วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

ฉันรักปู่ย่าตายาย

ฉันรักปู่ย่าตายาย
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.omc

ดิฉันโชคดีที่เกิดมาได้รู้จักอากง (ตา) และอาม่า (ย่า) ยายและปู่เสียชีวิตก่อนดิฉันเกิด ตอนมหาวิทยาลัย ดิฉันเรียนภาษาจีนเพื่อจะได้เขียนจดหมายหาอากงเป็นภาษาจีน เล่าถึงความคิดเห็นในเรื่องสังคมให้ท่านฟัง ถึงแม้เราไม่เคยคุยกันเรื่องความคิดคำนึง อย่างน้อย ดิฉันก็อยากให้ท่านได้รู้จักฉันในเชิงความคิดบ้าง
เด็กบางคนกลัวปู่ย่าตายาย ริ้วรอยเต็มหน้าและพูดจาไม่เหมือนพ่อแม่อาจทำให้ดูเหมือนดุ ในหนังสือ “เล่นกับปู่สนุกจัง” ลูกหมีถาม “ทำไมคุณปู่ถึงแก่ล่ะครับ” ทำไมที่ปากมีรอยย่น ทำไมที่ตามีรอยย่น ทำไมมีรอยย่นตรงกลางระหว่างตา เมื่อคุณปู่หยอกล้อตอบความ ว่าเป็นเพราะปู่ชอบหัวเราะ ชอบจ้องเขม็งตอนจับปลา หรือเพราะชอบมองขึ้นฟ้าเวลาเอาก้นถูต้นไม้  “ผมจะไม่เล่นกับคุณปู่แล้ว ผมไม่อยากมีรอยย่นเยอะ ๆ เดี๋ยวแก่เร็ว”
นักเขียน Tadao Miyamoto พูดถึงความสำคัญของปู่ย่าตายายว่า “เด็ก ๆ จะอบอุ่นใจเมื่อปู่ย่าตายาย เล่าเรื่องตอนที่พ่อแม่ยังเด็กให้ฟัง เพราะการที่เด็กได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งพ่อแม่ก็เคยดื้อและซนเหมือนพวกเขา จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพ่อแม่” กิจกรรมที่สามารถทำกับลูกได้ เช่น เมื่ออ่านนิทานจน ให้ช่วยกันทำการ์ดให้ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน เพื่อแสดงความกตัญญู
Trace Moroney เขียนบทส่งท้ายใน “ถ้วยฟูรักปู่ย่าตายาย” ว่า “ปู่ย่าตายายอาจเล่นได้หลายบทบาท เช่น เป็นนักประวัติศาสตร์ประจำตระกูล เป็นที่ปรึกษา พ่อแม่จำเป็น เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้โอบอุ้มคุ้มครอง เป็นอะไรต่อมิอะไรที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก กำลังใจ ความสบายใจ คำแนะนำและแรงหนุนที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว” เพราะเด็ก ๆ ทุกคนล้วนอยากให้คนรัก
ในหนังสืออีกเล่มของเธอ “ถ้วยฟูอยากให้คนรัก” ถ้วยฟูบอกว่า “เมื่อฉันเป็นที่รักของใคร ๆ ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองมีปีก และได้บินไปบนฟ้าที่มีหมู่ดาวระยิบระยับ ... การเป็นที่รักของใคร ๆ ทำให้ฉันเข้มแข็ง” หากมีปัญหา ก็มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ ทำให้ฉันมีความสุขและมั่นใจในตัวเอง “การเป็นที่รักทำให้ฉันรักตัวเองและรักคนอื่นด้วย” ทำให้รู้ว่าการแบ่งปันความรักให้กันและกันง่ายนิดเดียว นักเขียนยังบอกอีกว่า พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ด้วยการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก และรับฟังเขา
บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรามันกระอักกระอ่วนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ในหนังสือ “อ๊บ อ๊บ ลูกกบหาแม่” โดย Brigitte Weninger ลูกกบสองพี่น้องร้องไห้หาแม่ เพราะแม่ออกไปตามพ่อกลับบ้านแล้วไม่กลับมาอีกเลย ทั้งเม่น กา และตุ่น รู้สึกสงสาร แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะรับลูกกบไปเลี้ยง สุดท้ายแม่หนูยกมืออาสา หลายสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สุดท้ายทั้งลูกหนูและลูกกบก็มีชีวิตที่มีความสุข แม่หนูทิ้งท้ายว่า “ผู้ใหญ่อย่างเราน่ะอาจแตกต่างกันไป แต่อย่างไรเสีย...เด็กก็คือเด็ก”
หลาน ๆ คนไหนอยากหากิจกรรมทำกับปู่ย่าตายาย หาไอเดียได้จากหนังสือ “เคล็ดลับคุณปู่อายุยืน 103 ปี เพื่อสุขภาพดีไม่มีป่วย” โดย Tsui, Jie-Chen ในนี้จะมีวิธีฝึกกังฟูบนที่นอน 20 ท่า ฝึกกังฟูเลียนแบบท่าสัตว์ 8 ชนิด ฯลฯ ที่นักเขียนทำจริง จนอายุ 103 ปีแล้ว ยังไม่เจ็บป่วย ฉีกขาได้เกือบ 180 องศา ยกเท้าพาดคอไม่ติดขัด ไม่เคยใช้บัตรประกันสุขภาพ!
หากพ่อแม่คนไหนอยากบอกรักลูก แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็หาไอเดียจาก “เขียนให้รู้ว่ารัก” โดย Garth Callaghan ได้ คุณชาติศิริ โสภณพานิช เขียนในคำนิยมว่าเป็น “กุศโลบายแสดงความรักและสั่งสอนลูกให้เข้าใจชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง”


