วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มีข้าวกิน หรือกินข้าวอร่อย

“สิ่งที่คุณเสนอมามันจำเป็นไหม โรงเรียนเราต้องมีหรือไม่ ... ไม่ต้องมีก็ได้นี่”

บางท่านคงทราบว่าดิฉันขยายงานจากธุรกิจหนังสือที่คุณแม่ก่อตั้งมาเปิดสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่น เพื่อนำเสนอนวัตกรรมการเรียนรู้ให้กับโรงเรียน ทำให้มีโอกาสพบผู้ใหญ่ในวงการศึกษามากมาย ส่วนมากจะรู้สึกหัวใจพองโต ชีวิตเต็มไปด้วยความหวัง และบางครั้งจะรู้สึกหดหู่ ทำไมถึงใจแคบเหลือกัน

คุณแม่ดิฉันเคยเล่าว่า เมื่อท่านเปิดสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ใหม่ ๆ ท่านเอานิตยสาร Go Genius ไปเสนอผู้ใหญ่ในกระทรวง ได้รับคอมเม้นท์ว่า “นิตยสารชุดนี้ดีมาก เหมาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเรา ไม่จำเป็นต้องมีหนังสือจำพวกนี้หรอก เด็กไทยอ่านแค่แบบเรียนก็พอ” หลักจากถกเถียงกันสักพัก คุณแม่ก็โดนตะโกนไล่ให้ออกไปจากกระทรวง ไม่ต้องกลับมาอีก!

เรื่องราวนี้เป็นเรื่องราวปลุกใจให้พวกเราไม่ยอมแพ้ ต้องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นทราบให้ได้ว่า เขาคิดผิด!
20 ปีผ่านไป ไม่อยากเชื่อว่ารุ่นลูกอย่างดิฉันยังจะได้เจอสถานการณ์เดิม ๆ ดิฉันเดินออกมาด้วยความเสียใจ ดิฉํนสรรหาของดีมานำเสนอ นอกจากไม่เอาแล้ว ยังพูดดูถูกจนเหมือนว่าดิฉันมาขอเขากิน เรื่องนี้ทำให้ดิฉันคิดถึง 2 ประเด็นค่ะ คือ อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และทำอย่างไรความสัมพันธ์ของผู้ซื้อผู้ขายจะเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์แบบพาร์ทเนอร์ได้

สำหรับประเด็นแรก ดิฉันได้มีโอกาสเม้าท์เรื่องการศึกษากับ คุณมาสวิมล รักบ้านเกิด ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ฟังแล้วถูกใจมากค่ะ ท่านบอกว่า ในยุคประธานเหมา มีนโยบายว่าทุกบ้านต้องมีข้าวกิน ต่อมาในยุคเติ้งเสี่ยวผิงออกนโยบายว่าทุกบ้านต้องได้กินข้าวอร่อย “ในบริบทการศึกษา เราจะพึงพอใจกับเพียงให้นักเรียนได้เรียน หรือเราอยากให้นักเรียนได้เรียนแบบสนุกสุดยอด แบบ hands-on และได้ปฏิบัติจริง!

สำหรับประเด็นที่สอง อ. วัชรพงษ์ อภิญญานุรังสี แห่งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เคยเล่าให้ดิฉํนฟังว่า ท่านทำวิจัยเกี่ยวกับการตลาด 2.0 ... สงสัยใช่ไหมคะว่าคืออะไร ... มันก็คือการตลาดแนวใหม่ ที่ต้องอาศัย partnership ให้เกิดการ win-win เพราะไม่มีใครเพอร์เฟ็กท์ แต่คนที่ฉลาดคือคนที่จับ “สุดยอด” ของแต่ละเรื่องมารวมกัน เราไม่ต้องทำเองทั้งหมด เพราะฉะนั้น พวกเราแต่ละคนก็ต้องพัฒนาตัวเองในอุตสาหกรรมตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อจะได้เป็น missing piece (ชิ้นส่วนที่หายไป) ไปเติมเต็มจิ๊กซอว์ภาพใหญ่อีกที

และถือว่าโชคดีมาก ๆ ที่มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่ากทม. ถึงทิศทางการศึกษาไทย ท่านพูดถึงหลายประเด็นที่ตอกย้ำทิศทางของนานมีบุ๊คส์ ทำให้ดิฉันดีใจมาก ท่านเห็นด้วยกับเรื่อง partnership และท่านก็เห็นด้วยเรื่องการเรียนรู้แบบบูรณาการ บูรณาการทั้งมิติของสาระวิชา มิติของสื่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ค่ะ

ดร.ผุสดี บอกว่าตอนนี้เราจะแยกการเรียนวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์ออกจากกันไม่ได้แล้ว เช่น เราคงไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เพียงแค่ให้รู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์นั้น ๆ อีกต่อไป แต่ต้องพูดถึงว่าวิทยาศาสตร์มีผลกระทบต่อสังคม ต่อชีวิตของเราบ้าง และมันเชื่อมโยงกับจริยธรรมอย่างไร หากเราผูกเรื่องเหล่านี้เข้าด้วยกันได้ จะทำให้คนไทยเป็นพลเมืองที่ดี คิดเป็น คิดไกล

ตัวอย่างเช่น ก่อนแต่งงาน คู่สามีภรรยาควรตรวจเลือด เพื่อเข้าใจสภาพสุขภาพของกันและกัน เพราะหากต้องการมีลูก และคนหนึ่งเป็นธาลัสซีเมีย ก็ควรจะพูดคุยกันว่าควรมีวิธีป้องกันอย่างไร เพราะลูกมีสิทธิ์เป็นธาลัสซีเมียด้วย เป็นต้น แต่หากไม่คิดอะไรมาก (ซึ่งปัญหาของประเทศเราก็คือ ไม่ได้คิดอะไรมาก สบาย ๆ ) ก็จะมีลูกไปโดยไม่รู้ว่าลูกอาจจะเป็นโรค และหากไม่พร้อม (ทั้งด้านการเงิน สังคม ฯลฯ) ก็จะเกิดปัญหาในครอบครัวได้

เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่างว่า หากเราช่วยให้ระบบการศึกษามีวิธีปลูกฝังให้เด็กไทยเข้าใจวิทยาศาสตร์ เข้าใจผลกระทบต่อสังคม เข้าใจเรื่องความถูกต้อง จริยธรรม ก็จะทำให้การตัดสินใจในการดำรงชีวิตมีคุณภาพมากขึ้น

ดิฉันโชคดีมากที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษากับ “ครู” ที่มีคุณภาพดังเช่น ดร. ผุสดี อ.มาสวิมล และ อ. วัชรพงษ์ มันทำให้ดิฉันมีความเชื่อว่า ประเทศไทยเรามีหวังแน่นอน และขอให้ทุกคนที่ทำงานด้านการเรียนรู้อย่ายอมแพ้เด็ดขาดนะคะ

ดิฉันจึงขอชวนทุกท่านคิดต่อว่า “มีข้าวกิน หรือได้กินข้าวอร่อย” ในบริบทของท่านมีความหมายกับท่านอย่างไร และท่านจะทำอะไรให้ “ข้าวของท่านอร่อย” นะคะ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น