วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

HIVE ท่องเที่ยวเพื่อสังคม

เมื่อพี่เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้ง TYPN (Thailand Young Philanthropist Network) ชวนไปทำนาโยน ดิฉันตอบรับทันที เพราะไม่เคยปลูกข้าว ที่สำคัญ มั่นใจว่าทริปนี้ต้องได้พบเพื่อนใหม่ที่ใส่ใจเรื่อง “สังคม” เหมือนกันแน่นอน

TYPN เป็นเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยทักษะวิชาชีพของตน พร้อมสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคม (SE: Social Enterprise) ขึ้นอีกด้วย SE เป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสังคมที่ผู้ก่อตั้งเชื่อและศรัทธา โดยมีโมเดลการทำธุรกิจที่สร้าง impact วัดผลได้ และยั่งยืน


ทริปครั้งนี้เป็นฝีมือจัดของ SE เจ้าหนึ่ง ชื่อ HIVE เป็นบริษัททัวร์เพื่อสังคม ก่อตั้งโดยสองสาวพี่น้อง อชิและมิ้นท์ อชิเคยทำงานที่ยูนิลีเวอร์ ส่วนมิ้นท์เคยเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติ โดยมีคอนเซ็ปเสาะหาสถานที่ที่คนไม่ค่อยไป ที่ชาวบ้านทำกิจกรรมที่เหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา มาออกแบบเป็นโปรแกรมเที่ยวที่ hands-on สนุก และเป็นวิถีแบบยั่งยืน (sustainable tourism) นอกจากจะได้เพิ่มคุณค่าและรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ยังสร้างความหมายให้นักเดินทางอย่างพวกเราด้วย

ครั้งนี้ HIVE พากลุ่ม TYPN ไปทำนาโยนที่กรีนลิฟวิงแคมป์ จ.นครปฐม ถือเป็นฟาร์มข้าวออแกนิกไม่กี่เจ้าที่ผ่านการรับรองระดับโลก ไม่ใช่แค่ไม่ใส่สารเคมี แต่เป็นการปรับระบบนิเวศโดยรอบให้เป็นไปตามครรลองของออแกนิก โดยมีกำลังสำคัญเป็นเป็ด 200 ตัว ซึ่งต้องออกจากเล้าไปทำงานทุกวันตอนเก้าโมง เวลาเป็ดว่ายน้ำเล่น บินเล่น ปีกที่กระพือจะปัดโดนต้นข้าว ไล่แมลงที่ซ่อนอยู่ เท้าคุ้ยดิน กวนวัชพืน และปล่อยปุ๋ย (อึ) ตลอดทาง

ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ได้ประสบการณ์จากทุกประสาทสัมผัส เพราะทั้งได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพี่ยุทธและพี่ยุง สองพี่น้องที่ผันตัวเองมาเป็นชาวนาออแกนิก และได้ลองทำด้วยมือตัวเองด้วย พวกเราได้ไปตีนา (เตรียมดิน) ถอนกล้า และโยนกล้า


การทำนามีหลายวิธี เช่น หว่าน ปักดำ และโยนนา แต่ถ้าจะปลูกข้าวออแกนิกต้องใช้วิธีโยนนาค่ะ ความจริงดิฉันเคยโยนกล้าครั้งหนึ่งตอนจัด Nanmeebooks Science Festival ปี 2556 ครั้งนั้นจัดธีม “เกษตรกรรมลองทำดู” ได้ต้นกล้าจากกรมการข้าวมา 5,000 ต้น ตอนนั้นไม่เข้าใจ ขอตามจำนวนเด็กนักเรียนที่ลงชื่อมาร่วมงาน ตอนทดสอบกิจกรรม ก็โยนกันคนละ 1 ต้น เพิ่งมาถึงบางอ้อว่าเวลาโยนจริง ๆ ต้องโยนทีละกำเลยค่ะ สนุกมาก เพราะต้องลุยโคลนจริง ๆ พวกเราไปกัน 24 คน ยืนเรียงแถวที่ฝั่งหนึ่ง แล้วค่อย ๆ เดินถอยหลัง ถอยไปด้วย โยนกล้าไปด้วย พอถึงอีกฝั่ง ก็โยนกล้าครบพอดีค่ะ และด้วยกฎของแรงโน้มถ่วง ตุ้มของต้นกล้าก็จะปักดินพอดีเลยค่ะ มหัศจรรย์เหลือเกิน

ข้าวที่ปลูกคือพันธุ์ปิ่นเกษตร อร่อยมาก และทริปนี้ทำให้ดิฉันรู้ว่าข้าวกล้องงอกก็คือข้าวกล้องที่ผ่านกระบวนการให้งอก ซึ่งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาการมากขึ้น ก่อนหน้านี้ดิฉันนึกว่าข้าวกล้องงอกคืออีกพันธ์ คุณอาจคิดว่าดิฉันเด๋อนะคะ ทำไมไม่รู้ ทริปนี้ทำให้ดิฉันรู้ตัวว่าไม่รู้หลายอย่างมากค่ะ ประเด็นคือ การที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ในสถานที่ที่แปลกใหม่ กับกลุ่มคนที่หลากหลาย เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและมีประสิทธิผลมากจริง ๆ ค่ะ

นี่คือ project based learning ที่ดีเยี่ยม พวกเราทั้ง 24 คนมีโจทย์ตั้งต้นที่ไม่เหมือนกัน บ้างสนใจเรื่องข้าวออแกนิก บ้างสนใจเรื่องกิจการเพื่อสังคม บ้างสนใจเรื่อง sustainable tourism บ้างต้องการเพื่อนใหม่ สารพัดโจทย์มาพร้อมกับกิจกรรมที่หลากหลาย มาพร้อมกับการพูดคุย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (ที่มักจะต่างกัน) ลงมือทำจริง ซึ่งทุกกิจกรรมก็สร้างแรงบันดาลใจให้อยากรู้เรื่องอื่นต่อ เด้งไปเด้งมา จนเมื่อสิ้นวัน แต่ละคนก็ได้คำตอบที่อาจจะต่างและอาจจะเหมือน เท่านั้นไม่พอ ความประทับใจยังคงอยู่จนอยากมาเล่าต่อให้เพื่อนฟัง ถือเป็นการตอกย้ำความเข้าใจและความคิดเห็นให้ตัวเองอีกรอบ

ดิฉันขอชื่นชมพี่ยุทธและพี่ยุงที่ใจกล้าและใจกว้างพอที่มาปลูกข้าวออแกนิกให้คนไทยได้กิน ขอแสดงความยินดีกับสองสาว อชิและมิ้นท์ ที่ก่อตั้ง HIVE และทำได้อย่างดีเยี่ยม และขอบคุณ  TYPN ที่รวมพลคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทิ้งขว้างความรู้ที่เรียนมา มาสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมไทยของเราค่ะ

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

วันก่อนมีเพื่อนมาปรับทุกข์ว่า ภรรยาของเขาอาจนอกใจ หนำซ้ำทุกครั้งที่เงินเดือนเข้า ภรรยาจะกดเอทีเอ็มออกไปหมด แล้วให้เงินเขาเป็นวัน ความจริงแล้วการที่ภรรยากุมกระเป๋าเงินเป็นเรื่องปกติของหลายบ้าน หากเข้าใจกัน มีเหตุมีผล ก็น่าจะโอเค แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ

สัปดาห์ที่แล้วได้พบเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงหย่ากับสามี ทั้งที่ภายนอกดูเหมือนเป็นคู่ที่เพอร์เฟ็ก แต่แท้ที่จริง ถูกสามีคุกคามจิตใจ ดูถูกต่อว่า ใช้คำพูดเชือดเฉือนหัวใจเสมอ “อย่างเธอ ไม่มีวันเป็นแม่ของลูกฉันหรอก” “เธอทำให้ฉันอยากอ๊วกเป็นเลือด” ทำลายความเคารพตัวเองและความเชื่อมั่นในเพื่อนของดิฉันจนหมด ทุกครั้งที่เงินเดือนออก ต้องเบิกเงินทั้งหมดพร้อมสลิปเงินเดือนไปให้สามี ให้เงินเป็นวันเหมือนกัน หากต้องการซื้ออะไรต้องขอเป็นครั้ง ๆ ไป ตอนหนีออกมา ไม่มีเงินสักแดง
แปลกแต่จริง นิยายที่ดิฉันอ่านอยู่มีเค้าโครงคล้ายกัน นางเอกเคยเป็นสาวน้อยที่เต็มไปด้วยไฟและจิตวิญญาณ แต่เมื่อถูกพรากจากแม่ ให้ไปอยู่กับพ่อใจร้าย กดขี่ทางจิตใจหลายปี ไม่ให้แสดงอารมณ์ ความคิดเห็น ก็ทำให้เปลี่ยนไปสิ้นเชิง จนกว่าจะมีเพื่อนดี มีคนรักที่ส่งเสริมให้รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา ยืนหยัดต่อสู่เพื่อตัวเองได้

ตอนดิฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เคยเป็นอาสาสมัครในเซฟเฮ้าส์ดูแลผู้หญิงที่ถูกทำร้าย (domestic violence) ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้ว่าการถูกทำร้าย ไม่ใช่เพียงทางกาย แต่เป็นทางใจด้วย บางคนไม่เคยถูกทุบตี แต่ถูกดุด่า ควบคุม ยึดทุกสิ่งอย่างที่จะทำให้อยู่รอดด้วยตัวเองได้ เช่น ไม่ให้เงิน ไม่ให้ออกจากบ้าน ขู่ว่าหากออกจากบ้านจะฆ่า ฯลฯ สะท้อนให้คิดว่า หากเรา (หรือเพื่อนของเรา) ตกอยู่ในสภาพนั้น จะต้องทำอย่างไร

พนักงานบริษัทนานมีบุ๊คส์ส่วนมากเป็นผู้หญิงค่ะ ตั้งแต่ทำงานมามีประมาณ 10 คนแล้วที่ลาออกเพราะแฟนบังคับให้ออก ไม่ใช่ว่าไม่สนุกกับงาน แต่แฟนบอกว่า เป็นห่วง ไม่อยากให้ทำงานดึกถึงหนึ่งทุ่ม เมื่อสอบถามเพิ่มเติม หลายคนต้องเลี้ยงแฟนด้วยซ้ำ เพราะแฟนไม่ทำงาน

คุณแม่พูดกับพวกเราเสมอว่า พวกเราต้องยืนได้ด้วยตัวเอง อย่าคิดว่าใครจะต้องมาเลี้ยงเรา หากมีถือว่าได้แต้ม แต่อย่าตกไปอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้น เราต้องมีวิชาชีพ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ บริษัทเรามีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนหนึ่งเลยค่ะ ทำให้ดิฉันประทับใจความแกร่งของเพศหญิงอย่างมาก ไม่ว่าจะเจอมรสุมอะไร จะสู้ไม่ถอย

