วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง

คุณเคยมองใบไม้ที่หลุดมาจากกิ่ง ปลิวลงมาผ่านสายตา จนกระทบลงบนพื้นดินไหมคะ

เคยไม่เคยไม่รู้ แต่ดิฉันไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่าเคยเห็น จนกระทั่งมาเดินป่าที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่านค่ะ ปรากฏการณ์ที่แสนจะเรียบง่าย ทำให้ดิฉันตื่นตาตื่นใจกับธรรมชาติรอบตัว จนนึกถึงหนังสือเรื่อง “ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง” โดย Elizabeth Dalby ที่เคยอ่านเมื่อสิบปีที่แล้ว เพราะในขณะที่เห็นใบไม้เป็นสิบเป็นร้อยใบร่วงลงมา ทำให้นึกถึงเรื่องแรงโน้มถ่วงของโลก เรื่องความเร็วของลม เรื่องน้ำหนักของใบ และอีกมากมายสไตล์คนช่างสงสัย

อย่างที่เรามักพูดกันว่า “การเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์แบบท่องจำนั้นไร้ความหมาย หากเด็ก ๆ ไม่มีโอกาสได้ประสบความมหัศจรรย์ของปรากฏการณ์ด้วยตัวเอง” การมาเที่ยวน่านครั้งนี้ตอกย้ำความคิดนี้อย่างแรงค่ะ

ระหว่างเดินป่า พี่สามารถ ไกด์คนเก่งของเราก็เอาเปลือกไม้จากต้น “กำลังเสือโคร่ง” มาให้ลองจับและดม พบกว่าใต้เปลือกไม้มีลักษณะคล้ายมะพร้าวอ่อน แต่สีออกเหลือง มีกลิ่นเหมือนยาหม่อง จึงได้รู้ว่าเปลือกของ “กำลังเสือโคร่ง” มีสรรพคุณถอดพิษ และเป็นที่นิยมมาต้มยาดองค่ะ

เดิน ๆ ไป พี่สามารถก็เอาเปลือกไม้อีกชิ้นมาให้ดม กลิ่นเหมือนตะไคร้ พี่สามารถก็บอกว่านี่คือต้นตะไคร้ พวกเราล้วนสงสัยว่าตะไคร้มีลำต้นสูงใหญ่อย่างนี้หรือ นึกว่าโตเป็นพุ่ม ๆ กอ ๆ เสียอีก กลับมาถึงที่พัก ก็ถามอากู๋กันใหญ่ค่ะ พบว่าต้นที่เราเจอเรียกว่า “ตะไคร้ต้น” ซึ่งเป็นคนละแบบกับที่คิดไว้ แต่คนเหนือก็เอามาทำต้มยำได้เหมือนกันค่ะ

วันนี้ดิฉันมีโอกาสล่องแก่งในแม่น้ำว้า ตลอด 48 กม. ได้เห็นถึงความสมบูรณ์และสวยงามของป่าดงดิบ หินประเภทต่าง ๆ กุมภลักษณ์รูปทรงแปลก ๆ (potholes) และทางน้ำโค้งตวัด (meander) ล้วนทำให้คิดถึงสมัยเรียนวิชาภูมิศาสตร์ ว่าหากตอนนั้นได้มีโอกาสมาสัมผัสกับของจริง จะเรียนอย่างเข้าใจและสนุกสุดยอดกว่าเดิมขนาดไหน

ประสบการณ์ที่ได้เห็นล้วนกระตุกต่อมเอ๊ะให้อยากศึกษาต่อ เช่นเดียวกับสร้างแรงบันดาลใจให้อยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีความหมายค่ะ

นักเขียนชาวจีนชื่อดัง “หยูหัว” (เจ้าของผลงาน “พี่กับน้อง” และ “สิบคำนิยามจีน”) เคยเชิญครอบครัวของดิฉันไปเที่ยวบ้านเกิดของเขาที่หางโจว บ้านของเขาสวยงาม อยู่ในป่าไผ่ ติดลำธาร นั่งนิ่ง ๆ ก็ได้ยินเสียงน้ำไหล

รู้ไหมคะ รัฐบาลหางโจวสร้างบ้านหลังนี้ให้ “หยูหัว” และศิลปินอีกหลายท่านสำหรับโครงการหมู่บ้านศิลปิน เพื่อดึงดูดให้ศิลปินชาวหางโจว ที่อาจย้ายถิ่นไปอยู่เมืองหรือประเทศอื่น กลับมาสร้างสรรค์ผลงานที่หางโจว ทำให้เห็นว่าประเทศจีนให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรมอย่างมาก ถึงแม้ว่าเรามักจะตั้งคำถามกับความมี “วัฒนธรรม” ของคนจีนปัจจุบันหลังปฏิวัติวัฒนธรรมก็ตาม นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดิฉันชื่นชมรัฐบาลจีนอย่างมากค่ะ

ถึงแม้ว่าดิฉันจะไม่ใช่ “หยูหัว” แต่เมื่อดิฉันได้ประสบสิ่งที่สวยงามเช่นนี้ ดิฉันก็อยากรีบกลับมาเขียนเล่าต่อให้ทุกท่านได้อ่านกันเลยค่ะ

และไม่ใช่แค่สิ่งที่เห็นนะคะ สิ่งที่ได้ยินยังน่าประทับใจไม่แพ้กัน ระหว่างที่พวกเราลอยคำตามน้ำ ดิฉันลองหลับตาและฟังเสียง ได้ยินเสียงน้ำตก เสียงนกร้อง เสียงใบไม้เสียดสี และเสียงลมพัด ทำให้ดิฉันนึกถึงคำพูดของคุณวิศาล เอกวานิช เจ้าของอาคาร “รู้ศึกษา รู้สึกตัว จังหวัดภูเก็ตค่ะ คุณวิศาลสอนให้พวกเราฝึกที่จะ “รู้สึกตัว” เช่น เวลานั่งอยู่ข้างนอก ให้หลับตา แล้วรู้สึกถึงเมื่อลมพัดมาสัมผัสผิวหน้า จะทำให้เรารู้ตัวมากขึ้น เมื่อถูกปลุกเร้า เช่น อารมณ์โกรธ เราก็จะรู้ตัว และเลือกที่จะโต้ตอบได้ ว่าต้องการจะโต้ตอบอย่างไร อย่างแรง หรือด้วยความเข้าใจ

หากมีโอกาส ดิฉันขอเชิญชวนให้คุณพาลูกหลาน (หรือพาตัวเอง) ลองใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการลิ้มรสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ลองตั้งคำถามว่าเห็นอะไร ได้ยินอะไร รู้สึกอะไร และดิฉันขอแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเรื่อง “ปิดตา เปิดหน้าต่าง” ของ เหงวียน หง๊อก ถ่วน ด้วยนะคะ


การมาเที่ยวน่านครั้งนี้ย้ำเตือนดิฉันว่า “ธรรมชาติแสนลี้ลับและพิศวง” หากเราเปิดใจน้อมรับมัน ดิฉันเชื่อว่าเราจะดีใจที่ได้เกิดมาในโลกใบนี้ มีแรงบันดาลใจ และสามารถมองโลกอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง (อย่างน้อยก็ไม่มากจนเกินไปค่ะ)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น