ใครมีไอเดียก็เขียนมาบอกนะคะ

โรงเรียนดีเป็นอย่างนี้นี่เอง

โรงเรียนดีเป็นอย่างนี้นี่เอง
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com


          ดิฉันเพิ่งกลับมาจากเยอรมนีค่ะ พาคณะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนไทยไปเยี่ยมชมโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ได้รับรางวัลหลายแห่ง ถือว่ากลับมาด้วยไฟอันลุกโชน เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้คือจะบริหารจัดการการเรียนรู้อย่างไรให้มีความหมาย สร้างเด็กและเยาวชนให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม เป็น Active Citizen พลังที่จับต้องได้ คือ ผู้ร่วมเดินทางทุกคนถวิลหาสิ่งเดียวกัน
          โรงเรียนแรกที่เราไปคือ โรงเรียน Wöhlerschule เปิดสอนชั้น ป.5-ม.6 ถือเป็นโรงเรียนที่ล้ำหน้า และได้ขึ้นทะเบียนเป็น MINT School (Maths / Infomatics / Natural science / Technology) หรือที่คนไทยเรียกว่า STEM   นั่นเองค่ะ ความจริงแล้วการจัดการเรียนรู้แบบ STEM มีความลุ่มลึกที่หลากหลายนะคะ หากสุดโต่งเลย ก็บูรณาการทั้งสี่วิชาเข้ามาเรียนเป็นโครงงาน แต่หากโครงสร้างบริหารเวลาหรือทักษะของครุไม่พร้อม แบบนี้จะทำยาก อีกแบบคือสอนวิชาหลักพวกนี้อย่างไรให้เป็น active learning และมีความหมาย
          พวกเราได้สังเกตดูวิธีการสอนเลขของ Mr.Schanbacher ซึ่งสอนเลขตั้งแต่ ป.5-ม.6 เขาบอกว่าเทคนิคที่ทำให้เด็กสนใจ คือ ในแต่ละคาบควรมีวิธีการที่หลากหลาย เขามีสอนทั้งหน้าชั้น แบ่งกลุ่มย่อยทำแบบฝึกหัด จับคู่ถกความเข้าใจ หรือการทดลองคณิตศาสตร์ เขาก็ออกตัวนะคะว่าเดี๋ยวเขาจะเขียนบนกระดานให้เด็กจด แต่พอทำจริง ๆ ไม่เหมือนบ้านเรานะคะ เขาจะขึ้นหัวข้อก่อน แล้วชักชวนให้เด็ก ๆ ในห้องพูดออกมาว่าที่เรียนวันนี้เกี่ยวกับหัวข้อนี้ ได้เรียนรู้อะไร พอเด็กคนหนึ่งพูด อีกคนก็เสริม จนเจอข้อสรุป เขาค่อยเขียนบนกระดาน เด็ก ๆ ก็เขียนสรุปใส่สมุดเป็นต้น
          ปีที่แล้วเขาจัดงาน 24HR Mathematics สำหรับนักเรียนม.6 เริ่ม 8 โมงเช้าถึง 8 โมงเช้าของอีกวัน เชิญนักคณิตศาสตร์ 24 คนมานำเสนอแนวคิด (หนึ่งในนั้นก็คือ Dr.Beutelscpacher ผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์แนวคณิตศาสตร์ Mathematikum ที่พวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมในทริปนี้และชื่นชอบกันอย่างมาก) และมีกิจกรรมคณิตศาสตร์อีก 24 ชิ้นให้นักเรียนทำ  
          โรงเรียนนี้สร้างสีสันให้ STEM ด้วยวิชาชมรมที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง เด็ก ๆ จะอยู่ในชมรมเดียวกันสองปี เรียนรู้อย่างถ่องแท้ ต่อเนื่อง ได้ฝึกปรือภาวะผู้นำและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างดี ขอยกตัวอย่างชมรมอู่ซ่อมจักรยานนะคะ เด็ก ๆ ที่นี่มักจะขี่จักรยานมาเรียน เวลาเสีย ก็มาซ่อมที่ชมรมในราคาย่อมเยาว์ ชมรมมีสมาชิกประมาณ 20 คน มีทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่ ป.5 ขึ้นไปเลยค่ะ ประธานชมรมซึ่งเป็นเด็กชาย ม.3 มาต้อนรับพวกเรากับผู้อำนวยงานฝ่ายสร้างสรรค์ ซึ่งความจริงเป็นเด็กชายผอมประมาณ ป.6 พอเราถามว่าตำแหน่งนี้ทำอะไร เขาก็พูดอย่างภูมิใจว่า เขาต้องทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อน ๆ มาซ่อมจักรยาน ปีที่แล้วชมรมนี้สร้างรายได้ 1,500 ยูโร ทำให้ซื้อวัสดุและเครื่องจักรใหม่ในการซ่อมจักรยานอยู่เรื่อย ๆ “เครื่องนี้พวกเราซื้อปีที่แล้ว มันช่วยให้พวกเราทำงานเร็วขึ้นมาก”


