วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

My Inspiration ... สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง

บนโต๊ะอาหารเที่ยงวันหนึ่ง ดิฉันตั้งคำถามให้ทีมงานว่า ใครคือแรงบันดาลใจของคุณ มีหลายคำตอบที่น่าทึ่ง แต่ที่น่าแปลกใจกว่านั้น คือ บางคนบอกว่าไม่มี คิดไม่ออก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ...

แรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ การเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคนอื่นถือเป็นบทเรียนล้ำค่าที่ควรตักตวงในทุกโอกาส ชีวิตคนเราอาจไม่โลดโผน อาจเจอแต่สิ่งเดิม ๆ แต่ดิฉันขอท้าทายพวกเราว่า เมื่อเดินทางไปสถานที่ใหม่ ๆ พบปะผู้คนที่แตกต่าง แม้กระทั่งเมื่ออ่านหนังสือนิยายหรือชีวประวัติ อยากเชิญชวนให้เปิดใจ “ฟัง” ประสบการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองค่ะ เพราะบางครั้งชีวิตเราก็ต้องการสิ่งที่ “สวยงาม” เป็นเป้าหมายนำทางให้เราสร้างเส้นทางที่มีความหมายค่ะ

วันนี้ดิฉันมาเยี่ยมร้านหนังสือที่จังหวัดตรังและพัทลุง พบว่าหนังสือเรื่อง เฉินซู่จวี๋ แม่ค้าขายผัก โดย เฉินซู่จวี๋ เป็นหนังสือขายดีที่ภาคใต้ เล่าถึงชีวิตของเฉินซู่จวี๋ ที่แม้เป็นเพียงแม่ค้าขายผัก ตัวเองใช้เงินวันละไม่กี่บาท แต่บริจาคเงินให้คนที่ด้อยกว่าเป็นสิบล้านบาท ด้วยความมุมานะ ตั้งใจทำงาน (ทำงานหนักจนลายนิ้วมือหายไปจากนิ้วมือ!) จนนิตยสาร Forbes และ Times ยกย่องให้เป็นบุคคลอันทรงอิทธิพลของโลกเลยทีเดียว

เรื่องราวของเฉินซู่จวี๋สร้างแรงบันดาลใจให้ดิฉันเห็นว่า คนที่ประสบความสำเร็จไม่จำเป็นต้องมีชีวิตที่ปูพรมแดงมาก่อน ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ และรางวัลแห่งชีวิตจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีส่วนร่วมสร้างโอกาสดี ๆ ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เมื่อดิฉันทำงานและพบอุปสรรค ดิฉันจะนึกถึง เฉินซู่จวี๋ และมองไปที่นิ้วมือของดิฉันเอง รอยนิ้วมือยังอยู่ ชีวิตยังสบาย ต้องสู้ต่อไปค่ะ

ดิฉันจึงไปทำการบ้านต่อว่า เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ได้อย่างไร ส่วนมากจะมีหนังสือประวัตินักวิทยาศาสตร์ออกมาใช่ไหมคะ ดิฉันรู้สึกว่ามันอาจจะด้านเดียว ทุกคนเกิดมาต่างกัน ถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าที่แตกต่างกัน จึงไปถูกใจหนังสือเรื่อง สุดยอดความคิด 70 ยอดคน โดย Oh, Joo-young ซึ่งรวบรวมเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจจากกลุ่มคนหลายประเภท เช่น นักสำรวจ นักประดิษฐ์ นักธุรกิจ นักการเมือง นักสร้างสรรค์ นักวิทยาศาสตร์ และผู้นำประเทศ วันนี้ขอแบ่งปันของบางคนนะคะ
  • รอเบิร์ต เพียรี ผู้พิชิตขั้วโลกใต้ด้วยนิ้วเท้าเพียง 2 นิ้ว เพียรีใช้เวลากว่า 20 ปีกว่าจะทำสำเร็จ หลายครั้งต้องถอยหลังกลับเพราะมันหนาวมาก มากจนต้องเสียนิ้วเท้าไป 8 นิ้ว! หนังสือตั้งคำถามว่าหากถึงเวลาที่ต้องยอมแพ้กลับมา จะเรียกว่ามีความกล้าหรือไม่ เรื่องนี้ตั้งข้อคิดว่า “เมื่อถึงคราวคับขันให้ถอยหลังกลับมา เราไม่จำเป็นต้องรีบร้อนทำให้สำเร็จภายในครั้งเดียว” สุดท้ายเพียรีพิชิตขั้วโลกใต้สำเร็จในวัน 51 ปี
  • ตวนมู่ซื่อ ลูกศิษฐ์ของขงจื๊อที่ชอบถามคนอื่นอย่างไม่มีสิ้นสุด คิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง จนสามารถป้องกันไม่ให้แคว้นหลู่ถูกแคว้นฉีบุกรุก ทำให้เห็นว่าการตั้งใจฟังคำพูดที่เฉลียวฉลาดของผู้อื่น และนำมาประมวลผลใหม่ตามมุมมองของเราเอง จะช่วยเราตัดสินใจและแก้ปัญหาได้มาก
  • ปอล เซซาน ศิลปินเอกระดับโลกที่เติมเต็มจิตวิญญาณให้แอปเปิ้ล กว่าเซซานจะวาดรูปแอปเปิ้ลออกมาจนโด่งดัง ต้องร่างรูปกว่า 100 ครั้ง จนได้จัดนิทรรศกาลศิลปะครั้งแรกเมื่ออายุ 56 ปี ทำให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีมนตร์วิเศษใดที่จะทำให้ฝันเป็นจริง มีแต่ความขยันและเพียรมานะเท่านั้นที่จะสานฝันให้เป็นจริง
  • จักรพรรดิถังไถ้จง ผู้สามารถรวบรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นได้ในขณะที่ขึ้นเป็นจักรพรรดิของราชวงศ์ถังด้วยพระชนม์เพียง 20 พรรษา ถังไถ้จงทรงตั้งใจรับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง เพื่อช่วยตัดสินใจให้ดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ตรงกับความคิดเห็นของพระองค์ก็ตาม เพราะฉะนั้นหากเราลองฟังความเห็นของคนอื่นดู จะช่วยป้องกันไม่ให้ตัดสินใจพลาดได้


ประสบการณ์ดี ๆ เหล่านี้ถือเป็นของขวัญล้ำค้าที่เราจะมอบให้คนรอบข้างได้ หากมีโอกาส ดิฉันขอให้พวกเราเล่าสู่กันฟัง แบ่งปันการเรียนรู้ เพราะมันอาจเปลี่ยนแปลงทัศนคติเชิงบวกและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเรามีชีวิตที่เติมเต็มและมีความหมายมากขึ้นค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คุยกันเรื่องอะไร

คุณคิดว่าคุณรู้จักสมาชิกในครอบครัวคุณมากแค่ไหนคะ คุณอาจตอบว่า “ลูก/พี่/น้อง/แม่ตัวเอง ไม่รู้จักก็แย่แล้วค่ะ”
แล้วเมื่อคืนคุณคุยเรื่องอะไรบนโต๊ะทานข้าวคะ

คุณรู้สึกไหมคะว่า ทุกวันนี้เรา “คุย” กันน้อยลง เราอาจจะพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราไม่ค่อยได้คุยกันถึงความรู้สึกนึกคิดกัน

โลกปัจจุบันมีกิจกรรมที่ทำคนเดียวค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม เล่น social media หรือดูโทรทัศน์ หากไม่ดูแลให้สมดุล จะทำให้การสื่อสารระหว่างคนในครอบครัวลดน้อยลง รู้จักกันน้อยลง และขาดความเข้าอกเข้าใจกันนะคะ

ทุกคนเกิดมามีความรู้สึกนึกคิดต่างกัน หากไม่มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ละคนก็จะยึดติดความเห็นตนเป็นใหญ่

ตอนดิฉันฝึกงานที่สำนักพิมพ์ Scholastic ดิฉันประทับใจปรัชญาบริษัทข้อหนึ่งมาก คือ “สร้างสังคมที่ปราศจากอคติและความเกลียดชัง” ซึ่งทำได้จริงหากสร้างเวทีให้คนเราได้พบกับความคิดเห็น ประเด็นสังคม และประสบการณ์ที่หลากหลาย

บทบาทของคนทำหนังสือ คือ มีเนื้อหาจากหลายแง่มุมและบริบท และสิ่งที่ทุกครอบครัวทำได้ คือ จัดเวทีสะท้อนความคิด ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ที่โต๊ะทานข้าวของคุณค่ะ

ตอนดิฉันไปร้านหนังสือที่อเมริกา ซื้อ Chat Box มา 1 กล่องค่ะ คือกล่องที่บรรจุบัตรคำถาม เป็นไอเดียหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหารค่ะ

วันแรกที่เอามาเล่นที่บ้าน คำถามคือ “บ้านในฝันของคุณเป็นอย่างไร” มีคนหนึ่งว่าดิฉันบ้าแล้วไม่คุยด้วยค่ะ แต่พอคนอื่นเริ่มพูดถึงบ้านในฝันของตัวเอง ทำให้รู้สึกแปลกใจมาก เพราะไม่เคยรู้ว่าน้องตัวเองคิดแบบนั้น แบบนี้ จนสุดท้าย (คนที่ไม่ยอมตอบ) ก็ยอมร่วมวงด้วยค่ะ

ช่วงแรกอาจจะยากหน่อยนะคะ เพราะพวกเราไม่ค่อยชินกับการพูดความรู้สึกตัวเอง บ้างอาจคิดว่าเสียเวลา บ้างอาจคิดว่าคนอื่นอาจไม่สนใจ อาจจะเริ่มด้วยแบบเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ค่ะ

