วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร

เมื่อประเทศไทยกำลังจะเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ทุกคนต่างตั้งคำถามว่าควรเตรียมตัวอย่างไร ในฐานะที่ดิฉันอยู่ในวงการศึกษาไทย ก็ได้ยินคำถามนี้วันละหลายครั้ง บ้างพูดถึงการเตรียมการด้านภาษา บ้างพูดถึงการเตรียมเด็กให้เยาวชนให้มีคุณภาพ อยู่ในสภาวะที่แข่งขันได้ ดิฉันจึงตั้งคำถามว่า แล้วรูปธรรมในการเตรียมการควรทำอย่างไร สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้มีโอกาสฟัง ศาสตราจารย์ ดร. เพเทอร์ เฟาเซอร์ นักการศึกษาชาวเยอรมัน ในงานสัมมนาระดับชาติ “โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร” ที่บริษัทนานมีบุ๊คส์จัดขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นจุดเริ่มที่ดี เพราะโรงเรียนเป็นสถาบันที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการสร้างคน และมีอิทธิพลแผ่ถึงครอบครัวและสังคมได้

เมื่อดิฉันถาม ดร. เฟาเซอร์ว่า นักเรียนไทยและเยอรมันจะใช้หลักการเหมือนกันได้หรือ ท่านบอกว่าเป้าหมายนั้นเหมือนกัน คือ เราต้องการสร้างผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ชาญฉลาด มีความรับผิดชอบ และมีความเป็นประชาธิปไตย เครื่องหมายคำถามปรากฏทันที “ประชาธิปไตยอย่างไร” ดร. เฟาเซอร์ กล่าวว่านั่นคือ การเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) ซึ่งโรงเรียนที่ดีจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เอื้อต่อการสร้างคนแบบนี้ได้ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 6 อย่าง คือ  
  1. ประเมินสมรรถนะการเรียนรู้ด้วยการอธิบาย อย่าตัดสินอย่างทันทีทันใด เสริมจุดแข็งและเปิดโอกาสให้เด็กแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ 
  2. ตระหนักถึงความแตกต่างของนักเรียน ทั้งด้านสังคม สมรรถนะการเรียนรู้ และความสนใจ
  3. ครูมีกระบวนการสอนที่ตอบสนองความแตกต่างของนักเรียนและเสริมสร้าง personalised learning 
  4. นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนมีความรับผิดชอบ นักเรียนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโรงเรียน ให้รู้สึกมีส่วนร่วมทั้งในโรงเรียนและในสังคม 
  5. โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความเป็นประชาธิปไตย 
  6. โรงเรียนมีระบบบริหารจัดการแบบองค์กรมืออาชีพ เสริมจุดแข็ง พัฒนาจุดอ่อน เรียนรู้ที่จะตั้งเป้าหมายใหม่ตลอดเวลา
ดร. เฟาเซอร์ ใช้องค์ประกอบทั้ง 6 ข้อนี้ในการคัดเลือกโรงเรียนดีเด่นในประเทศเยอรมนีค่ะ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันแนวคิดนี้ได้ คือ ครู ซึ่งต้องเข้าใจเรื่อง second-order comprehension หมายถึง ครูต้องเข้าใจว่านักเรียนเข้าใจอย่างไร คุณอ่านแล้วอาจสงสัยว่า เพียงแค่ครูเข้าใจว่ากำลังจะสอนอะไรไม่พอหรือ ไม่พอค่ะ สาเหตุเป็นเพราะคนเราเกิดมาต่างกัน มีวิธีการเรียนรู้ต่างกัน บางคนตอบสนองต่อภาพ บางคนตอบสนองต่อการเขียน เป็นต้น หากเราจะวัดคุณภาพของคนด้วยวิธีเดียว เช่น จากการสอบข้อเขียนปลายปี อาจเป็นวิธีที่ไม่ยุติธรรมสำหรับทุกคน เพียงแค่สอบได้ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่มีคุณภาพ หากครูเข้าใจว่านักเรียนที่แตกต่างมีวิธีเข้าใจแตกต่างกัน ก็จะรู้จักสร้างเวทีให้เด็กได้ฉายศักยภาพออกมาแบบหลากหลาย