นักข่าวน้อยจากหนังสือพิมพ์โรงเรียนขอสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนไทย พร้อมสงสัยว่า “ทำไมถึงเลือกมาดูโรงเรียนเขา” พอคุณก้อง โรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมป์ บอกว่าเพราะโรงเรียนพวกคุณโดดเด่นมาก พวกเขาต่างแปลกใจ และคุยต่อว่าทำไมคนอื่นถึงคิดว่าโดดเด่น น่ารักเชียว
          อีกโรงเรียนที่น่าประทับใจมาก คือ โรงเรียนที่สอง Grundschule Kleine Kielstraße เมือง Dortmund ซึ่งมีวิธีการจัดการความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างดี ในโรงเรียนนี้ 89% ของนักเรียนเป็นผู้ลี้ภัย และ 86% ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่ ถึงแม้ว่าครูใหญ่จะออกตัวว่านี่เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส ดิฉันกลับคิดว่าคุณภาพของการเรียนการสอนชั้นยอดมากค่ะ เด็กที่นี่เรียนคละชั้น คือ ป.1-2 เรียนด้วยกัน ป.3-4 เรียนด้วยกัน แต่ครูสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ที่นี่ใช้วงล้อ Matherad ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เด็ก ๆ ควรจะได้เรียนรู้ใน 2 ปี แบ่งเป็นส่วน ๆ ตามหัวข้อคณิตศาสตร์ ตอนแรกทุกคนจะเริ่มที่จุดเดียวกันก่อน ครูก็จะติดแม่เหล็กชื่อเด็กแต่ละคนที่จุดเริ่ม ใครเข้าใจ ทำแบบฝึกหัดและใบงานได้เร็ว ก็เลื่อนขั้นไปเรื่อย ๆ ครูก็จะเลื่อนแม่เหล็กชื่อของแต่ละคนไปตามลำดับ คนที่ไปไกลแล้ว ก็จะกลับมาช่วยสอนเพื่อนที่ยังตามมาไม่ทันด้วย


