วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เมืองแห่งการอ่าน

หลายปีก่อน เจ.เค. โรว์ลิ่ง นั่งเขียน “แฮร์รี่ พอตเตอร์” จิบน้ำชา มองปราสาทเอดินเบอระที่ร้านกาแฟ “The Elephant House

นี่จึงเป็นสถานที่แรกที่ดิฉันตั้งใจไปเมื่อไปเที่ยวสก๊อตแลนด์ครั้งที่ผ่านมา
น่าแปลกใจกว่านั่น “The Elephant House” ยังเป็นสถานที่ในดวงใจของนักเขียนระดับโลกอีกหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น เอียน แรนคินส์ (เจ้าของผลงานชุดนักสืบรีบัส) และ อเล็กซานเดอร์ แมคคอล สมิทธ์ (เจ้าของผลงานชุดนักสืบหญิงหมายเลข 1) ที่รู้เพราะมีรูปถ่ายนักเขียนมากมายในร้านกาแฟแห่งนี้ พร้อมยังมีโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมพบปะนักเขียน ตามรอยตัวละครยอดฮิต ที่สำคัญ มีทัวร์ตามรอย Harry Potter Trail ที่จัดฟรีสัปดาห์ละสองครั้งอีกด้วย

ไม่เพียงแค่ในร้านกาแฟแห่งนี้ ทั่วเมืองเอดินเบอระเต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือที่มีเยอะทุกมุมถนน โปรแกรมทัวร์ประวัติศาสตร์นักเขียน / วรรณคดี / ตัวละคร / ร้านหนังสือ เต็มไปหมด

เพิ่งมารู้ทีหลังว่า เอดินเบอระเป็นเมือง UNESCO City of Literature (เมืองแห่งวรรณกรรม) แห่งแรกของโลก เขาเขียนในเว็บไซต์ว่า เป็นตำแหน่งถาวรและไม่แข่งขันกับใคร มีภารกิจจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน สำหรับวรรณกรรมจากในและต่างประเทศ

ดิฉันสนใจคำว่า “ไม่แข่งขันกับใคร” ถึงแม้จะได้ตำแหน่งมานาน แต่ถึงวันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ให้เกียรตินักเขียน นักอ่าน และสำนักพิมพ์ และแทรกซึมถึงทุกภาคส่วน การท่องเที่ยวของเขาเอาจุดนี้มาเล่นเต็มที่ แม้กระทั่งมีชื่อพิเศษให้นักท่องเที่ยวที่สนใจด้านการอ่านและหนังสือเป็นพิเศษว่า Literary Tourist (นักท่องเที่ยวด้านวรรณกรรม)! หนำซ้ำ ในเว็บไซต์ยังประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจมามีร่วมทำการค้าที่เกี่ยวกับเรื่องวรรณกรรมอีกด้วย

การไปสก๊อตแลนด์ครั้งนี้ มีโอกาสไปเดินไต่เขาที่ Glencoe ล่องทะเลสาปที่ Lochness เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในปราสาทและพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง พบว่าสก๊อตแลนด์เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การเมือง และวิทยาศาสตร์ ทำให้รู้สึกดื่มด่ำและ “อิน” เป็นที่สุด
จุดร่วมที่กระตุ้นอารมณ์นี้คือหนังสือค่ะ เพราะไม่ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน จะต้องมีหนังสือเกี่ยวกับ “เรื่องนั้น” ในศูนย์นักท่องเที่ยวหรือร้านขายของที่ระลึก หนังสือชุด “โหด มัน ฮา” (Horrible Series) ที่เขียนโดยเทียรี เดียรี ซึ่งเป็นหนังสือที่ขายไม่ดีในประเทศไทย แต่กลับเป็นหนังสือที่มีขายในสถานที่ท่องเที่ยวและร้านหนังสือทุกที่

ทำให้เห็นว่า การปลูกฝังสามัญสำนึกและความมีส่วนร่วมนั้น จำเป็นต้องมี content” ซึ่งจะทำให้ประสบการณ์ที่ได้รับถูกประทับอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งทำได้ง่ายด้วยการอ่านหนังสือ และเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่หากอยากรู้ลึกเรื่อง (เช่น) วิลเลียม วอลเลซ ว่าเอาชนะอังกฤษที่สมรภูมิ ... ได้อย่างไร ก็ต้องอ่านต่อ เป็นต้น

ทำให้ดิฉันสะท้อนถึงความ “ง่าย” ของคนในสังคมเรา เมื่ออยากรู้ มักชอบได้ข้อมูลแบบ “ง่าย ๆ” คือ ถามเอา ไม่หาเอง ไม่อ่านเอง สุดท้ายอาจรู้ไม่จริง!

