เพราะคุณเป็นเอกชน ภาคสอง
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
จากยุคที่รุ่นคุณแม่ดิฉันถูกมองด้วยสายตาอาฆาตว่า “พวกคุณบริษัทเอกชน
จ้องมองแต่จะขายของ เอาเปรียบรัฐ” (ทั้ง ๆ ที่ของที่ต้องการขายคือหนังสือ)
มาสู่ยุคประชารัฐ ที่ต้องการผนึกกำลังภาครัฐและเอกชนมาช่วยกันพัฒนาประเทศ
ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่แปลกก็คือ
โครงการประชารัฐที่เชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาช่วยกันพัฒนาการศึกษา
ไม่มีบริษัทด้านการศึกษาใดถูกเชิญให้เข้ากลุ่มกันสักราย ดูเหมือนแต่จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศเข้าร่วมเท่านั้น
หรือพวกเราไม่ได้ใหญ่พอ หรือมีหน้าตาในสังคมเพียงพอ?!?
ทำไมพวกเราที่มีความตั้งใจประกอบกิจการด้านการศึกษา
ซึ่งก็รู้ดีอยู่ว่าไม่ได้ทำเพราะอยากรวย พวกเราลงทุนศึกษาเรียนรู้ best
practice จากที่ต่าง ๆ ลงทุนด้านเนื้อหาและนวัตกรรมเองทั้งหมด
ไม่ได้ไปเอาเงินของรัฐมาทำเลย ถึงไม่ได้อยู่ในสายตา เวลาปรึกษาว่าแบบนี้ดีไหม
ประเทศเราต้องการไหม ก็ว่าดี พอเราลงทุนเสร็จแล้ว เป็นภาษาไทยหมดแล้ว
เชื่อมโยงหลักสูตรแกนกลางเสร็จแล้ว สนใจจะซื้อไหม มักจะได้คำตอบว่า
ซื้อไม่ได้เพราะคุณเป็นเอกชน ทำไมคุณไม่ให้ฟรีล่ะ ฮืมมมมม ตอบไม่ถูกเหมือนกันแฮะ
หรือเวลาเชิญเราไประดมความคิด ไอเดียดี ๆ ของเราที่ถูกตีพิมพ์ในบันทึกการประชุมจะไม่ให้เครดิตเรา
แต่จะเขียนว่า “สนับสนุนโดยภาคเอกชนต่าง ๆ” แต่ดันใส่ชื่อทุกองค์กรรัฐแบบเต็มที่
ทั้ง ๆ ที่บางคนไม่ได้พูดความเห็นตัวเองด้วยซ้ำ
หากชื่อเราไม่ดีพอแม้กระทั่งให้เครดิต ทำไมถึงเชิญเราไป?!?
ดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาของบริษัทด้านการศึกษาชั้นนำของยุโรป
แต่ละประเทศมีตัวแทนจากเพียงบริษัทเดียว แลกเปลี่ยนถึงแนวโน้มด้านการศึกษา
ความท้าทายที่พบเจอ ได้เรียนรู้อะไรเจ๋ง ๆ หลายอย่าง อาทิเช่น ประเทศฝรั่งเศส
ที่ใคร ๆ มักนินทาว่ามีระบบการศึกษาที่เป็นอนุรักษ์นิยมสุด ๆ
มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก ฝรั่งเศสเพิ่งปรับปรุงหลักสูตร โดยตั้งนโยบายว่า
นอกเหนือจากเนื้อหาหลักที่ต้องการให้นักเรียนรู้ ยังต้องการบูรณาการทักษะในการเรียนรู้
(learning how to learn) ด้วย เช่น สำหรับสาระวิชาประวัติศาสตร์ กำหนด 7 ทักษะ รวมถึง
การเอาตัวเองไปอยู่ในเวลานั้น ที่นั้น สามารถอธิบายว่าทำไมถึงใช้วิธีการนี้หรือตัดสินใจแบบนี้
หาข้อมูลจากโลกดิจิตัลเป็น วิเคราะห์และอ่านเอกสารอย่างเข้าใจได้
ใช้ภาษาที่หลากหลายได้ ทำงานเป็นทีมและแบ่งปันข้อมูลได้ เป็นต้น
บรรณาธิการหนังสือเรียนของกลุ่ม Editis ของฝรั่งเศสเล่าถึงกระบวนการที่รัฐบาลสื่อสารเป้าหมายในการปรับปรุงอย่างชัดเจนให้เหล่าบริษัทด้านการศึกษา
เพื่อให้รับโจทย์ไปปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ของตัวเอง บรรณาธิการทีมนี้ใช้เวลา 8
เดือนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ออกมาดีมาก ๆ
ดิฉันได้เห็นก็ต้องร้องว้าว เช่น พอจบหนึ่งบท แทนที่เด็ก ๆ ทุกคนต้องทำแบบฝึกหัดทบทวนเหมือนกัน
ก็สามารถเลือกได้ว่า ต้องการเขียน (ก็มีโจทย์แบบหนึ่ง) หรือพูด
(ก็มีโจทย์อีกแบบหนึ่ง) เพื่อตอบโจทย์ Personalised Learning หรือแทนที่จะได้เรียนเนื้อหาแบบทื่อ
ๆ ก็มีการสร้างเรื่องราว เช่น “สมมุติว่าคุณเป็นทูตจากประเทศจีนไปกรุงโรม ...” และมีการให้ทำโครงงาน
เช่น “หากคุณเป็นนักข่าว ต้องไปทำข่าวเกี่ยวกับชุมชน... มีคำใบ้...”