          ดิฉันประทับใจโรงเรียนนี้ เพราะใจกว้างมาก ครูจะถามเด็ก ๆ เลยว่า ที่บ้านใครมีน้องที่ไม่ได้เรียนหนังสือบ้าง ให้พามาเรียน (เพราะอนุบาลที่เยอรมนีไม่ฟรี ทำให้ครอบครัวด้อยโอกาสไม่สามารถส่งลูกเรียนอนุบาลได้) และเปิดห้องอนุบาลให้น้อง ๆ ได้มาเรียน นอกจากนั้น ยังเปิดสอนภาษาเยอรมันให้กับพ่อแม่ผู้ลี้ภัย เพื่อจะได้คุยกับลูก ๆ ได้อย่างรู้เรื่อง
          อีกโรงเรียนที่น่าประทับใจมาก คือ โรงเรียน Wartburg-Grundschule เมือง Münster ที่ปลูกฝังความรับผิดชอบและแนวคิดเรื่องพลเมืองตั้งแต่เด็ก ด้วยระบบ 4 บ้านและสภาโรงเรียน ใครต้องการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไร เชิญนำเสนอ สมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะถกและแก้ปัญหา แสดงผลอย่างโปร่งใสด้วยบันทึกการประชุมที่ติดที่โถงด้านหน้า นักเรียนที่นี่ส่วนมากมาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน แต่ก็เรียนแบบคละชั้นเหมือนโรงเรียนเมื่อกี้ค่ะ การจัดการเรียนการสอนของที่นี่แสดงถึงความเป็น   personalized learning อย่างแท้จริง เด็ก ๆ แต่ละคนมีแผนการเรียนรู้รายบุคคล ครูแนะแนวทางให้ก่อน และเปิดช่องว่างให้เด็ก ๆ ตัดสินใจถึงก้าวต่อไปของตัวเอง มีการทำเป้าหมายการเรียนรู้ ที่สำคัญเด็ก ๆ จะได้รู้คิดเสมอว่าได้เรียนอะไรไป ผลเป็นอย่างไร ตอบโจทย์เป้าหมายหรือไม่ เพราะมีการบันทึกเชิงประจักษ์อยู่ในแฟ้มผลงานของเด็ก ๆ แต่ละคน ด้วยวิธีการที่ชัดเจน ระฆังสติ การพัฒนาทีมงานในแต่ละภาคส่วนรู้หน้าที่ของตัวเอง ทำให้กระบวนการที่ดูเหมือนยุ่งยาก เป็นไปอย่างรื่นไหลดี
          ถือว่าเป็นการเดินทางที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก และหวังว่าโรงเรียนที่ไปด้วยกันจะนำไอเดียดี ๆ มาต่อยอดในประเทศของเรานะคะ

          ขอขอบคุณผู้ร่วมเดินทางจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ โรงเรียนกสินธร อาคาเดมี่ โรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์ โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล โรงเรียนราชินี โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ คุณ David Klett จาก Klett Gruppe และคุณ Joachim Hecker ที่ช่วยจัดทริปครั้งนี้ค่ะ

ทำอย่างไรให้อยากอ่าน

ทำอย่างไรให้อยากอ่าน
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com

          เด็กไทยไม่อ่านหนังสือแล้วจริงหรือไม่ ด้วยไลฟสไตล์ที่ผู้คนเสพข้อมูลทาง social media หรือออนไลน์มากขึ้น เราจะทำอย่างไรดีให้เด็กและเยาวชนยังเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสืออยู่ งานสัปดาห์หนังสือใกล้เข้ามาถึงแล้ว ในฐานะที่ไปขายหนังสือในงานทุกปีตั้งแต่เรียนจบตรี (ตอนนี้ก็สิบปีแล้วค่ะ) เห็นถึงจำนวนคนมาเที่ยวงานน้อยลงทุกครั้ง ก็ใจหายเหมือนกัน
          ล่าสุดได้เชิญไอดอล 25 คนที่ประสบความสำเร็จจากการอ่าน ให้ช่วยโน้มน้าวเด็กไทยถึงความสำคัญของการอ่าน นิ้วกลม (คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) บอกว่า “หนังสือมีตัวตนเยอะมากที่มีส่วนผสมของคนอื่น แต่หนังสือนี่แหละจะช่วยผสมเราคนใหม่ขึ้นมา จนทำให้เราเป็นเราได้” ดิฉันเห็นด้วยเป็นที่สุด จึงคิดว่าภารกิจที่จะกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่านเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ (และเด็ก) ทุกคน โดยแกนนำสำคัญคือเครือข่ายโรงเรียนและครอบครัว
          ดิฉันได้อ่านแฟ้มผลงานแข่งขันสุดยอดบรรณารักษ์ของโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับปีที่ 16 รู้สึกประทับใจมาก จึงขอเล่าตัวอย่างดี ๆ ที่โรงเรียนทำเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสือ




          ครูนัยป์พร พญาชน จากโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุปราษฎร์นุสรน์) จ.สมุทรสาคร ใช้คาบเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่กระทรวงกำหนดในการจัดกิจกรรม “คู่บัดดี้ พี่รหัส ผลัดกันอ่าน” ทุกสัปดาห์รุ่นพี่รุ่นน้องจะจับคู่กันอ่านหนังสือ พี่อ่านหนังสือที่สนใจให้น้องฟังในครึ่งแรก น้องอ่านหนังสือที่ชอบให้พี่ฟังในครึ่งหลัก ก่อนจบคาบพี่จะรายงานผลพัฒนาการการอ่านของน้องให้ครูฟัง ไอเดียดี เพราะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างวัยด้วย พี่ ๆ ก็ได้ฝึกความเป็นผู้นำในเวทีจริง



          หากไปเที่ยวโรงเรียนอนุบาลนครนายก จะเห็นตะกร้าความรู้ในห้องเรียนทุกห้อง และตามจุดสนามหญ้าหน้าอาคารเรียน ครูวันเพ็ญ สุขนิยม แบ่งปันว่าตะกร้าแต่ละใบจะมีหนังสือประมาณ 15-20 เล่ม แก้ปัญหาที่เด็กเข้าห้องสมุดน้อยลง โดยพาหนังสือไปที่เด็กเสียเลย เด็ก ๆ จะเป็นคนมายืมหนังสือที่ห้องสมุด เพื่อหมุนเวียนหนังสือในตะกร้าทุกสัปดาห์ ส่วนสำหรับเด็กเล็ก ครูจะช่วยจัดการให้ ดิฉันชอบไอเดียที่มีมุมหนังสือในห้องเรียน ที่อเมริกามีวัฒนธรรม classroom library ดีใจที่นครนายกก็มีแบบนี้เหมือนกัน
          ร้านหนังสือ Waterstone ที่อังกฤษมีวิธีจัด display หนังสือได้ถูกใจมาก คือจัดเป็น theme ทำให้ผู้อ่านเลือกหนังสือได้ง่าย เช่น The Book Game วรรณกรรมที่มีเกมสอดแทรก หรือ In Space No One Can Hear You Read ในอวกาศ ไม่มีใครได้ยินคุณอ่านหนังสือ กลับมาก็ชักชวนทีมงานว่า เวลาเราจัดร้านแว่นแก้ว ก็ต้องมี theme เหมือนกัน บางครั้งลูกค้าอยากอ่าน แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร ถือเป็นตัวช่วย

          จึงยิ่งประทับใจเมื่อเห็นว่า ครูภัสรีวัลย์ ทะคง ก็ทำกิจกรรมแบบนี้ที่โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น เช่นกัน โดยร่วมมือกับทีมยุวบรรณารักษ์ตั้ง theme ใหญ่ว่า More Reading More Knowledge แต่เปลี่ยน theme ย่อยทุกเดือน เช่น 4H (Head Heart Hand Health) อาเซียน ซีไรท์ เป็นต้น

          ในการยั่วน้ำลายให้อยากอ่าน ครูสวิตตา มุ่งธนวรกุลและทีมยุวบรรณารักษ์ของโรงเรียนบุญวัฒนา จ.โคราช จะแนะนำหนังสือน่าอ่านผ่านระบบเสียงตามสายก่อนตั้งแถวเคารพธงชาติทุกวันพุธ เด็ก ๆ จะเขียนบทพูดกันเอง ทำให้คนที่ได้ฟังก็เข้าห้องสมุดมาตามหาหนังสือที่พูดถึงเยอะมาก
          การใช้ social media มากระตุ้นให้อยากอ่านก็ได้ผลนะคะ ดิฉันได้ติดตาม page ของร้านหนังสืออนไลน์ Readery และก๊องดิด ทุกครั้งที่เห็นโพสต์ก็ทำให้อยากอ่านมาทุกครั้ง ล่าสุดได้อ่าน post ของ ด.ญ.ชลพรรษ ศิริสาธิตกิจ และด.ญ.โชติกา นพสุวรรณ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา รีวิวหนังสือเรื่องฟักทอง สองสาวเขียนว่าอ่านเสร็จก็ได้ลองปลูกฟักทอง แล้วนำมาทำอาหารให้ครอบครัวด้วย! ก็ต้องขอบคุณ Dek-D.com ที่ร่วมเป็นพันธมิตรส่งเสริมการอ่านกับโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับปีที่ 17 ตอน Read & Share เปิดเพจพิเศษให้เด็ก ๆ มารีวิวหนังสือในปีการศึกษา 60 นะคะ