สมัยเด็ก คุณแม่จะให้ดิฉันและน้องสาวผลัดกันเล่าถึงสิ่งที่ดีและไม่ดีที่เกิดขึ้นในวันนั้น หรือบางครอบครัวจะเรียกว่า High-Low ถือเป็นการฝึกคิด ฝึกพูด ทุกวันเราจะเตรียมเรื่องมาเล่าบทโต๊ะอาหาร ทำให้เราสังเกตสิ่งที่เราได้พบเจอระหว่างวัน และตั้งคำถามว่าเราคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ค่ะ

คุณฮาเซงาวะ คะซุฮิโระ นักเขียนชาวญี่ปุ่นกล่าวในหนังสือ พลิกวิกฤตเป็นกำไร ว่าเราควรทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ดิฉันขอทิ้งท้ายตัวอย่างคำถามของคุณฮาเซงาวะให้เป็นหัวข้อบทสนทนาบนโต๊ะอาหารของคุณนะคะ
  • เรื่องที่ได้เรียนรู้ในวันนี้คืออะไร
  • วันนี้คิดไอเดียอะไรใหม่ ๆ ได้บ้าง
  • อะไรเป็นอุปสรรคของงาน / สิ่งที่ทำในวันนี้ สาเหตุคืออะไร
  • วันนี้ได้ขยับเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นแค่ไหน
  • ถ้าให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกน้องประเมินตัวเราวันนี้ น่าจะได้กี่คะแนน
  • วันนี้อารมณ์และความรู้สึกเป็นอย่างไร
  • เรื่องที่ดีใจและเรื่องที่เสียใจคืออะไร
  • วันนี้สภาพร่างกายเป็นอย่างไร ถ้าไม่พร้อม สาเหตุคืออะไร


การพูดคุยแบบนี้เป็นเรื่องดีนะคะ เพราะเป็นการฝึกตั้งคำถาม และ 1 คำถามมีได้หลายคำตอบ ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมเน้นให้เราท่องจำ คำตอบที่ถูกมีแบบเดียวเท่านั้น วิธีการทำก็ต้องเหมือนกัน ทำให้เมื่อเจออุปสรรคในชีวิตจริง ไม่รู้จะแก้อย่างไร


แล้วคืนนี้คุณจะคุยกันเรื่องอะไรคะ

วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เลี้ยงลูกสไตล์ SML

ดิฉันเคยไปเที่ยวกับครอบครัวของคุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประทับใจ (แกมแปลกใจ) ที่ครอบครัวของคุณชัยวัฒน์สนิทสนมกันและอบอุ่นเป็นที่สุด คุยกันไปมาถึงได้รู้ถึงหลักการเลี้ยงลูกสไตล์ SML ปรับใช้ตามวัยของลูก (และลูกน้อง!) จึงขอเอามาแบ่งปันกับทุกท่านค่ะ

ลูกวัยเล็ก เป็นช่วงพ่อแม่สร้างตัว ต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลา ใช้หลัก 4S

  • S1. Sense of Trust – เชื่อและศรัทธาในตัวลูกว่าเป็นคนดีได้ พัฒนาได้ แต่อย่าหลงลูกตัวเอง ต้องใช้หลัก Check & Balance ให้พอดี
  • S2. Sense of Belonging – ให้ลูกรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว เช่น ไปงานโรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกัน อย่าหวงแหนคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ”
  • S3. Sense of Obligation – ใช้พระเดชพระคุณ ถึงจะสนิทแต่ต้องวางตัวให้ลูกเคารพและเกรงใจ คือให้ลูกรู้จักกาละเทศะ ลูกทำดีขอให้ชม แต่ะหากอะไรไม่ถูกต้องต้องทำโทษ เช่น พี่น้องตีกันเป็นเรื่องที่ร้ายแรง
  • S4. Sense of Humour – มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในครอบครัว

ลูกวัยรุ่น วุ่นวายที่สุดเพราะลูกเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องใช้หลัก 4M ไม่ให้ลูกรู้สึกถูกแทรกแซง

  • M1. Management by Objective – บริหารแบบมีเป้าหมาย ไม่ใช่ให้ลูกเรียนไปวัน ๆ แต่ช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง ที่สำคัญพ่อแม่อย่าหลอกตัวเอง
  • M2. Management by Example – เป็น (หรือหา) ตัวอย่างที่ดีให้ลูก ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียน ให้ไปฝึกงาน
  • M3. Management by Role Model – สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกผ่านไอดอล ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว บางครั้งต้องให้เพื่อนช่วยพูดกับลูก
  • M4. Management by Walk Around – รู้จักคนรอบข้างของลูก เช่น พูดคุยกับครู ทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ของลูก ไปดูว่าที่โรงเรียนลูกเป็นอย่างไร

ลูกวัยทำงาน เริ่มมีชีวิตของตัวเอง ใช้หลัก 4L

  • L1. Love – รักลูกแบบผู้ใหญ่ ต้องบริหารความคาดหวังของพ่อแม่ ลูกทำงานแล้ว มีชีวิตของตัวเอง ต้องเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนไป
  • L2. Learn –โลก (โดยเฉพาะโลกของลูก) ที่เปลี่ยนไปทำให้พ่อแม่ต้องเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่ลูกอยู่และงานที่ลูกทำ หาองค์ความรู้เพื่อจะได้ช่วยเหลือและคุยกับลูกได้
  • L3. Laugh – ลดเสียงบ่น เพิ่มเสียงหัวเราะ
  • L4. Lifestyle – give & take กับไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในบ้าน ลูก ๆ ใช้ whatsapp แล้วพ่อแม่ใช้หรือยัง
ตอนนี้คุณชัยวัฒน์ได้แบ่งปันแนวคิดนี้ในหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูก 3 วัยสไตล์ SML ถึงแม้ดิฉันยังไม่มีลูก แต่ดิฉันมี “ลูกน้อง” และยังทำงานด้านเด็กและเยาวชน จึงคิดว่าแนวคิด SML นี้สามารถปรับใช้ได้อย่างดี
ตั้งแต่เริ่มทำงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือการบริหารคน แต่ละคนหลากหลายเหลือเกิน บ้างต้องใช้เทคนิค coaching บ้างต้องใช้เทคนิคพี่น้อง บ้างต้องสั่งการ ทำให้รู้สึกเหนื่อยสมองเหมือนกันนะคะ สิ่งที่ถูกใช้คือ check & balance สุดท้ายต้องมีกระบวนการ PDCA หรือ Plan Do Check Act เพราะโลกนี้ไม่มีสูตรตายตัว เมื่อวางแผนและทำอะไรแล้ว ต้องกลับมาสะท้อนว่ามันเหมาะสมและได้ผลหรือไม่ มันเว่อร์เกินไปหรือไม่ แล้วก็มาปรับสำหรับครั้งหน้า


หนังสือเล่มนี้ช่วยดิฉันเสริมอาวุธในการบริหารคน จึงหวังว่าแนวคิด SML นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านด้วยค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สงกรานต์ในเบอร์ลิน

สงกรานต์ที่ผ่านมา ดิฉันได้พาคณะผู้บริหารจากโรงเรียนชื่อดังไปดูงานด้าน “อนุบาล” ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีค่ะ ถือเป็นทริปที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เพราะได้เห็นโรงเรียนอนุบาลที่ดี และแหล่งเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ท่านอาจสงสัยว่าทำไมต้องเยอรมนี รู้ไหมคะว่าอนุบาลแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นที่ประเทศเยอรมนี ก่อตั้งโดยคุณฟรีดดริค โฟรเบล และคำว่า kindergarten ที่เราใช้นั้นมาจากภาษาเยอรมัน แปลว่า สวนของเด็ก ๆ 

พวกเราได้ไปดูงานที่โรงเรียนอนุบาล 4 แห่ง แต่ที่ดิฉันประทับใจที่สุด คือ อนุบาล “คาซ่า แฟนตาเซีย” เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ชื่อว่าโฟรเบลซึ่งเป็นเจ้าของอนุบาลทั้งหมด 125 แห่งในเยอรมนีและ 3 แห่งในประเทศออสเตรเลีย “คาซ่า แฟนตาเซีย” จัดการเรียนการสอนตามแนวทางของ “เรจจิโอ เอมิเลีย” ซึ่งเป็นปรัชญาการศึกษาจากประเทศอิตาลี ริเริ่มในหมู่บ้าน “เรจจิโอ เอมิเลีย” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

“เรจจิโอ” เชื่อว่าเด็ก ๆ มีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความเคารพ เสมือนเป็นคนที่มีความสามารถคนหนึ่ง โดยให้โอกาสเด็ก ๆ ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกัน เช่น ทำวิจัย คือ เปิดโอกาสให้รู้จักสำรวจ สังเกต ตั้งสมมุติฐาน ตั้งคำถาม และอภิปรายความเข้าใจ เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ในอนุบาลประเภทนี้จะเรียนรู้จากการทำโครงงานเป็นส่วนมาก

การให้เกียรติเด็ก ๆ ยังแสดงออกด้วยการกระทำอื่น ๆ เช่น การตกลงกติกาก่อนทำกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างอิสระ เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเรียน คือ เรียนในสิ่งที่เด็กสนใจ

พิเศษสุด คือ เด็กทุกคนจะมี portfolio เฉพาะบุคคล ที่ครูช่วยเด็กทำตั้งแต่เข้าเรียนครั้งแรก ในนั้นจะมีรูปถ่ายตั้งแต่เกิด รูปถ่ายระหว่างทำโครงงาน (เด็กมีสิทธิเลือกรูปเอง) ผลงานของพวกเขา และความคิดเห็นของเด็ก ๆ จากทุกกระบวนการ

ท่านอาจสงสัยว่าเด็กอนุบาลเขียนความคิดเห็นได้แล้วหรือ ครูในอนุบาลที่นี่จะต้องเขียนสิ่งที่เด็ก ๆ พูด “คำต่อคำ” ลงไปใน portfolio เพราะเมื่อเด็ก ๆ (และผู้ปกครอง) กลับมาเปิดดู ก็จะเห็นถึงกระบวนการเรียนรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้ของตัวเอง และเกิดความภูมิใจในตัวเองอย่างมากเลยค่ะ