ตอนนี้นานมีบุ๊คส์กำลังจะจัดพิมพ์หนังสือเรื่องแค่ 13เรื่องราวชีวิตของ ลอน จากเด็กหนีออกจากบ้านมาเป็นหญิงขายบริการเรทติ้งอันดับหนึ่ง เด็กผู้หญิงที่ไม่มีค่าพอที่พ่อแม่จะส่งเรียนหนังสือ แต่เป็นแหล่งรายได้สำคัญให้ครอบครัว ได้เงินจากไหนไม่เคยมีใครถาม ยิ่งให้บริการแบบ “พิศดาร” เท่าไรก็ได้เงินมากขึ้น และแม่ก็เอาไปหมด

ลอน เขียนในอารัมภบทว่า “หลังจากทนทุกช์มานานกว่าสิบปี ฉันก็หนีออกจากประเทศไทยสำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฉันก็พบว่า การอยู่อีกประเทศหนึ่งหรือการแต่งงานกับคนอังกฤษ ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภายใน ฉันต้องการเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องการทำให้หญิงสาวคนอื่น ๆ เห็นว่าพวกเธอก็ทำสำเร็จได้ ... เราต้องรู้ให้ลึกถึงจิตวิญญาณว่าร่างกายมนุษย์เป็นสมบัติล้ำค่า เราแต่ละคนมีคุณค่า และสามารถทำความดีเพื่อสังคมได้ เราจึงจะเอาชนะเกมชีวิตนี้ได้”
โจทย์ของพวกเราคือ จะเลี้ยงดูสั่งสอนลูกหลานของเราอย่างไร ให้มีวิชาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ มีความรัก เคารพตัวเอง และมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถแก้ปัญหาได้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2557

“STREAM Approach กับการจัดการการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21”

ท่านสามารถดาวน์โหลด Presentation จากงานสัมมนา “STREAM Approach กับการจัดการการเรียนรู้ เพื่อสร้างทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21” กรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่นและเยอรมัน ในงาน EDUCA 2014 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2557 โดย คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา




วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

จดหมายจากรุ่นพี่

เมื่อดิฉันได้รับเชิญจากโรงเรียนเก่า (ปัจจุบันชื่อ British International School, Phuket) ให้ไปกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีกับรุ่นน้อง ม. 6 ที่เพิ่งเรียนจบ ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจและไม่แน่ใจในขณะเดียวกัน เวลาผ่านไป 12 ปีแล้วที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์นี้ให้กับพวกเรา แล้วฉันประสบความสำเร็จมากพอที่จะมาพูดให้รุ่นน้องฟังแล้วหรือ ดิฉันจึงศึกษาแนวทางการกล่าวสุนทรพจน์ของ เจ เค โรว์ลิ่ง ตอนที่ได้รับเชิญจาก ม.ฮาร์วาร์ด ในปี 2008 ดิฉันพบว่า การพูดถึงสิ่งที่เราค้นพบและทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้น่าจะดีที่สุด เลยขอแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านที่มีลูกหลานหรือคนรู้จักที่กำลังจะ (หรือเพิ่ง) จบม. 6 นะคะ โดยขอเขียนเสมือนพูดกับรุ่นน้องนะคะ

วันนี้พี่ขอพูดถึง 2 หัวข้อนะคะ คือ การเปิดใจและ social change (การเปลี่ยนแปลงสังคม)
สมัยพี่เรียนม. ปลาย พี่เป็นคนมีความแข่งขันสูงมาก พี่ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเรียน เรื่องสังคม เรื่องกีฬา เรื่องดนตรี เมื่อมหาวิทยาลัยปฏิเสธไม่รับพี่ ตอนนั้นพี่เสียใจเป็นที่สุด คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ แต่โชคดีที่ได้รับกำลังใจอย่างล้นหลาม ทำให้พี่คิดได้ พี่เครียดเพราะพี่ตั้งความคาดหวังให้ตัวเองสูงเกินไป คือ พี่นึกว่าคนรอบข้างหวังสูงกับพี่ แต่แท้ที่จริงแล้ว ทุกคนพียงต้องการให้เรามีความสุขเท่านั้น

เมื่อพี่เข้ามหาวิทยาลัยมิชิแกน พี่จึงตัดสินใจปรับทัศนคติ พี่บอกตัวเองว่าพี่จะเปิดใจ คือทำให้ดีที่สุดและจะแข่งขันกับตัวเองเท่านั้น ไม่ต้องซีเรียสกับเรื่องเรียนจนเกินไป โอโห ความเครียดแทบมลายหายไป ถึงแม้ว่าพี่จะสมัครเรียนวิศวกรรม แต่พี่ลงวิชาเลือกในวิชาที่พี่สนใจ เช่น การเมือง ประวัติศาสตร์ พี่เข้าร่วมคณะร้องเพลงประสานเสียง ทำนิตยสาร และก่อตั้งชมรมค่ายอาสา เมื่อมีเวลาพี่มักไปฟังคอนเสิร์ต ไปชมนิทรรศการศิลปะ ไปฟังสัมมนา

ที่ BIS เราไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องศาสนาหรือความเชื่อ และเรามักจะคิดว่าโรงเรียนของเรามีทุกอย่างแล้ว แต่เมื่อพี่เข้ามหาวิทยาลัย พี่ได้พบกับคนที่หลากหลาย และพบว่าโลกนี้มีสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้อีกมากเหลือเกิน มันสุดยอดมาก เพราะฉะนั้น พี่ขอท้าทายให้พวกเราก้าวสู่บทต่อไปของชีวิตด้วยหัวใจที่เปิดอ้า เพราะฉะนั้น อย่าหมกอยู่แต่ในหอในวันเสาร์-อาทิตย์ อย่าไม่ทำอะไรในช่วงปิดเทอม อย่ายุ่งเกินไปที่จะไปพบเพื่อนใหม่ วางแผนกิจกรรมในช่วงปิดเทอมให้ดี ผจญอุทยานแห่งชาติเขาสก ทำงานพิเศษบนเรือยอช ฝึกงานที่สหประชาชาติ เพราะกิจกรรมที่่น่าตื่นเต้นแบบนี้ไม่ได้ลอยมาหาเรา และที่แน่ ๆ มันไม่ได้ฟรี เราต้องตั้งเป้าและวางแผน และเมื่อเราเรียนจบและทำงานประจำ คงไม่มีโอกาสมาทำกิจกรรมแบบนี้ได้ง่ายเหมือนสมัยเรียนแน่ ๆ ค่ะ

แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะ พี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องสนใจเรื่องเรียนนะคะ เพราะเรื่องนั้นมันของตายอยู่แล้ว บางครั้งการที่ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนดี ๆ แบบเราอาจทำให้เราไม่สำนึกในโอกาสได้นะคะ เพื่อนของพี่ที่มิชิแกนส่วนมากต้องกู้เงินเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน เพราะฉะนั้น หากเราโชคดีขนาดที่มีคนส่งเสียให้เรียน เราจะต้องทำให้ดีที่สุด และทำอย่างเปิดใจค่ะ

มาถึงหัวข้อที่สอง คือ social changeพี่รู้สึกโชคดีมากที่ได้เรียนหลักสูตร IB
ขอบคุณ Peter Koret ครูชาวอเมริกันที่สอนภาษาไทย ที่ท้าทายให้เราอ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวขอบคุณ Patrick Barnham ที่แนะนำให้อ่าน บ้านปรารถนารัก เมื่อเติมความเข้มข้นด้วยการเรียน Theory of Knowledge ที่ชวนตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเห็นมีจริงหรือไม่ และการเขียน extended essay เกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาในยุค 1970 หลักสูตร IB เกือบทำให้พี่เป็นบ้า

หากโลกของเราเต็มไปด้วยคอรัปชั่นทั้งในศาสนา การเมือง และระบบทุนนิยม เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร คือเป็นมากกระทั่งคิดว่าหากพี่โดนรถชนตาย อาจไม่มีอะไรนัยยะสำคัญอะไร เพราะชีวิตก็ไม่ได้มีความหมายขนาดนั้นอยู่ดี

อ. วิทยากร เชียงกูล เรียกช่วงนี้ว่า “ฉันจึงมาหาความหมาย” พวกเราอาจจะรู้สึกแบบนี้อยู่ สำคัญคือให้ตระหนักว่ากระบวนการนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น เราจะ “หา” มากเท่าไรก็ได้ แต่อย่าจมปลักกับมัน มันจะค่อย ๆ คลี่คลายไปเอง

โชคดีที่พี่ได้ก่อตั้งชมรมค่ายอาสาที่ชื่อว่า World Service Team บทบาทของพวกเรา คือ คัดเลือกโครงการเพื่อสังคมในประเทศโลกที่สาม ทำกิจกรรมเรี่ยไรเงิน และพานักศึกษาไปทำกิจกรรมให้สำเร็จ โครงการชิ้นแรกของเราอยู่ที่ประเทศเขมรค่ะ ก่อนไป เราได้เชิญคุณแม่ของเพื่อนร่วมทีมที่เป็นคนเขมรที่ลี้ภัยจากพวกเขมรแดงไปอยู่อเมริกามาเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ คุณแม่เล่าถึงคราวที่ถูกทหารใช้คีมถอนเล็บออกมาทั้ง 10 นิ้วเพราะทาเล็บ และเล่าถึงเมื่อทหารฆ่าเพื่อนที่เป็นปัญญาชน เพราะไม่อยากให้เผยแพร่ความคิดที่ต่อต้านกับรัฐบาล

พวกเราจึงไปเขมรด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ "โอ ชาวเขมรที่น่าสงสาร เราจะเป็นดั่งแสงไฟให้ชีวิตที่มืดมน" พวกเราช่างโง่เขลาและจองหอง ถึงแม้ว่าผู้คนที่เราได้พบปะเป็นเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความหวัง ทำให้พี่คิดได้ว่า หากคนที่ผ่านเรื่องเลวร้ายขนาดพวกเขายังมีความพอใจในชีวิต พี่เป็นใครมาจากไหนถึงจะคิดว่าชีวิตไร้ความหมาย

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย พวกเราอาจจะหลงลืมหรือตั้งคำถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร แต่บางครั้งเราไม่ต้องมีคำตอบก็ได้นะคะ พวกเราจะพบเจอกับประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจ หรือกระตุกความเป็นตัวตนของเรา พี่ขอให้เราตั้งใจเรียนฝึกฝนทักษะและวิชาชีพให้ดีที่สุด เพื่อสุดท้าย ถึงแม้ว่าเราจะมีเงินหรือไม่ อย่างน้อยเรามีมันสมอง มีความเชี่ยวชาญ ที่จะมาช่วยผลักดันและแก้ไขประเด็นทางสังคมนั้น ๆ

