วันพุธที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประตูใหญ่ ประตูเล็ก

สมัยมัธยม เพื่อนรักเคยถามดิฉันว่า “เราเห็นคนหนึ่งขับรถเบนซ์คันใหญ่ แต่บ้านเขาหลังเล็กนิดเดียวและเก่ามาก ทำไมเขาไม่เอาเงินไปซ่อมบ้าน” สิบกว่าปีต่อมา ดิฉันและเพื่อนรักคนเดิมมา road trip กันที่เมืองกรานาดา ประเทศสเปน เจอเหตุการณ์คล้ายกัน ขอยก 2 ตัวอย่างนะคะ
ตัวอย่างที่หนึ่ง สุลต่าน โมฮัมหมัดที่ 5 ของราชวงศ์นาซริด ตกแต่งโถงรับแขกของพระราชวังอัลฮัมบราอย่างหรูหราอลังการณ์ที่สุด แต่ไม่เน้นการตกแต่งในห้องนอนส่วนตัว เพราะไม่มีใครเห็น (นอกจากตัวเอง) เน้นตกแต่งโซนที่จะมีคนเห็นเยอะเป็นหลัก
ตัวอย่างที่สอง ระหว่างเดินทัวร์ประวัติศาสตร์ย่านเมืองเก่า เห็นสถาปัตยกรรม 2 แบบ คือ แบบอิสลาม (จากช่วงศตวรรษที่ 13) และแบบคาทอลิค (จากช่วยศตวรรษที่ 15) ไกด์ชี้ให้เห็นบ้านสไตล์อิสลามว่ามักมีขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีหน้าต่าง เพราะให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ประตูขนาดเล็กและชอบปิดประตู บางบ้านดูแล้วไม่รู้เลยว่ารวยมาก ในขณะที่บ้านสไตล์คาทอลิคจะมีขนาดใหญ่ (คือขนาดบ้านอิสลามประมาณ 3 หลัง) มีประตูขนาดใหญ่ และชอบเปิดประตู แต่หลายครั้งคนบ้านใหญ่ไม่รวยอย่างที่คิด
ดิฉันย้ายไปเรียนประจำที่โรงเรียนนานาชาติตอนมัธยม 1 จำได้ว่าคุณพ่อคุณแม่เรียกคุย บ้านเรากำลังลำบาก ธุรกิจไม่ดีอย่างที่คิด หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราอาจล้มได้ แต่การศึกษาสำคัญที่สุด ป่าป๊าและหม่าม้ายินดีทำงานหนัก แลกเช็ค เล่นแชร์ เพื่อให้ดิฉันและน้องสาวได้ไปเรียนโรงเรียนที่ดี ขอให้เห็นถึงความสำคัญ ใช้โอกาสนี้ให้ดีที่สุด

ตอนนั้นดิฉันชอบร้องเพลงมาก ร้องดีใช้ได้ ครูส่งเสริม จัดครูสอนร้องเพลงให้พิเศษ แต่ด้วยค่าเรียนที่สูง ดิฉันจึงเลิกเรียน เพราะเกรงใจพ่อแม่ คิดดูแล้วดิฉันน่าจะเป็นคนที่ประหยัดที่สุดในโรงเรียน

ต่อมา เจอเพื่อนคนหนึ่ง คนนี้ชอบโอ้อวด พ่อแม่ไม่เคยบอกเขาเลยว่าที่บ้านกำลังลำบาก เขาเรียกร้องให้พ่อแม่ซื้อของแพงให้ตลอดเวลา เพราะคิดว่าจะทำให้ตัวเองป๊อบปูล่า พ่อแม่ก็ซื้อให้ พอมารู้อีกทีว่าที่บ้านไม่มีเงินแล้ว รับไม่ได้จนออกอาการต่าง ๆ นานา