หากเราปฏิบัติต่อเด็ก ๆ ด้วยความเคารพและให้เกียรติ เราก็จะสามารถดึงศักยภาพการเรียนรู้ของเขาเองออกมาได้ ฟังดูง่ายแต่ทำยากนะคะ จะสำเร็จได้ครูและผู้ปกครองต้องเข้าใจและเตรียมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาแบบนี้ด้วย ซึ่งทำให้ดิฉันหวนนึกกลับมาที่ชีวิตการทำงานค่ะ

หลายครั้ง เราบอกให้คนนั้นทำอย่างนั้น อย่างนี้ ใช้ความคิดเราเป็นใหญ่ หากทำเช่นนี้ต่อไป เราจะพัฒนาทีมงานของเราได้อย่างไร หากเราเปิดโอกาสให้ทีมงานเราทำงานเหมือนทำโครงงาน คือ รู้จักตั้งคำถาม สำรวจ สังเกต อภิปราย ผลงานน่าจะออกมาดีกว่าเดิม และทีมงานน่าจะมีความสุขกว่าเดิม เห็นด้วยไหมคะ

การสร้างคนให้รู้จักวิจัยและค้นคว้าไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในระบบโรงเรียนนะคะ พวกเรายังได้ไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยสำหรับเด็กและเยาวชนชื่อ “ฟอร์เชอร์เวลท์” ที่เมืองบลอสซีนอีกด้วยค่ะ ศูนย์นี้ถูกก่อตั้งโดยศูนย์เยาวชนของรัฐบาลท้องถิ่นและมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย “ฟอร์เชอร์เวลท์” มีกิจกรรมหลัก คือ เชิญเด็ก ๆ (อายุ 3 – 11 ปี) มาเข้าค่าย “วิจัยวิทยาศาสตร์” ตามหัวข้อที่เด็กสนใจ และใช้เวทีนี้พัฒนาครูแบบ hands-on ในขณะเดียวกันค่ะ

การไปเบอร์ลินครั้งนี้จุดประกายให้ดิฉันอยากกลับมาทำหลายอย่างในประเทศไทยเรามากค่ะ คงจะได้อัพเดทกันเป็นระยะนะคะ

ดิฉันขอปิดท้ายบทความด้วยคำพูดของอาจารย์ที่ร่วมทริปไปด้วยกัน คือ “ชีวิตเราควรได้สร้างสรรจรรโลงโลกให้ดีขึ้น สวยงามขึ้นกว่าตอนที่เราเกิดมา” และขอทิ้งคำถามให้ท่านคิดว่า หากท่านจะสร้างทีมงานให้รู้จัก “วิจัย” ท่านจะทำอย่างไรบ้างค่

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

พลังของเครือข่าย

ในโลกปัจจุบัน หากจะอยู่อย่างเดียวดาย ทุกอย่างทำเอง คงไม่สำเร็จเหมือนเมื่อก่อน ทุกคนเริ่ม outsource ทุกคนเริ่มหาเครือข่าย วงการการศึกษาก็เช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้ไปร่วมการประชุมกับผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ โต้โผใหญ่โดย ดร. สำเริง กุจิรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย ทำให้เห็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการสร้างเครือข่าย

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 แห่ง ดร. เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า “อนุบาลประจำจังหวัดเป็นผู้บุกเบิกการเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่าง สำหรับโรงเรียนประถมทั่วประเทศ” ปัจจุบันยังทำหน้าที่พี่ใหญ่ให้กับโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษาอีก 183 แห่ง

ใครว่าโรงเรียนรัฐบาลด้อยคุณภาพ การร่วมประชุมครั้งนี้เปิดตาให้ดิฉันรู้ว่า ที่แท้อนุบาลประจำจังหวัดนี่แหละที่กล้าคิดนอกกรอบ ลองนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ใครเจออะไรดี ๆ ก็จะแบ่งปันต่อยอด สองสัปดาห์ที่ผ่านมา สสส. จัดอบรมเรื่องทักษะชีวิต ดร.สำเริง ก็เจรจาให้อบรมให้ทั้งเครือข่ายแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมาโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเริ่มใช้หลักสูตร ห้องเรียนทดลองวิทย์ จากประเทศญี่ปุ่น ใช้แล้วดีก็ขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ และรู้ไหมว่าโรงเรียนอนุบาลนครปฐมเปิดหลักสูตร English Program (นิยมมากในปัจจุบัน) ก่อนที่กระทรวงจะมีนโยบายในเรื่องนี้เสียอีก

ปัจจัยสำเร็จอีกหนึ่งอย่าง คือ ระบบการบริหารการศึกษาแบบ 40:30:30 ของ ผอ. สุทธิ สายสุนี โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสตูล คือ ให้สัดส่วนความสำคัญกับ 3 ภาคี 40% แรกให้กับกลุ่มครอบครัว 30% ที่สองให้กับครู และอีก 30% สุดท้ายให้กับประชาสังคม

โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสตูล จัดตั้งกรรมการผู้ปกครองชั้นละ 5 คน ร่วมทำปฏิทินกิจกรรมของโรงเรียนด้วยกัน โรงเรียนจัดสรรงบให้บางส่วน ผู้ปกครองเรี่ยไรที่เหลือ ทำให้เกิดความมีส่วนร่วม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง นักเรียนเกิดความภูมิใจ สำหรับครู โรงเรียนจัดให้มีการพัฒนาบุคคลากรอยู่เสมอ

หมัดเด็ดที่ถูกใจดิฉัน คือ  ผอ. สุทธิ บอกว่าเราจะยกระดับการศึกษาได้ ต้องร่วมมือกับประชาสังคม เช่น สำนักพิมพ์ องค์กรในชุมชน เป็นต้น ดิฉันรู้สึกประทับใจเพราะบางคน (รุ่นเก่า) ในวงราชการจะไม่ชอบทำงานร่วมกับเอกชน เพราะคิดว่าจะมาหาประโยชน์จากเขา หรือทำการค้าอย่างเดียว แต่ดิฉันเชื่อมั่นในระบบเครือข่าย ไม่มีใครเก่งได้ทุกเรื่อง หากเราต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาแบบโดยรวม (
raising the bar) เราไม่สามารถทำเอง หรือรอบริจาคได้

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณทำงานอะไร ขอให้รู้งานของคุณให้ดีที่สุด เพราะนี่คือวิชาชีพคุณ และด้วยแนวคิดการสร้างเครือข่ายและหาภาคี จะทำให้บทบาทของเราในจิ๊กซอว์สังคมชัดเจนและมีความสำคัญ หากเราทำงานไปวัน ๆ รู้กว้าง ๆ เราคงต้องตั้งคำถามว่า เราสร้างประโยชน์หรือ value-added อะไรให้กับสังคม แน่นอนว่าดิฉันทำงานสำนักพิมพ์ อยู่ได้ด้วยการจำหน่ายหนังสือและ content
หากเราขายของดี ขายปัญญา ดิฉันก็ไม่อายเด็ดขาดที่จะบอกว่าวันนี้มาขายของนะคะ หลายครั้งดิฉันก็ภูมิใจบอกว่า โครงการนี้ฟรีนะคะ ช่วยกันทำค่ะ ในฐานะองค์กรเอกชน เราโชคดีที่มีความยืดหยุ่นในการเสาะหานวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ จับมือกับหน่วยงานจากต่างประเทศ ซึ่งหากเรามองตัวเองเป็นหนึ่งตัวต่อของ “เครือข่ายการศึกษา” บทบาทเราชัดเจนทันทีว่า เราเป็นผู้เสาะหานวัตกรรมการเรียนรู้มาสู่ระบบการศึกษาไทย


อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการสร้างเครือข่ายจะราบรื่นเสมอไป จึงอยากทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยคำพูดของ ดร. ดีพัค ซี เจน อดีตคณบดีของ INSEAD และ Kellogg School of Management ความจริงท่านเป็นอาจารย์ของดิฉันสมัยเรียนที่ศศินทร์ค่ะ วันหนึ่งท่านเขียนบนกระดาษขาว ท่านบอกว่าเขียนไม่ถนัดเลย เพราะลื่น ปกติจะเขียนบนกระดานดำ ท่านจึงให้ข้อคิดพวกเราชาวศศินทร์ว่า “บางครั้งลื่นไปก็ไม่ดี ชีวิตเราต้องการแรงเสียดทานบ้าง จะไม่ได้ล้ม” ดิฉันหวังว่าข้อคิดนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะคะ

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Personalised Learning เรียนรู้สไตล์ฉันเอง

ทุกวันนี้ หลายธุรกิจสร้างจุดขายด้วย personalisation คือ ออกแบบเฉพาะตามความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรองเท้าตามสีและวัสดุที่ถูกใจของ Adidas หรือออกแบบคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คส์ตามสเป๊คที่ต้องการแบบ Dell ในปัจจุบันเรื่องนี้แพร่ขยายมาสู่การศึกษา คือ personalised learning หรือการเรียนรู้ตามศักยภาพเฉพาะบุคคล

เป็นที่รู้กันว่าในหนึ่งห้องเรียน มีทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน ยกคณิตศาสตร์เป็นตัวอย่าง ความแตกต่างระหว่าง อายุทางคณิตศาสตร์ ของเด็กเก่งสุดและอ่อนสุดมีมากถึง 4 ปี แล้วครูหนึ่งคนที่สอนหน้าห้องควรมีวิธีรับมือกับความต่างนี้อย่างไร ไม่ว่าจะสอนอย่างไรก็จะทั้งคนที่งงมากและเบื่อมาก การสอนแบบกลาง ๆ จึงทำให้การยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้เป็นไปอย่างยากเข็น เด็กที่งง หากงงต่อไปเรื่อย ๆ คงเสียความมั่นในในการเรียนรู้ไปอีกนาน

โทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษกล่าวถึง personalised learning ว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่จะช่วยให้เด็กมี “อนาคตที่ยุติธรรม (fair future)” ในการต่อสู้ในสังคมที่แข่งขันดุเดือด มีการทำวิจัยเรื่อง personalised learning พบว่าทำได้หลายวิธี เช่น ลดจำนวนนักเรียน/ห้อง เพิ่มจำนวนครู/ห้อง หรือให้เด็กเรียนพิเศษเป็นกลุ่มย่อย ทั้งสิ้นต้องใช้งบประมาณสูงมาก จึงศึกษาต่อว่าจะใช้เทคโนโลยีมาแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร

ปีที่แล้ว UK Trade & Investment Agency แนะนำให้ดิฉันรู้จักกับบริษัท Maths-Whizz ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุน personalised learning ในวิชาคณิตศาสตร์สำหรับเด็กประถม ดิฉันเป็นผู้ศรัทธาการเรียนรู้แบบ hands-on จึงไม่ค่อยอยากพบกับบริษัทนี้เท่าไร แต่แล้วพบว่าการบูรณาการเทคโนโลยีอย่างถูกวิธีจะช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้หลายอย่าง วิจัยบอกว่า หากนักเรียนทำ Maths-Whizz 60 นาที/สัปดาห์ติดต่อกัน 12 เดือน อายุคณิตศาสตร์จะพัฒนาขึ้นมากถึง 18 เดือน

ระบบอัจฉริยะคัดเลือกบทเรียนที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ช่วยแก้ปัญหาการจัดการชั้นเรียน เพราะครูไม่ต้องออกแบบบทเรียนให้นักเรียนทีละคน พร้อมมีระบบรายงานให้ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองเห็นถึงพัฒนาการอย่าง real time เป็นรายโรง รายชั้น รายห้อง และรายบุคคล ปัจจุบันรัฐบาลรัสเซียก็เริ่มทดลองระบบนี้แล้ว ทำให้มีระบบรายงานสำหรับกระทรวงศึกษาด้วย ตามหลักบริหารสากลที่ว่า มืออาชีพบริหารงานด้วยตัวเลขและข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

บางคนท้าทายว่า หากประเทศไทยเราไม่สามารถมอบ Personalised Learning ให้กับเด็กทุกคนในประเทศได้เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ เราก็ไม่ควรทำ เพราะไม่ยุติธรรม กระตุกความคิดของดิฉันว่าก้าวแรกของการพัฒนาคืออะไร เราต้องทนกับ “สิ่งถูก ๆ” เพื่อทุกคนจะได้เหมือนกันหรือ หากไม่คิดนอกกรอบ ลองสิ่งใหม่ เราจะหลุดบ่วงได้อย่างไร

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า หากเราต้องการเอาชีวิตรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลง เราต้องเรียนรู้ที่จะไม่หยุดนิ่ง One size fits all ไม่มีอีกแล้ว ลูกค้าต้องการ “คุณค่า” เฉพาะบุคคล และหากเราต้องการ “ยกระดับ” การเรียนรู้ของระบบการศึกษาจริง ๆ เราไม่สามารถพอใจกับการบริหารชั้นเรียนแบบ “ค่าเฉลี่ย” อีกต่อไป เพราะผลลัพธ์ก็คือเด็กที่เก่งแบบ “เฉลี่ย”

ดิฉันขอเชิญทุกท่านลองคิดดูว่า ท่านจะสร้าง Personalised Learning ในองค์กรของท่านอย่างไร เพื่อช่วยพัฒนาคนตามศักยภาพและรูปแบบการเรียนรู้แบบเฉพาะตัว

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กระต่ายไม่มีหู ปลูกฝังให้ลูกรักเคารพความแตกต่างระหว่างผู้อื่น

หลายคนตั้งคำถาม ลูกเราจะยืนหยัดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีความสุขและเป็นคนดีอย่างไร คนมากหน้าหลายตา หลายพ่อพันแม่ เราจะอยู่ปกป้องเขาได้ตลอดได้อย่างไร

ฌอน โควีย์ กล่าวใน7อุปนิสัยของเด็กดีมีความสุข ว่า “หลักการที่ต้องการปลูกฝังให้ลูกนั้นเป็นเหมือนกับแรงโน้มถ่วงของโลก ไม่แปรผันไปตามกาลเวลา มีความเป็นสากล สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง และมีความจำเป็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง”

หนึ่งสิ่งที่ดิฉันอยากให้ผู้ปกครองเน้นย้ำพิเศษ คือ การเคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างด้านกายภาพ เชื้อชาติ ความคิด และไลฟสไตล์ ฟังดูยากแต่ไม่เป็นไปไม่ได้นะคะ ดิฉันขอยกตัวอย่างจากหนังสือ 2 เล่มค่ะ

หนังสือเรื่อง “คู่มือ kid ดี” ของ Laura Jaffe ตั้งคำถามให้เด็ก ๆ ว่า หากพบคนพูดติดอ่างจะทำอย่างไรและสะท้อนผลลัพธ์ให้พวกเขาเห็น คือ 
  1. หัวเราะเสียงดัง (เขาพูดเรื่องตลกหรือพูดไม่เหมือนเรา เขาจะคิดว่าเราหัวเราะเยาะไหมนะ) 
  2. หงุดหงิด (เขาอาจจะหงุดหงิดยิ่งกว่าที่ไม่สามารถพูดได้ราบรื่นเหมือนเรา) 
  3. สงสาร (เขาคงไม่อยากให้เราสงสาร เพราะเขาก็ทำทุกอย่างได้เหมือนเรา) 
  4. พูดจบประโยคแทนให้ (เพื่อนจะคิดว่าเราอยากช่วยเขาหรือเข้าใจผิดว่าเราขี้เกียจรอเขาพูดไหม) 
  5. ทำเหมือนไม่รู้จัก (เราอาจทำเป็นไม่รู้จักเพราะอยากให้เขาสบายใจ แต่หากเขาอยากคุยกับเราล่ะ) 
  6. ไม่ใส่เรื่องนี้ (อาจจะรำคาญตอนแรก แต่ก็เล่นสนุกกันต่อไป)


อีกหนึ่งตัวอย่างมาจากนิทานเรื่อง “กระต่ายไม่มีหู” โดย Til Schweiger ตัวเองของเรื่องคือกระต่างไม่มีหู สุดท้าย คำถามสำคัญคือ หากเพื่อนเราพูดติดอย่าง หรือเพียงกระต่างไม่มีหู แปลว่าเขาด้อยกว่าเราหรือไม่?!? เด็กมีประสบการณ์น้อยกว่าพวกเรา สิ่งที่เราทำได้คือสร้างเวทีความคิด ตั้งคำถามเปิดกว้าง ค้นหาที่มาของความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อให้เขาได้ค้นพบด้วยตัวเอง ดิฉันคิดว่าหนังสือเป็นเครื่องมือที่ช่วยพวกเราปลูกฝังเรื่องนี้ได้ดี ดังที่มีนักคิดท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ความเหนือจริงสะท้อนความจริงได้ดียิ่งกว่า” หากเราสอนลูกหลานว่า “เราต้องเคารพความแตกต่างนะคะ” ลูกหลานเราอาจคิดว่า “...!?!...” แต่พวกเขาได้ประสบประเด็นเหล่านี้ผ่านเรื่องราวของผู้อื่นในหนังสือ พวกเขาจะเข้าใจและเชื่อมากกว่าค่ะ


ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เด็กไทยจะได้พบปะกับคนต่างประเทศมากขึ้น วิธีการที่พวกเขาจะปฏิสัมพันธ์กับคนที่แตกต่างจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าเราปลูกฝังให้ลูกหลานเราเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลกที่มีคุณภาพได้ดีหรือยังค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Love at First Sight @ Nuremberg

ตอนนี้ดิฉันอยู่ที่เมืองนูเรมเบิร์ค ประเทศเยอรมนี ค่ะ ดิฉันมาดูงาน Toy Fair ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตอนนี้เรากำลังขยายงาน เสาะหาสื่อการเรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ ไปนำเสนอให้โรงเรียนไทย ก่อนงานนี้ก็เพิ่งเดินทางมาจากงาน BETT Show ที่ลอนดอนค่ะ เป็นงานแสดงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดิฉันนั่งเครื่องบินและรถไฟประมาณ 5 ต่อ หิ้วกระเป๋าหนัก (มากกกกกส์) กว่าจะถึงโรงแรมก็ประมาณ 12 ชั่วโมงค่ะ

ดิฉันเดินเที่ยวงาน Toy Fair เกือบทั้งวัน เริ่มเกิดอาการวิตก ทำไมเราไม่เจอสิ่งที่ถูกใจ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรดีนะคะ ทุกอย่างน่ารักมากค่ะ แต่ดิฉันมีความรู้สึกคล้ายกับเวลาไปดูงาน BETT Show คือ มันง่ายเหลือเกินที่จะทำให้ภายนอกดูดี หวือหวา แต่การจะทำให้ภายในดีด้วยนั้นยากเหลือเกิน ดิฉันกำลังเสาะหาสื่อการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่สื่อ แต่มันจะต้องสามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและครูได้ด้วย