ต้องเลิกเห่อตามเพื่อน : อยากได้เกมกด

ต้องเลิกเห่อตามเพื่อน : อยากได้เกมกด
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com
“เพื่อน ๆ มีกันหมดเลย เราก็อยากมีมั่ง” คงเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ (และผู้ใหญ่) ทุกคนเคยเจอ สมัยเรียนมัธยม เคยมีเพื่อนคนหนึ่งอาละวาดใส่พ่อแม่ เพราะไม่ยอมซื้อเสื้อยืดยี่ห้อดังให้ พอพ่อแม่ยอมซื้อ แทนที่เพื่อนคนอื่น ๆ จะชื่นชมยินดีว่าคนนี้มีเสื้อสวยใส่ แต่กลับรู้สึกเวทนาสงสารพ่อแม่ของเขา

Kim Tae Kwang เขียนในหนังสือ “ช่วยผมที อยากเป็นเด็กดีบ้าง” ถึงกรณี “อยากได้เกมกด” “ถ้าอยากมีเพื่อนเยอะ ๆ ก็ต้องมีเกมกดเป็นของตัวเอง ผู้ใหญ่ชอบห้ามไม่ให้เล่นเกม แต่ผมคิดว่าถ้ามีเวลาก็น่าจะเล่นได้ เพราะเกมช่วยให้คลายเครียดและยังทำให้สนิทกับเพื่อนมากขึ้นด้วย ถ้าจะให้ก้มหน้าก้มตาทำการบ้านกับอ่านหนังสืออย่างเดียวก็เครียดเกินไปนะ”

ในหนังสือ บอยตื่นเต้นมาก เพราะพ่อเคยสัญญาว่าวันเกิดปีนี้จะซื้อเกมกดให้ พอใกล้ ๆ วัน เมื่อบอยเตือนพ่อเรื่องเกมกด พ่อก็บอกว่า “พอได้คุยกับเพื่อนพ่อหลาย ๆ คนแล้ว พ่อก็รู้สึกกังวลใจ เพราะลูก ๆ ของเพื่อนพ่อหลายคน เมื่อได้เกมมาก็มัวแต่เล่น ไม่ค่อยสนใจเรื่องการเรียน” เมื่อบอยพยายามคะยั้นคะยอ พ่อจึงเสนอให้บอยลองไปคิดเหตุผลที่ต้องซื้อเกมกดมา 5 ข้อ ถ้าฟังดูแล้วสมเหตุสมผล จะซื้อให้

“เพื่อนทุกคนมีเกมกด ในเกมกดมีพจนานุกรมภาษาอังกฤษด้วย ถ้าไม่มีเกมจะคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง ถ้าได้เล่นเกมฝึกสมองบ่อย ๆ ก็จะฉลาดขึ้น ถ้าเลี้ยงลูกหมาในเกม เราจะกลายเป็นคนรักสัตว์ แค่คิดว่าจะได้เล่นเกม ก็ช่วยไม่ให้ง่วงแล้ว” คิดไปคิดมา บอยก็คิดว่า 5 ข้อนี่ไม่ง่ายเสียแล้ว

ความจริงหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เข้าใจปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง ต้องเริ่มลงมือทำ ยอมรับในความแตกต่าง และใส่ใจคนรอบข้าง เรื่องของบอยอยู่ในส่วนที่ 1 ค่ะ นักเขียนปิดท้ายบทนี้ด้วยเรื่องราวของ เปเล นักฟุตบอลระดับโลก เขาบอกว่า “สมัยที่เปเลยังเป็นเด็ก เขายากจนมาก ต้องเตะฟุตบอลแบบเท้าเปล่า พ่อของเปเลเป็นคนกวาดถนนและสอนเขาเตะฟุตบอลอยู่บ่อย ๆ

ต่อมาเปเลเริ่มคบเพื่อนนิสัยไม่ดี ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ วันหนึ่งพ่อพูดว่าเปเลอย่างจริงจังว่า “เปเล ลูกเล่นฟุตบอลเก่งมาก แต่ถ้ายังดื่มเหล้าสูบบุหรี่อยู่อย่างนี้ ลูกทำความฝันให้เป็นจริงไม่ได้หรอก ... ความฝันที่แท้จริงของลูกคืออะไร ลูกต้องคิดได้แล้ว” จากนั้นพ่อก็เปิดกระเป๋าเงินเก่า ๆ แล้วหยิบเงินสำหรับซื้อบุหรี่ให้เปเล

ธนบัตรยับยู่ยี่ไม่กี่ใบในมือทำให้เปเลนึกถึงภาพตอนที่พ่อทำงานหนักแต่ยังยิ้ม เปเลคิดแล้วน้ำตาก็ไหลออกมา “ผมจะไม่ยุ่งกับเหล้าและบุหรี่อีกแล้ว ผมจะเลือกความฝันของตัวเอง” ในปี ค.ศ. 1958 ทีมชาติบราซิลก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก ในขณะที่เปเลอายุเพียง 17 ปี เท่านั้นเอง

ในหนังสือ “คู่มือ kid ดี” [1]มีภารกิจวัดใจเด็ก ๆ คือ “เมื่อเราอยากมีวีดีโอเกมเหมือนเพื่อน เราจะทำอย่างไร” มีให้เลือก 6 ข้อ แต่ละข้อมีผลลัพธ์ต่างกัน คือ 1. นับเงินเก็บของตัวเอง เผื่อจะมีพอ (ถ้ามีพอ ฝันจะเป็นจริง แต่แน่ใจหรือว่าจะไม่เบื่อเกมนี้อย่างรวดเร็ว) 2. ขอพ่อแม่ทันที หรือขอจากปู่ย่าเป็นของขวัญวันเกิด (ขอได้เสมอ แต่จงรู้ว่าพวกท่านอาจมีเหตุผลที่จะไม่ให้) 3. ต่อรองพ่อแม่ให้ซื้อให้หากสอบได้คะแนนเต็ม (บางครอบครัวก็ให้รางวัลเรียนเก่ง แต่เราจะเรียนเพียงเพื่อหวังรางวัลหรือ) 4. แอบหยิบเงินจากกระเป๋าของแม่ (ห้ามโขมยเด็ดขาด พ่อแม่อาจไม่มีเงินให้เพราะค่าใช้จ่ายในบ้านสูงมาก)  5. ทำได้แค่ฝัน เพราะรู้ดีว่าไม่มีทางซื้อแน่ (ลองยืมเพื่อนเล่นได้ไหม) 6. ยืมเงินจากพี่ชายแล้วค่อยคืนทีหลัง (ยืมได้ แต่อย่าลืมเก็บเงินไปคืนด้วย แล้วแน่ใจหรือว่าเก็บเงินครบแล้วจะไม่อยากซื้อของอย่างอื่นอีก)

โจทย์สำคัญของพ่อแม่ยุคใหม่ คือ ทำอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจปัญหาของตัวเอง และแนะนำวิธีแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หรือสอนวิธีคิดให้กับลูกหลายสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพนั่นเอง





[1] เขียน โดย Laura Jaffe, Laure Saint-Marc, Gwenaelle Boulet และ Nathalie Tordjman