ต่อยอด
ไม่ทำลาย
วันนี้ดิฉันมีโอกาสไปเที่ยวสวนโบราณคดีมาดาบ้า
ประเทศจอร์แดน รู้สึกประทับใจที่วิหารแห่งหนึ่ง สร้างโดยชาวโรมันในศตวรรษที่ 2 ต่อเติมเพิ่มเป็นโถงฮิปโปลิทัสที่มีพื้นโมเสกสวยงามตอนต้นศตวรรษที่
4
ในสมัยไบแซนไทน์ที่ 1 ปรับปรุงเพิ่มในศตวรรษที่ 7 ในสมัยไบแซนไทน์ที่ 2 และต่อเติมพื้นโมเสกสวยงามขึ้นไปอีกโดยชนเผ่าอูมัยยาดในสมัยอิสลาม
ดิฉันประทับใจแนวความคิด
“ต่อยอด ไม่ทำลาย” เพราะหลายครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนการปกครอง โดยเฉพาะมีการเปลี่ยนศาสนา
มักมีการทำลายเกิดขึ้น เช่น รูปปั้นพระพุทธรูปที่ถูกตัดเศียรในนครวัด เป็นต้น
บนพื้นโมเสกในโถงฮิปโปลิทัสนี้
ใจกลางเป็นลายดั้งเดิมของโบสถ์ในสมัยไบแซนไทน์ แต่รอบนอกเป็นการออกแบบเพิ่มในสมัยอิสลาม
แลดูสวยงาม ไม่เห็นรอยต่อ สะท้อนให้คิดว่า หากผู้นำใจกว้างทุกอย่างน่าจะเป็นไปได้ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องศาสนาหรอกนะคะ
เมื่อเปลี่ยนผู้บริหารก็มักเปลี่ยนโยบาย หลายครั้งไม่พัฒนาจากสภาพปัจจุบัน
แต่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทำให้ทำงานขาดความต่อเนื่อง
สองสัปดาห์ที่แล้ว
โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เชิญวิทยากรหลักจากมูลนิธิ Haus der kleinen
Forscher ประเทศเยอรมนี
มาพัฒนาทีมวิทยากรหลักคนไทยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมาเราใช้แนวคิด Research Cycle แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเป็น Inquiry Circle ทำให้เราแปลกใจว่าทำไมเปลี่ยน เมื่อถามไป
เขาก็ตอบมาว่า เขาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เมื่อพบสิ่งที่ดีกว่าเดิมก็เปลี่ยนได้
หลังจากถกกันว่าเปลี่ยนทำไม เปลี่ยนดีไหม ก็มาสู่ข้อสรุปว่าเราจะเปลี่ยน แต่สำคัญคือ
เรารู้ว่าจะเปลี่ยนเพราะอะไร
สัปดาห์ที่แล้ว
ดิฉันคุยกับทีมงานถึงแนวทางการปรับปรุงงานในปีหน้า มีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งแย้งว่า
บริษัทเราเปลี่ยนแปลงบ่อยจัง กลัวว่าลูกค้ารับไม่ได้
ดิฉันจึงชวนทีมงานไล่คิดถึงที่มาที่ไป ปีนี้เกิดอะไรขึ้นที่เราคิดว่าทำได้ดี
แต่มีเรื่องอะไรที่คิดว่าควรทำให้ดีขึ้น จนทำให้เราเข้าใจว่า หากเรามีหลักคิด
มีเป้าหมายที่ชัดเจน เราไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวกับคำพูดหรือความคิดเห็นของคนรอบข้าง
แต่เราสามารถสร้างความเข้าใจกับพวกเขาได้
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้
เพื่อตอกย้ำว่า ในยุคปัจจุบัน เราหยุดอยู่กับที่หรือยึดติดกับวิธีการเดิม ๆ
ไม่ได้อีกต่อไป ชาลส์ ดาร์วิน บอกว่า
“ไม่ใช่คนที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะเอาชีวิตรอดได้ แต่เป็นคนที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างหาก”
เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำคัญมาก ง่ายที่สุดก็เรียกว่า
PDCA คือ
Plan Do Check Action
เริ่มจาการวางแผน ลองทำดู ตรวจสอบว่าทำแล้วดีไหม ควรปรับตรงไหนไหม ปรับตามนั้น
แล้วก็วนรอบไปเรื่อย ๆ
ระหว่างที่ไกด์เล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์
ก็มีการพูดถึงกรณีที่กษัตริย์ฮุสเซนต้องปล่อยมือจากเขตเวสต์แบงก์ให้กับอิสราเอล
ทำไมถึงยอมมอบดินแดนให้คนอื่น ไกด์ของเราออกความเห็นว่า “เพราะรู้อยู่แล้วว่าหากสู้ก็ต้องแพ้
คนต้องตายอีกมากมาย เพราะฉะนั้น ต้องตัดใจ มองภาพใหญ่” เพื่อนอีกคนเลยบอกว่า คงเป็นเหมือนกับตอนที่ประเทศไทยเราต้องมอบดินแดนบางส่วนให้อังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่
5
คงยากที่เรื่องแบบนี้จะมีทางออกที่ถูกใจทุกคน
แต่ในฐานะผู้นำ ต้องมองภาพใหญ่เป็นหลัก ไม่ควรยึดติดกับ “ความรู้สึกผูกพัน”
มากเกินไป เพราะสุดท้าย “อดีต” หรือ “ความรู้สึก” ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีได้
ดร.สเปนเซอร์
จอห์นสัน เขียนในหนังสือ “ใครเอาเนยแข็งของฉันไป” ว่า “ชีวิตก้าวเดิน
เราก็ต้องเดินไปกับมัน” “สิ่งที่เราหวาดกลัวมันไม่แย่อย่างที่เราคิดหรอก”
“หากเราเห็นว่าเราทำอะไรผิดไป ขอให้หัวเราะเยาะมัน เปลี่ยนแปลง แล้วทำให้ดีขึ้น”
วันนี้
ดิฉันเห็นท้องฟ้าที่สวยงามมาก จากสีฟ้าสดตอนบ่าย
เป็นสีม่วงผสมชมพูและส้มในยามอาทิตย์ตกดิน ปีใหม่แล้ว จึงอยากเชิญชวนให้เพื่อน ๆ
ทุกคน “ต่อยอด ไม่ทำลาย” นะคะ