ระหว่างที่ดิฉันกำลังเซ็ง...ดิฉันก็ได้พบ Dusyma – my love at first sight บริษัทนี้ทำสื่อการเรียนรู้มายาวนานกว่า 90 ปี ตอนที่ดิฉันเห็นบู๊ทนี้ เห็นคนกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นกับโต๊ะทรายที่มีไฟส่องขึ้นมา ดิฉันจำได้ว่านี่คือสื่อการเรียนรู้ตามรูปแบบของ Reggio นักการศึกษาทางเลือกชื่อดังของอิตาลี จึงคิดว่าบู๊ทนี้ไม่ธรรมดาแน่ ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนก็น่ารักมาก พยายามแนะนำว่าสื่อแต่ละชิ้นมีคุณค่าอย่างไร ดิฉันอ่านแค๊ตตาล๊อกก็รู้สึกประทับใจมาก เพราะเขาไม่เพียงเขียนคุณลักษณะและสรรพคุณของสื่อ แต่พูดถึงปรัชญาด้านการเรียนรู้ประกอบทุกชิ้น เมื่อคืนดิฉันจึงรีบเขียนรายงานไปเล่าให้ทีมงานฟังว่า “พบสิ่งที่ต้องการแล้ว”

รู้ไหมคะว่า คุณแม่ดิฉันตอบมาอย่างไวว่า ท่านเคยเห็นบริษัทนี้ที่ Hong Kong Toy Fair แล้วชอบมาก ๆ เหมือนกัน เริ่มคุยแล้วด้วย แต่ยังไม่มีข้อสรุป ว้าว... Great minds think alike จริง ๆ 555
เมื่อเช้าดิฉันจึงรีบมาที่ Dusyma เป็นเจ้าแรก คุยมันมากจนดูนาฬิกาอีกทีเวลาผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง! เจ้าของ Dusyma ชื่อคุณ Lulu Schiller เป็นผู้สืบทอดกิจการรุ่นที่ 2 ต่อจากคุณพ่อ ซึ่งก่อตั้งบริษัทขายสื่อเพื่อการเรียนรู้แห่งแรกในเยอรมนี ดิฉันถามว่าพ่อบังคับให้ทำต่อหรือเปล่า แต่เมื่อมองแววตาคุณ Lulu แล้วเข้าใจเลยค่ะว่าทำไมคุณ Lulu บริหาร Dusyma มา 36 ปีแล้วขยายงานได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ จนตอนนี้นอกจากจะทำสื่อสำหรับเด็ก ยังขยายไปสู่สื่อสำหรับคนชราอีกด้วย
“เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้ความเคารพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเกิดมาชาติไหนก็ตาม ... หัวใจฉันเบิกบานด้วยความสุขเมื่อเห็นเด็ก ๆ ใช้สื่อของ Dusyma … อนาคตของเราต้องการเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์ ตอบสนองรวดเร็ว ชาญฉลาด และรับผิดชอบต่อโลกของเรา เด็กเยอรมันไม่ใช่เพียงแค่เด็กเยอรมัน เด็กไทยไม่ใช่เพียงแค่เด็กไทย แต่เป็นเด็กของโลก เราต้องสร้างเด็กที่ฉลาด ที่มีรากเหง้าที่แข็งแรง พร้อมที่จะขยายปีกบิน ไอน์สไตน์เคยบอกว่า เมื่อเราเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง เราจะมีความสามารถและพลังที่จะรักผู้อื่นได้’”
เมื่อคุณ Lulu พูดถึงเรื่องนี้ ดิฉันขนลุกเลยค่ะ เกิดเหตุการณ์ déjà vu เพราะเมื่อวานเพื่อนที่บริษัทส่งใบแนะนำหนังสือเรื่อง “ฉันชอบตัวเองจังเลย” ไปให้ลูกค้าทาง LINE ดิฉันก็เขียนต่อลงไปเพื่ออธิบายว่า เราไม่ต้องการทำให้เด็กหลงตัวเองนะคะ แต่เราต้องการปลูกฝังให้เด็กคิดบวก เชื่อมั่นในตัวเอง รักตัวเอง เพื่อที่ต่อไปจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของการ bully (ถูกเพื่อนรังแก) หรือ peer pressure (ถูกกดดันให้ทำสิ่งที่ไม่อยากทำ)

อย่างไรก็ดี มานูเร็มเบิร์กครั้งนี้ คุ้มสุดคุ้ม เพราะนอกจากจะได้เจอสื่อการเรียนรู้ที่ถูกใจ ยังได้พบเพื่อนใหม่ ถือเป็นไอดอลอีกคนที่ทำงานด้วยอุดมการณ์ เต็มไปด้วย passion และความศรัทธา

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

London State of Mind

ลอนดอนช่างเต็มไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรม สองฝั่งทางเดินในสถานีรถไฟมีโปสเตอร์แนะนำนิทรรศการใหม่ ๆ ของพิพิธภัณฑ์ หนังสือออกใหม่ ละครเวที และคอนเสิร์ต เต็มไปหมด ทำให้ดิฉันระลึกถึงนิวยอร์กและเบอร์ลิน มหานครของโลกมันเป็นสถานที่ที่ก่อแรงบันดาลใจเสมอ

มาลอนดอนครั้งนี้ ดิฉันได้ดูละครเวทีในโรงละครเป็นครั้งแรกในชีวิต สมัยที่ดิฉันเรียนมัธยมที่โรงเรียนนานาชาติดัลลิช มีโอกาสอ่านบทละครเวทีหลายเรื่อง ที่ชอบที่สุดคงเป็นเรื่อง Death of a Salesman ของ Tennessee William ครูมักจะให้พวกเราเลือกว่าจะเป็นตัวละครตัวไหน และอ่านบทละครด้วยกันในวิชาภาษาอังกฤษ ตอนนั้นคิดว่านักเขียนช่างเก่งเหลือเกิน ที่สามารถสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของสังคมผ่านเรื่องราวของตัวละครได้อย่างดี

ละครที่ดิฉันได้ดูครั้งนี้ชื่อว่า Warhorse มาทราบทีหลังว่าดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Warhorse ของ Michael Morphurgo ถึงแม้ว่านานมีบุ๊คส์จะไม่ได้พิมพ์เรื่อง Warhorse แต่เราก็ได้รับเกียรติพิมพ์หนังสือเล่มอื่น ๆ ของเขา ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่วรรณกรรมแนวนี้ไม่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านชาวไทยเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ละครเวทีเรื่อง Warhorse สนุกมากกกกกกก ทีมงานสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนและม้าได้อย่างดี ดีจนนั่งไม่ติดพนัก และน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง

ตอนแรกดิฉันยังงง ๆ ว่าผู้จัดจะเอาม้าตัวจริงมาเล่น หรือให้คนใส่หน้ากากเป็นม้าเหมือนเรื่อง Lion King หรือจะเป็นหุ่นมือ สุดท้ายพบว่า ผู้จัดสร้างหุ่น 3 มิติเป็นตัวม้าจริง ๆ ขึ้นมา และมีผู้ชัก 2 คนเพื่อกำกับศรีษะ ขาหน้า และขาหลัง คือเหมือนจริงมากค่ะ

และดิฉันคงไม่ได้มาถึงลอนดอน หากไม่ได้ไปพิพิธภัณฑ์ ครั้งนี้ได้ไป 2 แห่งค่ะ คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern ซึ่งมีนิทรรศการพิเศษของ Paul Klee และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ตอนที่เดินเที่ยวในนิทรรศการของ Klee ดิฉันเขียน 2 คำในสมุด คือ “กระโดด” และ “การสอน” มีรูปภาพหลายชิ้นของ Klee ที่สะท้อนถึงความต้องการที่จะกระโดดข้ามผ่านความว่างเปล่าหรือความลำบาก ซึ่งคิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกคน คือ เมื่อเจออุปสรรค เราต้องกระโดดข้ามไปค่ะ และเพิ่งทราบว่า Klee ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลปิน แต่เป็นครูด้วย ที่สำคัญคือเป็นครูที่ไม่หยุดยั้งที่จะหาวิธีการสอนใหม่ ๆ ให้กับนักเรียนค่ะ ดิฉันจึงคิดว่าไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไร เราต้องไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้เก่งในวิชาชีพของตน และสร้างคนรุ่นหลังให้มาสอนต่องานของเรา

ก่อนที่เราจะร่วมมือเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ Phaenomenta กับพาร์ทเนอร์เยอรมัน Dr. Lutz Fiesser (ผู้ก่อตั้ง Phaenomenta) เคยเล่าให้ฟังถึงวิวัฒนาการของศูนย์วิทยาศาตร์ค่ะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้เราเสพความรู้ด้วยตา มองดูและอ่านข้อมูล ต่อมาพัฒนาไปสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์แบบคลาสสิก คือ ให้ปฏิบัติด้วยมือจริง แต่ยังมีบอกวิธีการและคำอธิบายสิ่งที่เห็น จนมาสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์แบบ natural process ซึ่งคือให้ปฏิบัติด้วยมือจริง และไม่มีคำอธิบายว่าเห็นอะไร เพราะอะไร

ประสบการณ์ของดิฉันที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ลอนดอนเป็นเหมือนที่ Dr. Fiesser เคยบอกไว้เลยค่ะ คือ เน้นดูและอ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะคะ ดิฉันถือว่าเด็กอังกฤษโชคดีมาก เพราะเขารวบรวมสิ่งประดิษฐ์ในหลายแขนงวิทยาศาสตร์มาตั้งโชว์ให้ดู หากไม่ได้มาคงได้ดูแต่ในหนังสือแน่ ๆ เลยค่ะ แต่ที่พิเศษคือที่ชั้น 4 ค่ะ เพราะเขาให้ที่เกือบครึ่งชั้นให้เป็นแบบ hands-on อย่างแท้จริง ตอนแรกดิฉันสงสัยว่าทำไมคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์น้อยจัง แต่พอไปถึงชั้น 4 ก็ถึงบางอ้อเลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ ทุกคนมาเล่นกันอยู่ที่ชั้น 4 นั่นเอง!

