วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เป็นครู ม. ต้น แสนลำบาก

“สัปดาห์หน้าครูจะจัด workshop ให้กับเด็ก ม. ต้น รู้ไหมคะว่าการเป็นครู ม. ต้น ไม่สนุกที่สุด เพราะเด็กไม่เอาครู ทำให้กำลังใจน้อย แต่เป็นครูที่มีความสำคัญมาก ... ทำอย่างไร ครูจึงจะเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของเด็ก เห็นใจเด็ก ปกติคนเราก็เข้าใจตัวเองยากอยู่แล้ว ยิ่งตอนช่วง ม. ต้น ยิ่งยากเข้าไปใหญ่”

ถือเป็นครั้งแรกที่ดิฉันคิดถึงเรื่องนี้ เคยแต่คิดในมุมมองผู้ปกครอง ว่าเลี้ยงลูกวัยรุ่นแสนลำบาก ไหนจะฮอร์โมนพลุ่งพลาน อารมณ์อ่อนไหว สับสน และคล้อยถามเพื่อน แต่ดิฉันไม่เคยมองในบทบาทของครูมาก่อน เมื่อ อ. สุมิตรา พงศธร แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เปิดประเด็นนี้ ดิฉํนจึงสนใจอย่างมาก
เมื่อได้พบ อ. สุมิตรา อีกครั้ง จึงถามถึงผลของการจัด workshop ว่าเป็นอย่างไร

“เราใช้หัวข้อว่า Bridge the Gap ปิดช่องว่างระหว่างครูชั้น ป. ต้น – ม.ต้น – ม.ปลาย เปิดใจครูให้ตระหนักว่าเด็กกำลังเปลี่ยนแปลง เด็กสมัยนี้ไม่เหมือนเด็กสมัยก่อนแล้ว หลายครั้งที่เรารู้จักนักเรียนของเราในภาพหนึ่งตอนอยู่ ป. 6 แต่พอขึ้น ม. 1 เด็กเปลี่ยนไป เป็นเรื่องธรรมดา เราจึงจำเป็นต้องเปิดใจเพื่อนครูให้เตรียมรับมือกับความหลากหลาย

สิ่งสำคัญ คือ ต้อง Bridge the Gap ในตัวเอง หากเราจะสอนให้นักเรียนรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เราทำได้หรือยัง หากครูขาดความเข้าใจในสถานการณ์ ความเครียดที่ครู ม. ต้น ต้องรับมือกับเด็กวัยรุ่น อาจสะท้อนให้ครูออกอาการกับเด็ก กับเพื่อนครู และกับตัวเองได้”

อ. สุมิตรา พูดถึง ทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้น ของ มาส์โลว์ (Marslow’s Hierarchy of Needs) กับการเรียนรู้ ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าสนใจมาก จึงไปอ่านบทความต่อใน www.teacherstoolbox.co.uk ซึ่งพูดถึงความต้องการ 5 ขั้นในบริบทของโรงเรียน ดิฉันขอแปลตามภาษาของตัวเองนะคะ
     The Physiological Needs (ด้านร่างกาย) – นักเรียนได้รับอาหาร น้ำ อากาศ เพียงพอ ไม่หิวโหยทางกาย 
     The Safety Needs (ด้านความปลอดภัย) – นักเรียนรู้สึกปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รู้สึกมั่นคง 
     The Belongingness and Love Needs (ด้านมีความรักและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม) – นักเรียนรักตัวเองและผู้อื่น เชื่อใจเพื่อนและครอบครัว รู้สึกมีส่วนร่วม ไม่รู้สึกเหงาหรือแปลกแยก ไม่รู้สึกว่าต้องทำตัวเหมือน “คนอื่น” 
     The Esteem Needs (ด้านความมั่นใจ) นักเรียนมั่นใจ เชื่อ และเคารพตัวเอง กล้าลองสิ่งใหม่ เอื้อเฟื้อกับเพื่อน ไม่กลัวแพ้ ไม่กลัวจำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ออกอาการโกรธรุนแรงเมื่อไม่ได้รับการเคารพจากผู้อื่น 
     The Self-Actualisation Needs (ด้านความเข้าใจตัวเอง) นักเรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพของตัวเอง ตามความสนใจและ passion กล้าลอง คิดเองได้ หาตัวตนเจอ ยินดีมีส่วนร่วมในสังคม ชีวิตมีความหมาย
บทความชิ้นนี้ชวนเราตั้งคำถามว่า หากมีนักเรียนคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมมีปัญหา เป็นไปได้ไหมที่เขารู้สึกแปลกแยก ไม่มั่นใจและไม่เข้าใจตัวเอง และเราในฐานะครูควรทำอย่างไร

ประเด็นของ อ. สุมิตรา คือ เราก็ต้องมองเรื่องนี้ในบริบทของผู้ใหญ่ด้วย ดิฉันจึงขอเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในองค์กรอื่นด้วยเลยนะคะ องค์กรต้องทำอะไรที่เติมเต็มความต้องการ 5 ขั้นให้กับทีมงาน และพวกเราจะต้องทำอะไรถึงจะเติมเต็มสิ่งนั้นให้กับตัวเอง

โจทย์สำคัญ คือ เราจะ Bridge the Gap ในตัวเองได้อย่างไร เพราะหากปิดช่องว่างนี้ไม่ได้ เราคงไปปิดช่องว่างนี้กับคนอื่นไม่ได้แน่ ๆ ดิฉันขอยก ดร. กุลชาติ จุลเพ็ญ เป็นตัวอย่าง โดยขอใช้คำนำจากหนังสือ ดอกเตอร์จากกองขยะ คือ “จากเด็กบ้านแตกที่พ่อแม่แยกทางกัน จากเด็กเร่ร่อน ...ขอทาน...ขโมยผลไม้ไปจนถึงเงินในตู้เกม...แต่ด้วยความรักที่เขามีต่อแม่...จนตอนนี้เรียนจบดอกเตอร์จากญี่ปุ่น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิศวกรรมที่ราชมงคลธัญญบุรี” เห็นไหมคะ เราต้องเริ่มจากตัวเองจริง ๆ

ขอขอบพระคุณ ดร.กุลชาติ สำหรับแรงบันดาลใจ ขอชื่นชม อ. สุมิตรา แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอี ที่จัดกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ให้กับคณะครู และขอเป็นกำลังใจให้ครู ม. ต้นทุกคนในประเทศไทยค่ะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น