วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เธอให้สัญญากับฉันได้ไหมจ๊ะ

เธอให้สัญญากับฉันได้ไหมจ๊ะ

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

เราจะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจความจริงที่แสนเศร้าได้อย่างไร ว่าไม่มีอะไรอยู่จีรัง สิ่งที่มีอยู่ อาจจะหายไป คนที่รัก อาจต้องตายจาก ช่วงหลังมานี้ มีความตั้งใจหาหนังสือสำหรับเด็กที่จะอธิบายถึงการลาจาก มีหนังสือเล่มหนึ่งที่เราเกือบไม่พิมพ์ แต่คุณสุวดี (แม่ของดิฉัน) ยืนยันเพราะดีมาก คนเขียนคือเพื่อนรัก Knister นักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของผลงานชุด “แม่มดน้อยลิลลี่” ที่เคยมาพบปะนักอ่านตัวน้อยที่สาธิตจุฬาฯ นั่นเอง
Knister เขียนนิทานเรื่อง “เธอให้สัญญากับฉันได้ไหม”  ที่จะไม่พิมพ์เพราะตัวเอกของเรื่อง บรูโน เป็นมาร์มอต ความจริงก็คือกระรอกชนิดหนึ่ง และดอกแดนดิไลออน ดอกไม้นุ่มนวลสีขาวที่พอเป่าไปแล้ว จะปลิวไปตามลม ประเทศของเราไม่มีทั้งมาร์มอต ไม่มีทั้งแดนดิไลออน แต่สิ่งที่เป็นสากลและเป็นแก่นของนิทาน คือ มิตรภาพ ความรัก และพลังของคำสัญญา
หลังจากที่ บรูโน ตื่นจากการจำศีล มันได้เห็นดอกแดนดิไลออนที่แสนสวยงาม มันช่างอ่อนโยน เปล่งประกาย ทั้งสองหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน บรูโนรักดอกไม้ของมันมาก ชอบเต้นรำกับมันกลางแสงจันทร์ และดูแลมันอย่างทะนุถนอม วันหนึ่ง ดอกไม้ถามบรูโนว่า “เธอเชื่อใจฉันไหมจ๊ะ” “แน่นอน ฉันเชื่อใจเธอ” ดอกไม้จึงขอให้บรูโนสูดหายใจลึก ๆ เป่ามันให้สุดแรง “ฉันสัญญาว่าทุกอย่างจะดีเอง” เรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดอกไม้แสนสวยปลิวหายไปเสียแล้ว บรูโนเสียใจมาก แต่บรูโนจำคำสัญญาที่ให้กับแดนดิไลออนได้ “ฉันก็สัญญาไว้แล้วว่าจะเชื่อใจเธอ” บรูโนจึงเดินทางออกไปผจญภัยโลกกว้างโดยลำพัง ได้เจอเรื่องสนุกสนานมากมาย มันอยากเล่าให้ดอกไม้ของมันฟังจังเลย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงคำสัญญาอยู่ตลอดเวลา แดนดิไลออนหมายความว่าอย่างไรนะ ตอนที่บอกว่า “ทุกอย่างจะดีเอง”
ดิฉันคงไม่เล่าตอนจบ แอบบอกให้ว่าจบดี ทำให้เห็นถึงความทรงพลังของนิทาน ที่อธิบายความจริงของโลกได้อย่างสวยงาม

นักเขียนอีกคนที่น่าจับตามอง คือ Guido Van Genechten จากเบลเยียม เจ้าของผลงานชุด “ขนฟูชวนหนูเป็นเด็กดี” ความจริงมีมากกว่าสิบเล่ม แต่ 2 เล่มที่เข้าธีม คือ “ขนฟูกับกระรอก” สอนให้เด็กรู้จักรับมือกับความสูญเสีย และ “ขนฟูห่วงแม่ไก่” สอนให้เด็กอดทนรอและเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น
เมื่อเด็กต้องสูญเสียบางอย่าง คนใกล้ตัว สัตว์ หรือสิ่งของ มักรู้สึกสับสน ความตายคืออะไร ตายแล้วไปไหน เป็นความท้าทายสำหรับผู้ใหญ่ที่จะพลิกสถานการณ์แบบนี้ให้เป็นเรื่องที่สวยงาม แม้กระทั่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เพื่อนเคยรักเรา อยากอยู่กับเราตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลา เขาอาจไม่อยากอยู่กับเราแล้ว เป็นเพราะอะไร เพื่อนรักกันต้องอยู่ด้วยกันตลอดไปงั้นหรือ