 การเดินทางมาลอนดอนครั้งนี้คงไม่สมบูรณ์ หากปราศจากการนัดพบเพื่อนและครูเก่าสมัยเรียนที่ดัลลิชค่ะ บางคนก็ไม่ได้เจอกัน 15 ปีแล้วค่ะ เมื่อบรรดาครูทราบว่าพวกเราอายุ 30 ปีกันแล้ว ต่างไม่อยากเชื่อ ครูของพวกเราก็มาสอนที่ประเทศไทยตอนอายุประมาณนี้เหมือนกัน ทำให้ดิฉันคิดว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและไม่รอใคร หากเราอยากทำอะไรตอนนี้ควรทำทันทีเลยค่ะ

ถึงแม้ว่าเราจะเลยเทศกาลปีใหม่มาแล้ว หากท่านยังไม่ได้เขียนคำปณิธานประจำปี 2014 ขอให้เขียนออกมา ลงมือทำและขออวยพรให้ทำสำเร็จนะคะ

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Lead by Example

มีนักข่าวท่านหนึ่งถามดิฉันว่า ทำไมนานมีบุ๊คส์ถึงพิมพ์นิทานธรรมะกับคุณหนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณอยุธยา จีระแพทย์ คำตอบแรก คือ เพราะชื่นชมความตั้งใจเผยแพร่เรื่องดี ๆ ให้เด็ก ๆ แต่เมื่อนั่งคิดลึก พบว่าอาจเป็นเพราะดิฉันประทับใจความ “พูดจริงทำจริง” ของคุณหนิงมากกว่า เพราะทุกสิ่งที่คุณหนิงเขียน ล้วนเป็นสิ่งที่คุณหนิงทำกับน้องเบลล่า (ลูกสาว) จริง ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ทำสมาธิ เวียนเทียน และไปวัด

การสนทนาครั้งนั้น ทำให้ดิฉันคิดถึงเรื่อง Lead by Example คือ หากเรา “นำความคิด” ด้วยการปฏิบัติอเป็นตัวอย่าง จะซึมซับอย่างฝังลึก ไม่ว่าจะเป็นการที่คุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง อ่านหนังสือให้เด็กเห็นเป็นนิสัย ก็จะทำให้เด็ก ๆ รักการอ่านอย่างธรรมชาติ ดิฉันจึงไปลองค้นจากหนังสือ 5Q ฉลาดรอบกับ 30 ยอดอัจฉริยะโดย Kim, Hyun-Tae ถึงผู้นำในวงการต่าง ๆ ว่าเขา Lead by Example อย่างไร

บทหนึ่งพูดถึง โจวเอิ้นไหล นายกรัฐมนตรีผู้มัธยัสถ์ของจีน ผู้ถูกล่าวขานนามว่า “สหายของประชาชน” โจวเอิ้นไหลใส่เสื้อตัวเดิมจนเก่า วันหนึ่งขอให้เลขาซ่อมเสื้อให้ เลขาเสนอให้ซื้อเสื้อใหม่ เวลาเจอผู้นำประเทศอื่นจะได้ดูดี และดูเหมือนให้เกียรติ

นายกโจวบอกว่า “ผมไม่คิดว่าการใส่เสื้อเก่าเป็นการไม่ให้เกียรตินะ สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตใจที่แสดงออกมาไม่ใช่หรือ ถ้าเราภาคภูมิใจเสียอย่าง จะมีปัญหาอะไร ... ชีวิตที่อยู่อย่างประหยัดไม่ใช่เรื่องที่น่าดูถูกหรือเป็นการไม่ให้เกียรติ แต่เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ผมบอกให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่อย่างประหยัด แต่ผมจะอยู่อย่างสุรุ่ยสุร่ายอย่างนั้นหรือ”

กล่าวกันว่าทั้งชีวิตเขามีชุดนอนและชุดโค้ตเพียงอย่างละตัวเท่านั้น

ก่อนจะจบบท นักเขียนยังให้ข้อคิดว่า “คนรวมที่แท้จริง คือคนที่รู้จักความพอเพียง” และเล่าเรื่องจากสมัยราชวงศ์โชซอน พระเจ้าเซจองให้ทหารไปซ่อมกระท่อมของเสนาบดีที่ชื่อ ยูควัน  เพราะสภาพซอมซ่อเต็มที วันหนึ่งฝนตกเข้ามาให้ห้อง ยูควันหลบฝนด้วยการใส่งอบ ในขณะนั้นเขาพึมพำว่า “ฝนตกหนักอย่างนี้ คนที่ไม่มีงอบจะเป็นอย่างไรบ้างนะ”
สรุปให้เด็ก ๆ (ผู้อ่าน) เห็นว่าควรมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่อยากได้ของคนอื่น และมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้าง


บทสุดท้ายของหนังสือสรุปเส้นทางสู่อัจฉริยะโดยใช้ตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จของโลกออกมา 7 ข้อค่ะ ดิฉันจะยกมาเล่ากันบางข้อนะคะ 
1.รักการจดบันทึก เมื่อมีไอเดียหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ให้จดทันที เพราะเราจำได้ไม่หมด นักวิทยาศาสตร์ ทอมัส เอดิสัน มีสมุดบันทึกมากถึง 3,400 เล่ม นักประพันธ์ดนตรี ฟรันซ์ บูแบร์ท บันทึกตัวโน้ตบนเสื้อที่สวมทุกครั้งเมื่อไอเดียเพลงใหม่ขึ้นมาในหัว ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เสียบดินสอไว้ใต้หมวกตลอดเวลา 
2. อย่ายอมแพ้ เมื่อ วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มากล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาคิดว่าจะพูดอะไรดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อบัณฑิตที่สุด  คำแรกที่เขาพูดคือ “อย่ายอมแพ้” ทุกคนก็พยักหน้าฟังอย่างตั้งใจ รอว่าจะพูดอะไรต่อ เชอร์ชิลล์พูดต่อด้วยเสียงดังว่า “อย่ายอมแพ้เด็ดขาด” แล้วก็เดินลงจากเวที 
3. ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง หลายครั้งเรามักคิดว่า เราทำได้แค่นี่ แต่หากเราจะแปลงจากผู้แพ้เป็นผู้ชนะ เราต้องทะลุกรอบของเราให้ได้ รู้ไหมว่า กว่าแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์จะอ่านหนังสือออกก็อายุเกือบ 10 ปีแล้ว มีตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูอาจตลกนะคะ ดิฉันอยากผิวปากได้มากเหลือเกิน ผิวเท่าไรก็ไม่ได้ จนยอมแพ้ คิดว่าไม่ใช่ทุกคนผิวปากได้ แต่พอหลังจบปริญญาตรี คิดว่าจะลองใหม่ ซ้อมทั้งวัน ทุกวันติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สุดท้ายผิวได้แล้วค่ะ!
ดิฉันขอปิดท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยทฤษฎี “ผลปิกมาเลียน” นะคะ คือ เชื่ออย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น หากเราชมลูกหลาน (และลูกน้อง) บ่อย ๆ จนพวกเขาเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่ง ก็จะเก่งขึ้นได้จริง เรื่องนี้คงต้องใช้แบบมีสมดุลนะคะ แต่ดิฉันอยากจะเชิญชวนพวกเราสร้างบรรยากาศด้านบวก สร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างอยากทำสิ่งดี ๆ มีหลักการชม 3 ข้อค่ะ 

        1. พูดชมได้ทันที ไม่ต้องรอเวลา 
        2. เวลาชมใครควรชมดัง ๆ ให้คนรอบข้างได้ยินด้วย 
          (ในทางกลับกัน ไม่ควรต่อว่าลูกหลานต่อหน้าคนอื่น) 
       3. มองหาโอกาสที่จะชมเชยอยู่เสมอค่ะ

ดิฉันหวังว่าตัวอย่างที่แบ่งปันวันนี้จะทำให้ท่านอยากกลับไป Lead by example กันนะคะ

Good Luck มีโชคกับโชคดีต่างกันอย่างไร

อเล็กซ์ โรบิรา กล่าวในหนังสือGood Luck ว่า “โชคนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเรา แต่โชคดีเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นด้วยตัวเอง ดังนั้นมันจะคงอยู่ตลอดไป”
เมื่อธนาคารทีเอ็มบีซื้อหนังสือ “Good Luck” ไปแจกลูกค้าหลายพันเล่ม ดิฉันจึงตระหนักว่าหนังสือเล่มนี้สำคัญต่อคนไทยในเวลานี้อย่างยิ่งยวด ทำไมหรือคะ ขอตอบด้วยคำคมของ แจ๊ก ลอนดอน “คนเราเกิดมามีชีวิตเดียว ไยไม่พยายามใช้ชีวิตให้เต็มที่”

เมื่อพ่อมดเมอร์ลินท้าทายเหล่าอัศวินให้ไปหาใบโคลเวอร์วิเศษแบบสี่ใบ เพราะจะนำพาโชคมาให้แบบไม่จำกัด แต่ใบโคลเวอร์นี้งอกอยู่ในป่ามหัศจรรย์ เลยภูเขาสิบสองลูกไปที่ด้านหลังของหุบเขาหลงลืม ... โอ้โห หากเราได้ยินแบบนี้ ยังอยากไปหาไหมคะ ฟังดูลำบากเลยเกิน ในหนังสือมีอัศวิน 2 นายที่ยอมรับคำท้า คนหนึ่งอาศัยโชคช่วย อีกคนหนึ่งค้นหาแบบ proactive เพื่อสร้างโชคให้กับตัวเอง ดิฉันคงไม่เฉลยตอนจบของหนังสือ แต่สิ่งสำคัญ คือ ไม่มีอะไรได้มาง่าย ๆ ค่ะ

