วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สงกรานต์ในเบอร์ลิน

สงกรานต์ที่ผ่านมา ดิฉันได้พาคณะผู้บริหารจากโรงเรียนชื่อดังไปดูงานด้าน “อนุบาล” ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีค่ะ ถือเป็นทริปที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เพราะได้เห็นโรงเรียนอนุบาลที่ดี และแหล่งเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องเยอรมนี รู้ไหมคะว่าอนุบาลแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี ก่อตั้งโดยคุณฟรีดดริค โฟรเบล และคำว่า kindergarten ที่เราใช้นั้นมาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า สวนของเด็ก ๆ 

พวกเราได้ไปดูงานที่โรงเรียนอนุบาล 4 แห่ง แต่ที่ดิฉันประทับใจที่สุด คือ อนุบาล “คาซ่า แฟนตาเซีย” เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ชื่อว่าโฟรเบลซึ่งเป็นเจ้าของอนุบาลทั้งหมด 125 แห่งในเยอรมนีและ 3 แห่งในประเทศออสเตรเลีย “คาซ่า แฟนตาเซีย” จัดการเรียนการสอนตามแนวทางของ “เรจจิโอ เอมิเลีย” ซึ่งเป็นปรัชญาการศึกษาจากประเทศอิตาลี ริเริ่มในหมู่บ้าน “เรจจิโอ เอมิเลีย” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

“เรจจิโอ” เชื่อว่าเด็ก ๆ มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ เสมือนเป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง โดยให้โอกาสเด็ก ๆ ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกัน เช่น ทำวิจัย คือ เปิดโอกาสให้รู้จักสำรวจ สังเกต ตั้งสมมุติฐาน ตั้งคำถาม และอภิปรายความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ในอนุบาลประเภทนี้จะเรียนรู้จากการทำโครงงานเป็นส่วนมาก

การให้เกียรติเด็ก ๆ ยังแสดงออกด้วยการกระทำอื่น ๆ เช่น การตกลงกติกาก่อนทำกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเรียน คือ เรียนในสิ่งที่เด็กสนใจ

พิเศษสุด คือ เด็กทุกคนจะมี portfolio เฉพาะบุคคล ที่ครูช่วยเด็กทำตั้งแต่เข้าเรียนครั้งแรก ในนั้นจะมีรูปถ่ายตั้งแต่เกิด รูปถ่ายระหว่างทำโครงงาน (เด็กมีสิทธิเลือกรูปเอง) ผลงานของพวกเขา และความคิดเห็นของเด็ก ๆ จากทุกกระบวนการ

ท่านอาจสงสัยว่าเด็กอนุบาลเขียนความคิดเห็นได้แล้วหรือ ครูในอนุบาลที่นี่จะต้องเขียนสิ่งที่เด็ก ๆ พูด “คำต่อคำ” ลงไปใน portfolio เพราะเมื่อเด็ก ๆ (และผู้ปกครอง) กลับมาเปิดดู ก็จะเห็นถึงกระบวนการเรียนรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้ของตัวเอง และเกิดความภูมิใจในตัวเองอย่างมากเลยค่ะ

หากเราปฏิบัติต่อเด็ก ๆ ด้วยความเคารพและให้เกียรติ เราก็จะสามารถดึงศักยภาพการเรียนรู้ของเขาเองออกมาได้ ฟังดูง่ายแต่ทำยากนะคะ จะสำเร็จได้ครูและผู้ปกครองต้องเข้าใจและเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาแบบนี้ด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันหวนนึกกลับมาที่ชีวิตการทำงานค่ะ

หลายครั้ง เราบอกให้คนนั้นทำอย่างนั้น อย่างนี้ ใช้ความคิดเราเป็นใหญ่ หากทำเช่นนี้ต่อไป เราจะพัฒนาทีมงานของเราได้อย่างไร หากเราเปิดโอกาสให้ทีมงานเราทำงานเหมือนทำโครงงาน คือ รู้จักตั้งคำถาม สำรวจ สังเกต อภิปราย ผลงานน่าจะออกมาดีกว่าเดิม และทีมงานน่าจะมีความสุขกว่าเดิม เห็นด้วยไหมคะ

การสร้างคนให้รู้จักวิจัยและค้นคว้าไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระบบโรงเรียนนะคะ พวกเรายังได้ไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยสำหรับเด็กและเยาวชนชื่อ “ฟอร์เชอร์เวลท์” ที่เมืองบลอสซีนอีกด้วยค่ะ ศูนย์นี้ถูกก่อตั้งโดยศูนย์เยาวชนของรัฐบาลท้องถิ่นและมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย “ฟอร์เชอร์เวลท์” มีกิจกรรมหลัก คือ เชิญเด็ก ๆ (อายุ 3 – 11 ปี) มาเข้าค่าย “วิจัยวิทยาศาสตร์” ตามหัวข้อที่เด็กสนใจ และใช้เวทีนี้พัฒนาครูแบบ hands-on ในขณะเดียวกันค่ะ

การไปเบอร์ลินครั้งนี้จุดประกายให้ดิฉันอยากกลับมาทำหลายอย่างในประเทศไทยเรามากค่ะ คงจะได้อัพเดทกันเป็นระยะนะคะ

ดิฉันขอปิดท้ายบทความด้วยคำพูดของอาจารย์ที่ร่วมทริปไปด้วยกัน คือ “ชีวิตเราควรได้สร้างสรรจรรโลงโลกให้ดีขึ้น สวยงามขึ้นกว่าตอนที่เราเกิดมา” และขอทิ้งคำถามให้ท่านคิดว่า หากท่านจะสร้างทีมงานให้รู้จัก “วิจัย” ท่านจะทำอย่างไรบ้างค่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น