ตั้งแต่นานมีบุ๊คส์ผันตัวเองจากการเป็นสำนักพิมพ์ (publisher)
สู่ผู้ให้บริการด้านการเรียนรู้ (learning service provider)
ทีมงานครุ่นคิดถึงเป้าหมายและแนวทางการทำงานอย่างมาก เราล้วนเห็นด้วยว่า
เป้าหมายคือ สร้างคนที่มีคุณภาพ ที่มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ทักษะการจัดการตัวเอง
ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
และทักษะการทำงานให้สำเร็จลุล่วง แต่จะทำอย่างไรล่ะ
เราเชื่อว่า “วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์”
เป็นเครื่องมือที่จะตอบโจทย์นี้ ช่วงหลังมานี้ นักการศึกษาไทยมักกล่าวถึง STEM Education (Science
Technology Engineering Maths) ว่าจะเป็นเครื่องมือในการสมรรถภาพในการแข่งขันให้คนไทยในตลาดโลกได้
ความจริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างวิชาใหม่ชื่อ STEM
ขึ้นมา
แต่จะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้ต่อยอดจากการเรียนเพื่อเรียน
ให้เด็กและเยาวชนคิดต่อได้ เช่น จากเรียนวิทย์ สามารถต่อยอดสู่การทำโครงงาน
สู่การสร้างนวัตกรรมได้ เป็นต้น
ในฐานะคนทำหนังสือ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การอ่าน (Reading) และศิลปะ (Arts) จึงนำมาสู่ STREAM ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เราคิดค้น
แต่เราเอา STREAM มาเป็นตัวตั้ง
แล้วสร้างแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบ STREAM Approach ในแบบฉบับนานมีบุ๊คส์ขึ้น
ลองยกตัวอย่างนะคะ หากเราเป็นครูวิทย์
นอกจากจะสอนเนื้อหาตามแบบเรียนปกติแล้ว เราจะมีบทบาทส่งเสริมการอ่านอย่างไร
เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนไปสู่การแก้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตประจำวันอย่างไร
เชื่อมโยงไปสู่สังคมที่เราอยู่อย่างไร นี่คือการบูรณาการ
เช่น หากเราสอนเรื่องเพนดูลัม ซึ่งเป็นเนื้อหาในชั้น ป. 3 หากเราไม่เชื่อมโยง
คำว่า “เพนดูลัม” จะไม่มีนัยยะสำคัญอะไรกับชีวิตเลย
แต่หากเราเริ่มการเรียนรู้โดยการให้เด็ก ๆ
ช่วยกันคิดถึงสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ อาจพูดถึงโทรทัศน์
โทรศัพท์ ที่ไม่พลาดคือนาฬิกา เพราะทุกคนใส่ เราก็สามารถเชื่อมต่อได้ว่า
นาฬิกาทำงานได้อย่างไร บ้างอาจบอกว่าใส่ถ่าน บ้างอาจบอกว่าต้องเสียบปลั๊ก
แต่สุดท้ายครูสามารถเชื่อมสู่เรื่องเพนดูลัมได้
แต่หากจะให้ทำความเข้าใจจากแบบเรียนอย่างเดียว คงไม่เห็นภาพ ครูสามารถพาเด็ก ๆ
ทำการทดลองต่อได้ หากสนุก ยังพาทำโครงงานต่อได้อีก ทั้งหมดนี้ เด็ก ๆ
สามารถไปหาอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือในห้องสมุด แม้กระทั่งแนะนำให้เด็ก ๆ
อ่านวรรณกรรมเยาวชนเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลาก็ได้ หรือพาเด็ก ๆ
ไปทัศนศึกษาต่อที่โรงงานทำนาฬิกาหรือศูนย์วิทยาศาสตร์ได้
หากครูสอนแบบ STREAM Approach
ครูจะมีบทบาทที่เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับเรื่องรอบตัวเด็ก
ทำให้เนื้อหามีความหมายกับชีวิต ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบอย่างเดียว และที่สำคัญ
หากครูตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ก็จะรู้ว่า
เด็กแต่ละคนถูกปลุกเร้าให้เรียนรู้หรือเข้าใจด้วยสื่อที่แตกต่างกัน
บางคนฟังแล้วเข้าใจ บางคนต้องได้ทำเองจริง บางคนต้องไปศึกษาต่อเงียบ ๆ คนเดียว
บางคนต้องไปเห็นของจริงนอกโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบ STREAM Approach
ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ครูแต่ละคนสามารถไปปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของตนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องสอนวิทย์-คณิตเท่านั้น
แม้จะสอนสังคม ในที่นี้เราเรียกว่า Social Science
ก็ถือว่าเป็นวิทย์แขนงหนึ่งเหมือนกัน เช่น เหมือนสอนเรื่องภูมิอากาศ
เกี่ยวกับพาทอร์นาโดหรือไต้ฝุ่น มันเชื่อมกับเรื่องแรงดันอากาศในวิทย์
เชื่อมกับผลกระทบในสังคม หรือแม้กระทั่งเชื่อมกับหนังสือ “พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ”
ด้วยซ้ำ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น