วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Active Youth

ในที่ประชุมสภาการศึกษาคาทอลิกวันนี้ อ.สุมิตรา พงศธร แห่งโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย เชิญ อ.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ จากมูลนิธิเพื่อคนไทยมาแบ่งปันผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557: เสียงเยาวชน” มีเป้าหมายเพื่อสร้างเยาวชนที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Youth) ยิ่งฟังยิ่งน่าสนใจ เพราะประเด็นที่ดิฉันไปแบ่งปันก็คือเรื่องการสร้าง Active Citizen เหมือนกันค่ะ 
อันดับแรก จากการสำรวจเยาวชนวัย 15-24 ปีจากหลากหลายสถานะ 4,000 คน พบว่าส่วนมากมีความคาดหวังกับตัวเองสูงมาก และรับรู้ถึงความคาดหวังของพ่อแม่ว่าอยากให้เรียนเก่ง อยากให้มีงานที่มั่นคง อันดับสอง พบว่า 70% ของเยาวชนกลุ่มนี้เผชิญกับภาวะเครียดถึงขั้นซึมเศร้า สิ้นหวัง หลายครั้งอยากยอมแพ้ ล้มเลิก อันดับต่อมา พบว่า 80% ของเยาวชนกลุ่มนี้เคยมีประสบการณ์ทุจริต เช่น โกงข้อสอบ ให้เพื่อนลอกการบ้าน 70% เคยทุจริตในรูปแบบอื่น เช่น เซ็นชื่อแทนกัน ให้สินบน และ 80% ของคนกลุ่มนี้คิดว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ผิด บ้างบอกว่า พื้นฐานของตนเป็นคนดี เพราะฉะนั้นนิด ๆ หน่อย ๆ ย่อมไม่เป็นไร
มูลนิธิเพื่อคนไทยสรุประดับของ Active Youth เป็น 5 ระดับ คือ
1. ระดับบุคคล คือ มีน้ำใจ มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ พร้อมจะลงมือแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม
2. ระดับสังคม มีส่วนร่วมในการทำเพื่อส่วนรวม เช่น เคารพกฎระเบียบกติกาทางสังคม พัฒนาชุมชนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น
3. ระดับรัฐ มีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น เลือกตั้ง ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ติดตามตรวจสอบนักการเมืองได้
4. ระดับสิ่งแวดล้อม พยายามอนุรักษ์ พัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ปลูกป่า ลดใช้ถุงพลาสติก
5. ระดับคุณค่า คือ ยึดถือสิ่งดี ๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความเข้าใจในหลากหลายวัฒนธรรม
อ.กฤตินี พูดต่อว่า Active Youth คิดกว้างกว่าตัวเอง เคารพความหลากหลายของผู้อื่น มุ่นมั่นอยากทำให้ดีขึ้น กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำ แล้วก็ทำจริง แต่ปัญหาของสังคมไทย คือ คนไทยมักคิดเล็ก เพียงทำตัวเองให้ดีก็ดีพอแล้ว ทำเท่าที่จะทำได้ นี่คือข้อจำกัดของการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
เมื่อถูกถามว่าโตขึ้นคุณจะทำอะไรเพื่อสังคม เยาวชนในกลุ่มสำรวจมักตอบว่า อยากเป็นคนดี ช่วยเหลือผู้อื่น แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องใหญ่ ๆ เช่น เรื่องประชาธิปไตยหรือสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อคนไทยเชื่อว่า หากเราปูเส้นทางให้เยาวชนได้เห็น ทั้งด้วยประสบการณ์ทางตรงและด้วยข้อมูล ชี้ให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้บ้าง และพาพวกเขาทำ เช่น ในบริบทวันนี้ มีองค์ประชุมเป็นผู้บริหารการศึกษา เราก็สามารถวางนโยบายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับนักเรียน ทั้งด้วยการจัดเวลา จัดระบบการประเมินประจำปีให้ครอบคลุมกิจกรรมเหล่านี้ เป็นต้น
หลายโรงเรียนในปัจจุบันจัดให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่เด็ก ให้มีส่วนร่วมกับสังคม แต่บางทีก็อาจมีทางเลือกจำกัด เช่น บ้านพักคนชรา บ้านเลี้ยงเด็กกำพร้า เป็นต้น แต่รู้ไหมคะว่า ประเทศของเรามีทางเลือกในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย ล่าสุดมูลนิธิเพื่อคนไทยจัดงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ที่รวมกว่า 140 องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม เป็นทางเลือกให้เยาวชนของเรามาอาสาช่วยงานได้ค่ะ
นอกจากการทำกิจกรรมจิตอาสาแล้ว การเรียนรู้ในห้องเรียนยังมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดิฉันคุยกับ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข ถึงความเชื่อมโยงระหว่าง STEM Education กับการสร้าง Active Citizen เราพูดถึงเรื่องการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ไม่ใช่เรียนเพื่อเรียน แต่เรียนแล้ว สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้มาใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
อ.ธิดาจึงแนะนำให้ดูวีดีโอใน Youtube ชื่อ “เรียนสถาปัตย์ทำไม” เป็นหนึ่งใน 32 คลิปวิดีโอที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นสำหรับงานสถาปนิก ’57 ที่ผ่านมา ดีมากเลยนะคะ ขอแนะนำให้ไปลองดูกัน เราจะเห็นเลยว่า เราเรียน...ไปทำไม
หากเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมให้เยาวชนของเราเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งนั้น จัดการเรียนรู้ให้มีความหมาย จัดเวลาให้ได้ทำกิจกรรมจิตอาสา เราน่าจะสามารถสร้าง Active Youth ให้กับประเทศไทยได้มากขึ้นแน่นอน

Note: หากต้องการอ่านผลวิจัยเพิ่ม กรุณาดูที่ www.khonthaifoundation.org

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น