ดิฉันและน้องสาวเข้าค่ายตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่จบค่ายจะรู้สึกว่าโลกสลายเสมอ เราต้องจากเพื่อนไปแล้ว คุณแม่จะพูดกับเรา “ไม่มีงานเลี้ยงใด ไม่มีวันเลิกรา” หยุดร้องไห้ หยุดถวิลหา เราจะได้เจอสิ่งที่สนุกกว่าเดิมในบทต่อไป สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ก้าวไปบทต่อไปได้ คือ ต้องมีความไว้วางใจตัวเอง (trust) Esteve Pujol I Pons เขียนในหนังสือ “20 คุณธรรมสำหรับเด็กดี” ว่าหากเด็ก ๆ มีความไว้วางใจ จิตใจจะสงบขึ้น เป็นตัวของตัวเอง ทำงานที่ยากลำบากได้ เผชิญความล้มเหลว และเชื่อมั่นว่าจะฝ่าฟันความล้มเหลวได้ “ฉันทำได้” เป็นทัศนคติที่เราต้องปลูกฝังให้กับลูกหลาน อาจลองให้เด็ก ๆ พูดถึงสิ่งที่เขาสามารถทำเองได้ จากนั้นค่อยเสริมเรื่องที่เขาลืมคิด และเพิ่มเติมเรื่องที่เขายังไม่ได้ทำลงไป เช่น ฉันว่ายน้ำเป็น ฉันขี่จักรยานเป็น เป็นต้น


หากมีเรื่องไหนที่คุณอยากคุยกับลูก แต่คิดไม่ออกว่าจะคุยอย่างไร ลองให้นิทานเป็นตัวช่วยนะคะ

วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

ฉันรักปู่ย่าตายาย

ฉันรักปู่ย่าตายาย
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.omc

ดิฉันโชคดีที่เกิดมาได้รู้จักอากง (ตา) และอาม่า (ย่า) ยายและปู่เสียชีวิตก่อนดิฉันเกิด ตอนมหาวิทยาลัย ดิฉันเรียนภาษาจีนเพื่อจะได้เขียนจดหมายหาอากงเป็นภาษาจีน เล่าถึงความคิดเห็นในเรื่องสังคมให้ท่านฟัง ถึงแม้เราไม่เคยคุยกันเรื่องความคิดคำนึง อย่างน้อย ดิฉันก็อยากให้ท่านได้รู้จักฉันในเชิงความคิดบ้าง
เด็กบางคนกลัวปู่ย่าตายาย ริ้วรอยเต็มหน้าและพูดจาไม่เหมือนพ่อแม่อาจทำให้ดูเหมือนดุ ในหนังสือ “เล่นกับปู่สนุกจัง” ลูกหมีถาม “ทำไมคุณปู่ถึงแก่ล่ะครับ” ทำไมที่ปากมีรอยย่น ทำไมที่ตามีรอยย่น ทำไมมีรอยย่นตรงกลางระหว่างตา เมื่อคุณปู่หยอกล้อตอบความ ว่าเป็นเพราะปู่ชอบหัวเราะ ชอบจ้องเขม็งตอนจับปลา หรือเพราะชอบมองขึ้นฟ้าเวลาเอาก้นถูต้นไม้  “ผมจะไม่เล่นกับคุณปู่แล้ว ผมไม่อยากมีรอยย่นเยอะ ๆ เดี๋ยวแก่เร็ว”
นักเขียน Tadao Miyamoto พูดถึงความสำคัญของปู่ย่าตายายว่า “เด็ก ๆ จะอบอุ่นใจเมื่อปู่ย่าตายาย เล่าเรื่องตอนที่พ่อแม่ยังเด็กให้ฟัง เพราะการที่เด็กได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งพ่อแม่ก็เคยดื้อและซนเหมือนพวกเขา จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพ่อแม่” กิจกรรมที่สามารถทำกับลูกได้ เช่น เมื่ออ่านนิทานจน ให้ช่วยกันทำการ์ดให้ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน เพื่อแสดงความกตัญญู
Trace Moroney เขียนบทส่งท้ายใน “ถ้วยฟูรักปู่ย่าตายาย” ว่า “ปู่ย่าตายายอาจเล่นได้หลายบทบาท เช่น เป็นนักประวัติศาสตร์ประจำตระกูล เป็นที่ปรึกษา พ่อแม่จำเป็น เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้โอบอุ้มคุ้มครอง เป็นอะไรต่อมิอะไรที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก กำลังใจ ความสบายใจ คำแนะนำและแรงหนุนที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว” เพราะเด็ก ๆ ทุกคนล้วนอยากให้คนรัก
ในหนังสืออีกเล่มของเธอ “ถ้วยฟูอยากให้คนรัก” ถ้วยฟูบอกว่า “เมื่อฉันเป็นที่รักของใคร ๆ ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองมีปีก และได้บินไปบนฟ้าที่มีหมู่ดาวระยิบระยับ ... การเป็นที่รักของใคร ๆ ทำให้ฉันเข้มแข็ง” หากมีปัญหา ก็มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ ทำให้ฉันมีความสุขและมั่นใจในตัวเอง “การเป็นที่รักทำให้ฉันรักตัวเองและรักคนอื่นด้วย” ทำให้รู้ว่าการแบ่งปันความรักให้กันและกันง่ายนิดเดียว นักเขียนยังบอกอีกว่า พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ด้วยการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก และรับฟังเขา
บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรามันกระอักกระอ่วนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ในหนังสือ “อ๊บ อ๊บ ลูกกบหาแม่” โดย Brigitte Weninger ลูกกบสองพี่น้องร้องไห้หาแม่ เพราะแม่ออกไปตามพ่อกลับบ้านแล้วไม่กลับมาอีกเลย ทั้งเม่น กา และตุ่น รู้สึกสงสาร แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะรับลูกกบไปเลี้ยง สุดท้ายแม่หนูยกมืออาสา หลายสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สุดท้ายทั้งลูกหนูและลูกกบก็มีชีวิตที่มีความสุข แม่หนูทิ้งท้ายว่า “ผู้ใหญ่อย่างเราน่ะอาจแตกต่างกันไป แต่อย่างไรเสีย...เด็กก็คือเด็ก”
หลาน ๆ คนไหนอยากหากิจกรรมทำกับปู่ย่าตายาย หาไอเดียได้จากหนังสือ “เคล็ดลับคุณปู่อายุยืน 103 ปี เพื่อสุขภาพดีไม่มีป่วย” โดย Tsui, Jie-Chen ในนี้จะมีวิธีฝึกกังฟูบนที่นอน 20 ท่า ฝึกกังฟูเลียนแบบท่าสัตว์ 8 ชนิด ฯลฯ ที่นักเขียนทำจริง จนอายุ 103 ปีแล้ว ยังไม่เจ็บป่วย ฉีกขาได้เกือบ 180 องศา ยกเท้าพาดคอไม่ติดขัด ไม่เคยใช้บัตรประกันสุขภาพ!
หากพ่อแม่คนไหนอยากบอกรักลูก แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็หาไอเดียจาก “เขียนให้รู้ว่ารัก” โดย Garth Callaghan ได้ คุณชาติศิริ โสภณพานิช เขียนในคำนิยมว่าเป็น “กุศโลบายแสดงความรักและสั่งสอนลูกให้เข้าใจชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง”