สุดท้ายนี้ พี่ขอแสดงความยินดีกับพวกเราทุกคนที่เรียนจบมัธยม 6 และขอให้ชีวิตมหาวิทยาลัยสนุกสุดยอดไปเลยนะคะ”

วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

STREAM Approach – แนวคิดบริหารการศึกษาแบบบูรณาการ

ตั้งแต่นานมีบุ๊คส์ผันตัวเองจากการเป็นสำนักพิมพ์ (publisher) สู่ผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้ (learning service provider) ทีมงานครุ่นคิดถึงเป้าหมายและแนวทางการทำงานอย่างมาก เราล้วนเห็นด้วยว่า เป้าหมายคือ สร้างคนที่มีคุณภาพ ที่มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ทักษะการจัดการตัวเอง ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการทำงานให้สำเร็จลุล่วง แต่จะทำอย่างไรล่ะ

เราเชื่อว่า “วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” เป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์นี้ ช่วงหลังมานี้ นักการศึกษาไทยมักกล่าวถึง STEM Education (Science Technology Engineering Maths) ว่าจะเป็นเครื่องมือในการสมรรถภาพในการแข่งขันให้คนไทยในตลาดโลกได้ ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างวิชาใหม่ชื่อ STEM ขึ้นมา แต่จะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้ต่อยอดจากการเรียนเพื่อเรียน ให้เด็กและเยาวชนคิดต่อได้ เช่น จากเรียนวิทย์ สามารถต่อยอดสู่การทำโครงงาน สู่การสร้างนวัตกรรมได้ เป็นต้น

ในฐานะคนทำหนังสือ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การอ่าน (Reading) และศิลปะ (Arts) จึงนำมาสู่ STREAM ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราคิดค้น แต่เราเอา STREAM มาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ STREAM Approach ในแบบฉบับนานมีบุ๊คส์ขึ้น

ลองยกตัวอย่างนะคะ หากเราเป็นครูวิทย์ นอกจากจะสอนเนื้อหาตามแบบเรียนปกติแล้ว เราจะมีบทบาทส่งเสริมการอ่านอย่างไร เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปสู่การแก้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างไร เชื่อมโยงไปสู่สังคมที่เราอยู่อย่างไร นี่คือการบูรณาการ

เช่น หากเราสอนเรื่องเพนดูลัม ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป. 3 หากเราไม่เชื่อมโยง คำว่า “เพนดูลัม” จะไม่มีนัยยะสำคัญอะไรกับชีวิตเลย แต่หากเราเริ่มการเรียนรู้โดยการให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ อาจพูดถึงโทรทัศน์ โทรศัพท์ ที่ไม่พลาดคือนาฬิกา เพราะทุกคนใส่ เราก็สามารถเชื่อมต่อได้ว่า นาฬิกาทำงานได้อย่างไร บ้างอาจบอกว่าใส่ถ่าน บ้างอาจบอกว่าต้องเสียบปลั๊ก แต่สุดท้ายครูสามารถเชื่อมสู่เรื่องเพนดูลัมได้ แต่หากจะให้ทำความเข้าใจจากแบบเรียนอย่างเดียว คงไม่เห็นภาพ ครูสามารถพาเด็ก ๆ ทำการทดลองต่อได้ หากสนุก ยังพาทำโครงงานต่อได้อีก ทั้งหมดนี้ เด็ก ๆ สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือในห้องสมุด แม้กระทั่งแนะนำให้เด็ก ๆ อ่านวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาก็ได้ หรือพาเด็ก ๆ ไปทัศนศึกษาต่อที่โรงงานทำนาฬิกาหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ได้

หากครูสอนแบบ STREAM Approach ครูจะมีบทบาทที่เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับเรื่องรอบตัวเด็ก ทำให้เนื้อหามีความหมายกับชีวิต ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว และที่สำคัญ หากครูตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ก็จะรู้ว่า เด็กแต่ละคนถูกปลุกเร้าให้เรียนรู้หรือเข้าใจด้วยสื่อที่แตกต่างกัน บางคนฟังแล้วเข้าใจ บางคนต้องได้ทำเองจริง บางคนต้องไปศึกษาต่อเงียบ ๆ คนเดียว บางคนต้องไปเห็นของจริงนอกโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบ STREAM Approach ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ครูแต่ละคนสามารถไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนได้  แต่ไม่จำเป็นต้องสอนวิทย์-คณิตเท่านั้น แม้จะสอนสังคม ในที่นี้เราเรียกว่า Social Science ก็ถือว่าเป็นวิทย์แขนงหนึ่งเหมือนกัน เช่น เหมือนสอนเรื่องภูมิอากาศ เกี่ยวกับพาทอร์นาโดหรือไต้ฝุ่น มันเชื่อมกับเรื่องแรงดันอากาศในวิทย์ เชื่อมกับผลกระทบในสังคม หรือแม้กระทั่งเชื่อมกับหนังสือ “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ” ด้วยซ้ำ

สำคัญคือ หากเป้าหมายการเรียนรู้รวมถึงทั้งเรื่องเนื้อหาและทักษะสำคัญที่กล่าวตอนต้น เวลาครูจะออกแบบการเรียนรู้อะไร อาจต้องคิดถึงวิธีการและเครื่องมือด้วย และถึงแม้ท่านผู้อ่านไม่ได้เป็นครู แต่ทำงานในองค์กร เชื่อว่าน่าจะนำ STREAMApproach ไปปรับใช้ได้เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สอนให้คิดด้วยตรรกะและปัญญา

ใครว่าเรื่องปรัชญาโตเกินไปสำหรับเด็ก เมื่อดิฉันได้อ่านหนังสือ สอนให้คิดด้วยตรรกะและปัญญาโดยนักเขียนชาวเกาหลี ชื่อ Lim, Byung-Gab ซึ่งเขียนคำโปรยไว้อย่างน่าสนใจว่า “รวมเรื่องสั้นปรัชญาที่ไม่มีปรัชญา พัฒนาความคิดสู่ Active Citizen แถวหน้าของโลก” ยิ่งตอกย้ำว่าเรื่องปรัชญา หรืออย่างน้อยก็คือ การฝึกเด็ก ๆ ให้คิดเกี่ยวกับเรื่องที่คิด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ก่อนจะเล่าให้ฟังถึงรายละเอียด ขอข้ามทวีปไปที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (Tubingen) ประเทศเยอรมนี รู้ไหมคะว่า ที่นี่เปิดโอกาสให้เด็กอายุ 8-12 ขวบเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้ เรียกว่า มหาวิทยาลัยเด็ก เป็นโครงการพิเศษในช่วยปิดเทอมฤดูร้อน ให้เด็ก ๆ เข้าไปฟังบรรยายจากอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ เด็ก ๆ จะได้ทั้งบัตรนักเรียน มีหนังสือ และสามารถฟังบรรยายในหัวข้อที่ตัวเองสนใจได้ เช่น ทำไมไดโนเสาร์จึงสูญพันธ์ ทำไมมนุษย์ต้องตาย และทำไมรูปสลักของกรีกจึงต้องเปลือย

ฟังดูลุ่มลึกใช่ไหมคะ ดิฉันลองอ่านเนื้อหาที่พูดกันในหนังสือ มหาวิทยาลัยเด็ก โดย Ulrich Janben และ Ulla Steuernagel โดยในเฉพาะในบท “ทำไมจึงมีทั้งเศรษฐีและยาจก” ทำให้ดิฉันคิดว่า นี่คือหัวข้อสนทนาของผู้ใหญ่นี่นา แต่ผู้ใหญ่อย่างดิฉันยังไม่เคยนั่งถกประเด็นนี้กับเพื่อน ๆ เลย อาจเคยคิดกับตัวเอง แต่ก็ไม่เคยสำรวจความคิดแบบลงรายละเอียดแม้กับตัวเอง ดิฉันจึงคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ประเสริฐมากที่ประเด็นหนัก ๆ และเป็นความจริงที่น่าเศร้า ถูกยกมาถกเถียงกันในมุมมองบริสุทธิ์ของเด็ก ๆ แต่ยังอยู่ภายใต้การกำกับโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย ในหนังสือตั้งคำถามว่า อะไรคือเกณฑ์ที่บอกว่าคนนี้รวยหรือจน คนจนในประเทศหนึ่งจะถือว่าจนในอีกประเทศหนึ่งหรือไม่ หากมีเกมบอยเล่นถือว่าเป็นคนรวยไหม ทำไมประเทศที่จนในอดีตถึงร่ำรวยในปัจจุบัน และอีกมากมาย

ไม่ใช่เพียงนักเรียนที่ตื่นเต้นนะคะ แต่บรรดาอาจารย์รุ่นเก๋าตื่นเต้นยิ่งกว่า เรียกว่าตื่นเวทีขึ้นมาทีเดียว เพราะจะถ่ายทอดความคิดออกมาอย่างไรให้เด็กสนใจและเข้าใจ บางคนสารภาพว่าไปเหมาช๊อกโกแล๊ตมาหมดซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อแจกให้กับเด็ก ๆ ระหว่างฟังด้วยนะคะ

แล้วเกี่ยวกับเรื่อง “สอนให้คิดด้วยตรรกะและปัญญา” อย่างไรล่ะคะ มันสำคัญมากที่จะต้องปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักตั้งคำถาม

ในบทแรก ผู้เขียนตั้งคำถามว่า เราใช้อะไรมอง ทำไมคนเรามองสิ่งเดียวกันแต่เห็นแตกต่างกัน ซึ่งในบทสรุปเนื้อหาสำหรับครูและผู้ปกครอง ผู้เขียนชี้แจงว่า “เราไม่ได้มองโลกด้วยตา เพราะสิ่งที่เห็นจะถูกแทรกด้วยความคิด ดังนั้นถึงแม้จะมองสิ่งที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนกัน แต่สิ่งที่เห็นจะแตกต่างกันตามความรู้”

ฟังดูเหมือนจับต้องไม่ได้นะคะ แต่สำคัญมากค่ะ ในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลง ผู้คนมักมีประเด็นซ้อนเร้นที่สอดแทรกมาในการสื่อสาร  เด็ก ๆ ต้องรู้ตัวว่า เขากำลังเรียนรู้อะไร เขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เรื่องที่เขาคิดว่าถูกต้องนั้นถูกต้องสำหรับทุกคนหรือไม่ เรื่องนี้เป็นจริงตามที่ได้ยินหรือได้เห็นหรือไม่ หรือสิ่งที่เขาเข้าใจถูกบิดเบือนไปด้วยประสบการณ์เดิมของเขา

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เราส่งเสริมให้เด็ก ๆ ตั้งคำถาม สนทนาในเรื่องที่สนใจกับผู้อื่น เราก็ต้องให้เครื่องมือในการเรียนรู้ด้วยค่ะ สมัยที่ดิฉันเรียนมัธยมปลายที่ รร.นานาชาติดัลลิช ภูเก็ต (ปัจจุบันชื่อ รร.นานาชาติบริติช) พวกเราต้องเรียนวิชา Theory of Knowledge คือทฏษฎีเรื่องความรู้ ซึ่งเป็นวิชาที่เปิดประเด็นสังคมมากมายให้ถกกัน ทำให้รู้ว่ามีคนที่คิดแตกต่าง พิสดาร มากมายเหลือเกิน ซึ่งยากที่จะตอบว่าใครคิดผิดหรือถูก

บางคนบอกว่า ทำไมถึงซีเรียสจัง บางครั้งก็ต้องหยุดคิดบ้างนะคะ มันก็จริงนะคะ แต่ดิฉันคิดว่าในสมัยนี้ คนส่วนมากจะไม่ค่อยได้คิดอะไรน่ะสิคะ ดิฉันขอหยิบยกคำนำของหนังสือเรื่องสั้นสนุกสอน CQ คิดดีคิดเก่ง มาอ้างอิงนะคะ “เพื่อนคนหนึ่งถามเซอร์ไอแซค นิวตันว่า “นายค้นพบกฏของแรงโน้มถ่วงได้อย่างไร” เขาตอบกลับไปว่า “เพราะฉันคิดถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลาน่ะสิ” นั่นล่ะ! ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เริ่มต้นง่าย ๆ แค่การครุ่นคิดถึงเรื่องต่าง ๆ นี้เอง”

ข้ามมาที่มหาวิทยาลัยเด็กอีกครั้งนะคะ จากการบรรยายสนุก ๆ 8 ครั้งที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิงในปี ค.ศ. 2003 จนออกมาเป็นหนังสือ มหาวิทยาลัยเด็ก เล่ม 1 ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้มหาวิทยาลัยอีกกว่า 30 แห่งในประเทศเยอรมนี และอีกมากมายในอิตาลี ออสเตรีย นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ จีน ตอนนี้ สสวท. และ สวทช. ก็ได้นำโครงการนี้มาในประเทศไทยแล้วนะคะ

ดิฉันเชิญชวนให้คุณเริ่มโดยการเลือกหัวข้อที่น่าสนใจมากหนึ่งหัวข้อ และเริ่มสนทนากับครอบครัวในโต๊ะทานข้าวเย็นนี้เลยนะคะ 

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เป็นครู ม. ต้น แสนลำบาก

“สัปดาห์หน้าครูจะจัด workshop ให้กับเด็ก ม. ต้น รู้ไหมคะว่าการเป็นครู ม. ต้น ไม่สนุกที่สุด เพราะเด็กไม่เอาครู ทำให้กำลังใจน้อย แต่เป็นครูที่มีความสำคัญมาก ... ทำอย่างไร ครูจึงจะเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เห็นใจเด็ก ปกติคนเราก็เข้าใจตัวเองยากอยู่แล้ว ยิ่งตอนช่วง ม. ต้น ยิ่งยากเข้าไปใหญ่”

ถือเป็นครั้งแรกที่ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ เคยแต่คิดในมุมมองผู้ปกครอง ว่าเลี้ยงลูกวัยรุ่นแสนลำบาก ไหนจะฮอร์โมนพลุ่งพลาน อารมณ์อ่อนไหว สับสน และคล้อยถามเพื่อน แต่ดิฉันไม่เคยมองในบทบาทของครูมาก่อน เมื่อ อ. สุมิตรา พงศธร แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เปิดประเด็นนี้ ดิฉํนจึงสนใจอย่างมาก
เมื่อได้พบ อ. สุมิตรา อีกครั้ง จึงถามถึงผลของการจัด workshop ว่าเป็นอย่างไร

“เราใช้หัวข้อว่า Bridge the Gap ปิดช่องว่างระหว่างครูชั้น ป. ต้น – ม.ต้น – ม.ปลาย เปิดใจครูให้ตระหนักว่าเด็กกำลังเปลี่ยนแปลง เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อนแล้ว หลายครั้งที่เรารู้จักนักเรียนของเราในภาพหนึ่งตอนอยู่ ป. 6 แต่พอขึ้น ม. 1 เด็กเปลี่ยนไป เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงจำเป็นต้องเปิดใจเพื่อนครูให้เตรียมรับมือกับความหลากหลาย

สิ่งสำคัญ คือ ต้อง Bridge the Gap ในตัวเอง หากเราจะสอนให้นักเรียนรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราทำได้หรือยัง หากครูขาดความเข้าใจในสถานการณ์ ความเครียดที่ครู ม. ต้น ต้องรับมือกับเด็กวัยรุ่น อาจสะท้อนให้ครูออกอาการกับเด็ก กับเพื่อนครู และกับตัวเองได้”

อ. สุมิตรา พูดถึง ทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้น ของ มาส์โลว์ (Marslow’s Hierarchy of Needs) กับการเรียนรู้ ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าสนใจมาก จึงไปอ่านบทความต่อใน www.teacherstoolbox.co.uk ซึ่งพูดถึงความต้องการ 5 ขั้นในบริบทของโรงเรียน ดิฉันขอแปลตามภาษาของตัวเองนะคะ
     The Physiological Needs (ด้านร่างกาย) – นักเรียนได้รับอาหาร น้ำ อากาศ เพียงพอ ไม่หิวโหยทางกาย 
     The Safety Needs (ด้านความปลอดภัย) – นักเรียนรู้สึกปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รู้สึกมั่นคง 
     The Belongingness and Love Needs (ด้านมีความรักและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม) – นักเรียนรักตัวเองและผู้อื่น เชื่อใจเพื่อนและครอบครัว รู้สึกมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกเหงาหรือแปลกแยก ไม่รู้สึกว่าต้องทำตัวเหมือน “คนอื่น” 
     The Esteem Needs (ด้านความมั่นใจ) นักเรียนมั่นใจ เชื่อ และเคารพตัวเอง กล้าลองสิ่งใหม่ เอื้อเฟื้อกับเพื่อน ไม่กลัวแพ้ ไม่กลัวจำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ออกอาการโกรธรุนแรงเมื่อไม่ได้รับการเคารพจากผู้อื่น 
     The Self-Actualisation Needs (ด้านความเข้าใจตัวเอง) นักเรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพของตัวเอง ตามความสนใจและ passion กล้าลอง คิดเองได้ หาตัวตนเจอ ยินดีมีส่วนร่วมในสังคม ชีวิตมีความหมาย
บทความชิ้นนี้ชวนเราตั้งคำถามว่า หากมีนักเรียนคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมมีปัญหา เป็นไปได้ไหมที่เขารู้สึกแปลกแยก ไม่มั่นใจและไม่เข้าใจตัวเอง และเราในฐานะครูควรทำอย่างไร

ประเด็นของ อ. สุมิตรา คือ เราก็ต้องมองเรื่องนี้ในบริบทของผู้ใหญ่ด้วย ดิฉันจึงขอเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในองค์กรอื่นด้วยเลยนะคะ องค์กรต้องทำอะไรที่เติมเต็มความต้องการ 5 ขั้นให้กับทีมงาน และพวกเราจะต้องทำอะไรถึงจะเติมเต็มสิ่งนั้นให้กับตัวเอง

โจทย์สำคัญ คือ เราจะ Bridge the Gap ในตัวเองได้อย่างไร เพราะหากปิดช่องว่างนี้ไม่ได้ เราคงไปปิดช่องว่างนี้กับคนอื่นไม่ได้แน่ ๆ ดิฉันขอยก ดร. กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นตัวอย่าง โดยขอใช้คำนำจากหนังสือ ดอกเตอร์จากกองขยะ คือ “จากเด็กบ้านแตกที่พ่อแม่แยกทางกัน จากเด็กเร่ร่อน ...ขอทาน...ขโมยผลไม้ไปจนถึงเงินในตู้เกม...แต่ด้วยความรักที่เขามีต่อแม่...จนตอนนี้เรียนจบดอกเตอร์จากญี่ปุ่น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิศวกรรมที่ราชมงคลธัญญบุรี” เห็นไหมคะ เราต้องเริ่มจากตัวเองจริง ๆ

ขอขอบพระคุณ ดร.กุลชาติ สำหรับแรงบันดาลใจ ขอชื่นชม อ. สุมิตรา แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอี ที่จัดกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ให้กับคณะครู และขอเป็นกำลังใจให้ครู ม. ต้นทุกคนในประเทศไทยค่ะ

วันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ไม่เอานมได้ไหม

ใครจะรู้ว่า ณ ชายแดน ไทย-พม่า จะมีโรงเรียนเกรดเอตั้งอยู่ เจ้าของกล่าวอย่างภูมิใจว่าเป็นโรงเรียนที่แพงที่สุดในพื้นที่ อนุบบาล 15,000 ประถม 25,000 แต่เมื่อดิฉันเห็นครั้งแรก นึกว่าค่าเทอมจะแพงกว่านั้น โรงเรียนแห่งนี้สอน 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน) รองรับทั้งนักเรียนไทย จีน และพม่า มีห้องคอมพิวเตอร์อย่างดี ห้องเรียนทุกห้องมีแอร์ โรงเรียนสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญ เจ้าของลงเอง

“กว่าสิบปีก่อน พี่มาเที่ยวที่ชายแดน และสัญญากับตัวเองว่า จะกลับมาพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้ดี ด้วยการสร้างโรงเรียน” สิบปีผ่านไป หุ้นส่วนถอนทุน เพราะการทำโรงเรียนให้ดี ไม่ได้กำไร (เร็ว) อย่างที่ดี “ถ้าคุณสังเกต พี่เพิ่งทำห้องคอมพิวเตอร์ใหม่ ... และสิ่งสำคัญ คือ ครูต้องดี เพราะฉะนั้น หากจะให้ครูดี ๆ อยู่กับเรา เราต้องดูแลให้ดี” เพราะฉะนั้น ค่าเทอมทั้งหมดจะเอามาลงกับการพัฒนาครู และการพัฒนาโรงเรียนทั้งหมด

ดิฉันประทับใจเจ้าของท่านนี้ เพราะท่านทิ้งชีวิตนักการศึกษาในอเมริกา ทิ้งสามีและลูกทั้ง 3 (กระจัดกระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพและอเมริกา) มาทำโรงเรียนที่ชายแดนไทย – พม่า แห่งนี้ “บางครั้งเงินไม่พอ พี่ก็จะยืมสามี” แหม สามีของพี่ช่างใจกว้างเหลือเกิน

ความจริงดิฉันก็ตั้งใจไปขายนวัตกรรมการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนนี้แหละค่ะ แต่คุยกันถูกคอเหลือเกิน
“คิมน่าจะไปต่อรองกับรัฐบาลว่า แทนที่จะบังคับให้พี่ซื้อนมแจกเด็ก ขอผันงบประมาณมาซื้อของของคิมดีกว่า ปีหนึ่ง พี่ถูกบังคับซื้อนมหลายแสน และต้องซื้อกับเจ้าที่เขากำหนด ซื้อมาเด็กก็ไม่กิน เพราะเดี๋ยวนี้พ่อแม่หลายบ้านก็ไม่ให้ลูกกินนมวัว ให้กินแต่นมถั่วเหลือง”

“ไม่ใช่แค่นมนะคะ โรงเรียนอย่างพี่ยังถูกบังคับให้ต้องซื้อสมุด ดินสอแจกเด็กด้วย ทุกปีต้องแจกชุดนักเรียน 1 ชุด” ถึงแม้ฟังดูเหมือนเป็นสิทธิพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนควรได้ ให้ก็ดีไม่ใช่หรือคะ

“การให้คงต้องดูบริบท นักเรียนโรงเรียนนี้มีสมุดดินสอของตัวเองอยู่แล้ว เงินก้อนนี้สามารถนำมาบริหารจัดการ หาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับโรงเรียนของเราอย่างมีประสิทธิผลมากกว่า ทำไมพี่ต้องเอาเงินก้อนที่ควรจะช่วยโรงเรียนจัดการเรียนรู้ให้ดี มาซื้อสมุดดินสอ จากร้าน...เท่านั้น หากไม่ซื้อแบบที่กำหนด ก็ไม่สามารถไปเบิกเงินที่นักเรียนพึงจะได้ใช้ประโยชน์ มาใช้ให้เหมาะกับบริบทของโรงเรียน”

กลับมาเรื่องเจ้าของท่านนี้ดีกว่าค่ะ ท่านทิ้งบ้านที่กรุงเทพมา ตอนนี้พักในห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งในหอพักครูและนักเรียน ปิดเทอมทีก็กลับบ้านไปหาครอบครัว ปีนี้ท่านก็อายุ 63 ปีแล้ว แต่ดูแข็งแรงทั้งใจและกาย การทำโรงเรียนที่ชายแดนไม่ง่าย เทอมนี้มีนักเรียนหกล้มหัวแตก พี่ก็พาขับรถเข้าเมืองอีก 30 กม. ไปให้หมอเย็บ และพี่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะหากพี่ไม่สบาย พี่ก็ต้องเข้าเมืองเหมือนกัน

“การที่ส่วนกลางดูแลโรงเรียนเอกชน บ้างก็เป็นเรื่องดี แต่พี่คิดว่าใช้งบประมาณแบบนี้ไม่มีประสิทธิผล จ้างคนมากมายทั้งในกรุงเทพและในพื้นที่ ด้วยวัตถุประสงค์ให้มาช่วยโรงเรียน แต่ให้ช่วยอะไร และคนเหล่านี้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยพัฒนาจริง ๆ หรือไม่ นี่คือคำถาม งบเหล่านี้เอามาให้โรงเรียนพัฒนาครู สรรหาสื่อการเรียนการสอนที่ดีไม่ดีกว่าหรือ”

เพราะฉะนั้น หากกลับมาเรื่องเดิม “พี่ขอไม่เอานม ไม่เอาสมุดดินสอได้ไหมคะ คิมไปคุยกับในกระทรวงได้ไหมคะ” เอ่อ ... ดิฉันก็เป็นเพียงคนผู้น้อย อย่างมาก ได้ฟังก็เอามาเล่าต่อค่ะ แต่การสนทนาครั้งนี้ทำให้ดิฉันครุ่นคิดพอสมควร ทั้งเรื่องสิทธิพื้นฐานของนักเรียน เพราะคงไม่ใช้ผู้บริหารโรงเรียนทุกโรงจะคิดเป็น รู้จักสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักเรียนอย่างเจ้าของท่านนี้ บางครั้งส่วนกลางก็ต้องบังคับเรื่องที่เป็นพื้นฐานเหมือนกัน

แต่อีกมุมหนึ่ง ดิฉันก็เห็นอยู่ว่านักเรียนที่นี่มีสมุด ดินสอ พร้อมอยู่แล้ว นมก็คงกินกันมาจากที่บ้าน หรือกินตาม “ทางเลือก” ของแต่ละครอบครัว หากโรงเรียนสามารถแปรงบพวกนี้มาใช้ในเรื่องอื่น น่าจะเป็นประโยชน์กว่านี้ คุณล่ะคะคิดอย่างไร

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อาชีพครูไม่สามารถหยุดยั้งเวลาได้

“หากครูลา 3 ชั่วโมง เด็กก็โง่ไป 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น หากครูจะลากิจ ต้องสลับคาบสอนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ถึงจะลาได้” วันก่อนมีโอกาสนั่งสนทนากับ อ.ศิลป์ชัย สัมพันธ์พร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี คุยสนุกถูกคอมาก เลยมาเล่าต่อให้ฟังนะคะ

“จะเห็นได้ว่า ผอ. ไม่ค่อยออกไปซู่ซ่านอกโรงเรียนเท่าไร เพราะทุกครั้งที่ ผอ. ไม่อยู่ คุณภาพการสอนของครูจะลดถอยประมาณ 10% ผอ. จะเดินทั่วโรงเรียน เดินผ่าน ครูก็จะสะดุ้ง บางครั้งเห็นครูสอนน่าเบื่อ ก็จะเข้าไปช่วยสอนด้วย ครูบางคนทดสอบสูตรคูณได้ทีละ 1 คน แต่ผอ. ทดสอบได้ทีละ 3-4 คนนะ คือ คนหนึ่งยืนข้างซ้าย ใช้หูซ้ายฟัง คนหนึ่งยืนข้างขวา ใช้หูขวาฟัง อีกคนยืนข้างหน้า ใช้ตาดู บางครั้งให้คนที่ท่องเสร็จแล้วมายืนข้าง ๆ ช่วยให้ฟังช่วยกันดูอีก”

แหมเทคนิคแพรวพราวนะคะ “ผอ. คิดว่า หากเราต้องการให้ครูสอนอย่างไร ครูต้องถูกสอนอย่างนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ในมหาวิทยาลัย อาจารย์บอกนักศึกษาว่า เวลาสอนต้องจัดกิจกรรมกับนักเรียนนะ แต่ผอ. ขอถามหน่อยว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านั้น เคยจัดกิจกรรมกับนักศึกษาหรือไม่ เมื่อไม่สอนอย่างที่พูด เมื่อนักศึกษาเรียนจบมา เขาจะมาสอนแบบจัดกิจกรรมได้อย่างไร ผอ. สัมภาษณ์ครูเองทุกคน ล้วงลูกมาเยอะ หลายครั้ง อาจารย์มหาวิทยาลัยบอกนักศึกษา “ให้ไปค้นมา” แต่เคยสอนไหมว่า ควรค้นด้วยหลักการอะไร

“จุดเน้นของโรงเรียนเรา คือ เด็กต้องดี เก่ง แข็งแรง และอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย เราเชื่อเรื่องการเรียนรู้แบบองค์รวม ผอ. ไม่ได้รู้มาก แต่ผอ. อ่านหนังสือมาก อ่านมาแล้วทุกทฤษฎีการศึกษา” ว่าแล้ว ท่านก็เล่าแต่ละทฏษฎีที่ท่านเห็นด้วยให้เราฟัง ฟัง ๆ ไปต้องแอบบอก ผอ. ว่า เราคิดเหมือนกันในหลายเรื่อง หากคิมเปิด powerpoint ของสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่นให้ ผอ. ดู ท่านจะเซอร์ไพรส์ ที่เห็น key word หลายคำที่ตรงกัน สุดยอดมาก

“ผอ. สนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และ science show ซึ่งต้องใช้เงินเยอะมาก แต่สำคัญ เพราะทักษะจะติดตัวไปกับเด็ก ไม่ train เพียงเรื่องวิทย์ แต่ครูของเราเชิญนักมายากลมา train นักเรียนเรื่องการนำเสนอให้สนุกด้วย สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การฟัง ทำอย่างไรให้ฟังจับใจความได้ ฟังรู้เรื่อง ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ผอ. ก็เชิญ อ. เจริญ บวรรัตน์ จาก ม. เกษตร มาช่วยวางวิธีการ คือ ตอนนี้เด็กอนุบาลทำกิจกรรมสมาธิทุกวัน แต่ไม่ใช่นั่งสมาธินะ แต่ทำกิจกรรมสมาธิกับกระดาน 9 ช่อง

ผอ. เล่าให้เราฟังว่า บทบาทสำคัญของการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน คือ การหาเงินคงกระพัน “รัฐให้เงินมา 6 ล้าน แค่ค่าไฟโรงเรียนเราก็เดือนละ 400,000 บาท คูณเข้าไปก็ปีละ 4.8 ล้าน ที่เหลือซื้อชอล์คยังไม่พอ” พูดแล้วทุกคนก็ฮาตรึม ถ้าไม่มีเงินมาพัฒนาโรงเรียน โอกาสที่จะโตหรือจะดีนั้นยากมาก เพราะคู่แข่งเยอะแยะไปหมด “ผอ. กล้าพูดเลยว่าโรงเรียนของเราดีที่สุดในจังหวัด เราลงทุนด้านสื่ออุปกรณ์ให้ทันสมัย เราลงทุนพัฒนาครู ยินดีจ้างวิทยากรแพง ๆ ดี ๆ มาอบรมครู ส่งครูไปเรียนต่างประเทศ ผอ. คิดว่าครูต้องฉลาดกว่าเดิม อบรมแต่ละที เก่งขึ้น 5% ก็หรูแล้ว อบรม 3 ครั้งก็เก่งขึ้น 15% ผอ. ก็ดีใจแล้ว”

“ตอนที่ ผอ. ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครั้งแรก คือ ที่โรงเรียนบ้านโสม แถวบ้านบึง โรงเรียนมีเงินเหลือแค่ 65 บาท ภายในสองปี ผอ. บริหารให้โรงเรียนมีเงินเป็นแสน เช่น ตอนนั้นเงินน้อย ครูเสนอให้ไปซื้อสับปะรด ผอ. กลับไปซื้อหน่อสับปะรด ได้มา 49,000 บาท ให้เด็กกิน แล้วเอาที่เหลือไปขาย สุดท้ายได้แสนกว่าบาท ทีหลัง ผอ. สามารถทำกับข้าวให้เด็กกินฟรีทุกวัน ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน เพราะได้กินข้าวอร่อย บางวัน เด็กคนไหนไม่มา ผอ. ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามถึงบ้าน เห็นผู้ปกครองนั่งเล่นไพ่  ผอ. ด่าเลยว่า หากคุณไม่เป็นตัวอย่างให้ลูก แล้วลูกจะเป็นคนดีได้อย่างไร ผู้ปกครองกลัว ผอ. กันหมด

ผอ. เคยทำโครงการให้ผู้ใหญ่ใจดีเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ไม่ต้องทำมานะ เอาเงินมา เราให้คนงานที่โรงเรียนทำ พอมีเงิน เราก็ได้ทำแบบดีหน่อย ยังจำได้เลย ครั้งแรกเลี้ยงข้าวหมูแดง เด็กกินข้าวหมูแดงไม่เป็น ทำหน้าเบ้กันหมด ผอ. ก็เดินคุม “กินเข้าไป” จนสุดท้าย ทุกคนชอบกินข้าวหมูแดง”

จริง ๆ นะคะ ทำโรงเรียนให้ดีนั้นไม่ง่าย ต้องใช้เงินเยอะ และต้องกล้าลงทุน ดิฉันเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ “มีข้าวกิน หรือกินข้าวอร่อย” เพื่อสะท้อนว่า ตอนนี้เพียงแค่จัดการศึกษานั้นไม่พอแล้ว ต้องจัดการศึกษาที่ดีด้วย ซึ่งต้องลงทุน

วันก่อนดิฉันได้คุยกับซิสเตอร์โรงเรียนหนึ่ง ท่านเพิ่งย้ายมาอยู่โรงเรียน xxx ได้ 6 เดือน ท่านปรับทุกข์ให้ฟังว่า จากที่โรงเรียนของท่านเคยเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด แต่เพราะขาดการพัฒนา นึกว่าดีอยู่แล้ว โรงเรียนซิสเตอร์มีนักเรียนสามพันคน โรงเรียนข้างบ้านมีหกร้อยคน ตอนนี้เหลือเพียงพันกว่าคนแต่ข้างบ้านมีสองพันคนแล้ว สมัยก่อนอนุบาลของท่านเฟื่องฟู มีนักเรียนสามร้อยคน ตอนนี้เหลือแค่หกสิบคนเอง ทำให้ดิฉันคิดว่า วงการโรงเรียนก็เหมือนกับโกดักนะคะ หากไม่ระวัง ฟิล์มก็โดนทดแทนโดยกล้องดิจิตอลโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับโรงเรียน หากไปพัฒนาไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะลำบากได้เช่นกัน

จึงขอปิดท้ายด้วยคำพูดของ ผอ. ศิลป์ชัยว่า “อาชีพครูไม่สามารถหยุดยั้งเวลาได้ อย่าปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์” ขอให้ PDCA Plan Do Check Act ไปอย่างไม่หยุดยั้งนะคะ สู้สู้ค่ะ


วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มีข้าวกิน หรือกินข้าวอร่อย

“สิ่งที่คุณเสนอมามันจำเป็นไหม โรงเรียนเราต้องมีหรือไม่ ... ไม่ต้องมีก็ได้นี่”

บางท่านคงทราบว่าดิฉันขยายงานจากธุรกิจหนังสือที่คุณแม่ก่อตั้งมาเปิดสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ให้กับโรงเรียน ทำให้มีโอกาสพบผู้ใหญ่ในวงการศึกษามากมาย ส่วนมากจะรู้สึกหัวใจพองโต ชีวิตเต็มไปด้วยความหวัง และบางครั้งจะรู้สึกหดหู่ ทำไมถึงใจแคบเหลือกัน

คุณแม่ดิฉันเคยเล่าว่า เมื่อท่านเปิดสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ใหม่ ๆ ท่านเอานิตยสาร Go Genius ไปเสนอผู้ใหญ่ในกระทรวง ได้รับคอมเม้นท์ว่า “นิตยสารชุดนี้ดีมาก เหมาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือจำพวกนี้หรอก เด็กไทยอ่านแค่แบบเรียนก็พอ” หลักจากถกเถียงกันสักพัก คุณแม่ก็โดนตะโกนไล่ให้ออกไปจากกระทรวง ไม่ต้องกลับมาอีก!

เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวปลุกใจให้พวกเราไม่ยอมแพ้ ต้องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นทราบให้ได้ว่า เขาคิดผิด!
20 ปีผ่านไป ไม่อยากเชื่อว่ารุ่นลูกอย่างดิฉันยังจะได้เจอสถานการณ์เดิม ๆ ดิฉันเดินออกมาด้วยความเสียใจ ดิฉํนสรรหาของดีมานำเสนอ นอกจากไม่เอาแล้ว ยังพูดดูถูกจนเหมือนว่าดิฉันมาขอเขากิน เรื่องนี้ทำให้ดิฉันคิดถึง 2 ประเด็นค่ะ คือ อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และทำอย่างไรความสัมพันธ์ของผู้ซื้อผู้ขายจะเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์แบบพาร์ทเนอร์ได้

สำหรับประเด็นแรก ดิฉันได้มีโอกาสเม้าท์เรื่องการศึกษากับ คุณมาสวิมล รักบ้านเกิด ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ฟังแล้วถูกใจมากค่ะ ท่านบอกว่า ในยุคประธานเหมา มีนโยบายว่าทุกบ้านต้องมีข้าวกิน ต่อมาในยุคเติ้งเสี่ยวผิงออกนโยบายว่าทุกบ้านต้องได้กินข้าวอร่อย “ในบริบทการศึกษา เราจะพึงพอใจกับเพียงให้นักเรียนได้เรียน หรือเราอยากให้นักเรียนได้เรียนแบบสนุกสุดยอด แบบ hands-on และได้ปฏิบัติจริง!

สำหรับประเด็นที่สอง อ. วัชรพงษ์ อภิญญานุรังสี แห่งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เคยเล่าให้ดิฉํนฟังว่า ท่านทำวิจัยเกี่ยวกับการตลาด 2.0 ... สงสัยใช่ไหมคะว่าคืออะไร ... มันก็คือการตลาดแนวใหม่ ที่ต้องอาศัย partnership ให้เกิดการ win-win เพราะไม่มีใครเพอร์เฟ็กท์ แต่คนที่ฉลาดคือคนที่จับ “สุดยอด” ของแต่ละเรื่องมารวมกัน เราไม่ต้องทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้น พวกเราแต่ละคนก็ต้องพัฒนาตัวเองในอุตสาหกรรมตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อจะได้เป็น missing piece (ชิ้นส่วนที่หายไป) ไปเติมเต็มจิ๊กซอว์ภาพใหญ่อีกที

และถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่ากทม. ถึงทิศทางการศึกษาไทย ท่านพูดถึงหลายประเด็นที่ตอกย้ำทิศทางของนานมีบุ๊คส์ ทำให้ดิฉันดีใจมาก ท่านเห็นด้วยกับเรื่อง partnership และท่านก็เห็นด้วยเรื่องการเรียนรู้แบบบูรณาการ บูรณาการทั้งมิติของสาระวิชา มิติของสื่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ค่ะ

ดร.ผุสดี บอกว่าตอนนี้เราจะแยกการเรียนวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ออกจากกันไม่ได้แล้ว เช่น เราคงไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เพียงแค่ให้รู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้น ๆ อีกต่อไป แต่ต้องพูดถึงว่าวิทยาศาสตร์มีผลกระทบต่อสังคม ต่อชีวิตของเราบ้าง และมันเชื่อมโยงกับจริยธรรมอย่างไร หากเราผูกเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ จะทำให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ดี คิดเป็น คิดไกล

ตัวอย่างเช่น ก่อนแต่งงาน คู่สามีภรรยาควรตรวจเลือด เพื่อเข้าใจสภาพสุขภาพของกันและกัน เพราะหากต้องการมีลูก และคนหนึ่งเป็นธาลัสซีเมีย ก็ควรจะพูดคุยกันว่าควรมีวิธีป้องกันอย่างไร เพราะลูกมีสิทธิ์เป็นธาลัสซีเมียด้วย เป็นต้น แต่หากไม่คิดอะไรมาก (ซึ่งปัญหาของประเทศเราก็คือ ไม่ได้คิดอะไรมาก สบาย ๆ ) ก็จะมีลูกไปโดยไม่รู้ว่าลูกอาจจะเป็นโรค และหากไม่พร้อม (ทั้งด้านการเงิน สังคม ฯลฯ) ก็จะเกิดปัญหาในครอบครัวได้

เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างว่า หากเราช่วยให้ระบบการศึกษามีวิธีปลูกฝังให้เด็กไทยเข้าใจวิทยาศาสตร์ เข้าใจผลกระทบต่อสังคม เข้าใจเรื่องความถูกต้อง จริยธรรม ก็จะทำให้การตัดสินใจในการดำรงชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น

ดิฉันโชคดีมากที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษากับ “ครู” ที่มีคุณภาพดังเช่น ดร. ผุสดี อ.มาสวิมล และ อ. วัชรพงษ์ มันทำให้ดิฉันมีความเชื่อว่า ประเทศไทยเรามีหวังแน่นอน และขอให้ทุกคนที่ทำงานด้านการเรียนรู้อย่ายอมแพ้เด็ดขาดนะคะ

ดิฉันจึงขอชวนทุกท่านคิดต่อว่า “มีข้าวกิน หรือได้กินข้าวอร่อย” ในบริบทของท่านมีความหมายกับท่านอย่างไร และท่านจะทำอะไรให้ “ข้าวของท่านอร่อย” นะคะ


วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง

คุณเคยมองใบไม้ที่หลุดมาจากกิ่ง ปลิวลงมาผ่านสายตา จนกระทบลงบนพื้นดินไหมคะ

เคยไม่เคยไม่รู้ แต่ดิฉันไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเคยเห็น จนกระทั่งมาเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่านค่ะ ปรากฏการณ์ที่แสนจะเรียบง่าย ทำให้ดิฉันตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติรอบตัว จนนึกถึงหนังสือเรื่อง “ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง” โดย Elizabeth Dalby ที่เคยอ่านเมื่อสิบปีที่แล้ว เพราะในขณะที่เห็นใบไม้เป็นสิบเป็นร้อยใบร่วงลงมา ทำให้นึกถึงเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก เรื่องความเร็วของลม เรื่องน้ำหนักของใบ และอีกมากมายสไตล์คนช่างสงสัย

อย่างที่เรามักพูดกันว่า “การเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์แบบท่องจำนั้นไร้ความหมาย หากเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ประสบความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ด้วยตัวเอง” การมาเที่ยวน่านครั้งนี้ตอกย้ำความคิดนี้อย่างแรงค่ะ

ระหว่างเดินป่า พี่สามารถ ไกด์คนเก่งของเราก็เอาเปลือกไม้จากต้น “กำลังเสือโคร่ง” มาให้ลองจับและดม พบกว่าใต้เปลือกไม้มีลักษณะคล้ายมะพร้าวอ่อน แต่สีออกเหลือง มีกลิ่นเหมือนยาหม่อง จึงได้รู้ว่าเปลือกของ “กำลังเสือโคร่ง” มีสรรพคุณถอดพิษ และเป็นที่นิยมมาต้มยาดองค่ะ

เดิน ๆ ไป พี่สามารถก็เอาเปลือกไม้อีกชิ้นมาให้ดม กลิ่นเหมือนตะไคร้ พี่สามารถก็บอกว่านี่คือต้นตะไคร้ พวกเราล้วนสงสัยว่าตะไคร้มีลำต้นสูงใหญ่อย่างนี้หรือ นึกว่าโตเป็นพุ่ม ๆ กอ ๆ เสียอีก กลับมาถึงที่พัก ก็ถามอากู๋กันใหญ่ค่ะ พบว่าต้นที่เราเจอเรียกว่า “ตะไคร้ต้น” ซึ่งเป็นคนละแบบกับที่คิดไว้ แต่คนเหนือก็เอามาทำต้มยำได้เหมือนกันค่ะ

วันนี้ดิฉันมีโอกาสล่องแก่งในแม่น้ำว้า ตลอด 48 กม. ได้เห็นถึงความสมบูรณ์และสวยงามของป่าดงดิบ หินประเภทต่าง ๆ กุมภลักษณ์รูปทรงแปลก ๆ (potholes) และทางน้ำโค้งตวัด (meander) ล้วนทำให้คิดถึงสมัยเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ว่าหากตอนนั้นได้มีโอกาสมาสัมผัสกับของจริง จะเรียนอย่างเข้าใจและสนุกสุดยอดกว่าเดิมขนาดไหน

ประสบการณ์ที่ได้เห็นล้วนกระตุกต่อมเอ๊ะให้อยากศึกษาต่อ เช่นเดียวกับสร้างแรงบันดาลใจให้อยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีความหมายค่ะ

นักเขียนชาวจีนชื่อดัง “หยูหัว” (เจ้าของผลงาน “พี่กับน้อง” และ “สิบคำนิยามจีน”) เคยเชิญครอบครัวของดิฉันไปเที่ยวบ้านเกิดของเขาที่หางโจว บ้านของเขาสวยงาม อยู่ในป่าไผ่ ติดลำธาร นั่งนิ่ง ๆ ก็ได้ยินเสียงน้ำไหล

รู้ไหมคะ รัฐบาลหางโจวสร้างบ้านหลังนี้ให้ “หยูหัว” และศิลปินอีกหลายท่านสำหรับโครงการหมู่บ้านศิลปิน เพื่อดึงดูดให้ศิลปินชาวหางโจว ที่อาจย้ายถิ่นไปอยู่เมืองหรือประเทศอื่น กลับมาสร้างสรรค์ผลงานที่หางโจว ทำให้เห็นว่าประเทศจีนให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรมอย่างมาก ถึงแม้ว่าเรามักจะตั้งคำถามกับความมี “วัฒนธรรม” ของคนจีนปัจจุบันหลังปฏิวัติวัฒนธรรมก็ตาม นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดิฉันชื่นชมรัฐบาลจีนอย่างมากค่ะ

ถึงแม้ว่าดิฉันจะไม่ใช่ “หยูหัว” แต่เมื่อดิฉันได้ประสบสิ่งที่สวยงามเช่นนี้ ดิฉันก็อยากรีบกลับมาเขียนเล่าต่อให้ทุกท่านได้อ่านกันเลยค่ะ

และไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็นนะคะ สิ่งที่ได้ยินยังน่าประทับใจไม่แพ้กัน ระหว่างที่พวกเราลอยคำตามน้ำ ดิฉันลองหลับตาและฟังเสียง ได้ยินเสียงน้ำตก เสียงนกร้อง เสียงใบไม้เสียดสี และเสียงลมพัด ทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดของคุณวิศาล เอกวานิช เจ้าของอาคาร “รู้ศึกษา รู้สึกตัว จังหวัดภูเก็ตค่ะ คุณวิศาลสอนให้พวกเราฝึกที่จะ “รู้สึกตัว” เช่น เวลานั่งอยู่ข้างนอก ให้หลับตา แล้วรู้สึกถึงเมื่อลมพัดมาสัมผัสผิวหน้า จะทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น เมื่อถูกปลุกเร้า เช่น อารมณ์โกรธ เราก็จะรู้ตัว และเลือกที่จะโต้ตอบได้ ว่าต้องการจะโต้ตอบอย่างไร อย่างแรง หรือด้วยความเข้าใจ

หากมีโอกาส ดิฉันขอเชิญชวนให้คุณพาลูกหลาน (หรือพาตัวเอง) ลองใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการลิ้มรสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ลองตั้งคำถามว่าเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอะไร และดิฉันขอแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเรื่อง “ปิดตา เปิดหน้าต่าง” ของ เหงวียน หง๊อก ถ่วน ด้วยนะคะ


การมาเที่ยวน่านครั้งนี้ย้ำเตือนดิฉันว่า “ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง” หากเราเปิดใจน้อมรับมัน ดิฉันเชื่อว่าเราจะดีใจที่ได้เกิดมาในโลกใบนี้ มีแรงบันดาลใจ และสามารถมองโลกอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง (อย่างน้อยก็ไม่มากจนเกินไปค่ะ)

วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

รู้ไหมว่าประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่สุดในโลก มีบริษัทที่มีอายุมากกว่า 200 ปีมากกว่า 3,000 ราย ตามมาด้วยเยอรมนี (1,500 กว่าราย) และฝรั่งเศส (ประมาณ 330 ราย)

ดิฉันและคุณแม่มีโอกาสไปเยี่ยมชมธุรกิจครอบครัวในประเทศญี่ปุ่นกับโครงการ KFamClub ของธนาคารกสิกรไทย คณะของเรามีทั้งหมด 13 ครอบครัวจากหลายวงการ ล้วนสงสัยว่าทำอย่างไรธุรกิจครอบครัวจึงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน

ก่อนไปเล่าให้เพื่อนฟังว่าจะได้ไปพักโรงแรมที่สืบทอดกันมากว่า 40 รุ่น เพื่อนแซวว่าดิฉันโอเว่อร์ เพราะนั่นหมายถึงเป็นพันปี ไม่น่าจะเป็นได้ พูดเองงงเอง สงสัยจะจำผิด

เมื่อไปแล้วพบว่าตัวเลขอาจจะผิด แต่แก่นของเรื่องไม่โอเว่อร์ พวกเราได้ไปแบ่งปันประสบการณ์กับ คุณซาโต้ คันซาบูโร่ ประธานรุ่นที่ 34 ของเรียวกังเก่าแก่ชื่อ “ซาคัน” ในเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ปีนี้ครบรอบ 1,009 ปี ถึงแม้จะเกินพัน แต่เก่าไม่ที่สุด เพราะเก่าเป็นอันดับ 4 เท่านั้นค่ะ คุณซาโต้บอกว่าความจริงอาจมีมากกว่า 34 รุ่น แต่จะนับเฉพาะประธานที่เป็นผู้ชายเท่านั้น!

คุณซาโต้เป็นลูกเขยที่ได้รับตำแหน่งผู้สืบทอด เปลี่ยนชื่อมา 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนแต่งงานเข้ามาให้ตระกูล ต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ซาโต้” ให้เหมือนภรรยา และเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว

เปลี่ยนชื่อครั้งที่สอง คือ เมื่อได้เลื่อนขั้นเป็นประธาน คราวนี้ต้องเปลี่ยนชื่อจริงให้เป็น คันซาบูโร่ เพราะประธานของ “ซาคัน” ทั้ง 33 รุ่นก่อนหน้านี้มีชื่อเดียวกัน คือ ซาโต้ คันซาบูโร่ และที่เรียวกังแห่งนี้มีชื่อว่า “ซาคัน” เป็นการเอาคำแรกของชื่อและนามสกุลมาต่อกัน

ในการเปลี่ยนชื่อในแต่ละครั้งใช้เวลา 6 ปีในการวิ่งเข้าออกในศาลครอบครัว ถือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการสืบทอดธุรกิจครอบครัวสไตล์ญี่ปุ่น เมื่อได้ยินเรื่องนี้ ดิฉันคิดถึงบทละครของเชคสเปียร์เรื่อง “โรมิโอและจูเลียต” เมื่อมีการพูดถึง “What’s in a name … ชื่อนั้นสำคัญไฉน”

หากไม่ใช้ชื่อเดียวกันจะทำให้การสืบทอดลดหย่อนคุณภาพหรือไม่ เมื่อเปลี่ยนชื่อ ตัวตนของเราเปลี่ยนด้วยไหม หรือชื่อก็คือชื่อ ตัวตนของเราก็คือตัวตนของเรา ดิฉันเกือบถามคุณซาโต้ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องเปลี่ยนชื่อตั้ง 2 ครั้ง โชคดีที่ยั้งตัวได้ทัน

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จะมีเพื่อน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีธุรกิจครอบครัวและไม่มี กลุ่มแรกก็แตกสองเสียงค่ะ ทั้งรู้สึกโชคดีที่มีธุรกิจมารองรับ ไม่ต้องหางาน และมีที่รู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวเป็นภาระ ดิฉันเคยรู้สึกทั้งสองแบบค่ะ

คุณเคยไหมคะที่คิดว่าปัญหาของตนยิ่งใหญ่เหลือเกิน และเคยไหมคะที่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีของโลกใหญ่ไพศาล ครั้งหนึ่ง คุณสุภาวดี หาญเมธี แห่งรักลูกกรุ๊ปให้โอกาสดิฉันและทีมงานนานมีบุ๊คส์ติดตามไปดูงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์เปิดตา ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของแต่ละประเทศ แต่ละอารยธรรม ทำให้ตัวเองถ่อมตนและคิดได้ว่า เราเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของจักรวาลใหญ่ ๆ

เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัว เราเป็นเพียง 1 รุ่นของอีก 10 20 30 รุ่น (ฟังดูแล้วอาจจะโอเว่อร์นะคะ เพราะธุรกิจครอบครัวส่วนมากอยู่ไม่เกินรุ่นที่ 3 ค่ะ) เพราะฉะนั้น การที่เรารู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวเป็นภาระ หยุดทำดีกว่า ถือเป็นการมองความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้นึกถึงรุ่นลูกหลานอีกกี่ร้อย กี่พันปีที่จะตามมา

ในขณะเดียวกัน คนเราเกิดมาหนึ่งชีวิต ทำไมเราต้องเลือกเส้นทางชีวิตเพื่อรุ่นอื่นที่ไม่ใช่รุ่นเรา
ทั้งสองมุมมองถือเป็นสิ่งที่ควรจะตั้งคำถามและสนทนากันในครอบครัวนะคะ

อย่างไรก็ตาม สำคัญน่าจะอยู่ที่ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่เราต้องการสืบทอดต่อมาสู่รุ่นต่อไป ซึ่งถูกบันทึกอยู่ในธรรมนูญครอบครัว หลักสูตร KFamClub ฝึกให้เราตั้งคำถามว่าค่านิยมอะไรที่สำคัญต่อครอบครัวเรา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่ก็ได้

หากท่านสนใจ อยากให้ลองอ่านธรรมนูญครอบครัวของตระกูลโมกิ เจ้าของซีอิ้วยี่ห้อ “คิโคมัน” นะคะบริษัทนี้ยาวนานถึง 383 ปีแล้วค่ะ ดิฉันอาจไม่ได้เล่าให้ฟังทั้งหมด แต่มีข้อหนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ความดีเป็นเหตุ ทรัพย์เป็นผล อย่าเข้าใจผิดระหว่างเหตุและผล อย่าตัดสินคนจากความรวยหรือจน
“ความเป็นคน” ไม่ได้สอนกันง่าย ๆ บางครั้ง ดิฉันพูดคุยเล่นกับเพื่อน ๆ ว่าไม่อยากมีลูก เพราะกลัวเลี้ยงได้ไม่ดี คำถามคือ อะไรคือดี ความเป็นคนดีที่คิดเป็นมันสอนกันได้หรือไม่ ธุรกิจครอบครัวอาจเป็นเวทีให้ครอบครัวสามัคคี และมีกลไลส่งต่อค่านิยมที่ครอบครัวเชื่อและศรัทธานะคะ

กลับมาที่คำถามแรก ชื่อนั้นสำคัญไฉน หากชื่อเป็นสัญญลักษณ์ของทุกสิ่งที่เป็นครอบครัว การส่งชื่อจากรุ่นสู่รุ่นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและเข้าใจได้ เส้นทาง 1,009 ปีของ “ซากัน” ไม่ได้ราบรื่นตลอด

“ซากัน” โด่งดังด้วยน้ำพุร้อนอากิ สี่ร้อยปีก่อนเกิดเหตุน้ำพุร้อนแห้งเหือด ทำอย่างไรก็ไม่ผุดอีก จนกระทั่งได้ไปไหว้ศาลเจ้าไฟที่เมืองวากายามา (อีกฟากหนึ่งของประเทศ) เจ้าของในตอนนั้นนำไฟจากศาลเจ้ากลับมาที่เรียวกัง น้ำพุร้อนจึงผุดใหม่ ปัจจุบัน ไฟจากศาลเจ้าไฟเมื่อสี่ร้อยปีก่อนยังไหม้อยู่ใน “ซากัน”  ให้เราเห็นและไม่เคยดับอีกเลย

นอกจากนั้นในปี 2011 จังหวัดมิยางิก็ถูกผลกระทบจากซึนามิอย่างแรง ในจังหวัดมีเรียวกัง 5 แห่ง ทุกแห่งต้องไล่คนงานออก ยกเว้น “ซากัน” เพราะเชื่อว่าธุรกิจจะกลับมาได้อีกครั้ง ทุกคนร่วมแรงร่วมใจต่อสู้อุปสรรคจนสำเร็จ นี่ก็เป็นผลพวงของความ “ศรัทธา” ในพลังของธุรกิจครอบครัว คุณซาโต้บอกว่า “ในยามวิกฤติ ผู้นำครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญที่จะนำพาลูกหลานและทีมงานไปทางที่ถูกต้อง เช่นเกียวกับการบริหารประเทศ”

ดิฉันจึงขอชวนทุกท่านลองคิดว่า ค่านิยมอะไรที่สำคัญสำหรับครอบครัวของท่าน ที่ท่านอยากส่งต่อสู่ชั่วลูกชั่วหลาน และลองเขียนออกมาเป็นธรรมนูญครอบครัวดูนะคะ


วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คิดเปลี่ยนคุณ

“ใครก็ตามที่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร จะสามารถอยู่ได้ไม่ว่าจะอยู่อย่างไร” – ฟิคทอร์ อี. ฟรังเคิล

ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟ์เลอร์ เขียนในบทที่ 2 ของหนังสือ คิดเปลี่ยนคุณ ว่าหนึ่งอุปสรรคที่สกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในตัวเราคือการไม่รู้ว่า “อะไร” เติมเต็มความหมายในชีวิต เพราะปราศจาคโฟกัส ความฝัน และเป้าหมาย ดร.อเล็กซ์จึงชวนพวกเราเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว (Personal Mission Statement) ค่ะ

ก่อนจะลงรายละเอียด เราอาจตั้งคำถามว่า หากเราไม่ได้มีอาชีพศิลปินหรือใช้ศิลปะในชีวิตโดยตรง ทำไมต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มาร์การเรต เจ. วีตลีย์ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเราจะกลัวความไม่แน่นอน ความปั่นป่วน และความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในองค์กรก็ตาม ขอให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์”

สำหรับตัวดิฉันเอง เมื่อบริษัทมีพนักงานใหม่ มีสินค้าใหม่ ต้องขยายธุรกิจไปทิศทางอื่น ๆ  หากเราทำงานแบบเดิม อาจตกหลุมพรางแห่งความเคยชิน และเกิดความขัดแย้งทางความคิดได้

เมื่อดิฉันทราบว่าอดีต CEO ของเมอร์เซเดส เบนซ์ อย่าง ดร.อเล็กซ์ มาเล่นเรื่องการปลุกความคิดสร้างสรรค์ในผู้นำ ดิฉันจึงสนใจทันทีค่ะ

กลับมาเรื่องพันธกิจส่วนตัว ดร.อเล็กซ์ได้ความคิดนี้มาจาก ดร.สตีเว่น โควีย์ ซึ่งดิฉันก็เป็นแฟนพันธ์แท้เช่นกัน ดร.โควีย์แนะนำให้เรา “เริ่มต้นด้วยจุดหมายในใจ” ลองนึกภาพตามนะคะ

คุณอยู่ในงานวันเกิดครบรอบ 80 ปีของคุณ มีคนที่คุณรักในทุกบทบาท เช่น พ่อแม่ ลูก สามี ลูกน้อง เพื่อน ฯลฯ รายล้อมเต็มไปหมด ก่อนเป่าเค้ก แต่ละคนจะยืนกล่าวคำชื่นชมให้กับคุณ คุณอยากให้พวกเขาพูดถึงคุณอย่างไร

จากนั้นดิฉันชวนคุณคิดต่อว่า หากเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ คุณต้องทำอะไรบ้าง ถึงจะคู่ควรต่อคำพูดเหล่านั้น
หนึ่งในสิ่งที่ดิฉันเขียน คือ ดิฉันอยากให้เพื่อน ๆ พูดถึงดิฉันว่า “คิมเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้ในยามลำบาก ที่สนับสนุนฉันอย่างไม่มีอคติ และสนุกทุกทีที่ได้อยู่ด้วยกัน” เมื่อเขียนเสร็จ ดิฉันก็รู้สึกตัวทันทีว่า หากเป็น ณ ตอนนี้ ต้องไม่มีใครพูดถึงดิฉันแบบนี้แน่นอน เพราะดิฉันเป็นคนบ้างาน ไม่ค่อยแบ่งเวลาให้เพื่อน ทำให้เพื่อนหลายคนเกรงใจที่จะชวนไปเที่ยวไหน เมื่อรู้ตัว จึงต้องรีบปฏิวัติตัวเอง จัดเวลาให้สมดุล ใส่ใจกับคนรอบข้างให้มากกว่านี้ เป็นต้น

หลังจากนั้น คุณอาจจะคิดต่อว่าใครคือไอดอลของคุณ เพราะมันจะสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญกับคุณ
หนึ่งในไอดอลของดิฉันคือคุณแม่ เพราะท่านมีความมุ่งมั่น มีพลังผลักดันความเปลี่ยนแปลงในสังคม กล้าเสี่ยง และยึดมั่นในหลักการที่ศรัทธา เมื่อเขียนออกมาจะเห็นภาพชัดว่า เราเลือกคนเหล่านี้เป็นไอดอลเพราะอะไร ทั้งหมดนี้จะช่วยในกระบวนการเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว ค่ะ

“อย่าตั้งเป้าหมายอย่างไร้ความหมาย หรือเป้าหมายที่มาจากความโลภ” – อริสโตเติล

ดร.อเล็กซ์ ให้ข้อคิดว่า เวลาตั้งเป้าหมาย ต้องระวังยาพิษ 3 ประเภท คือ 
1. เปรียบเทียบเงินเดือนและสิ่งที่มีตอนนี้กับเงินเดือนมากขึ้นที่อยากจะมีในอนาคต เพราะเราไม่ควรมีเฉพาะเป้าหมายที่เป็นวัตถุ  
2. เปรียบเทียบเงินเดือนตอนนี้กับเงินเดือนที่เคยได้มากกว่า เพราะยามที่ “ได้น้อยลง” มักจะแลกมาด้วยประสบการณ์ดี ๆ ความเชี่ยวชาญ และมิตรภาพเพิ่มขึ้น  
3. เปรียบเทียบเงินเดือนตัวเองกับของคนอื่น เพราะสนามหญ้าบ้านเราไม่เคยเขียวเท่าข้างบ้านอยู่แล้ว
สรุปคือ การเปรียบเทียบมากเกินไปจนไม่ได้ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของเราจะเป็นยาพิษที่ทำร้ายเราเอง เรื่องนี้สำคัญมากถึงขนาดที่นักเขียนดัง ดร.สเปนเซอร์ จอห์นสัน ยังต้องออกมาเขียนเรื่อง ของขวัญแห่งปัจจุบันกาลซึ่งคนไทยน่าจะเข้าใจง่ายเพราะเชื่อมโยงกับคำสอนของศาสนาพุทธด้วย

ในเบื้องต้น ดิฉันคงสามารถท้าทายให้คุณตั้งคำถามได้แล้วว่า ทำไมต้อง “คิดเปลี่ยนคุณ” และพลังความคิดสร้างสรรค์สำคัญไฉนในการเอาชีวิตรอดในภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคมในปัจจุบัน จึงขอจบบทความด้วยส่วนหนึ่งของหนังสือ “อลิซในดินแดนมหัศจรรย์” ค่ะ

อลิซถามแมวว่าจากนี้ควรไปที่ไหนต่อ แมวจึงตอบว่า “ทางไหน” ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะไปที่ไหน เมื่ออลิซบอกว่าเธอไม่สนใจหรอกว่าจะไปที่ไหน แมวจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น มันก็ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะไปทางไหน”
อ่านจบแล้ว เริ่มเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว เลยนะคะ ขอให้โชคดีค่ะ


(หมายเหตุ: ขอขอบคุณ ดร.อเล็กซ์ ที่ท้าให้ดิฉัน “คิดเปลี่ยนคุณ” และขอขอบคุณบริษัท  PacRim ที่จัดหลักสูตร 7 อุปนิสัยสำหรับผู้มีประสิทธิผลสูง ซึ่งช่วยชีวิตของดิฉันในปีนี้ค่ะ)