          ที่เดนมาร์คจะมีจัดงาน Next Library Festival ในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นงานที่รวมคนหัวก้าวหน้าที่ทำงานด้านห้องสมุดจากทั่วโลก ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดิฉันคิดว่าน่าสนใจ หัวก้าวหน้าด้านห้องสมุดคืออะไร ที่ได้ข่าวนี้เพราะมีบรรณารักษ์คนหนึ่งที่ห้องสมุดประชาชนนาคูรู ประเทศเคนยา ชื่อ เพียวริตี้ คาวูรี-มูตูคู ใช้นวัตกรรม Maths-Whizz (ที่ดิฉันซื้อลิขสิทธิ์มา) ในการส่งเสริมการอ่าน ทักษะด้านภาษา คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ดิฉันประทับใจข่าวนี้เพราะเพิ่งเคยได้ยินว่ามีบรรณารักษ์ใช้ Maths-Whizz ในการส่งเสริมการอ่านด้วย
          สุดท้ายขอฝากข้อคิดของไอดอลอีกท่าน คือ ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณอยุธยา “หนังสือไม่เพียงแต่เป็นคู่มือแห่งวิถีชีวิต แต่ยังเป็นเพื่อนเคียงกายที่สำคัญ”

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โรงเรียนสำหรับ Active Citizen

โรงเรียนสำหรับ Active Citizen
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com


          ทุกคนล้วนเชื่อว่าการศึกษาสร้างคน แล้วคนแบบไหนล่ะที่โลกต้องการ ดิฉันนำเสนอแนวคิดเรื่อง Active Citizen คนเก่ง คนดี รับผิดชอบต่อตัวเองได้และมีหน้าที่ทำให้สังคมของเราดีขึ้น ฟังดูดีแต่จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร มีกรณีศึกษาจากสองประเทศมาแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ค่ะ
          ห้าปีก่อน นานมีบุ๊คส์เชิญ Dr. Peter Fauser มาแลกเปลี่ยนว่าโรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าโรงเรียนที่ดีควรสามารถสร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง รับผิดชอบ และอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเกณฑ์การให้รางวัล German School Prize ซึ่งเริ่มในปี 2006 โดยมูลนิธิ Robert Bosch และมูลนิธิ Heidehof
ดิฉันสนใจแนวคิดนี้เพราะรางวัลนี้จะให้กับโรงเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ จุดไฟปรารถนาสู่ความสำเร็จ สร้างความสุขและความกล้าหาญในการใช้ชีวิต และสอนให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและความยุติธรรม มีสโลแกนว่า “Give wings to learning!
          เป้าหมาย คือ ส่งเสริมให้จัดการตัวเอง เรียนรู้อย่างเต็มที่ อย่างเข้าใจ มีความรับผิดชอบ และใฝ่ความสำเร็จ การจะทำแบบนี้ได้ จำเป็นต้องทะลายระบบการสอนแบบเดิมที่แข็งตัว ต้องใส่ใจเรื่องการพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล นอกจากนั้น การสอนที่ดี บรรยากาศในโรงเรียน วัฒนธรรมของโรงเรียน ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งและความเชื่อใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก โรงเรียนที่ดียังต้องมีผู้นำที่ดี บริหารองค์กรบนพื้นฐานของประชาธิปไตย