ต้องเลิกเห่อตามเพื่อน : อยากได้เกมกด

ต้องเลิกเห่อตามเพื่อน : อยากได้เกมกด
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com
“เพื่อน ๆ มีกันหมดเลย เราก็อยากมีมั่ง” คงเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) ทุกคนเคยเจอ สมัยเรียนมัธยม เคยมีเพื่อนคนหนึ่งอาละวาดใส่พ่อแม่ เพราะไม่ยอมซื้อเสื้อยืดยี่ห้อดังให้ พอพ่อแม่ยอมซื้อ แทนที่เพื่อนคนอื่น ๆ จะชื่นชมยินดีว่าคนนี้มีเสื้อสวยใส่ แต่กลับรู้สึกเวทนาสงสารพ่อแม่ของเขา

Kim Tae Kwang เขียนในหนังสือ “ช่วยผมที อยากเป็นเด็กดีบ้าง” ถึงกรณี “อยากได้เกมกด” “ถ้าอยากมีเพื่อนเยอะ ๆ ก็ต้องมีเกมกดเป็นของตัวเอง ผู้ใหญ่ชอบห้ามไม่ให้เล่นเกม แต่ผมคิดว่าถ้ามีเวลาก็น่าจะเล่นได้ เพราะเกมช่วยให้คลายเครียดและยังทำให้สนิทกับเพื่อนมากขึ้นด้วย ถ้าจะให้ก้มหน้าก้มตาทำการบ้านกับอ่านหนังสืออย่างเดียวก็เครียดเกินไปนะ”

ในหนังสือ บอยตื่นเต้นมาก เพราะพ่อเคยสัญญาว่าวันเกิดปีนี้จะซื้อเกมกดให้ พอใกล้ ๆ วัน เมื่อบอยเตือนพ่อเรื่องเกมกด พ่อก็บอกว่า “พอได้คุยกับเพื่อนพ่อหลาย ๆ คนแล้ว พ่อก็รู้สึกกังวลใจ เพราะลูก ๆ ของเพื่อนพ่อหลายคน เมื่อได้เกมมาก็มัวแต่เล่น ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเรียน” เมื่อบอยพยายามคะยั้นคะยอ พ่อจึงเสนอให้บอยลองไปคิดเหตุผลที่ต้องซื้อเกมกดมา 5 ข้อ ถ้าฟังดูแล้วสมเหตุสมผล จะซื้อให้