กลับมาเรื่องเมืองแห่งการอ่าน การไปเยี่ยม “The Elephant House” ในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกขอบคุณในโอกาสที่เราได้จัดพิมพ์ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” เป็นภาษาไทย เพราะถือเป็นการพลิกวัฒนธรรมการอ่านของประเทศครั้งสำคัญ อย่างน้อยที่สุด ก็สำหรับชีวิตของดิฉันเอง

หากคุณแม่ไม่ได้ขอให้ดิฉันช่วยอ่านต้นฉบับ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ในตอนนั้น ดิฉันอาจไม่ได้เป็นคนรักการอ่านแบบทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าดิฉันจะเป็นหนอนหนังสือตัวยงในชั้นประถม (อุดหนุนผลงานของ อีนิด ไบลตัน “เจ็ดสหายยอดนักสืบ” ครบชุดจากสำนักพิมพ์เม็ดทรายตั้งแต่ ป. 2 และ “ห้าสหายผจญภัย” ครบชุด 21 เล่มจากสำนักพิมพ์แก้วกานต์ตั้งแต่ป. 5) ดิฉันเป็นหนึ่งในวัยรุ่นที่เลิกอ่านหนังสือวรรณกรรม และหันไปอ่านแต่การ์ตูนญี่ปุ่นในชั้นมัธยมต้นค่ะ

แต่พอได้อ่าน “แฮร์รี่ พอตเตอร์” พบว่ามันสนุกสุดยอดขนาดไหน จนต้องหาหนังสือเล่มอื่นมาอ่านระหว่างรอเล่มใหม่ออกเลยค่ะ ดิฉันโชคดีมากที่ได้ไปฝึกงานที่สำนักพิมพ์สกอลาสติกในช่วงที่ “แฮร์รี่พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม” (เล่ม 6) ออกตลาด เป็นหนึ่งในทีมงานจัดงานเปิดตัวที่ถนนเมอร์เซอร์ ที่โซโห ได้รับหนังสือหลังเที่ยงคืนเหมือนลูกค้าทุกคน และไม่ได้นอนอีกเลยใน 24 ชั่วโมงต่อมา เพราะอ่านจนวางไม่ลง!

ดิฉันจึงคิดว่าการทิ้งรอยประทับใจในหนังสือเล่มโปรดในเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญมาก ดิฉันเคยคุยกับนักเขียนเยาวชนหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ดร. ป๊อบ (เจ้าของผลงานชุด Girls & a Doll) หรือน้องเปาะเปี๊ยะ (เจ้าของผลงานชุดผจญภัยในแดนเงือก) ล้วนได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ทั้งนั้น

ถึงแม้เวลาผ่านไป เด็กไทยอาจเริ่มไม่รู้จัก “แฮร์รี่ พอตเตอร์” แต่ดิฉันเชื่อว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่คงยังจำพลังของหนังสือชุดนี้ได้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ความสนุกยัง “คลาสสิค” ไปกับเด็กรุ่นต่อรุ่น ลองให้เด็ก ๆ อ่านสิคะ จะได้เป็นชนวนให้อ่านไม่หยุดเหมือนดิฉัน และที่สำคัญ ต้องมีแรงผลักดันจากทุกภาคส่วนด้วย
ปีนี้กรุงเทพเป็นมหานครแห่งการอ่าน หวังว่าจะเจริญรอยตามเอดินเบอระ คือ ต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้ง และคงต้องทิ้งโจทย์ไว้ให้ทุกท่านคิดต่อ ท่านจะมีส่วนช่วยอย่างไรให้กรุงเทพเป็นเมืองแห่งการอ่านแบบฝังลึกสู่จิตวิญญาณ

1 ความคิดเห็น:

  1. เขียนดีจังครับ
    อยากให้สำนักพิมพ์นานมีบุคส์เข้าใจ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เหมือนอย่างที่คุณคิมเข้าใจจังครับผม ^^

    ตอบลบ