วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ผู้ใหญ่ (บ้าน) ดี ชุมชนก็ดี

ผู้ใหญ่ (บ้าน) ดี ชุมชนก็ดี

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา



          ดิฉันเคยตั้งคำถามว่า ผู้ใหญ่ในแต่ละขั้นของสังคมมีหน้าที่ ความรับผิดชอบอะไรบ้าง ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแม้แต่ผู้นำประเทศ วันนี้ขอเล่าถึงความประทับใจของชุมชนบ้านแม่กำปอง ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ค่ะ แม่กำปองเป็นชุมชนเล็กน่ารัก มีป่าชุมชน มีน้ำตก และมีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย

          ตอนวางแผนมาเที่ยวเดินป่าที่นี่ มีคนแนะนำให้โทรหา “พ่อหลวง” ซึ่งจะช่วยประสานงานกับไกด์ให้ ไกด์ของเราชื่อพี่สมศักดิ์ พาเดินขึ้นไปจากหมู่บ้าน เข้าไปที่สวน (สวรรค์) หลังบ้าน ผ่านน้ำตกห้วยแก้ว ขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ จนถึงกิ่วฝิ่น รอยต่อระหว่างเชียงใหม่และลำปาง เป็นจุดชมวิว 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และลำพูน

          นอกจากได้ซึมซับความสวยงามของธรรมชาติ พี่สมศักดิ์ให้ความรู้เรื่องพืชและสัตว์อย่างสนุกสนาน เป็นกันเองกับพวกเราอย่างมาก จึงขอความรู้เรื่องในหมู่บ้านด้วย พี่สมศักดิ์เล่าว่า “พ่อหลวง” ที่ช่วยประสานงานให้ เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน คุมคิวให้กับทุกคน ชาวบ้านทุกคนที่ให้บริการโฮมสเตย์จะมีหมายเลข หากมีนักท่องเที่ยวติดต่อมา พ่อหลวงจะส่งนักท่องเที่ยวไปทีละบ้านตามลำดับ ระบบนี้สร้างความโปร่งใสและยุติธรรม และเป็นระบบที่ใช้กับหมอนวดและไกด์เดินป่าด้วย
เมื่อไปถึงกิ่วฝิ่น พี่สมศักดิ์เล่าให้ฟังถึงปัญหาไฟป่า และกล่าวด้วยความภูมิใจว่าแม่กำปองแทบไม่มีปัญหานี้เลย เพราะชุมชนเข้มแข็งช่วยกันทำแนวกันไฟ นั่นคือช่วยกันถางหญ้าเป็นแนว ป้องกันไม่ให้ลาม พี่สมศักดิ์บอกว่าพ่อหลวงจะเรียกทุกคนประชุม และนัดหมายให้ทุกคนมาช่วยกัน หากบ้านไหนไม่มา ต้องจ่ายเงิน 300 บาท แต่ความจริงแล้วไม่มีใครอยากได้เงิน อยากได้แรงมากกว่า เมื่อเกิดพลังชุมชนแบบนี้แล้ว ทุกคนก็ช่วยกันดี

          ความจริงแล้วระหว่างเดินขึ้นเขา มีช่วงหนึ่งที่พี่สมศักดิ์บอกว่านี่คือที่ของเขา ส่งต่อมาหลายรุ่นตั้งแต่บรรพบุรุษ พอเดินไปอีกสักพัก ดิฉันสงสัยว่ายังเป็นที่ของพี่สมศักดิ์อยู่หรือเปล่า พี่บอกว่าเป็นของอีกบ้านแล้ว ดิฉันอยากให้ท่านผู้อ่านนึกภาพป่าที่มีต้นไม้เต็มไปหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่า นี่คือที่ของฉัน นี่คือที่ของเธอ แต่คนที่นี่เขาก็รู้กันนะคะ บางคนก็เก็บต้นไม้อย่างดี บางคนก็ตัดไม้จันทร์หอมไปขาย พี่สมศักดิ์เล่าว่า พอเริ่มมีคนตัดไม้ไปขาย ก็จะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาให้ความรู้ว่า ทำไมไม่ควรตัด ทำไมควรเก็บไว้ แต่สุดท้ายก็คงแล้วแต่เจ้าของจะตัดสินใจ กฏกติกาบางอย่างมีไว้ แต่ไม่เคยถูกสื่อสารให้คนในชุมชนเข้าใจ เห็นความสำคัญ ก็ยากที่จะไปบังคับหรือขอความร่วมมือ