แล้วก็ให้ทีมนักข่าวไปสืบเสาะหาความรู้ แล้วเขียนชิ้นงานเป็นบทความเป็นต้น
สุดยอดไหมคะ
กระทรวงศึกษาของฝรั่งเศสยังเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี
ไม่ใช่ลงทุนเรื่อง hardware อย่างเดียวแบบประเทศเรานะคะ เป็นพี่ใหญ่วางระบบ platform ส่วนกลางเชื่อมโยงผู้ผลิตเนื้อหาเข้ากับโรงเรียน
อาทิเช่น มีการทำอีแค๊ตตาล๊อครวมสื่อการเรียนการสอนดิจิตัลทั้งของรัฐและเอกชน มีระบบ
GAR ที่เป็น portal กลางในการมอบหมายการบ้านให้กับนักเรียน หรือระบบ BRNE
ที่เป็นระบบฐานข้อมูลรวมสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ของทุกวิชา
ที่กระทรวงเขียนสเป๊คกลางขึ้นมา (และไม่ได้ล๊อคสเป๊คด้วยนะคะ)
และเปิดประมูลให้บริษัทด้านการศึกษาต่าง ๆ มาประมูล ใครเด่นเรื่องวิชาไหน
หรือหัวข้อไหน ก็มาทำในหัวข้อนั้น และเนื่องจากเป็นสื่อดิจิตัล บางคนก็ได้งานเยอะ
บางคนก็ได้งานน้อย แล้วแต่ความเชี่ยวชาญจริง ๆ
ฟินแลนด์ก็ทำแบบนี้นะคะ กระทรวงศึกษาเขาลงทุนสร้าง platform กลางขึ้นมาชื่อ
EduStore เป็นพื้นที่ให้บริษัทด้านการศึกษาเอาสื่อการเรียนรู้ดิจิตัลมาวางขาย
ใส่ตามหมวดกลาง โรงเรียนก็มาจับจ่ายใช้สอยเนื้อหาหรือโมดูลที่ต้องการ
ซื้อเยอะก็ค่อย ๆ ถูกลง ฝั่ง market place ของ platform นี้จะเชื่อมโยงกับระบบบริหารการเรียนรู้ (learning
management system) และบริหารจัดการ (school management system)
ของแต่ละโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนก็จัดการตัวเอง และเชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน คือ single
log-in
ถึงแม้ว่าบริษัทด้านการศึกษาเหล่านี้เป็นกังวลว่าระบบกลางแบบนี้จะจำกัดวิธีทำการตลาดแบบปัจเฉก
แต่สำหรับดิฉันรู้สึกว่าปรากฏการณ์นี้สุดยอดมาก
เพราะเห็นถึงวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาในประเทศเหล่านี้ มองไปข้างหน้า
ไม่ได้แค่คิด แต่ทำจริง เชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders)
เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่วางแผน สร้างตลาดที่อิสระและเป็นธรรม
เพราะสำหรับพวกเราที่ทำธุรกิจ สิ่งที่เราต้องการคือตลาดที่เสรี เป็นธรรม
และมีการแข่งขัน เพราะผู้เลือกคือผู้ใช้ หากเราทำสื่อการเรียนการสอนที่ดี บริการดี
ผู้ใช้ก็จะเลือกซื้อเอง แต่ความเป็นจริงในประเทศไทยของเรา
ระบบนิเวศน์นี้ไม่เอื้ออย่างแรง ไม่รู้ต้องทำอย่างไร ใครมีไอเดียก็เขียนมาบอกนะคะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น