วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

HIVE ท่องเที่ยวเพื่อสังคม

เมื่อพี่เอด้า จิรไพศาลกุล ผู้ก่อตั้ง TYPN (Thailand Young Philanthropist Network) ชวนไปทำนาโยน ดิฉันตอบรับทันที เพราะไม่เคยปลูกข้าว ที่สำคัญ มั่นใจว่าทริปนี้ต้องได้พบเพื่อนใหม่ที่ใส่ใจเรื่อง “สังคม” เหมือนกันแน่นอน

TYPN เป็นเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยทักษะวิชาชีพของตน พร้อมสนับสนุนให้เกิดกิจการเพื่อสังคม (SE: Social Enterprise) ขึ้นอีกด้วย SE เป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ประเด็นสังคมที่ผู้ก่อตั้งเชื่อและศรัทธา โดยมีโมเดลการทำธุรกิจที่สร้าง impact วัดผลได้ และยั่งยืน


ทริปครั้งนี้เป็นฝีมือจัดของ SE เจ้าหนึ่ง ชื่อ HIVE เป็นบริษัททัวร์เพื่อสังคม ก่อตั้งโดยสองสาวพี่น้อง อชิและมิ้นท์ อชิเคยทำงานที่ยูนิลีเวอร์ ส่วนมิ้นท์เคยเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติ โดยมีคอนเซ็ปเสาะหาสถานที่ที่คนไม่ค่อยไป ที่ชาวบ้านทำกิจกรรมที่เหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา มาออกแบบเป็นโปรแกรมเที่ยวที่ hands-on สนุก และเป็นวิถีแบบยั่งยืน (sustainable tourism) นอกจากจะได้เพิ่มคุณค่าและรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ยังสร้างความหมายให้นักเดินทางอย่างพวกเราด้วย

ครั้งนี้ HIVE พากลุ่ม TYPN ไปทำนาโยนที่กรีนลิฟวิงแคมป์ จ.นครปฐม ถือเป็นฟาร์มข้าวออแกนิกไม่กี่เจ้าที่ผ่านการรับรองระดับโลก ไม่ใช่แค่ไม่ใส่สารเคมี แต่เป็นการปรับระบบนิเวศโดยรอบให้เป็นไปตามครรลองของออแกนิก โดยมีกำลังสำคัญเป็นเป็ด 200 ตัว ซึ่งต้องออกจากเล้าไปทำงานทุกวันตอนเก้าโมง เวลาเป็ดว่ายน้ำเล่น บินเล่น ปีกที่กระพือจะปัดโดนต้นข้าว ไล่แมลงที่ซ่อนอยู่ เท้าคุ้ยดิน กวนวัชพืน และปล่อยปุ๋ย (อึ) ตลอดทาง

ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกมาก ได้ประสบการณ์จากทุกประสาทสัมผัส เพราะทั้งได้ความรู้จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพี่ยุทธและพี่ยุง สองพี่น้องที่ผันตัวเองมาเป็นชาวนาออแกนิก และได้ลองทำด้วยมือตัวเองด้วย พวกเราได้ไปตีนา (เตรียมดิน) ถอนกล้า และโยนกล้า


การทำนามีหลายวิธี เช่น หว่าน ปักดำ และโยนนา แต่ถ้าจะปลูกข้าวออแกนิกต้องใช้วิธีโยนนาค่ะ ความจริงดิฉันเคยโยนกล้าครั้งหนึ่งตอนจัด Nanmeebooks Science Festival ปี 2556 ครั้งนั้นจัดธีม “เกษตรกรรมลองทำดู” ได้ต้นกล้าจากกรมการข้าวมา 5,000 ต้น ตอนนั้นไม่เข้าใจ ขอตามจำนวนเด็กนักเรียนที่ลงชื่อมาร่วมงาน ตอนทดสอบกิจกรรม ก็โยนกันคนละ 1 ต้น เพิ่งมาถึงบางอ้อว่าเวลาโยนจริง ๆ ต้องโยนทีละกำเลยค่ะ สนุกมาก เพราะต้องลุยโคลนจริง ๆ พวกเราไปกัน 24 คน ยืนเรียงแถวที่ฝั่งหนึ่ง แล้วค่อย ๆ เดินถอยหลัง ถอยไปด้วย โยนกล้าไปด้วย พอถึงอีกฝั่ง ก็โยนกล้าครบพอดีค่ะ และด้วยกฎของแรงโน้มถ่วง ตุ้มของต้นกล้าก็จะปักดินพอดีเลยค่ะ มหัศจรรย์เหลือเกิน

ข้าวที่ปลูกคือพันธุ์ปิ่นเกษตร อร่อยมาก และทริปนี้ทำให้ดิฉันรู้ว่าข้าวกล้องงอกก็คือข้าวกล้องที่ผ่านกระบวนการให้งอก ซึ่งจะให้ประโยชน์ทางโภชนาการมากขึ้น ก่อนหน้านี้ดิฉันนึกว่าข้าวกล้องงอกคืออีกพันธ์ คุณอาจคิดว่าดิฉันเด๋อนะคะ ทำไมไม่รู้ ทริปนี้ทำให้ดิฉันรู้ตัวว่าไม่รู้หลายอย่างมากค่ะ ประเด็นคือ การที่ได้เรียนรู้ด้วยวิธีที่หลากหลาย ในสถานที่ที่แปลกใหม่ กับกลุ่มคนที่หลากหลาย เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญและมีประสิทธิผลมากจริง ๆ ค่ะ

นี่คือ project based learning ที่ดีเยี่ยม พวกเราทั้ง 24 คนมีโจทย์ตั้งต้นที่ไม่เหมือนกัน บ้างสนใจเรื่องข้าวออแกนิก บ้างสนใจเรื่องกิจการเพื่อสังคม บ้างสนใจเรื่อง sustainable tourism บ้างต้องการเพื่อนใหม่ สารพัดโจทย์มาพร้อมกับกิจกรรมที่หลากหลาย มาพร้อมกับการพูดคุย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (ที่มักจะต่างกัน) ลงมือทำจริง ซึ่งทุกกิจกรรมก็สร้างแรงบันดาลใจให้อยากรู้เรื่องอื่นต่อ เด้งไปเด้งมา จนเมื่อสิ้นวัน แต่ละคนก็ได้คำตอบที่อาจจะต่างและอาจจะเหมือน เท่านั้นไม่พอ ความประทับใจยังคงอยู่จนอยากมาเล่าต่อให้เพื่อนฟัง ถือเป็นการตอกย้ำความเข้าใจและความคิดเห็นให้ตัวเองอีกรอบ

ดิฉันขอชื่นชมพี่ยุทธและพี่ยุงที่ใจกล้าและใจกว้างพอที่มาปลูกข้าวออแกนิกให้คนไทยได้กิน ขอแสดงความยินดีกับสองสาว อชิและมิ้นท์ ที่ก่อตั้ง HIVE และทำได้อย่างดีเยี่ยม และขอบคุณ  TYPN ที่รวมพลคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทิ้งขว้างความรู้ที่เรียนมา มาสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับสังคมไทยของเราค่ะ

1 ความคิดเห็น:

  1. อันนี้ใช้วิธีแบบ เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งใช่ป่ะครับ นอกจากเป็ดจะช่วยกินศัตรูพืชอย่างหอยเชอรี่แล้ว

    ข้อดีอีกอย่าง ตอนเช้าเป็ดมักจะไข่ออกมาด้วย คนเลี้ยงตื่นมาก็เก็บขายได้ตังค์เลย

    ตอบลบ