วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Active Citizen ปลูกจิตสำนึกพลเมืองดี

ดิฉันเริ่มได้ยินคำว่า “Active Citizen” ในสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ตอนนั้นดิฉันตั้งชมรมค่ายอาสาในประเทศโลกที่สามกับเพื่อน ๆ ทำให้ได้คลุกคลีกับชมรมอื่น ๆ ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในอเมริกา แต่ละชมรมมีเป้าหมายต่างกัน เช่น ช่วยเหลือผู้อพยพในสลัม สอนหนังสือในโรงเรียนด้อยโอกาส ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้าย เป็นต้น

ทุกสัปดาห์เราจะมีประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และพูดถึงการเป็น “Active Citizen” ทำให้ตระหนักว่า เพียงเราเป็นพลเมืองในประเทศหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราเป็น “Active Citzen” หากเราต้องการได้สิทธิประโยชน์จากชุมชนหรือประเทศ เราต้องมีความรับผิดชอบและรู้หน้าที่ด้วย ถือว่าโชคดีที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ทำให้คนรุ่นใหม่คิดเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ในยุคที่สังคมมีค่านิยมเชิดชูคนฉลาด หากลดความสำคัญเรื่องความเป็นพลเมืองดี ชุมชนเราอาจมีปัญหาได้!


การปลูกจิตสำนึกเป็นพลเมืองดีควรเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ใช่ว่าทุกคนเกิดมาจะรู้แจ้งเอง แต่ผู้ใหญ่อย่างเรามีหน้าที่สำคัญที่ต้องปลูกฝังให้กับลูกหลานค่ะ ฟังแล้วเหมือนยาก แต่จริงแล้วทำได้ง่ายและเริ่มได้เลยค่ะ วิธีที่ง่ายที่สุด คือปลูกฝังผ่านการอ่านหนังสือ

หากคุณเขียนนิยามของคำว่า “Active Citizen” แล้วจับคู่คุณลักษณะนั้นกับหนังสือที่เหมาะสมกับลูกหลานของคุณ จะสามารถปลูกจิตสำนึกเป็นพลเมืองดีได้อย่างแนบเนียนและสนุกสนานค่ะ อาทิเช่น
- มีความรับผิดชอบ – รู้หน้าที่ มีเป้าหมาย ทำตามคำมั่นสัญญา ไม่หวังสิ่งตอบแทน เคารพความแตกต่างของผู้อื่น – ไม่เอาเปรียบ ไม่ตัดสินจากภายนอก ไม่หลงตัวเอง คิดนอกกรอบ  คิดเป็น ทำเป็น – รู้จักตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย และอีกมากมาย
ดิฉันขอยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ของ เจ เค โรว์ลิ่ง ดิฉันชอบระบบที่นักเรียนทุกคนสามารถช่วยสะสมคะแนนให้บ้านของตัวเองได้ โดยการทำความดี ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม แถมยังเสริมประเด็นเคารพความแตกต่างของผู้อื่นได้อย่างดียิ่ง

สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญ บางคนเคยพบเจอแต่คนประเภทเดียวกัน เมื่อโตขึ้น เจอคนที่แตกต่าง ทำตัวไม่ถูก ดิฉันเชิญคุณตั้งคำถามว่าลูกหลานของคุณมีโอกาสได้เรียนรู้กับคนที่แตกต่างกับตนอย่างไร เช่น ไปเข้าค่ายในช่วงปิดเทอมไหม ไปเที่ยวศูนย์วิทยาศาสตร์ในสุดสัปดาห์ไหม ไปทำกิจกรรมอาสาสมัครหรือไม่

ศูนย์เฟโนเมนต้าที่นานมีบุ๊คส์ป็นศูนย์วิทยาศาสตร์แบบ hands-on จากประเทศเยอรมนี ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ co-construction คือ เมื่อเด็กแต่ละคนทำการทดลองที่สถานีจะมีความคิดของตัวเอง แต่เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนคนอื่น (ซึ่งคิดต่างกัน) จะสามารถหา “จุดร่วม” จากการถก “จุดต่าง” ได้ ดิฉันคิดว่านี่เป็นตัวอย่างโอกาสหรือ “เวที” ที่คุณเตรียมให้ลูกหลานคุณได้
นวนิยายเล่มใหม่ของ เจ เค โรว์ลิ่ง เรื่อง เก้าอี้ว่าง มีคำโปรยว่า “ทุกสังคมล้วนมีช่องว่าง คุณเป็นสาเหตุ หรือเป็นผู้เติมเต็มกันแน่” ดิฉันจึงขอท้าทายให้คุณเริ่มคิดว่า คุณจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากตัวคุณเอง จากครอบครัว จากโรงเรียนของลูกหลาน จากบริษัทที่คุณทำงาน เป็นต้น

ดิฉันเคยคิดว่า หากดิฉันต้องการสร้างความแตกต่างในสังคม ดิฉันควรทำงานกับ NGO (Non-Governmental Organization) เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ทุกคนสามารถสร้างความแตกต่างได้ในรูปแบบของตัวเองนะคะ ตอนนี้ดิฉันทำงานที่สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ มีวิชาชีพเป็นผู้ทำหนังสือและบริการด้านการเรียนรู้ ดิฉันสามารถมีส่วนร่วม “สร้างคน” ผ่านหนังสือ ปีนี้เรามี theme หลัก คือ Active Citizen ซึ่งจะสะท้อนในหนังสือแนะนำในร้านหนังสือ ในโครงการ Nanmeebooks Reading Club และโครงการค่ายต่าง ๆ ของเรา

เห็นไหมคะ การปลูกจิตสำนึกพลเมืองดีเป็นไปได้อย่างรูปธรรม และควรเริ่มเลย หากเราสามารถสร้างคนรุ่นหลังให้เป็น “Active Citizen” ได้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าสังคมเราจะก้าวหน้าอย่างสันติสุขและอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น