เดือนที่แล้ว ดิฉันรู้สึกแปลกใจมากที่ต้องปลุกใจรุ่นน้องด้วยคำพูดคล้าย ๆ กันหลายครั้งเหลือ นั่นคือ อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรค  ยอดเขามีหลายเส้นทางที่จะไปถึง หากทางไหนถูกปิด ย่อมมีอีกทาง สำคัญ คือ เราห้ามลืมว่าเราจะไปไหน ยอดเขาของเราคืออะไร ที่แปลกใจ เพราะดิฉันนึกว่านี่คือ common sense แต่ไม่นะคะ ดิฉันรู้สึกว่าคนรุ่นใหม่บางคนยอมแพ้ง่ายมาก อาจเป็นเพราะชีวิตสะดวกสบายเหลือเกิน ต้องการอะไรพ่อแม่ก็จะหามาให้ พ่อแม่ลำบากแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าหากเจออุปสรรคด้วยตัวเอง หากใช้วิธีที่คิดไว้แล้วไม่ได้ผล ก็จบ ถือว่าทำไม่ได้

ดิฉันถูกใจที่คุณโรบิรากล่าวในกฏข้อที่ 8 ว่า “ไม่มีใครขายโชคได้ โชคดีนั้นไม่มีขาย จงอย่าเชื่อใจผู้เสนอขายโชค” เพราะทุกอย่างที่ได้มาอย่างง่ายเกินไป มักมีอะไรซ้อนเร้นเสมอใช่ไหมคะ

ถึงแม้ว่าปีใหม่ได้เริ่มแล้ว แต่ปีการศึกษานี้ยังไม่จบ ยังเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะสอบไล่แล้วนะคะ เรื่องโชคและโชคดีจึงมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแค่กับผู้ใหญ่ แต่กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ

ดิฉันอ่านใน “
12เคล็ดลับช่วยให้สมองเฉียบแหลมเริ่มจากการตื่นเช้า” ของ Yang Sung Bok มีเคล็ดลับบางข้อที่อยากแบ่งปันให้ทุกบ้านได้อ่านค่ะ เพราะความสำเร็จมาจากการเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งกายและใจ หนังสือเล่มนี้พูดถึงว่า หากเราตื่นเช้า เราจะประสบความสำเร็จในการเรียน
อันดับแรก คือ เลิกไปโรงเรียนสาย โดยการนอนแต่หัวค่ำและตื่นเช้า หากอยากตื่นเช้า ต้องหมั่นฝึกฝนค่ะ ก่อนอื่นเราต้อง
1. ตั้งเป้าหมายกับตัวเองก่อนว่า เราจะนอนแต่หัวค่ำ ตื่นเช้า ลดเวลาเล่นเกม 
2. เขียนจุดมุ่งหมายนั้นแล้วติดไว้ที่ ๆ เห็นได้ชัด เช่นประตูห้องน้ำ อ่านวันละสิบครั้ง   
3. จัดห้องให้สะอาดเรียบร้อย 
4. ลดเวลาเล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต  
5. จะลำบากแค่ไหน อย่าล้มเลิกความตั้งใจเด็ดขาด เพราะการเปลี่ยนตัวเองไม่ได้เกิดขึ้นได้ในวันเดียว
ต่อมาให้ขจัดอุปสรรคในการเรียน มีอะไรบ้างลองเขียนออกมานะคะ เช่น 1. ลดการกินขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพราะมีฟอสฟอรัส ทำให้สมองล้าง่าย 2. ลดอาหารทอด เพราะย่อยยากและการใช้ความร้อนสูงในการทอดทำให้สูญเสียวิตามิน 3. ลดน้ำอัดลม เพราะทำให้อ้วนและฟันผุ ดื่มมาก ๆ จะรู้สึกคึก ไม่มีสมาธิอ่านหนังสือ อยากวิ่งไปมา 4. ลดการดูโทรทัศน์ เพราะลดความสามารถให้การคิด ขาดสมาธิค่ะ

Yang Sung Bok ยังบอกต่อว่า การตื่นเช้าสามารถลดสภาวะกดดันได้ เวลาเรา (หรือเด็ก) รู้สึกกดดันจะอารมณ์อ่อนไหว เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว และร่างกายจะผลิตสารที่ทำให้เกิดอาการหลงลืมค่ะ หากเรานอนหัวค่ำ ตามนาฬิกาชีวภาพ สมองจะหลั่งฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน โดพามีน และเซโรโทนิน ทำให้ร่างกายฟื้นฟู ตื่นขึ้นมาอย่างกระปี้กระเปร่าค่ะ
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนช่วยลูกได้ด้วยนะคะ เช่น 
1. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของการทำงาน ให้รู้ค่าของเงิน  ให้รู้จักช่วยทำงานบ้าน 
 2. ให้ลูกมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และเคารพความคิดเห็นของลูก ฝึกให้ลูกกำหนดเป้าหมายและปฏิบัติตามนั้น  
3. ให้ลูกกำหนดวิธีทำโทษตัวเอง ให้เข้าใจหลักการว่า เมื่อทำผิดต้องยอมรับผิด และเรียนรู้ว่าความผิดสร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่นอย่างไร 
4. อย่าใช้ของขวัญเป็นเครื่องโน้มน้าวให้ลูกขยันเรียน เพราะเมื่อโตขึ้นลูกจะให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจค่ะ
คุณโรบีรากล่าวสรุปว่า “การสร้างโชคดีก็คือการสร้างสภาวะที่เหมาะสม ... ความโชคดีจึงขึ้นอยู่กับคุณเท่านั้น”

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

BETT Show 2014

สวัสดีจากลอนดอนค่ะ ตอนนี้ดิฉันอยู่ในงาน BETT Show ที่ประเทศอังกฤษ งานนี้เป็นงานแสดงเทคโนโลยีการเรียนการสอน มีทั้ง hardware และ software ภายในประเภท software มีทั้ง content (เนื้อหา) และระบบจัดการการเรียนรู้และระบบบริหารโรงเรียนค่ะ

ดิฉันขอขอบคุณ UK Trade & Investment (UKTI) และสถานทูตอังกฤษที่เชิญนานมีบุ๊คส์ไปร่วมงานนี้นะคะ การมาครั้งนี้ทำให้ดิฉันประทับใจรัฐบาลอังกฤษมาก ที่สวมบทบาทอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าระหว่างประเทศในทุกอุตสาหกรรม นอกจากดิฉันจะได้มาดูงานแล้ว UKTI ยังมีบริการจับคู่ธุรกิจด้วยค่ะ ก่อนอื่นดิฉันต้องบอก UKTI ก่อนว่าดิฉันอยากหา นวัตกรรมหรือสินค้าอะไรมาขาย (หรือต้องการขายอะไร) จากนั้น UKTI ก็จะไปศึกษาและจับคู่บริษัทอังกฤษให้กับดิฉันค่ะ นอกจากประเทศไทย ยังมีตัวแทนมาจากหลายประเทศ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฝรั่งเศส อาร์เจนติน่า และอีกมากมายค่ะ ความจริงแล้ว การที่ดิฉันมาเริ่มทำ Maths-Whizz ในประเทศไทยได้ก็เป็นเพราะ “บริการจับคู่” ของ UKTI นั่นแหละค่ะ

ดิฉันดีใจมากที่ได้ไปงาน BETT Show เพราะทำให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศอังกฤษจะเป็นพี่ใหญ่ในระบบการศึกษา ตอนนี้อังกฤษตื่นตัวมากที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้แข่งขันในตลาดนานาชาติได้ ถึงขนาดส่งทีมจากกระทรวงศึกษาไปดูงานในประเทศที่ได้อันดับต้น ๆ ในการประเมิน PISA เช่น ฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ ในปีการศึกษา 2014 นี้ ประเทศอังกฤษก็จะมีการเปลี่ยนหลักสูตรครั้งใหญ่เพราะรับมือกับเรื่องนี้ ดีไม่ดีไม่รู้นะคะ เพราะมีบางเสียงแว่วมาว่าหลายโรงเรียนก็จะ (แอบ) ไม่เปลี่ยน เพราปีหน้าก็จะเลือกตั้งแล้ว หากอีกพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาล อาจมีการเปลี่ยนอีกครั้ง

ประเด็นสำคัญ คือ ตอนนี้ทุกประเทศไม่สามารถหยุดนิ่งได้อีกแล้ว! ต้องพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ขอยกตัวอย่างวิชาคอมพิวเตอร์นะคะ ในอดีต (รวมถึงตอนนี้ด้วย) เด็กอังกฤษจะได้เรียนวิชา ICT (Information Communication Technology) ส่วนมากก็เรียนใช้โปรแกรมนั่นแหละค่ะ แต่ในหลักสูตรใหม่ วิชานี้จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Computing คือ แทนที่จะสอนให้นักเรียนเรียนใช้โปรแกรม (ในฐานะเป็น end user) นักเรียนจะต้องเรียนเขียนโปรแกรม คือ ต้องเข้าใจพื้นฐานว่า กว่าโปรแกรมจะเป็นอย่างนั้นได้ ต้องเขียนโค้ดอย่างไร

เรื่องนี้ทำให้ดิฉันคิดว่า ถึงแม้ว่าการศึกษาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุดคือ “วิธีการ” ดิฉันมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนดรุณสิกขาลัยของ อ. พารณ อิศรเสนา ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนเขียนโปรแกรมเอง โดยใช้โปรแกรม Scratch ซึ่งก็เป็นแนวทางของวิชา Computing ค่ะ คือ เด็กต้องรู้จัก construct ความรู้เองได้ ตอนนี้หมดยุคของการเป็นเพียงแค่ผู้บริโภคอีกแล้ว แต่เด็กต้องเข้าใจกระบวนการว่า “มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร” ซึ่งทำให้ดิฉันชื้นใจนะคะ เพราะดิฉันเชื่อเรื่อง Back to Basic ค่ะ