          ดิฉันนึกถึงนวนิยายเล่มโปรด ชื่อ “ปุลากง” เขียนโดย โสภาค สุวรรณ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการลงพื้นที่ของนักพัฒนากรหนุ่มสาว ที่เต็มไปด้วยไฟปรารถนาในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก เมื่ออ่านจบ ไปซื้อมาอีก 20 เล่มเพื่อมอบเป็นของขวัญให้เพื่อน ดิฉันเห็นด้วยกับคติพจน์ของ “ซิเซโร” นักปรัชญาชาวโรมันที่กล่าวว่า “คนเราไม่ควรอยู่เพียงเพื่อตัวเอง” หากเราตั้งเป้าหมายเพียงให้ชีวิตเราดี จะมีความหมายอะไร เราอยู่ในสังคมครอบครัว สังคมหมู่บ้าน สังคมประเทศ และสังคมโลก ก็ควรจะพัฒนาตัวเองให้มีความสามารถ และสร้างความแตกต่างให้แง่บวกให้กับสังคมของเราด้วย ดิฉันเรียกสิ่งนี้ว่า “social change” และหากเราทำได้ สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น “change maker” คือ ไม่ใช่สักแต่คิด และลงมือทำ
ดิฉันนึกถึง change maker หลายคน ล้วนมีอุดมการณ์ แต่ละคนก็มี “ประเด็น” ที่สนใจต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี พี่เล็ก แสงเดือน ชัยเลิศ แห่งมูลนิธิรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแค่ช่วยเหลือช้างที่ถูกทารุณ แต่ยังพัฒนาชุมชนให้ชาวบ้านมีความรู้ มีวิชาชีพที่จะทำธุรกิจด้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อยอดได้อีก สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยอยากบอกต่อ จนคุณกัญจนา ศิลปอาชา ต้องออกมาเขียนหนังสือ “บันทึกของลูกช้าง” และตัวพี่เล็กเองก็เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น นิทานชื่อ “ช้างบุญ”

          ตอนที่ดิฉันไปเที่ยวที่ Elephant Nature Park ของพี่เล็ก ดิฉันซื้อทัวร์ 1 วันที่พาช้างไปเดินเล่ม อาบน้ำให้ช้าง และให้อาหารช้าง สนุกมาก ได้พูดคุยกับไกด์ ชื่อพี่หมวย พบว่า พี่หมวยไม่ได้เป็นพนักงานของพี่เล็กนะคะ แต่เป็นคนหนึ่งในชุมชน ที่เคยทำธุรกิจให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง เมื่อพบว่าไม่ยั่งยืนและทารุณสัตว์ ก็ตัดสินใจมาเข้าเครือข่ายของพี่เล็ก ทำงานท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และพี่เล็กก็เป็นศูนย์กลาง ทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวให้ ดิฉันคิดว่าการทำงานเชิงเครือข่ายแบบนี้ดีมาก ยั่งยืน และขยายผลได้
หรือแม้กระทั่งคู่แม่ลูก จูเลีย แมนซานาเรา และเดเร็ก เคนต์ ที่เผยแพร่เรื่องราวชีวิตของ “ลอน” หญิงสาวที่ต้องเข้าวงการค้าประเวณีตั้งแต่อายุ 13 ในหนังสือ “แค่ 13” เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาค้าประเวณีเด็ก และความท้าทายที่ผู้หญิงอีกมากมายที่ทำอาชีพนี้องเผชิญ ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต
          ทั้งหมดนี้ ดิฉันอยากเชิญชวนให้พวกเราคิดถึงคำว่า “Active Citizen” และตั้งคำถามว่า เราจะเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณธรรม รับผิดชอบต่อตัวเองและต่อสังคมได้อย่างไร ถึงแม้เราไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าง หรือเป็นผู้ใหญ่ของประเทศ แต่เราเป็น “ผู้ใหญ่” ของเราเองได้ค่ะ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น