          โรงเรียนที่ได้รางวัลไม่ใช่โรงเรียนที่มีผลการเรียนที่ดีที่สุด หรือเป็นโรงเรียนที่โด่งดังที่สุดในเยอรมนี แต่เป็นโรงเรียนที่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม และแสดงศักยภาพในการพัฒนาเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เกณฑ์ในการตัดสินมี 6 ข้อ คือ ผลการเรียน การจัดการกับความหลากหลาย คุณภาพของการสอน ความรับผิดชอบ ชีวิตในโรงเรียน และโรงเรียนในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้อีกประเทศคือ อิสราเอล ด้วยแนวคิดโรงเรียนประชาธิปไตย ปัจจุบันมีกว่า 20 แห่งทั่วประเทศ เขาบอกว่าโรงเรียนประชาธิปไตย (democratic school) ไม่เหมือนกับการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย (democracy education) นะคะ นักเรียนจะผ่านกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนเสมือนกำลังเป็น Active Citizen ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกติกาการอยู่ร่วมกัน การยอมรับและชื่นชมในความแตกต่างระหว่างคนในโรงเรียน สิทธิซึ่งมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบ

          ในโรงเรียนประชาธิปไตย นักเรียนถูกฝึกให้ใช้สิทธิในการเลือก มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง[1]พูดถึงเหตุผลที่ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนประเภทนี้ว่า โรงเรียนส่วนมากเป็นองค์กรแบบเผด็จการ ผู้บริหารโรงเรียนสั่งการอะไรมา ทุกคนก็ทำตามนั้น ครูสอนตามหลักสูตรที่ตั้งไว้ นักเรียนเรียนด้วยวิธีการ ด้วยสื่อการเรียนการสอนที่โรงเรียนกำหนดไว้ โดยไม่ได้หวนคิดเลยว่า วิวัฒนาการทางปัญญาส่งผลกระทบให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันทำให้การเรียนรู้ไม่มีความหมายกับชีวิตของผู้เรียนอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม สังคม เทคโนโลยี หรือการเมือง ทำให้บรรยากาศของความกระหายอยากรู้แบบปัญญาชน ความสงสัย อยากเสาะหา และการคิดพลิกแพลงหายไป กลไกที่แยบยลของโรงเรียนประชาธิปไตยทำให้ระบบบริหารจัดการโรงเรียนโปร่งใส ชัดเจน และมีวิธีการฝึกให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบตัวเอง

          หนังสือ “เข็มทิศ Kid ดี” ของ Hwang, Sang-Kyu มีบทหนึ่งชื่อ “รับผิดชอบตัวเองได้ย่อมดีที่สุด” อ้างอิงแนวคิดของ ชอง-ปอล ซาตร์ ว่า “มนุษย์เลือกสร้างตัวเองในแบบที่อยากเป็นได้ มนุษย์ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงตนเองได้เท่านั้น แต่ยังพัฒนาตนเองได้ด้วย สิ่งสำคัญในการตัดสินใจว่าตนเองต้องใช้ชีวิตอย่างไร คือ “ตัดสินใจอย่างอิสระ” ดั่งประโยคที่ว่า “ชีวิตของเรา เราเท่านั้นเป็นผู้กำหนด” และ “ความอิสระคือสัจธรรม” ดังนั้นเมื่อมีอิสระในการตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมดของตัวเอง”
หากโรงเรียนสามารถสร้างคนให้เป็น Active Citizen ได้จริงคงดีไม่น้อย ความท้าทายคือจะนำแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร ปีนี้ดิฉันถึงวางแผนพาผู้บริหารโรงเรียนไทยไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ได้รางวัล German School Award ในช่วงปิดเทอมใหญ่ และปลายปีจะเชิญวิทยากรจากสองประเทศนี้มาแบ่งปันแนวทางปฏิบัติจริงกับโรงเรียนไทยอีกที แล้วจะมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านอีกครั้งนะคะ



[1] ผู้ปกครองท่านนี้ คือ Dr. Shlomo Ariel เขียนในบทความ “ทำไมผมถึงเลือกโรงเรียนประชาธิปไตย”