ความผิดพลาดร้ายแรงที่ผู้ใหญ่จะทำต่อเด็กได้ คือ ต่อว่าเด็กเมื่อตอบในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่เราคิด ดิฉันขอยกตัวอย่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัดเชียงรายที่คุณพารณ อิศรเสนา เล่าให้ดิฉันฟัง คือ ครูถามเด็กว่าหากเรามีเงิน 10 บาท ซื้อของไป 3 บาท จะได้ทอนกี่บาท เด็กคนที่ 1 ตอบว่า 7 บาท คนที่ 2 ตอบว่า 2 บาท และคนสุดท้ายตอบว่าไม่ได้ทอนเลย ครูต่อว่าเด็กสองคนหลังว่าโง่ ปัญหาง่ายขนาดนี้ตอบผิดได้อย่างไร

คุณรู้ไหมคะว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งสามคนตอบถูก เด็กคนที่ 2 ได้ทอน 2 บาทเพราะเขาให้เหรียญ 5 กับแม่ค้า ส่วนเด็กคนที่ 3 ไม่ได้ทอนเลย เพราะเขามีเหรียญบาททั้งหมด ให้พอดี 3 บาทไงคะ นี่เป็นตัวอย่างคลาสสิคของ second-order comprehension

หากครู หรือผู้ใหญ่ยึดติดแต่วิธีคิดของตน และต่อว่าเด็กเมื่อตอบไม่ตรงกับที่เราคิดไว้นั้น เราจะทำลายความมั่นใจของเด็กตลอดไป ซึ่งเป็นความผิดอันใหญ่หลวง ดร. เฟาเซอร์กล่าวว่า
เด็กทุกคนมีสิทธิที่รักตัวเอง มีความคิดของตน และควรมีโอกาสที่จะแสดงออกความคิดเหล่านั้นออกมาอย่างอิสรภาพ การถูกต่อว่า (ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว) อาจทำร้ายเด็กจนไม่กล้าแสดงออกอีกเลย

เพราะฉะนั้น ครูและผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นของเขา แสดงความสามารถออกมา ดร.เฟาเซอร์บอกว่า มีครูศิลปะคนหนึ่งในโรงเรียนที่เยอรมัน เวลาให้เด็กแสดงผลงานการวาดรูป ครูจะไม่ให้คะแนนว่าใครวาดได้ดีหรือไม่ แต่เพียงจะพูดว่าครูเห็นอะไร เพราะครูบอกว่า ใครจะมีสิทธิบอกว่างานศิลปะใครดีหรือไม่ดี ในท้ายที่สุด คะแนนที่ครูจะให้เป็นเพียงความเห็นของครูคนเดียวเท่านั้น

ในปี 2014 OECD จะจัดรูปแบบการสอบ PISA แบบเน้นทักษะการคิดแบบ second-order comprehension นี้ คือ ทุกปัญหามีได้มากกว่า 1 คำตอบ คุณคิดว่าการประเมินเด็กในระบบการศึกษาไทย ณ ปัจจุบัน จะเตรียมพร้อมให้เด็กคิดแบบนี้ได้หรือยังคะ หากเรายังวัดค่าของคนด้วยวิธีเดียว คือ การสอบปลายภาค ในบางครั้ง เพียงแค่ใช้คำพูดไม่เหมือนกับที่ครูสอน ยังถือว่าผิด แล้วเราจะสอนเด็กให้รู้ได้อย่างไรว่าทุกปัญหามีหลายทางแก้ และไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้องที่สุด แล้วแต่จะประยุกต์อย่างไรเท่านั้นเอง

ดร. เฟาเซอร์ ยังกล่าวอีกว่า เมื่อเด็ก ๆ ที่มีความคิดแตกต่างกันพูดคุยกันเกี่ยวกับความต่างนั้น พวกเขาจะหาจุดร่วมของความต่างนั้นด้วยกระบวนการธรรมชาติ ดิฉันคิดว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างคน และเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาที่สังคมเราเผชิญในวันนี้ ดร. เฟาเซอร์ กล่าวว่าเราคงไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันที่เก่าแก่และสูงส่งดังเช่นโรงเรียน แต่หากครูเข้าใจและเคารพความแตกต่างของนักเรียน และมีเครื่องมือที่จะเอื้อการเรียนรู้แบบนี้ เราจะมีโรงเรียนที่ดี (ขึ้น) แน่นอน คุณล่ะคิดอย่างไร

ดร. เพเทอร์ เฟาเซอร์ เป็นอาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยนา ที่สร้างครูให้มีทักษะการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบ second-order comprehension และทำวิจัยเรื่อง “โรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร” ซึ่งถูกใช้เป็นพื้นฐานของการตัดสินรางวัล “โรงเรียนดีเด่น” ของประเทศเยอรมนี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น