ดิฉันคิดว่าการที่พ่อแม่คุยกับดิฉันและน้องสาวอย่างตรงไปตรงมา เป็นของขวัญที่ดีเลิศ เพราะทำให้เข้าใจสถานการณ์ รู้ถึงข้อจำกัดและซาบซึ้งในโอกาส ทำให้ปฏิบัติตัวถูก ไปโรงเรียนด้วยทัศนคติแบบ appreciative คือไม่คิดว่าโอกาสนี้เป็นของตาย

ช่วงก่อนเรียนจบมัธยม ดิฉันซ้ายจัด ต่อต้านระบบทุนนิยม แอนตี้การใช้ของแพง ประกาศจุดยืนกับเพื่อน ๆ ว่าเราไม่ควรตัดสินคนจากภายนอก ใช้ของแพงไม่ได้หมายความว่าเหนือกว่าผู้อื่น

พอโตมา เริ่มตั้งคำถามต่อว่า หากใช้ของถูกแปลว่าดีกว่าคนอื่นหรือไม่ สุดท้ายหากเราตัดสินคนใช้ของแพงว่าไม่ดี เราก็เป็นคนสองหน้า คือ ตัดสินคนจากเปลือกนอกอยู่ดี

เดือนที่แล้ว ก่อนดิฉันไปประชุมที่สำนักงานของ Maths-Whizz ที่ลอนดอน เจ้าของ Maths-Whizz ออกตัวว่าออฟฟิสผมเล็ก อยู่ในสถานีรถไฟ ไม่หรูหรานะ ดิฉันบอกว่าไม่เห็นเป็นไร สำคัญที่บริษัทคุณทำสินค้าเจ๋งที่สุด น่าจะเพียงพอแล้ว เขาจึงบอกว่าเขาและพรรคพวกที่เริ่มก่อตั้งบริษัทมาด้วยกันก็คิดเช่นนี้ ออฟฟิสเป็นอย่างไรก็ช่าง ลุยเต็มที่ แต่เด็กรุ่นใหม่มักต้องการทำงานในออฟฟิสที่หรูหรา  เห็นประกาศงานแล้วสนใจ แต่พอมาสัมภาษณ์งานก็รู้สึกอาย ๆ ที่ต้องมาทำงานเหนือสถานีรถไฟ

ใช่ว่ารูปกายภายนอกจะไม่สำคัญนะคะ สุดโต่งก็ไม่ไหวค่ะ ตอนที่ไกด์แนะนำการออกแบบของอัลฮัมบรา เขาพูดถึงแบบที่เป็นสมมาตร ซึ่งแสดงถึงความสมดุล คนเราสวมหลายหมวก มีหลายบทบาท ต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะกับกาลเทศะ

เราคงทราบดีว่าคนเอเชียให้ความสำคัญเรื่อง “หน้าตา” มาก เวลาคนจีนเลี้ยงแขกต้องสั่งกับข้าวเยอะเป็นสิบ ๆ อย่างเพื่อแสดงความใจถึง คือตั้งใจให้กินไม่หมด หากแขกกินหมด เจ้ามือจะเสียหน้ามาก เหมือนเป็นเรื่องเล็กนะคะ แต่เรื่องนี้ซีเรียสมากเพราะเป็นการเปลืองทรัพยากรอาหาร จนรัฐบาลต้องออกกฏห้ามเลี้ยงแขกในภัตตาคาร! ครั้งที่ผ่านมา คุณแม่ของดิฉันไปประชุมกับสำนักพิมพ์จีน ประธานบริษัทจึงพาเลี้ยงข้าวที่โรงอาหารบริษัทแทน


ก่อนจบบทความ ดิฉันขอฝากว่า ไม่ว่าจะเลี้ยงแขกที่ภัตตาคารหรือที่โรงอาหาร รถจะคันใหญ่หรือเล็ก และไม่ว่าประตูบ้านของเราจะบานใหญ่หรือบานเล็ก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเราเอง หากเราตั้งใจดี เป็นคนดี เก่งจริง เรารู้ตัวของเราเอง ไม่ต้องให้ใครมาใส่ลาเบลให้เรา เห็นด้วยไหมคะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น