ในยามขาดแคลนอาหาร เราจะให้ปลา หรือเราจะสอนวิธีจับปลา...
สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้รับเชิญไปร่วมสัมมนา Nexus Youth
Summit ที่จัดขึ้นโดย Thailand Young Philanthropist Network (TYPN)
ทำให้รู้จักเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมาย
คำถามเรื่องปลาเป็นประเด็นคลาสสิกเกี่ยวกับ “การให้”
คนไทยมีค่านิยมด้าน “การให้” มานาน ให้เยอะด้วยค่ะ ส่วนมากจะเป็นการบริจาคเพื่อศาสนา
หรือบริจาคแบบ ad-hoc เช่น เห็นขอทานบนถนนแล้วให้
การสัมมนาครั้งนี้เปิดโลกให้เห็นว่า “การให้” มีได้หลายประเภท
หลายระดับ คำถามคือ ให้เพื่ออะไร และให้อย่างไร
คนส่วนใหญ่จะให้เงิน ให้แล้วรู้สึกดี ชาติหน้าขอให้เกิดมารวย มาสวย
มาดีกว่าเดิม หลายครั้งเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงินที่ให้ถูกนำไปใช้อย่างไร
ในปัจจุบัน ระบบการศึกษา (ไม่ว่าจะในโรงเรียนไทยหรือนานาชาติ)
เริ่มให้ความสำคัญการกิจกรรมเพื่อสังคม โดยฝังเข้าไปในระบบวัดประเมินผล เช่น
ในระบบ International Baccalaureate เรียกร้องให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อสังคม 50 ชั่วโมง
ก่อนที่จะจบมัธยมได้
ปีนี้ครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา เราคงหวนคิดถึง “ประเด็นสังคม”
ที่เราเคยเรียกร้องในอดีต ซึ่งไม่ (ควรจะ) หยุดยั้งถึงปัจจุบัน
การสัมมนาครั้งนี้จึงท้าทายให้เราเชื่อมโยง “วัฒนธรรมการให้” เข้ากับ
“ประเด็นสังคม” ที่แต่ละคนเชื่อและศรัธทา บ้างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
บ้างเกี่ยวกับการศึกษา เป็นต้น
จึงเป็นที่มาของ “ให้ปลาให้ง่าย แต่สอนวิธีจับปลานั้นยาก”
หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ “การให้” นั้นมีผลกระทบที่แท้จริง (impactful) วัดผลได้
และยั่งยืน จุดนี้จะสร้างความแตกต่างระหว่างการบริจาค (charity) และ
engaging philanthropy (การบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์แบบมีส่วนร่วม)
คอนเซ็ปของ Social Entrepreneur และ
Social Enterprise (SE - กิจการเพื่อสังคม) จึงเป็นประเด็นร้อนที่เราคุยต่อ ในอดีต ดิฉันรู้จักแต่ 2 ขั้ว คือ
ขั้วการบริจาค และขั้วธุรกิจ แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรขาวดำ เราคุยกันถึงเส้น continuum
โดยมี SE อยู่ตรงกลาง และขึ้นอยู่กับความพร้อมของเรา
เราจะอยู่ตรงไหนของเส้น continuum นี้ก็ได้ค่ะ
SE
เป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสังคมที่ผู้ก่อตั้งเชื่อและศรัทธา
ใช้โมเดลการทำธุรกิจที่มีประสิทธิผลให้การตอบโจทย์นั้นอย่างเห็น impact วัดผลได้
และยั่งยืน ทำไมต้องยั่งยืน ถึงแม้ว่าจะเป็นกิจการเพื่อสังคม
เราจำเป็นต้องทำสินค้าและบริการให้มีคุณภาพดีเลิศ เพื่อจะได้มีรายได้มากพอ
และอยู่รอดทางการเงินได้