“เพื่อนทุกคนมีเกมกด ในเกมกดมีพจนานุกรมภาษาอังกฤษด้วย ถ้าไม่มีเกมจะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง ถ้าได้เล่นเกมฝึกสมองบ่อย ๆ ก็จะฉลาดขึ้น ถ้าเลี้ยงลูกหมาในเกม เราจะกลายเป็นคนรักสัตว์ แค่คิดว่าจะได้เล่นเกม ก็ช่วยไม่ให้ง่วงแล้ว” คิดไปคิดมา บอยก็คิดว่า 5 ข้อนี่ไม่ง่ายเสียแล้ว

ความจริงหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เข้าใจปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง ต้องเริ่มลงมือทำ ยอมรับในความแตกต่าง และใส่ใจคนรอบข้าง เรื่องของบอยอยู่ในส่วนที่ 1 ค่ะ นักเขียนปิดท้ายบทนี้ด้วยเรื่องราวของ เปเล นักฟุตบอลระดับโลก เขาบอกว่า “สมัยที่เปเลยังเป็นเด็ก เขายากจนมาก ต้องเตะฟุตบอลแบบเท้าเปล่า พ่อของเปเลเป็นคนกวาดถนนและสอนเขาเตะฟุตบอลอยู่บ่อย ๆ

ต่อมาเปเลเริ่มคบเพื่อนนิสัยไม่ดี ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ วันหนึ่งพ่อพูดว่าเปเลอย่างจริงจังว่า “เปเล ลูกเล่นฟุตบอลเก่งมาก แต่ถ้ายังดื่มเหล้าสูบบุหรี่อยู่อย่างนี้ ลูกทำความฝันให้เป็นจริงไม่ได้หรอก ... ความฝันที่แท้จริงของลูกคืออะไร ลูกต้องคิดได้แล้ว” จากนั้นพ่อก็เปิดกระเป๋าเงินเก่า ๆ แล้วหยิบเงินสำหรับซื้อบุหรี่ให้เปเล

ธนบัตรยับยู่ยี่ไม่กี่ใบในมือทำให้เปเลนึกถึงภาพตอนที่พ่อทำงานหนักแต่ยังยิ้ม เปเลคิดแล้วน้ำตาก็ไหลออกมา “ผมจะไม่ยุ่งกับเหล้าและบุหรี่อีกแล้ว ผมจะเลือกความฝันของตัวเอง” ในปี ค.ศ. 1958 ทีมชาติบราซิลก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ในขณะที่เปเลอายุเพียง 17 ปี เท่านั้นเอง

ในหนังสือ “คู่มือ kid ดี” [1]มีภารกิจวัดใจเด็ก ๆ คือ “เมื่อเราอยากมีวีดีโอเกมเหมือนเพื่อน เราจะทำอย่างไร” มีให้เลือก 6 ข้อ แต่ละข้อมีผลลัพธ์ต่างกัน คือ 1. นับเงินเก็บของตัวเอง เผื่อจะมีพอ (ถ้ามีพอ ฝันจะเป็นจริง แต่แน่ใจหรือว่าจะไม่เบื่อเกมนี้อย่างรวดเร็ว) 2. ขอพ่อแม่ทันที หรือขอจากปู่ย่าเป็นของขวัญวันเกิด (ขอได้เสมอ แต่จงรู้ว่าพวกท่านอาจมีเหตุผลที่จะไม่ให้) 3. ต่อรองพ่อแม่ให้ซื้อให้หากสอบได้คะแนนเต็ม (บางครอบครัวก็ให้รางวัลเรียนเก่ง แต่เราจะเรียนเพียงเพื่อหวังรางวัลหรือ) 4. แอบหยิบเงินจากกระเป๋าของแม่ (ห้ามโขมยเด็ดขาด พ่อแม่อาจไม่มีเงินให้เพราะค่าใช้จ่ายในบ้านสูงมาก)  5. ทำได้แค่ฝัน เพราะรู้ดีว่าไม่มีทางซื้อแน่ (ลองยืมเพื่อนเล่นได้ไหม) 6. ยืมเงินจากพี่ชายแล้วค่อยคืนทีหลัง (ยืมได้ แต่อย่าลืมเก็บเงินไปคืนด้วย แล้วแน่ใจหรือว่าเก็บเงินครบแล้วจะไม่อยากซื้อของอย่างอื่นอีก)

โจทย์สำคัญของพ่อแม่ยุคใหม่ คือ ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจปัญหาของตัวเอง และแนะนำวิธีแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หรือสอนวิธีคิดให้กับลูกหลายสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพนั่นเอง





[1] เขียน โดย Laura Jaffe, Laure Saint-Marc, Gwenaelle Boulet และ Nathalie Tordjman

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

เด็ก ๆ รู้ไหมว่าต้องประหยัดน้ำ (แล้วคุณล่ะรู้ไหม?!?)
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