ผู้ใหญ่ (บ้าน) ดี ชุมชนก็ดี

ผู้ใหญ่ (บ้าน) ดี ชุมชนก็ดี

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา



          ดิฉันเคยตั้งคำถามว่า ผู้ใหญ่ในแต่ละขั้นของสังคมมีหน้าที่ ความรับผิดชอบอะไรบ้าง ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่ผู้นำประเทศ วันนี้ขอเล่าถึงความประทับใจของชุมชนบ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ แม่กำปองเป็นชุมชนเล็กน่ารัก มีป่าชุมชน มีน้ำตก และมีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย

          ตอนวางแผนมาเที่ยวเดินป่าที่นี่ มีคนแนะนำให้โทรหา “พ่อหลวง” ซึ่งจะช่วยประสานงานกับไกด์ให้ ไกด์ของเราชื่อพี่สมศักดิ์ พาเดินขึ้นไปจากหมู่บ้าน เข้าไปที่สวน (สวรรค์) หลังบ้าน ผ่านน้ำตกห้วยแก้ว ขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ จนถึงกิ่วฝิ่น รอยต่อระหว่างเชียงใหม่และลำปาง เป็นจุดชมวิว 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน

          นอกจากได้ซึมซับความสวยงามของธรรมชาติ พี่สมศักดิ์ให้ความรู้เรื่องพืชและสัตว์อย่างสนุกสนาน เป็นกันเองกับพวกเราอย่างมาก จึงขอความรู้เรื่องในหมู่บ้านด้วย พี่สมศักดิ์เล่าว่า “พ่อหลวง” ที่ช่วยประสานงานให้ เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน คุมคิวให้กับทุกคน ชาวบ้านทุกคนที่ให้บริการโฮมสเตย์จะมีหมายเลข หากมีนักท่องเที่ยวติดต่อมา พ่อหลวงจะส่งนักท่องเที่ยวไปทีละบ้านตามลำดับ ระบบนี้สร้างความโปร่งใสและยุติธรรม และเป็นระบบที่ใช้กับหมอนวดและไกด์เดินป่าด้วย
เมื่อไปถึงกิ่วฝิ่น พี่สมศักดิ์เล่าให้ฟังถึงปัญหาไฟป่า และกล่าวด้วยความภูมิใจว่าแม่กำปองแทบไม่มีปัญหานี้เลย เพราะชุมชนเข้มแข็งช่วยกันทำแนวกันไฟ นั่นคือช่วยกันถางหญ้าเป็นแนว ป้องกันไม่ให้ลาม พี่สมศักดิ์บอกว่าพ่อหลวงจะเรียกทุกคนประชุม และนัดหมายให้ทุกคนมาช่วยกัน หากบ้านไหนไม่มา ต้องจ่ายเงิน 300 บาท แต่ความจริงแล้วไม่มีใครอยากได้เงิน อยากได้แรงมากกว่า เมื่อเกิดพลังชุมชนแบบนี้แล้ว ทุกคนก็ช่วยกันดี

          ความจริงแล้วระหว่างเดินขึ้นเขา มีช่วงหนึ่งที่พี่สมศักดิ์บอกว่านี่คือที่ของเขา ส่งต่อมาหลายรุ่นตั้งแต่บรรพบุรุษ พอเดินไปอีกสักพัก ดิฉันสงสัยว่ายังเป็นที่ของพี่สมศักดิ์อยู่หรือเปล่า พี่บอกว่าเป็นของอีกบ้านแล้ว ดิฉันอยากให้ท่านผู้อ่านนึกภาพป่าที่มีต้นไม้เต็มไปหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่คือที่ของฉัน นี่คือที่ของเธอ แต่คนที่นี่เขาก็รู้กันนะคะ บางคนก็เก็บต้นไม้อย่างดี บางคนก็ตัดไม้จันทร์หอมไปขาย พี่สมศักดิ์เล่าว่า พอเริ่มมีคนตัดไม้ไปขาย ก็จะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาให้ความรู้ว่า ทำไมไม่ควรตัด ทำไมควรเก็บไว้ แต่สุดท้ายก็คงแล้วแต่เจ้าของจะตัดสินใจ กฏกติกาบางอย่างมีไว้ แต่ไม่เคยถูกสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจ เห็นความสำคัญ ก็ยากที่จะไปบังคับหรือขอความร่วมมือ

