วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559

เด็ก ๆ รู้ไหมว่าต้องประหยัดน้ำ (แล้วคุณล่ะรู้ไหม?!?)
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

ดูเหมือนว่าการที่ประเทศเราไม่มีน้ำ เกิดภาวะแล้ง จะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่แต่ละบ้านพูดคุยกันอยู่ตอนนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะไม่ได้ประกาศเป็นกฎเหมือนสมัยก่อน แต่คิดว่าครอบครัวยุคใหม่ที่อ่านบทความของดิฉันย่อมยินดี “รวมพลังปกป้องโลก” แน่นอน

ในการ์ตูนชุด “อาสาสมัครพิทักษ์โลก ตอน ฝ่าวิกฤตทรัพยากรหมดโลก” โดย Yoon Suk Ho มีบทหนึ่งชื่อ “เอเชียกับการขาดแคลนน้ำ” เล่าว่า ถ้าคนเพิ่มเพียง 2 เท่า การใช้น้ำจะเพิ่มขึ้น 6 เท่า! ตอนนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนน้ำ ในปี ค.ศ. 2025 ประชากรโลกจะมี 7,500 ล้านคน อาจมีถึง 3,000 ล้านคนที่ต้องทุกข์ทรมานกับการขาดน้ำ!


ดิฉันประทับใจเทคนิคที่ Jean-Rene Gombert เขียนในนิทาน “รวมพลักปกป้องโลก ตอน ฉันปิดก๊อกน้ำ เพื่อประหยัดน้ำ” การโน้มน้าวเด็ก ๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่เด็ก ๆ จะต้องช่วยโลกของเรา คือ เริ่มด้วยการทำให้เห็นถึงความสำคัญก่อนว่า ทำไมเราจึงต้องการน้ำ และชี้ให้เห็นว่า น้ำเกิดมลพิษได้อย่างไร ยังไม่พอ มีการฉายภาพให้เห็นอีกว่า “ใครนะที่ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง” และปิดท้ายว่า เราจะช่วยกันประหยัดน้ำได้อย่างไร
รู้ไหมว่า “การใช้ฝักบัวอาบน้ำแทนอ่างช่วยประหยัดน้ำได้มากถึง 5 เท่า หากเราปิดก๊อกน้ำเมื่อแปรงฟันและใช้แก้วน้ำบ้วนปาก จะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 20,000 ลิตรต่อปี เท่ากับปริมาณการใช้น้ำของชาวแอฟริกันต่อคนต่อปีเลยทีเดียว หรือเทคนิคง่าย ๆ เช่น เทน้ำเท่าที่อยากดื่ม หรือ ควรรดน้ำต้นไม้ตอนเย็นดีกว่าตอนเช้า” และรู้หรือไม่ว่า คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำเฉลี่ยมากถึงวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนต่างจังหวัดใช้น้ำเพียงวันละ 50 ลิตร ดังนั้น ถ้าคนกรุงเทพฯ ใช้น้ำลดลงได้ 70 ลิตรต่อวัน ก็จะประหยัดน้ำได้มากถึงวันละ 1,300 ล้านลิตรเลยทีเดียว!

Kathleen M. Reilly เขียนถึงภัยแล้งใน “โครงงานภัยธรรมชาติ” ว่า “การที่มีฝนตกน้อยกว่าปกติ หรือไม่ตกตามฤดูกาลเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ และครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดความเสียหายและอดอยาก ... เมื่อขาดน้ำ พืชผลล้มตาย หมายถึงอาหารของมนุษย์และอาหารของปศุสัตว์ก็ลดน้อยลง หากรุนแรงก็จะทำให้เกิดการอดอยาก ลมพัดดินที่แห้งแตก ทำให้เกิดพายุฝุ่นลูกใหญ่และการกร่อน พืชและสัตว์เดือดร้อน ถิ่นที่อยู่แห้งแล้งและถูกทำลาย และอาจะเกิดไฟป่า
เด็กบางคนอาจมองภาพไม่ออกว่าสภาพภัยแล้งหมายความว่าอย่างไร เด็ก ๆ สามารถทำโครงงานตามหนังสือได้ จะได้เห็นว่า เมื่อเกิดภัยแล้ง พืชที่ไม่ได้รับน้ำจะเป็นอย่างไร เริ่มจากการปูกระดาษเอนกประสงค์ 1 แผ่นลงบนถาด แล้ววางพืชสมุนไพร เช่น กะเพรา โหระพา ประมาณ 1 กำ บนกระดาษ จากนั้นให้นำถาดวางไว้ริมหน้าต่างที่แสงแดดส่องถึง คอยตรวจดูว่าพืชเหี่ยวเร็วแค่ไหน หลังจากนั้น ลองใช้พืชสมุนไพรที่เหลือทำการทดลองใหม่ คือ นำกำหนึ่งไปวางในที่ร่วมไม่ให้โดนแสงแดด อีกกำหนึ่งวางใต้โคมไฟตั้งโต๊ะแล้วเปิดไฟส่อง และสังเกตดูว่าเมื่อเราพรมน้ำให้กับพืชที่เหี่ยว มันจะสดขึ้นหรือไม่

ในหนังสือยังสอนเด็ก ๆ ทำ “ถังรองน้ำฝน” เริ่มจากการเอาหินก้อนเล็กใส่ลงไปในขวดแกลลอน หินจะช่วยถ่วงให้ขวดไม่ล้มง่ายเวลาไปตั้งข้างนอก จากนั้น สวมกรวยลงในปากขวด ใช้เทปพันท่อน้ำพันรอบรอยต่อระหว่างกรวยกับปกขวดให้แน่น กรวยจะช่วยให้น้ำฝนไหลเข้าไปในขวดเร็วและเยอะขึ้น เสร็จแล้วให้เอาขวดนี้ไปตั้งกลางแจ้งในบริเวณที่รับน้ำฝนได้มาก เมื่อรองน้ำฝนเต็มแล้ว สามารถนำน้ำไปรดน้ำต้นไม้ได้ เมื่อใช้น้ำหมด ก็ไปรองน้ำฝนใหม่ สำคัญคือห้ามดื่มน้ำนี้เด็ดขาด เพราะอาจเปื้อนสารพิษในอากาศ
ดร.เจน กูดออลล์ นักสัตววิทยาชื่อดังของโลก กล่าวว่าทุกวันที่มีชีวิตอยู่ เราล้วนมีอิทธิพลต่อสิ่งรอบตัวทั้งนั้น ทุกสิ่งที่เราทำ เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่เราต้องตัดสินใจว่าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร

ในกรณีนี้ เมื่ออ่านบทความชิ้นนี้เสร็จ ขอให้คุยกับสมาชิกครอบครัวเลยนะคะว่า ตอนนี้ประเทศเราประสบภัยแล้ง และระดมความคิดกันเลยว่าสมาชิกแต่ละคนจะช่วยอะไรกันได้บ้าง

##################

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น