ดูเหมือนว่าการที่ประเทศเราไม่มีน้ำ เกิดภาวะแล้ง จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่แต่ละบ้านพูดคุยกันอยู่ตอนนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศเป็นกฎเหมือนสมัยก่อน แต่คิดว่าครอบครัวยุคใหม่ที่อ่านบทความของดิฉันย่อมยินดี “รวมพลังปกป้องโลก” แน่นอน

ในการ์ตูนชุด “อาสาสมัครพิทักษ์โลก ตอน ฝ่าวิกฤตทรัพยากรหมดโลก” โดย Yoon Suk Ho มีบทหนึ่งชื่อ “เอเชียกับการขาดแคลนน้ำ” เล่าว่า ถ้าคนเพิ่มเพียง 2 เท่า การใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น 6 เท่า! ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนน้ำ ในปี ค.ศ. 2025 ประชากรโลกจะมี 7,500 ล้านคน อาจมีถึง 3,000 ล้านคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับการขาดน้ำ!


ดิฉันประทับใจเทคนิคที่ Jean-Rene Gombert เขียนในนิทาน “รวมพลักปกป้องโลก ตอน ฉันปิดก๊อกน้ำ เพื่อประหยัดน้ำ” การโน้มน้าวเด็ก ๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่เด็ก ๆ จะต้องช่วยโลกของเรา คือ เริ่มด้วยการทำให้เห็นถึงความสำคัญก่อนว่า ทำไมเราจึงต้องการน้ำ และชี้ให้เห็นว่า น้ำเกิดมลพิษได้อย่างไร ยังไม่พอ มีการฉายภาพให้เห็นอีกว่า “ใครนะที่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง” และปิดท้ายว่า เราจะช่วยกันประหยัดน้ำได้อย่างไร
รู้ไหมว่า “การใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนอ่างช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 5 เท่า หากเราปิดก๊อกน้ำเมื่อแปรงฟันและใช้แก้วน้ำบ้วนปาก จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 20,000 ลิตรต่อปี เท่ากับปริมาณการใช้น้ำของชาวแอฟริกันต่อคนต่อปีเลยทีเดียว หรือเทคนิคง่าย ๆ เช่น เทน้ำเท่าที่อยากดื่ม หรือ ควรรดน้ำต้นไม้ตอนเย็นดีกว่าตอนเช้า” และรู้หรือไม่ว่า คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำเฉลี่ยมากถึงวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนต่างจังหวัดใช้น้ำเพียงวันละ 50 ลิตร ดังนั้น ถ้าคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำลดลงได้ 70 ลิตรต่อวัน ก็จะประหยัดน้ำได้มากถึงวันละ 1,300 ล้านลิตรเลยทีเดียว!

Kathleen M. Reilly เขียนถึงภัยแล้งใน “โครงงานภัยธรรมชาติ” ว่า “การที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ หรือไม่ตกตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ และครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดความเสียหายและอดอยาก ... เมื่อขาดน้ำ พืชผลล้มตาย หมายถึงอาหารของมนุษย์และอาหารของปศุสัตว์ก็ลดน้อยลง หากรุนแรงก็จะทำให้เกิดการอดอยาก ลมพัดดินที่แห้งแตก ทำให้เกิดพายุฝุ่นลูกใหญ่และการกร่อน พืชและสัตว์เดือดร้อน ถิ่นที่อยู่แห้งแล้งและถูกทำลาย และอาจะเกิดไฟป่า
เด็กบางคนอาจมองภาพไม่ออกว่าสภาพภัยแล้งหมายความว่าอย่างไร เด็ก ๆ สามารถทำโครงงานตามหนังสือได้ จะได้เห็นว่า เมื่อเกิดภัยแล้ง พืชที่ไม่ได้รับน้ำจะเป็นอย่างไร เริ่มจากการปูกระดาษเอนกประสงค์ 1 แผ่นลงบนถาด แล้ววางพืชสมุนไพร เช่น กะเพรา โหระพา ประมาณ 1 กำ บนกระดาษ จากนั้นให้นำถาดวางไว้ริมหน้าต่างที่แสงแดดส่องถึง คอยตรวจดูว่าพืชเหี่ยวเร็วแค่ไหน หลังจากนั้น ลองใช้พืชสมุนไพรที่เหลือทำการทดลองใหม่ คือ นำกำหนึ่งไปวางในที่ร่วมไม่ให้โดนแสงแดด อีกกำหนึ่งวางใต้โคมไฟตั้งโต๊ะแล้วเปิดไฟส่อง และสังเกตดูว่าเมื่อเราพรมน้ำให้กับพืชที่เหี่ยว มันจะสดขึ้นหรือไม่