ในงาน BETT Show ดิฉันเห็นโปรแกรม e-learning หลายตัว สีสันสวยงาม ดูน่าใช้ และมีหลายบริษัทเหลือเกินที่ทำเรื่องนี้ หลายแห่งก็ตกแต่งบู๊ทอย่างอลังการณ์ แต่การไปดูงานครั้งนี้ทำให้ดิฉันสะดุดกึกว่า ก่อนจะซื้ออะไร ต้องศึกษาอย่างถ่องแท้มาก ๆ เพราะในเรื่องการศึกษา การที่บริษัทจะทำแอนิเมชั่นหรือ app เจ๋ง ๆ ไม่ยาก การจับ content ดี ๆ มาใส่ไม่ยาก แต่จะนำเสนอให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการอะไรและอย่างไรนั่นแหละถึงยาก และจะทำให้ครูนำมาใช้ในห้องเรียนจริง บูรณาการกับการเรียนรู้แบบอื่นได้อย่างไรนี่แหละค่ะยาก

แต่ยังดีนะคะ มีหลายบริษัทที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารเป็นครู เพราะฉะนั้นเขาจะเข้าใจ บริษัทเหล่านี้ก็จะเขียนแผนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้ครูใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน เพราะสุดท้ายเราต้องตอบโจทย์ที่ว่า เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน มีบริษัทหนึ่งจากเดนมาร์กที่ขายระบบจอที่ฉายลงไปที่พื้น มองเผิน ๆ เขาขาย hardware แต่พอเจาะลึกก็จะพบว่า เขากำลังขายระบบการเรียนรู้แบบ Kinesthetic Learning คือการเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว น่าสนใจมากค่ะ

ครั้งนี้ มีคณะผู้บริหารจากกระทรวงศึกษาของประเทศเวียดนาม เขาบอกว่าเขามาทุกปี มาหานวัตกรรมใหม่ ๆ และยังแนะนำงานแสดงสินค้าด้านการศึกษาที่ประเทศอื่น ๆ ให้ดิฉันไปด้วย พอดิฉันถามว่าแล้วเขาซื้อตรงกับอังกฤษเลยหรือ เขาบอกว่าไม่ เขาซื้อกับบริษัทในเวียดนามค่ะ

เรื่องนี้สะท้อนให้ดิฉันคิดว่า มันจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษามาเปิดหูเปิดตาในงานแบบนี้ เพื่อให้เห็น trend ของประเทศอื่น ๆ เพื่อกำหนดกรอบ framework ว่าต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อะไร และอาจมีทางเลือกถึงวิธีการเรียนรู้ต่าง ๆ จากนั้นก็เปิดตลาดเสรีให้บริษัทเอกชนลงทุน ไม่ว่าจะพัฒนาเอง หรือซื้อเขามาขาย เพื่อนำเสนอให้โรงเรียนได้เลือกเอง ดังเช่นที่ประเทศอังกฤษจัดงาน BETT Show ขึ้นมา ไม่ใช่เพื่อให้เกิดการซื้อขายระหว่างประเทศเป็นหลักนะคะ เป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้โรงเรียนมาเลือกซื้อนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่แต่ละโรงเรียนชอบค่ะ

หากผู้บริหารกระทรวงไม่มา เวลาบริษัทเอกชนอย่างพวกเราไปนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ เขาจะเข้าใจได้อย่างไร! ครั้งนี้ดิฉันได้พูดคุยกับหลายบริษัทในอังกฤษที่ได้เอานวัตกรรมของเขาไปลงในประเทศต่าง ๆ ผ่านการคุยกับรัฐบาลแล้วนะคะ เช่น Maths-Whizz ก็ขายให้รัฐบาลรัสเซีย Planet Sherston ก็ขายให้รัฐบาลมัลตา Little Bridge ก็ขายให้รัฐบาลชิลี เป็นต้น

 ดิฉันจึงคิดว่าจะไปเสนอให้ UKTI เชิญผู้ใหญ่ในกระทรวงเรามางานนี้ (หรืองานอื่น) ในปีหน้าดีกว่า และหาก UKTI จัดนะคะ เขาจะนัดให้เจอบริษัทต่าง ๆ ทั้งวัน ห้ามหนีเที่ยวเลยค่ะ
นี่ก็คือควันหลงของงาน BETT Show มาฝากท่านผู้อ่านในประเทศไทยค่ะ

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Active Citizen ปลูกจิตสำนึกพลเมืองดี

ดิฉันเริ่มได้ยินคำว่า “Active Citizen” ในสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน ตอนนั้นดิฉันตั้งชมรมค่ายอาสาในประเทศโลกที่สามกับเพื่อน ๆ ทำให้ได้คลุกคลีกับชมรมอื่น ๆ ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมในอเมริกา แต่ละชมรมมีเป้าหมายต่างกัน เช่น ช่วยเหลือผู้อพยพในสลัม สอนหนังสือในโรงเรียนด้อยโอกาส ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้าย เป็นต้น

ทุกสัปดาห์เราจะมีประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ และพูดถึงการเป็น “Active Citizen” ทำให้ตระหนักว่า เพียงเราเป็นพลเมืองในประเทศหนึ่งไม่ได้หมายความว่าเราเป็น “Active Citzen” หากเราต้องการได้สิทธิประโยชน์จากชุมชนหรือประเทศ เราต้องมีความรับผิดชอบและรู้หน้าที่ด้วย ถือว่าโชคดีที่สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ทำให้คนรุ่นใหม่คิดเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ในยุคที่สังคมมีค่านิยมเชิดชูคนฉลาด หากลดความสำคัญเรื่องความเป็นพลเมืองดี ชุมชนเราอาจมีปัญหาได้!


การปลูกจิตสำนึกเป็นพลเมืองดีควรเริ่มเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ ใช่ว่าทุกคนเกิดมาจะรู้แจ้งเอง แต่ผู้ใหญ่อย่างเรามีหน้าที่สำคัญที่ต้องปลูกฝังให้กับลูกหลานค่ะ ฟังแล้วเหมือนยาก แต่จริงแล้วทำได้ง่ายและเริ่มได้เลยค่ะ วิธีที่ง่ายที่สุด คือปลูกฝังผ่านการอ่านหนังสือ

หากคุณเขียนนิยามของคำว่า “Active Citizen” แล้วจับคู่คุณลักษณะนั้นกับหนังสือที่เหมาะสมกับลูกหลานของคุณ จะสามารถปลูกจิตสำนึกเป็นพลเมืองดีได้อย่างแนบเนียนและสนุกสนานค่ะ อาทิเช่น
- มีความรับผิดชอบ – รู้หน้าที่ มีเป้าหมาย ทำตามคำมั่นสัญญา ไม่หวังสิ่งตอบแทน เคารพความแตกต่างของผู้อื่น – ไม่เอาเปรียบ ไม่ตัดสินจากภายนอก ไม่หลงตัวเอง คิดนอกกรอบ  คิดเป็น ทำเป็น – รู้จักตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ ลงมือทำอย่างมีเป้าหมาย และอีกมากมาย
ดิฉันขอยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ของ เจ เค โรว์ลิ่ง ดิฉันชอบระบบที่นักเรียนทุกคนสามารถช่วยสะสมคะแนนให้บ้านของตัวเองได้ โดยการทำความดี ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม แถมยังเสริมประเด็นเคารพความแตกต่างของผู้อื่นได้อย่างดียิ่ง

สภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยที่สำคัญ บางคนเคยพบเจอแต่คนประเภทเดียวกัน เมื่อโตขึ้น เจอคนที่แตกต่าง ทำตัวไม่ถูก ดิฉันเชิญคุณตั้งคำถามว่าลูกหลานของคุณมีโอกาสได้เรียนรู้กับคนที่แตกต่างกับตนอย่างไร เช่น ไปเข้าค่ายในช่วงปิดเทอมไหม ไปเที่ยวศูนย์วิทยาศาสตร์ในสุดสัปดาห์ไหม ไปทำกิจกรรมอาสาสมัครหรือไม่

ศูนย์เฟโนเมนต้าที่นานมีบุ๊คส์ป็นศูนย์วิทยาศาสตร์แบบ hands-on จากประเทศเยอรมนี ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ co-construction คือ เมื่อเด็กแต่ละคนทำการทดลองที่สถานีจะมีความคิดของตัวเอง แต่เมื่อได้พูดคุยกับเพื่อนคนอื่น (ซึ่งคิดต่างกัน) จะสามารถหา “จุดร่วม” จากการถก “จุดต่าง” ได้ ดิฉันคิดว่านี่เป็นตัวอย่างโอกาสหรือ “เวที” ที่คุณเตรียมให้ลูกหลานคุณได้
นวนิยายเล่มใหม่ของ เจ เค โรว์ลิ่ง เรื่อง เก้าอี้ว่าง มีคำโปรยว่า “ทุกสังคมล้วนมีช่องว่าง คุณเป็นสาเหตุ หรือเป็นผู้เติมเต็มกันแน่” ดิฉันจึงขอท้าทายให้คุณเริ่มคิดว่า คุณจะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มจากตัวคุณเอง จากครอบครัว จากโรงเรียนของลูกหลาน จากบริษัทที่คุณทำงาน เป็นต้น

ดิฉันเคยคิดว่า หากดิฉันต้องการสร้างความแตกต่างในสังคม ดิฉันควรทำงานกับ NGO (Non-Governmental Organization) เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ทุกคนสามารถสร้างความแตกต่างได้ในรูปแบบของตัวเองนะคะ ตอนนี้ดิฉันทำงานที่สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ มีวิชาชีพเป็นผู้ทำหนังสือและบริการด้านการเรียนรู้ ดิฉันสามารถมีส่วนร่วม “สร้างคน” ผ่านหนังสือ ปีนี้เรามี theme หลัก คือ Active Citizen ซึ่งจะสะท้อนในหนังสือแนะนำในร้านหนังสือ ในโครงการ Nanmeebooks Reading Club และโครงการค่ายต่าง ๆ ของเรา

เห็นไหมคะ การปลูกจิตสำนึกพลเมืองดีเป็นไปได้อย่างรูปธรรม และควรเริ่มเลย หากเราสามารถสร้างคนรุ่นหลังให้เป็น “Active Citizen” ได้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าสังคมเราจะก้าวหน้าอย่างสันติสุขและอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย