วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Active Youth

ในที่ประชุมสภาการศึกษาคาทอลิกวันนี้ อ.สุมิตรา พงศธร แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เชิญ อ.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ จากมูลนิธิเพื่อคนไทยมาแบ่งปันผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557: เสียงเยาวชน” มีเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Youth) ยิ่งฟังยิ่งน่าสนใจ เพราะประเด็นที่ดิฉันไปแบ่งปันก็คือเรื่องการสร้าง Active Citizen เหมือนกันค่ะ 
อันดับแรก จากการสำรวจเยาวชนวัย 15-24 ปีจากหลากหลายสถานะ 4,000 คน พบว่าส่วนมากมีความคาดหวังกับตัวเองสูงมาก และรับรู้ถึงความคาดหวังของพ่อแม่ว่าอยากให้เรียนเก่ง อยากให้มีงานที่มั่นคง อันดับสอง พบว่า 70% ของเยาวชนกลุ่มนี้เผชิญกับภาวะเครียดถึงขั้นซึมเศร้า สิ้นหวัง หลายครั้งอยากยอมแพ้ ล้มเลิก อันดับต่อมา พบว่า 80% ของเยาวชนกลุ่มนี้เคยมีประสบการณ์ทุจริต เช่น โกงข้อสอบ ให้เพื่อนลอกการบ้าน 70% เคยทุจริตในรูปแบบอื่น เช่น เซ็นชื่อแทนกัน ให้สินบน และ 80% ของคนกลุ่มนี้คิดว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ผิด บ้างบอกว่า พื้นฐานของตนเป็นคนดี เพราะฉะนั้นนิด ๆ หน่อย ๆ ย่อมไม่เป็นไร
มูลนิธิเพื่อคนไทยสรุประดับของ Active Youth เป็น 5 ระดับ คือ
1. ระดับบุคคล คือ มีน้ำใจ มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ พร้อมจะลงมือแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม
2. ระดับสังคม มีส่วนร่วมในการทำเพื่อส่วนรวม เช่น เคารพกฎระเบียบกติกาทางสังคม พัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
3. ระดับรัฐ มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เลือกตั้ง ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ติดตามตรวจสอบนักการเมืองได้
4. ระดับสิ่งแวดล้อม พยายามอนุรักษ์ พัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกป่า ลดใช้ถุงพลาสติก
5. ระดับคุณค่า คือ ยึดถือสิ่งดี ๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเข้าใจในหลากหลายวัฒนธรรม
อ.กฤตินี พูดต่อว่า Active Youth คิดกว้างกว่าตัวเอง เคารพความหลากหลายของผู้อื่น มุ่นมั่นอยากทำให้ดีขึ้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ แล้วก็ทำจริง แต่ปัญหาของสังคมไทย คือ คนไทยมักคิดเล็ก เพียงทำตัวเองให้ดีก็ดีพอแล้ว ทำเท่าที่จะทำได้ นี่คือข้อจำกัดของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
เมื่อถูกถามว่าโตขึ้นคุณจะทำอะไรเพื่อสังคม เยาวชนในกลุ่มสำรวจมักตอบว่า อยากเป็นคนดี ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตยหรือสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อคนไทยเชื่อว่า หากเราปูเส้นทางให้เยาวชนได้เห็น ทั้งด้วยประสบการณ์ทางตรงและด้วยข้อมูล ชี้ให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง และพาพวกเขาทำ เช่น ในบริบทวันนี้ มีองค์ประชุมเป็นผู้บริหารการศึกษา เราก็สามารถวางนโยบายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับนักเรียน ทั้งด้วยการจัดเวลา จัดระบบการประเมินประจำปีให้ครอบคลุมกิจกรรมเหล่านี้ เป็นต้น
หลายโรงเรียนในปัจจุบันจัดให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่เด็ก ให้มีส่วนร่วมกับสังคม แต่บางทีก็อาจมีทางเลือกจำกัด เช่น บ้านพักคนชรา บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นต้น แต่รู้ไหมคะว่า ประเทศของเรามีทางเลือกในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย ล่าสุดมูลนิธิเพื่อคนไทยจัดงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ที่รวมกว่า 140 องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม เป็นทางเลือกให้เยาวชนของเรามาอาสาช่วยงานได้ค่ะ
นอกจากการทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดิฉันคุยกับ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข ถึงความเชื่อมโยงระหว่าง STEM Education กับการสร้าง Active Citizen เราพูดถึงเรื่องการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่เรียนเพื่อเรียน แต่เรียนแล้ว สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
อ.ธิดาจึงแนะนำให้ดูวีดีโอใน Youtube ชื่อ “เรียนสถาปัตย์ทำไม” เป็นหนึ่งใน 32 คลิปวิดีโอที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับงานสถาปนิก ’57 ที่ผ่านมา ดีมากเลยนะคะ ขอแนะนำให้ไปลองดูกัน เราจะเห็นเลยว่า เราเรียน...ไปทำไม
หากเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เยาวชนของเราเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้น จัดการเรียนรู้ให้มีความหมาย จัดเวลาให้ได้ทำกิจกรรมจิตอาสา เราน่าจะสามารถสร้าง Active Youth ให้กับประเทศไทยได้มากขึ้นแน่นอน

Note: หากต้องการอ่านผลวิจัยเพิ่ม กรุณาดูที่ www.khonthaifoundation.org

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เรียนอะไรในวิชาประวัติศาสตร์

รู้ไหมคะว่า ปี 2558 นี้ครบรอบ 70 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ท่านทูตอิสราเอล ฯพณฯ ชิมอน โรเด็ด เชิญดิฉันเข้าร่วมกิจกรรมวันระลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากลขององค์การสหประชาชาติ (Holocaust Memorial Day) ปีนี้ใช้ธีมว่า “นำชีวิตสู่ความทรงจำ” ถือเป็นงานที่สะเทือนใจมาก หลายคนเดินออกจากห้องด้วยหน้าแดงก่ำ คราบน้ำตาเปื้อนหน้า ดิฉันเองก็ร้องไห้จนวันรุ่งขึ้นใส่คอนแทคเลนส์ไม่ไหว

ถึงแม้ว่าดิฉันเคยได้เรียนถึงเรื่องค่ายกักกันนาซีในช่วงชั้นมัธยม ณ โรงเรียนนานาชาติดัลลิชที่ภูเก็ต แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้นึกถึง พยายามที่จะอ่านถึง หรือพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกเลย ถึงแม้ต่อมา ดิฉํนพากลุ่มนักศึกษาออกค่ายที่กัมพูชา ถึงจะมารู้เรื่องเขมรแดง ตอนนั้นก็อินมาก แต่พอกลับบ้าน ก็ไม่ได้พูดถึงมันอีก

ในวันงานระลึกฯ ครั้งนี้ ใจความหลักของวิทยากรหลายท่าน คือ อย่าเมินเฉยกับสิ่งรอบตัว เมื่อเห็นสิ่งที่ผิด อย่าเงียบ แรบบายอัมราฮัม คูเปอร์ แห่งศูนย์ไซมอน วีเซนธัล กล่าวว่า “ความเงียบคือผู้สมคบคิดที่น่ากลัวที่สุดของปีศาจ”

ในงานนี้ มีการอภิปรายหัวข้อ “สารจากโฮโลคอสต์ถึงอาเซียน” ตอนแรก ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามตลกว่า ทำไมเดี่ยวนี้ต้องเอาคำว่า “อาเซียน” มาผูกกับทุกเรื่อง มันเวอร์เหลือเกิน แต่สุดท้าย ดร.วาสนา ก็เฉลยว่า เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ได้มีแค่ในยุโรปสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้น มีอีกเยอะมาก แต่หนึ่งในนั้นก็คือสมัยเขมรแดง ไม่นานมานี้นี่เอง

จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวกว่า 11 ล้านชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กว่า 25% ของประชากรในช่วงเขมรแดง เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยที่ประวัติศาสตร์ซ้ำร้อยอย่างไม่หยุด คิดหรือว่าโศกยนาฏกรรมแต่ละครั้งจะสะเทือนโลกจนเปิดไฟหวอเตือนไม่ให้เหตุการณ์เกิดซ้ำสอง ดูเหมือนว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ได้เชื้อเพลิงมาจากความเกลียดชังยังคงอยู่ มิหนำซ้ำได้แปรสภาพจากการฆ่าคนแบบเป็น ๆ สู่การฆ่าความคิดอีกด้วย

ศ.สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาฯ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้สถานการณ์น่ากลัวยิ่งขึ้นด้วย Social Media หากใช้ผิดวิธี ตกอยู่ในน้ำมือของพวกสุดโต่ง (และดิฉันเติมเองว่า พวกที่ไม่เข้าใจอะไรเลย) เรายังเห็นวัยรุ่นบางกลุ่มที่ใช้สัญลักษณ์สวัสดิกะอย่างไร้ความคิด ความเข้าใจ ทั้งบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือใน Social Media

คำถามสำคัญ คือ ทำไมพวกเราถึงไม่รู้ และทำไมถึงไม่สนใจและทำไมไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับไหนพูดถึง Holocaust Memorial Day

ดิฉันเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหลักสูตรประวัติศาสตร์สำหรับเด็กประถม-มัธยม ดิฉันจึงโทรศัพท์ไปสอบถามคุณครูจากบางโรงเรียนที่สนิท “ครูคะ ที่โรงเรียนมีสอนเรื่องเขมรแดงไหมคะ ... มีสอนเรื่อง 14 ตุลา ไหมคะ ... มีสอนเรื่องค่ายกักกันนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่สองไหมคะ” คำตอบคือไม่มี หากมี ก็ขึ้นอยู่กับครู ว่าจะโยงมาสู่เรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

มีวิทยากรชาวกัมพูชาท่านหนึ่ง นายเทอิธ เช จากศูนย์เอกสารข้อมูลแห่งกัมพูชา อายุ 34 ปี เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนเรื่องเขมรแดงสมัยเรียนหนังสือ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ผิดมาก ๆ ที่ไม่ได้สอนเรื่องนี้ในโรงเรียน ตอนนี้ในหน้าที่การงานของเขาที่ศูนย์ฯ จะออกเก็บข้อมูลและบันทึกเรื่องราวของเหยื่อของโศกนาฏกรรมครั้งนั้น เขียนออกมาเป็น “เนื้อหา” และไปล๊อบบี้นักการเมืองและรัฐบาลให้บรรจุเรื่องราวนี้ในหลักสูตรแกนกลางได้สำเร็จ

ดูเหมือนเด็ก ๆ ในประเทศเราจะได้เรียนแต่ “ฮีโร่” ที่รบชนะประเทศเพื่อนบ้าน เป็นโฆษณาชวนเชื่อ จนเด็ก ๆ เติบโตมาด้วยความเหยียดหยามคนใกล้ตัว ไม่ได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว หากเราจะทดสอบถามนักเรียนว่า “คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ Je suis Charlie” พวกเราคิดว่าเด็ก ๆ จะรู้ไหมว่ามันคือเรื่องอะไร

ดิฉันคงไม่อาจเอื้อมที่จะบอกว่าดิฉันรู้มาก ที่กล้าเขียนก็เพราะว่าดิฉันก็เพิ่งตื่นเหมือนกัน หลายครั้งหมกมุ่นแต่เรื่องตัวเอง มองแต่บริบทที่คนรอบข้างพูดถึง ทำให้มองโลกแคบ ซึ่งบทเรียนครั้งนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะหากดิฉันทำงานในวงการหนังสือ เผยแพร่ความคิดและความรู้ เลยสะท้อนต่อว่า แล้วคุณครูของประเทศเรา พ่อแม่ของประเทศเราพร้อมที่จะตื่นหรือยัง