ในหนังสือยังสอนเด็ก ๆ ทำ “ถังรองน้ำฝน” เริ่มจากการเอาหินก้อนเล็กใส่ลงไปในขวดแกลลอน หินจะช่วยถ่วงให้ขวดไม่ล้มง่ายเวลาไปตั้งข้างนอก จากนั้น สวมกรวยลงในปากขวด ใช้เทปพันท่อน้ำพันรอบรอยต่อระหว่างกรวยกับปกขวดให้แน่น กรวยจะช่วยให้น้ำฝนไหลเข้าไปในขวดเร็วและเยอะขึ้น เสร็จแล้วให้เอาขวดนี้ไปตั้งกลางแจ้งในบริเวณที่รับน้ำฝนได้มาก เมื่อรองน้ำฝนเต็มแล้ว สามารถนำน้ำไปรดน้ำต้นไม้ได้ เมื่อใช้น้ำหมด ก็ไปรองน้ำฝนใหม่ สำคัญคือห้ามดื่มน้ำนี้เด็ดขาด เพราะอาจเปื้อนสารพิษในอากาศ
ดร.เจน กูดออลล์ นักสัตววิทยาชื่อดังของโลก กล่าวว่าทุกวันที่มีชีวิตอยู่ เราล้วนมีอิทธิพลต่อสิ่งรอบตัวทั้งนั้น ทุกสิ่งที่เราทำ เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่เราต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร

ในกรณีนี้ เมื่ออ่านบทความชิ้นนี้เสร็จ ขอให้คุยกับสมาชิกครอบครัวเลยนะคะว่า ตอนนี้ประเทศเราประสบภัยแล้ง และระดมความคิดกันเลยว่าสมาชิกแต่ละคนจะช่วยอะไรกันได้บ้าง

##################

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

ต่อยอด...ไม่ทำลาย


ต่อยอด ไม่ทำลาย

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com
วันนี้ดิฉันมีโอกาสไปเที่ยวสวนโบราณคดีมาดาบ้า ประเทศจอร์แดน รู้สึกประทับใจที่วิหารแห่งหนึ่ง สร้างโดยชาวโรมันในศตวรรษที่ 2 ต่อเติมเพิ่มเป็นโถงฮิปโปลิทัสที่มีพื้นโมเสกสวยงามตอนต้นศตวรรษที่ 4 ในสมัยไบแซนไทน์ที่ 1 ปรับปรุงเพิ่มในศตวรรษที่ 7 ในสมัยไบแซนไทน์ที่ 2 และต่อเติมพื้นโมเสกสวยงามขึ้นไปอีกโดยชนเผ่าอูมัยยาดในสมัยอิสลาม
ดิฉันประทับใจแนวความคิด “ต่อยอด ไม่ทำลาย” เพราะหลายครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนการปกครอง โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนศาสนา มักมีการทำลายเกิดขึ้น เช่น รูปปั้นพระพุทธรูปที่ถูกตัดเศียรในนครวัด เป็นต้น 


บนพื้นโมเสกในโถงฮิปโปลิทัสนี้ ใจกลางเป็นลายดั้งเดิมของโบสถ์ในสมัยไบแซนไทน์ แต่รอบนอกเป็นการออกแบบเพิ่มในสมัยอิสลาม แลดูสวยงาม ไม่เห็นรอยต่อ สะท้อนให้คิดว่า หากผู้นำใจกว้างทุกอย่างน่าจะเป็นไปได้ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องศาสนาหรอกนะคะ เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารก็มักเปลี่ยนโยบาย หลายครั้งไม่พัฒนาจากสภาพปัจจุบัน แต่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ทำงานขาดความต่อเนื่อง

สองสัปดาห์ที่แล้ว โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เชิญวิทยากรหลักจากมูลนิธิ Haus der kleinen Forscher ประเทศเยอรมนี มาพัฒนาทีมวิทยากรหลักคนไทยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมาเราใช้แนวคิด Research Cycle แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเป็น Inquiry Circle ทำให้เราแปลกใจว่าทำไมเปลี่ยน เมื่อถามไป เขาก็ตอบมาว่า เขาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เมื่อพบสิ่งที่ดีกว่าเดิมก็เปลี่ยนได้ หลังจากถกกันว่าเปลี่ยนทำไม เปลี่ยนดีไหม ก็มาสู่ข้อสรุปว่าเราจะเปลี่ยน แต่สำคัญคือ เรารู้ว่าจะเปลี่ยนเพราะอะไร
สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันคุยกับทีมงานถึงแนวทางการปรับปรุงงานในปีหน้า มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งแย้งว่า บริษัทเราเปลี่ยนแปลงบ่อยจัง กลัวว่าลูกค้ารับไม่ได้ ดิฉันจึงชวนทีมงานไล่คิดถึงที่มาที่ไป ปีนี้เกิดอะไรขึ้นที่เราคิดว่าทำได้ดี แต่มีเรื่องอะไรที่คิดว่าควรทำให้ดีขึ้น จนทำให้เราเข้าใจว่า หากเรามีหลักคิด มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวกับคำพูดหรือความคิดเห็นของคนรอบข้าง แต่เราสามารถสร้างความเข้าใจกับพวกเขาได้
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่อตอกย้ำว่า ในยุคปัจจุบัน เราหยุดอยู่กับที่หรือยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป ชาลส์ ดาร์วิน บอกว่า “ไม่ใช่คนที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะเอาชีวิตรอดได้ แต่เป็นคนที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างหาก” เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำคัญมาก ง่ายที่สุดก็เรียกว่า PDCA คือ Plan Do Check Action เริ่มจาการวางแผน ลองทำดู ตรวจสอบว่าทำแล้วดีไหม ควรปรับตรงไหนไหม ปรับตามนั้น แล้วก็วนรอบไปเรื่อย ๆ