หนึ่งตัวอย่างของ SE ที่ประสบความสำเร็จ คือ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ในพระบรมราชูปถัมป์ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนา กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้มูลนิธิยั่งยืนและก้าวหน้า
ว่าเป็นเพราะการพัฒนาไม่หยุดยั้งของสินค้าและบริการ ทั้งในด้านคุณภาพ การออกแบบ
และการลงลึกในกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคน (หรือทุกธุรกิจ) จะเหมาะกับการเป็น SE
และก็ไม่ได้แปลว่า
“การให้” ของเราจะไม่สามารถมีความหมายได้ เราจึงคุยต่อถึงเรื่อง Giving
Circle ซึ่งถือเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง แทนที่ต่างคนต่างให้
เงินจะถูกมารวมในกองกลาง และใช้วิธีการของการลงทุนพิจารณาร่วมกันในกลุ่มว่าจะนำไปลงทุนกับ
SE และโครงการประเภทใด ไม่ว่าตั้งแต่การทำ due diligence เพื่อศึกษาสภาพและโอกาส
ถึงวิเคราะห์ทางการเงิน
กระทั่งต่อยอดสู่ Venture Capital
รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Social Venture ที่ผู้ลงทุนจะช่วย SE ที่มีศักยภาพ
start-up กิจการเพื่อสังคมขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น ChangeFusion ในประเทศไทย
และ Social Ventures Hong Kong เป็นต้น
“การให้” ไม่จำเป็นต้องให้เงินเสมอไป คนเรามีมันสมอง มีวิชาชีพ
มีแรงกาย และเครือข่ายเป็นทรัพย์ เราสามารถมีส่วนร่วมในรูปแบบของตน
บ้างมีทักษะด้านการตลาด สามารถช่วย SE หรือโครงการต่าง ๆ
มีวิธีเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลได้ เป็นต้น
คุณเอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้ง TYPN
กล่าวถึงที่มาของการจัด Nexus Youth Summit ในประเทศไทย ว่าเพื่อสร้างเครือข่ายคนหนุ่มสาวมืออาชีพ
(young professional) ที่จะจุดชนวนแนวความคิดนี้ เพื่อผลักดันวัฒนธรรมการให้แบบดั้งเดิม
สู่การให้เพื่อสาธารณประโยชน์แบบ pro-active
ที่สร้างผลกระทบที่ต้องการแบบยั่งยืนและวัดผลได้
ดิฉันคิดว่าผู้จัดงานบรรลุวัตถุประสงค์
อย่างน้อยได้จุดฉนวนในตัวดิฉันติด
ที่ผ่านมาเมื่อมีคนถามถึงธุรกิจของฉัน ว่าทำหนังสือ จัดค่าย จัดอบรม
ทำศูนย์วิทยาศาสตร์ ฯลฯ พวกเขามักบอกว่าดีจังเลย เหมือนเป็น CSR และคาดหวังว่าดิฉันทำเรื่องนี้ฟรี
แน่นอนว่ามีบางส่วนฟรี แต่ดิฉันอยากบอกว่า นี่คือธุรกิจของดิฉันนะคะ
สินค้าและบริการของเราแลกมากับเงินเพื่อมาต่อยอด
ซึ่งสร้างความขัดแย้งในใจมาตลอดว่า สรุปเราทำอะไรเนี่ย
เพราะบางครั้งเมื่อไม่ได้ให้ฟรี ดิฉันโดนต่อว่า และดิฉันก็รู้สึกผิด
Mr. Francis Ngai ผู้ก่อตั้ง Social Ventures Hong Kong
จึงบอกดิฉันว่า ให้ลืมคำศัพท์ทุกคำออกไป สุดท้าย คือ
กิจการของเราตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสังคมในประเด็นที่เราเชื่อและศรัทธาหรือไม่
หากใช่ ถือว่าจบ ก้าวต่อไปคือให้คิดแต่ว่า ทำอย่างไรให้ดี ให้ยั่งยืน วัดผลได้
และสร้าง impact ได้จริง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น