วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย – สร้างคนตั้งแต่วัยอนุบาล

“หากไม่ปลูกฝังความสนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยอนุบาลเราจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ”  มูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี

ไม่น่าแปลกใจที่ประเทศมหาอำนาจอย่างเยอรมนีมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเชื่อมโยงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเข้ากับการศึกษา แถมยังมองการไกล เริ่มตั้งแต่วัยอนุบาล คำถามคือ ประเทศของเราต้องการนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมากขนาดนั้นหรือ ดิฉันมองสองด้าน อันดับแรก วิทยาศาสตร์เป็นความรู้พื้นฐานที่สามารถต่อยอดและสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ได้ในทุกสาขาวิชา อันดับที่สอง วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือที่จะฝึกปรือให้เด็กมีกระบวนการคิดเป็นเหตุ เป็นผล รู้จักตั้งคำตาม ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นในการป้องกัน แก้ปัญหา และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นเอง

มูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เยอรมนี ริเริ่มจากความร่วมมือของภาคเอกชน อย่างสมาคมแฮล์มโฮลทส์ มูลนิธิดีทมาร์ โฮพพ์ บริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีย์แอนด์คอมพานี และซีเมนส์ ต่อมา ดร.อันเนต ชาวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัย แห่งรัฐบาลเยอรมัน เห็นความสำคัญ จึงสนับสนุนงบประมาณเต็มที่ ถือเป็นอีกตัวอย่างของความร่วมมือในโลกยุคปัจจุบันคือ การจับมือของภาครัฐและเอกชน ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและกล้าหาญมาก ความร่วมมือนี้ทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมตื่นตัวและตระหนักว่าการสร้างคน (ตั้งแต่วัยอนุบาล) เป็นหน้าที่ของตน เพราะสุดท้ายภาคอุตสาหกรรมก็คือ “ลูกค้า” ของระบบการศึกษา นอกจากนั้น เรายังเห็นว่าภาครัฐต้องจับมือกับภาคเอกชนด้วย เพราะในการขับเคลื่อนทุกสิ่ง จำเป็นต้องมี know-how พิเศษและแปลกใหม่

อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดิฉันเห็นคือ รัฐบาลเกาหลี เพื่อนสำนักพิมพ์เกาหลีเล่าให้ดิฉันฟังว่า รัฐบาลเกาหลีให้ความสำคัญกับการอ่านมากและเชื่อว่า “หนังสือ” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างคน รัฐบาลตั้งเป้าว่าต้องการสร้างคนเกาหลีให้มีคุณลักษณะอย่างไร จากนั้นเชิญสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในเกาหลีมาให้โจทย์ เพื่อให้พัฒนาและสร้างสรรค์หนังสือให้สอดแทรกและเสริมความคุณลักษณะอย่างนั้นไป ดิฉันคิดว่านี่คือ วิธีการที่ชาญฉลาดมาก ทำให้ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมวงการหนังสือของเกาหลีที่รุกหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ

ดิฉันเพิ่งได้อ่านหนังสือเรื่อง “กระดุมเม็ดแรก” ของ โคจองอุก ชื่อหนังสือแปลกไหมคะ นี่คือหนังสือเด็กของเกาหลี เขาบอกว่าหากเรากลัดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดอื่น ๆ ก็จะผิดหมด เช่นเดียวกับการปลูกฝัง “ค่านิยม” ให้เด็ก มีหนึ่งบทพูดถึงชีวิตของเด็กพิการคนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความโกรธ ทั้งโกรธความอยุติธรรมที่ทำให้เขาพิการ โกรธสังคมที่ปฏิบัติไม่เท่าเทียม และเล่าถึงกรณีคู่ขนานคือ สตีเฟ่น ฮอว์กิง ซึ่งเคยสิ้นหวังจากการเป็นโรคลูเกอห์ริกถึงขนาดทำร้ายตัวเอง แต่สุดท้ายไม่ย่อท้อ แน่วแน่ใช้ชีวิตให้คุ้มค่า ตั้งใจเรียนจนเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของยุคนี้ นักเขียนสรุปว่า “เมื่อรักตัวเอง ย่อมเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ... ที่สำคัญห้ามทำร้ายตัวเองเด็ดขาด เพราะทุกชีวิตมีคุณค่าและมีเพียงชีวิตเดียวเท่านั้น”

เห็นไหมคะ หากเราต้องการให้ประเทศไทยมีคนที่มีคุณภาพมาขับเคลื่อนให้พัฒนายิ่งขึ้น เราต้องเริ่มจากการศึกษา เริ่มยิ่งเร็วยิ่งดี ปีนี้เป็นปีที่สามที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพ นำโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยมาขับเคลื่อนในประเทศไทยแล้วนะคะ

ปัจจุบันมีกว่า 7,600 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ อยู่ในทุกจังหวัดค่ะ ในตอนแรกมีบางคนสงสัยว่าเรื่องการปลูกฝังให้เด็กสนใจและรักวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของคนเมืองอย่างเดียวหรือไม่ ตอนนี้เราพิสูจน์มาแล้วว่า ไม่ว่าอยู่ในเมืองหรืออยู่บนดอย เด็ก ๆ เต็มไปด้วยความกระหายอยากรู้ อยากค้นหาคำตอบด้วยมือของเขาเอง รอเพียงแค่โอกาสค่ะ ดิฉันขอให้การบ้านกลับไปคิด 1 ข้อ คือ คุณอยากให้องค์กรของคุณมีคนประเภทไหน แล้วคุณจะทำอะไรเพื่อสร้างคนประเภทนี้ขึ้นมาค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น