ระหว่างที่ไกด์เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์ ก็มีการพูดถึงกรณีที่กษัตริย์ฮุสเซนต้องปล่อยมือจากเขตเวสต์แบงก์ให้กับอิสราเอล ทำไมถึงยอมมอบดินแดนให้คนอื่น ไกด์ของเราออกความเห็นว่า “เพราะรู้อยู่แล้วว่าหากสู้ก็ต้องแพ้ คนต้องตายอีกมากมาย เพราะฉะนั้น ต้องตัดใจ มองภาพใหญ่” เพื่อนอีกคนเลยบอกว่า คงเป็นเหมือนกับตอนที่ประเทศไทยเราต้องมอบดินแดนบางส่วนให้อังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5
คงยากที่เรื่องแบบนี้จะมีทางออกที่ถูกใจทุกคน แต่ในฐานะผู้นำ ต้องมองภาพใหญ่เป็นหลัก ไม่ควรยึดติดกับ “ความรู้สึกผูกพัน” มากเกินไป เพราะสุดท้าย “อดีต” หรือ “ความรู้สึก” ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีได้
ดร.สเปนเซอร์ จอห์นสัน เขียนในหนังสือ “ใครเอาเนยแข็งของฉันไป” ว่า “ชีวิตก้าวเดิน เราก็ต้องเดินไปกับมัน” “สิ่งที่เราหวาดกลัวมันไม่แย่อย่างที่เราคิดหรอก” “หากเราเห็นว่าเราทำอะไรผิดไป ขอให้หัวเราะเยาะมัน เปลี่ยนแปลง แล้วทำให้ดีขึ้น”

วันนี้ ดิฉันเห็นท้องฟ้าที่สวยงามมาก จากสีฟ้าสดตอนบ่าย เป็นสีม่วงผสมชมพูและส้มในยามอาทิตย์ตกดิน ปีใหม่แล้ว จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อน ๆ ทุกคน “ต่อยอด ไม่ทำลาย” นะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

Mini Phaenomenta ศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน


โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

ลายเดือนก่อน ดิฉันเล่าถึงโครงการสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่นานมีบุ๊คส์ร่วมดำเนินงานกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนโดยสถาบันเกอเธ่ ตอนนี้โครงการนี้เริ่มแล้วนะคะ
ตอนที่ดิฉันเชื้อเชิญโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ามาฟังว่า Mini Phaenomenta เป็นอย่างไร อาจสุดโต่งอย่างไร ก็มีโรงเรียนทั้งหมด 7 แห่ง[1]ลงชื่อว่าจะนำร่องด้วย เมื่อเดือนที่แล้วทั้ง 7 โรงเรียนนี้ส่งตัวแทนครูและผู้ปกครองที่แอ็กทีฟโรงเรียนละ 3 คนมาร่วมเวิร์กช็อป 3 วัน 2 คืนด้วยกันที่ Go Genius Learning Center เขาใหญ่
เป้าหมายของเวิร์กช็อปคือทลายกำแพงของ “ความเป็นไปไม่ได้” ในการทำงานไม้ การก่อสร้าง ความจริงในโรงเรียนนานาชาติ เด็กทุกคนจะมีประสบการณ์ทำงานช่าง งานไม้ในวิชา Design & Technology แต่โรงเรียนไทยไม่มีวิชานี้ เพราะฉะนั้น คนไทยส่วนมากไม่เคยจับเครื่องมือมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อยไม้ เจาะรู ตัดกระจก เป็นต้น

ในครั้งนี้ ผู้ร่วมเวิร์กช็อปถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน แต่ละกลุ่มจะได้ “วิธีสร้าง” สถานีวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน แล้วลงมือทำจริง โดยวิทยากรจะสวมหมวก facilitator คือ ไม่บอก ไม่สั่ง แต่คอยแนะถึงเทคนิค เช่น วิธีการตัดไม้รูปครึ่งวงกลม เป็นต้น พอสิ้นวัน ทุกคนจะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเห็นประจักษ์ว่า “ฉันทำได้ด้วยมือของฉันเอง”
ความจริงแล้ว พอถึงคราวที่แต่ละโรงเรียนจะไปสร้างสถานีการทดลองเอง ครูจะไม่ได้เป็นคนสร้างนะคะ แต่จะเชิญชวนให้ผู้ปกครองเป็นคนสร้างให้โรงเรียน ระหว่างที่เราสะท้อนความคิดตอนกลางคืน หลายท่านบอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมกับผู้ปกครองแบบนี้ รู้สึกพิเศษมาก หลายท่านคงจำได้ว่า ก่อนดิฉันรับปาก ดร.ฟีเซอร์ (ผู้คิดค้นคอนเซ็ป Mini Phaenomenta) ว่าจะทำโครงการนี้ที่ประเทศไทย ดิฉันเคยเถียงท่านว่า ผู้ปกครองชาวไทยไม่น่าจะยอมสร้างสถานีฯ เป็นอันขาด คงจะว่าจ้างช่างไม้ข้างนอก หรือไม่ก็ให้ครูทำ ตอนนี้ดิฉันเข้าใจแล้ว การที่ ดร.ฟีเซอร์ กำหนดว่าทุกโรงเรียนที่ร่วมโครงการจะต้องส่งตัวแทนมาเวิร์กช็อปก่อน ก็เพื่อโน้มน้าวแบบธรรมชาติที่สุดว่า “เราทำได้” และเมื่อเชิญผู้ปกครองมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้นี่แหละที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับเราต่อไป

จุดเด่นอีกอย่างของ Mini Phaenomenta คือ ห้ามติดป้ายชื่อ วิธีเล่น และคำอธิบายของปรากฏการณ์เด็ดขาด เรื่องนี้คือเรื่องสุดโต่งที่ดิฉันกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่โดนแรงต้านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในระดับวิทยากรของเราเองก็ตาม ครู และผู้ปกครอง แต่ในวันสุดท้ายของเวิร์กช็อป ทุกคนจะทำกิจกรรม Genetic Talk คือ เราแบ่งกันเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั่งล้อมรอบสถานีที่ประทับใจที่สุด ในเวลานี้ วิทยากรทำหน้าที่ facilitate อย่างเดียว ซึ่งทุกคนต้องอดใจเปิดปากอย่างมาก เราจะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเวิร์กช็อป “เล่น” กับสถานีต่อหน้าทุกคน โดยมีกติกาคือ จะต้องพูดออกมาเสียงดังว่า “ฉันกำลังจะทำอะไร ฉันคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น” แล้วก็ทำมัน จากนั้นให้พูดว่า “พบว่ามันเกิดอะไรขึ้น น่าจะเป็นเพราะอะไร” แล้วก็กลับที่ คนต่อไปที่ยกมือก็จะเวียนกระบวนการนี้ แต่จะเปลี่ยนตัวแปรไปเรื่อย ๆ “คราวนี้ฉันจะทำแบบนี้บ้าง ฉันคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ลองทำดู “ฮืม มันกลับเป็นแบบนั้น” ฯลฯ ที่ต้องบอกว่าวิทยากรต้องปิดปากตัวเองเป็นเพราะ สิ่งที่บางคนพูดมันผิดเพี้ยนมาก หรือถูกต้องโป๊ะเชะมาก แต่วิทยากรห้ามโต้เถียง ห้ามอธิบาย หรือห้ามคอนเฟิร์ม นี่คือคือกระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติ โดยใช้วิธีการ Accommodation (เรียนรู้จากความแตกต่างในความคิดตอนต้น) ซึ่งครู (หรือในที่นี้คือวิทยากร) สามารถกระตุ้นได้มากขึ้นด้วยกระบวนการ Genetic Talk ค่ะ


ตอนนี้เปิดเทอมสองแล้ว ทั้ง 7 โรงเรียนเริ่มนำ Mini Phaenomenta เข้าโรงเรียนจริง โดยก้าวแรก โครงการของเราจะเอาสถานีเคลื่อนที่ไปให้ยืมโรงละสองสัปดาห์ ระหว่างนั้น โรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองให้มาเห็นความมหัศจรรย์และแววตาของเด็ก ๆ เพื่อหลังจากที่สถานีถูกเวียนไปโรงเรียนอื่น ผู้ปกครองก็จะได้ยกมืออาสาสร้างสถานีประจำให้กับโรงเรียน หากโรงเรียนไหนสนใจร่วมโครงการกับเราในปีการศึกษา 2559 กรุณาอีเมลหาดิฉันได้เลยค่ะ



[1] โรงเรียนทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ เซนต์โยเซฟทิพวัล จิตรลดา อัสสัมชัญสมุทรปราการ เพลินพัฒนา รุ่งอรุณ อนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ อนุบาลเมืองอุทัยธานี