          ดิฉันนึกถึงนวนิยายเล่มโปรด ชื่อ “ปุลากง” เขียนโดย โสภาค สุวรรณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการลงพื้นที่ของนักพัฒนากรหนุ่มสาว ที่เต็มไปด้วยไฟปรารถนาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เมื่ออ่านจบ ไปซื้อมาอีก 20 เล่มเพื่อมอบเป็นของขวัญให้เพื่อน ดิฉันเห็นด้วยกับคติพจน์ของ “ซิเซโร” นักปรัชญาชาวโรมันที่กล่าวว่า “คนเราไม่ควรอยู่เพียงเพื่อตัวเอง” หากเราตั้งเป้าหมายเพียงให้ชีวิตเราดี จะมีความหมายอะไร เราอยู่ในสังคมครอบครัว สังคมหมู่บ้าน สังคมประเทศ และสังคมโลก ก็ควรจะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถ และสร้างความแตกต่างให้แง่บวกให้กับสังคมของเราด้วย ดิฉันเรียกสิ่งนี้ว่า “social change” และหากเราทำได้ สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น “change maker” คือ ไม่ใช่สักแต่คิด และลงมือทำ
ดิฉันนึกถึง change maker หลายคน ล้วนมีอุดมการณ์ แต่ละคนก็มี “ประเด็น” ที่สนใจต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี พี่เล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ แห่งมูลนิธิรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือช้างที่ถูกทารุณ แต่ยังพัฒนาชุมชนให้ชาวบ้านมีความรู้ มีวิชาชีพที่จะทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อยอดได้อีก สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยอยากบอกต่อ จนคุณกัญจนา ศิลปอาชา ต้องออกมาเขียนหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง” และตัวพี่เล็กเองก็เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น นิทานชื่อ “ช้างบุญ”

          ตอนที่ดิฉันไปเที่ยวที่ Elephant Nature Park ของพี่เล็ก ดิฉันซื้อทัวร์ 1 วันที่พาช้างไปเดินเล่ม อาบน้ำให้ช้าง และให้อาหารช้าง สนุกมาก ได้พูดคุยกับไกด์ ชื่อพี่หมวย พบว่า พี่หมวยไม่ได้เป็นพนักงานของพี่เล็กนะคะ แต่เป็นคนหนึ่งในชุมชน ที่เคยทำธุรกิจให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง เมื่อพบว่าไม่ยั่งยืนและทารุณสัตว์ ก็ตัดสินใจมาเข้าเครือข่ายของพี่เล็ก ทำงานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และพี่เล็กก็เป็นศูนย์กลาง ทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวให้ ดิฉันคิดว่าการทำงานเชิงเครือข่ายแบบนี้ดีมาก ยั่งยืน และขยายผลได้
หรือแม้กระทั่งคู่แม่ลูก จูเลีย แมนซานาเรา และเดเร็ก เคนต์ ที่เผยแพร่เรื่องราวชีวิตของ “ลอน” หญิงสาวที่ต้องเข้าวงการค้าประเวณีตั้งแต่อายุ 13 ในหนังสือ “แค่ 13” เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาค้าประเวณีเด็ก และความท้าทายที่ผู้หญิงอีกมากมายที่ทำอาชีพนี้องเผชิญ ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต
          ทั้งหมดนี้ ดิฉันอยากเชิญชวนให้พวกเราคิดถึงคำว่า “Active Citizen” และตั้งคำถามว่า เราจะเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม รับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคมได้อย่างไร ถึงแม้เราไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าง หรือเป็นผู้ใหญ่ของประเทศ แต่เราเป็น “ผู้ใหญ่” ของเราเองได้ค่ะ