โรงเรียนดีเป็นอย่างนี้นี่เอง
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com
kim@nanmeebooks.com
ดิฉันเพิ่งกลับมาจากเยอรมนีค่ะ พาคณะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนไทยไปเยี่ยมชมโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ได้รับรางวัลหลายแห่ง
ถือว่ากลับมาด้วยไฟอันลุกโชน
เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้คือจะบริหารจัดการการเรียนรู้อย่างไรให้มีความหมาย
สร้างเด็กและเยาวชนให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม เป็น Active Citizen พลังที่จับต้องได้ คือ ผู้ร่วมเดินทางทุกคนถวิลหาสิ่งเดียวกัน
โรงเรียนแรกที่เราไปคือ โรงเรียน Wöhlerschule เปิดสอนชั้น
ป.5-ม.6 ถือเป็นโรงเรียนที่ล้ำหน้า
และได้ขึ้นทะเบียนเป็น MINT School (Maths /
Infomatics / Natural science / Technology) หรือที่คนไทยเรียกว่า STEM นั่นเองค่ะ
ความจริงแล้วการจัดการเรียนรู้แบบ STEM มีความลุ่มลึกที่หลากหลายนะคะ
หากสุดโต่งเลย ก็บูรณาการทั้งสี่วิชาเข้ามาเรียนเป็นโครงงาน
แต่หากโครงสร้างบริหารเวลาหรือทักษะของครุไม่พร้อม แบบนี้จะทำยาก
อีกแบบคือสอนวิชาหลักพวกนี้อย่างไรให้เป็น active learning และมีความหมาย
พวกเราได้สังเกตดูวิธีการสอนเลขของ Mr.Schanbacher
ซึ่งสอนเลขตั้งแต่ ป.5-ม.6 เขาบอกว่าเทคนิคที่ทำให้เด็กสนใจ
คือ ในแต่ละคาบควรมีวิธีการที่หลากหลาย เขามีสอนทั้งหน้าชั้น
แบ่งกลุ่มย่อยทำแบบฝึกหัด จับคู่ถกความเข้าใจ หรือการทดลองคณิตศาสตร์ เขาก็ออกตัวนะคะว่าเดี๋ยวเขาจะเขียนบนกระดานให้เด็กจด
แต่พอทำจริง ๆ ไม่เหมือนบ้านเรานะคะ เขาจะขึ้นหัวข้อก่อน แล้วชักชวนให้เด็ก ๆ
ในห้องพูดออกมาว่าที่เรียนวันนี้เกี่ยวกับหัวข้อนี้ ได้เรียนรู้อะไร
พอเด็กคนหนึ่งพูด อีกคนก็เสริม จนเจอข้อสรุป เขาค่อยเขียนบนกระดาน เด็ก ๆ
ก็เขียนสรุปใส่สมุดเป็นต้น
ปีที่แล้วเขาจัดงาน 24HR Mathematics สำหรับนักเรียนม.6 เริ่ม 8 โมงเช้าถึง 8
โมงเช้าของอีกวัน เชิญนักคณิตศาสตร์ 24 คนมานำเสนอแนวคิด
(หนึ่งในนั้นก็คือ Dr.Beutelscpacher
ผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์แนวคณิตศาสตร์ Mathematikum
ที่พวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมในทริปนี้และชื่นชอบกันอย่างมาก)
และมีกิจกรรมคณิตศาสตร์อีก 24 ชิ้นให้นักเรียนทำ
โรงเรียนนี้สร้างสีสันให้ STEM ด้วยวิชาชมรมที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ
ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง เด็ก ๆ จะอยู่ในชมรมเดียวกันสองปี เรียนรู้อย่างถ่องแท้
ต่อเนื่อง ได้ฝึกปรือภาวะผู้นำและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างดี ขอยกตัวอย่างชมรมอู่ซ่อมจักรยานนะคะ
เด็ก ๆ ที่นี่มักจะขี่จักรยานมาเรียน เวลาเสีย ก็มาซ่อมที่ชมรมในราคาย่อมเยาว์
ชมรมมีสมาชิกประมาณ 20 คน มีทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่ ป.5
ขึ้นไปเลยค่ะ ประธานชมรมซึ่งเป็นเด็กชาย ม.3 มาต้อนรับพวกเรากับผู้อำนวยงานฝ่ายสร้างสรรค์
ซึ่งความจริงเป็นเด็กชายผอมประมาณ ป.6
พอเราถามว่าตำแหน่งนี้ทำอะไร เขาก็พูดอย่างภูมิใจว่า เขาต้องทำการตลาด
ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อน ๆ มาซ่อมจักรยาน ปีที่แล้วชมรมนี้สร้างรายได้ 1,500 ยูโร ทำให้ซื้อวัสดุและเครื่องจักรใหม่ในการซ่อมจักรยานอยู่เรื่อย ๆ
“เครื่องนี้พวกเราซื้อปีที่แล้ว มันช่วยให้พวกเราทำงานเร็วขึ้นมาก”
นักข่าวน้อยจากหนังสือพิมพ์โรงเรียนขอสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงเรียนไทย
พร้อมสงสัยว่า “ทำไมถึงเลือกมาดูโรงเรียนเขา” พอคุณก้อง โรงเรียนเศรษฐบุตรอุปถัมป์
บอกว่าเพราะโรงเรียนพวกคุณโดดเด่นมาก พวกเขาต่างแปลกใจ
และคุยต่อว่าทำไมคนอื่นถึงคิดว่าโดดเด่น น่ารักเชียว
อีกโรงเรียนที่น่าประทับใจมาก คือ โรงเรียนที่สอง Grundschule
Kleine Kielstraße เมือง Dortmund ซึ่งมีวิธีการจัดการความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างดี
ในโรงเรียนนี้ 89% ของนักเรียนเป็นผู้ลี้ภัย และ 86% ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่ ถึงแม้ว่าครูใหญ่จะออกตัวว่านี่เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส
ดิฉันกลับคิดว่าคุณภาพของการเรียนการสอนชั้นยอดมากค่ะ เด็กที่นี่เรียนคละชั้น คือ
ป.1-2 เรียนด้วยกัน ป.3-4 เรียนด้วยกัน
แต่ครูสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง
ยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ ที่นี่ใช้วงล้อ Matherad
ซึ่งสะท้อนสิ่งที่เด็ก ๆ ควรจะได้เรียนรู้ใน 2 ปี
แบ่งเป็นส่วน ๆ ตามหัวข้อคณิตศาสตร์ ตอนแรกทุกคนจะเริ่มที่จุดเดียวกันก่อน ครูก็จะติดแม่เหล็กชื่อเด็กแต่ละคนที่จุดเริ่ม
ใครเข้าใจ ทำแบบฝึกหัดและใบงานได้เร็ว ก็เลื่อนขั้นไปเรื่อย ๆ
ครูก็จะเลื่อนแม่เหล็กชื่อของแต่ละคนไปตามลำดับ คนที่ไปไกลแล้ว
ก็จะกลับมาช่วยสอนเพื่อนที่ยังตามมาไม่ทันด้วย
ดิฉันประทับใจโรงเรียนนี้ เพราะใจกว้างมาก ครูจะถามเด็ก ๆ เลยว่า
ที่บ้านใครมีน้องที่ไม่ได้เรียนหนังสือบ้าง ให้พามาเรียน
(เพราะอนุบาลที่เยอรมนีไม่ฟรี
ทำให้ครอบครัวด้อยโอกาสไม่สามารถส่งลูกเรียนอนุบาลได้) และเปิดห้องอนุบาลให้น้อง ๆ
ได้มาเรียน นอกจากนั้น ยังเปิดสอนภาษาเยอรมันให้กับพ่อแม่ผู้ลี้ภัย เพื่อจะได้คุยกับลูก
ๆ ได้อย่างรู้เรื่อง
อีกโรงเรียนที่น่าประทับใจมาก คือ โรงเรียน Wartburg-Grundschule เมือง
Münster ที่ปลูกฝังความรับผิดชอบและแนวคิดเรื่องพลเมืองตั้งแต่เด็ก
ด้วยระบบ 4 บ้านและสภาโรงเรียน ใครต้องการปรับปรุง
เปลี่ยนแปลงอะไร เชิญนำเสนอ สมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะถกและแก้ปัญหา
แสดงผลอย่างโปร่งใสด้วยบันทึกการประชุมที่ติดที่โถงด้านหน้า นักเรียนที่นี่ส่วนมากมาจากครอบครัวที่มีอันจะกิน
แต่ก็เรียนแบบคละชั้นเหมือนโรงเรียนเมื่อกี้ค่ะ การจัดการเรียนการสอนของที่นี่แสดงถึงความเป็น personalized learning
อย่างแท้จริง เด็ก ๆ แต่ละคนมีแผนการเรียนรู้รายบุคคล ครูแนะแนวทางให้ก่อน
และเปิดช่องว่างให้เด็ก ๆ ตัดสินใจถึงก้าวต่อไปของตัวเอง
มีการทำเป้าหมายการเรียนรู้ ที่สำคัญเด็ก ๆ จะได้รู้คิดเสมอว่าได้เรียนอะไรไป
ผลเป็นอย่างไร ตอบโจทย์เป้าหมายหรือไม่ เพราะมีการบันทึกเชิงประจักษ์อยู่ในแฟ้มผลงานของเด็ก
ๆ แต่ละคน ด้วยวิธีการที่ชัดเจน ระฆังสติ
การพัฒนาทีมงานในแต่ละภาคส่วนรู้หน้าที่ของตัวเอง
ทำให้กระบวนการที่ดูเหมือนยุ่งยาก เป็นไปอย่างรื่นไหลดี
ถือว่าเป็นการเดินทางที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างมาก
และหวังว่าโรงเรียนที่ไปด้วยกันจะนำไอเดียดี ๆ มาต่อยอดในประเทศของเรานะคะ
ขอขอบคุณผู้ร่วมเดินทางจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ โรงเรียนกสินธร อาคาเดมี่
โรงเรียนอนุบาลเจริญพงศ์ โรงเรียนเซนต์โยเซฟทิพวัล โรงเรียนราชินี
โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ คุณ David Klett จาก Klett Gruppe และคุณ Joachim Hecker ที่ช่วยจัดทริปครั้งนี้ค่ะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น