หากใครเคยมาเที่ยวศูนย์วิทยาศาตร์ Phaenomenta ที่นานมีบุ๊คส์
สุขุมวิท 31 จะสังเกตว่า ที่นี่แปลกกว่าที่อื่น
เพราะไม่มีบอกวิธีเล่นและไม่มีคำอธิบายว่าเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร
นี่เป็นแนวคิดของ Dr.Lutz Fiesser
ผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ Phaenomenta ประเทศเยอรมนี
ปัจจุบันมี 3 สาขา
Dr.Fiesser
ต้องการปฏิวัติการเรียนรู้แบบดั้งเดิม ที่ผู้สอนกรอกข้อมูลใส่หัวผู้เรียน
โดยไม่รู้เลยว่าผู้เรียนสนใจไหม รับได้ไหม แบบที่เราพูดกันว่า
“ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา” Dr.Fiesser บอกว่าการเรียนรู้มี 2 แบบ มีเบบี๋คนหนึ่งได้ตุ๊กตาหมาเป็นของขวัญ (ตั้งชื่อว่าจูลี่)
กินนอนกับจูลี่ตลอด หากวันหนึ่งได้เจอหมาตัวจริง เบบี๋จะเชื่อมโยงทันทีว่าหมาคือจูลี่
จูลี่คือหมา Dr.Fiesser เรียกกระบวนการนี้ว่า
Assimilation หรือซึมซับ แต่หากวันหนึ่งเบบี๋เจอเป็ด
เกิดมาไม่เคยเห็นเป็ดมาก่อน ทำให้สับสนมากว่าคืออะไร
กระบวนการนี้สร้างความขัดแย้งในสมอง ทำให้ไม่สมดุล ด้วยธรรมชาติ จะต้องพามาสมดุล
เบบี๋ก็จะพยายามทำความเข้าใจ จนสุดท้ายรู้ว่า นี่คือเป็ด กระบวนการนี้คือ Accommodation
ความตั้งใจของ Dr.Fiesser ในการก่อตั้ง Phaenomenta ก็คือสร้างบ้านแห่ง Accommodation นั่นเอง คือ
สร้างโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด อาจขัดแย้งกับสิ่งที่เคยนึก
และด้วยการปฏิบัติจริง ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด และการสนทนา ต่อล้อต่อเถียง เด็ก ๆ
จะสร้างความเข้าใจขึ้นมาได้เอง
ปัจจัยที่จะทำให้กระบวนการนี้สำเร็จ คือ ต้องมีเวลา
และผู้ใหญ่ห้ามรบกวนกระบวนการเรียนรู้นี้ นั่นคือ ครูห้ามบอก ห้ามถาม ห้ามแจกใบงาน
เวลาเท่าไรจึงจะพอ เมื่อโรงเรียนพาเด็ก ๆ มาทัศนศึกษา
ก็มีเวลาแป๊บเดียว และไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะพาลูกมาซ้ำ
หากจะขจัดข้อจำกัดเรื่องเวลาออก เราก็ต้องเอาศูนย์วิทยาศาสตร์ไปไว้ที่ที่เด็ก ๆ
อยู่ตลอดเวลา นั่นคือโรงเรียน นี่คือต้นกำเนิดของโครงการ Mini Phaenomenta
การสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ซึ่งตอนนี้มาประเทศไทยแล้ว
เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ นานมีบุ๊คส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ยังมีสถาบันเกอเธ่เป็นผู้สนับสนุนอีกแรง
คุณอาจถามว่า มันแพงเกินไปไหม
ที่แต่ละโรงเรียนจะต้องลงทุนสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ Dr.Fiesser จึงได้ออกแบบและคัดเลือกบางสถานีการทดลองจาก
Phaenomenta มาดัดแปลงให้สร้างได้ง่าย ใช้วัสดุที่ไม่แพง
ทำวิจัยมากว่า 20 ปี จนออกมาเป็น 52 สถานีที่ผู้ปกครองสามารถสร้างได้เพื่อมอบให้โรงเรียน
ใช่แล้วค่ะ ผู้ปกครองต้องเป็นคนสร้างนะคะ ตอนแรกดิฉันแลกเปลี่ยนกับ Dr.Fiesser ว่า
พ่อแม่คนไทยไม่ยอมทำแน่นอน มีเงิน ยินดีจ้าง
Dr.Fiesser จึงออกแบบวิธีการของโครงการนี้ คือ เราต้องทำให้ครูเห็นภาพก่อนว่า
การสร้างสถานี (ส่วนมากเป็นงานไม้) ง่ายนิดเดียว ทุกคนทำได้
และต้องสร้างความเข้าใจของกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ก่อน จากนั้น โครงการจะเอาสถานี
Mini Phaenomenta ไปให้ยืมที่โรงเรียน 2
สัปดาห์ ตั้งไว้ตามทางเดินของห้องเรียน ดิฉันคงยังไม่ลงรายละเอียดมาก แต่จุดสำคัญ
คือ โรงเรียนจะต้องนัดให้ผู้ปกครองมาดูปฏิกิริยาที่เด็ก ๆ มีต่อ Mini
Phaenomenta ในสัปดาห์ที่สอง ผู้ปกครองจะเห็นเลยว่า เด็ก ๆ
มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร จากนั้น
ผู้ปกครองก็สามารถลงชื่อเป็นอาสาสมัครช่วยสร้างสถานี รับไปบ้านละสถานี
ครูที่ผ่านการอบรมมาแล้ว จะช่วยคุยกับผู้ปกครองให้ว่า ทำได้ง่ายมาก อีกอย่าง
หากผู้ปกครองสร้าง เด็ก ๆ จะช่วยกันดูแลสถานีอย่างภูมิใจ มันจะยั่งยืนกว่าด้วยค่ะ
โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อปี 2002 ครั้งที่ OECD จัดการประเมินระดับนานาชาติ PISA เป็นครั้งแรก
ผลการประเมินของเยอรมนีตกต่ำมาก ภาคอุตสาหกรรมไปขอร้องให้ Dr.Fiesser ช่วยคิดเครื่องมือที่จะมาช่วยเด็กเยอรมนี จนออกมาเป็น Mini
Phaenomenta แบบทุกวันนี้
พวกเราทีมไทยก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ สองสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเชิญ Dr.Fiesser
และวิทยากรอีก 4 ท่านมาอบรม Core Trainer หรือวิทยากรหลัก เพื่อที่เราจะได้ขยายผลสู่โรงเรียนในประเทศไทยได้ ถือเป็นสองสัปดาห์ที่สนุกสนานและปลุกเร้าจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างยิ่ง
หากคุณเป็นผู้ปกครองที่สนใจสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ Mini Phaenomenta ให้กับโรงเรียนของลูกหลาน
อีเมลมาหาดิฉันเลยนะคะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น