วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

8th Wonder of the World

8th Wonder of the World
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

     ไม่ว่าหนังสือ “Discover New Zealand Travel Guide” โดย Lonely Planet” และ “ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า” โดย Gomdori Co. จะดีแค่ไหน แต่ก็ไม่สามารถสะท้อนถึงความมหัศจรรย์ของดินแดนกีวีอย่างนิวซีแลนด์ได้ จึงขอนำความประทับใจมาเล่านะคะ
·                     เที่ยว Mou Waho Island Nature Reserve (ทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเลสาบบนเกาะ ที่อยู่ในทะเล) กับ Chris Riley เจ้าของรางวัลท่องเที่ยวแบบรักษาธรรมชาติ คอนเซ็ป คือ “เกาะจะต้องมีสภาพที่ดีขึ้นกว่าก่อนมา” ครั้งนี้เราเป็นกลุ่มท่องเที่ยวที่ 6,0001 ที่ได้ปลูกต้น Totara บนเกาะนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ไม่ใช่อยากปลูกอะไรก็ปลูก คริสต้องขอใบอนุญาตปลูกต้นไม้บนโมวาโฮ โดยต้องเอาเมล็ดที่ร่วงบนเกาะไปเพาะต้นกล้าที่บ้าน แล้วค่อยมาลงดินบนเกาะตามเดิม ตอนที่คนยุโรปมานิวซีแลนด์ใหม่ ๆ เอาต้นสน Racliata มาปลูกเยอะมาก หนามและรูปทรงของมันทำให้นกไม่สามารถวางไข่ได้อย่างปลอดภัย หกปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงต้องทะยอยตัดต้นสนนี้กว่าหกพันต้น (ยังไม่หมด) เพราะไม่งั้นจะปกคลุมไปทั้งเกาะภายในปี 2020 สะท้อนให้คิดว่า ต้นไม้ที่พวกเราไป “ปลูกป่า” มันถูกกับระบบนิเวศเดิมหรือไม่



·                  การอนุรักษ์สัตว์สงวนบนโมวาโฮ เช่น นก Weka ที่แสนเด๋อ (ซื่อมากจนถูกกิน) และแมลง Weta (ที่ฟื้นคืนชีพได้หลังจากถูกแช่แข็งนานกว่าหกร้อยปี!) เจ้าหน้าที่อุทยานจะวางกับดัก (ไข่สด เปลี่ยนทุกห้าสัปดาห์) ไว้ทั่วเกาะ เพื่อจับตัวเพียงพอนหางสั้น ซึ่งว่ายน้ำข้ามทะเลสาบมากิน Weka (สุดยอดไหมคะ) และในการอนุรักษ์แมลง Weta นักเรียนจาก Mount Aspiring College ออกแบบและสร้าง Weta Motel 40 หลัง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นก (รวมถึง Weka) กิน “เทพเจ้าแห่งความอัปลักษณ์” (สมญานามที่ชนเผ่าเมารีตั้งให้) ถือว่าเป็นโครงงาน STEM ชั้นเลิศ
·                 สัมผัสเสียงดังกัมปนาทและพลังของน้ำตก จนเปียกไปทั้งตัวใน Milford Sound ที่ Fjordland National Park ทำให้รู้ซึ้งว่ามนุษย์เราเป็นเพียงเศษธุลีของจักรวาล ช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน แต่ที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้เราจะเห็นน้ำตกนับพันสาย แต่มีของจริงเพียงสามสาย นอกนั้นคือน้ำฝน (เยอะและแรง) ที่ตกลงมาตามร่องบนภูเขา ซึ่งจะเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อย ๆ ที่นี่ฝนตกเยอะมาก ประมาณ 10 เมตรต่อปี (ปกติเขาจะวัดเป็น  มม.) มากเกือบหนึ่งเท่ากว่าป่าอะเมซอนเสียอีก
·                เดินขึ้นเขา Key Summit ใน Fjordland National Park ถึงแม้ไม่เห็นวิวอะไรเพราะหมอกบัง แต่การที่เดินจนสุด เติมเต็มความภูมิใจ ตอกย้ำว่า เวลาเราจะทำอะไร ต้องทำจนสุด อย่ามีข้ออ้าง ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ
·         ผจญสายฝนในหุบเขา Hooker Valley ที่ Mount Cook เพราะไม่เคยเดินในหุบเขา และเพราะเดินจนสุด ไม่ยอมแพ้เดินกลับทั้ง ๆ ที่เปียกและหนาวมาก ทำให้ได้ไปเจอทะเลสาบจากธารน้ำแข็ง น้ำอร่อยมากเช่นกัน
·         เดินบนธารน้ำแข็ง Tasman ด้วยรองเท้าหนามกับ Charlie Hobbs ไกด์ผู้มากประสบการณ์แสนถ่อมตน (อดีตหัวหน้าหน่วยกู้ภัยในแอนตาร์ติกาและอีกมากมาย) ประทับใจความอึดของเขาในการสู้รบกับรัฐบาลเป็นสิบปี กว่าจะเปิดร้านอาหาร The Old Mountaineer ด้วยปัญหาข้อระเบียบที่อยุติธรรมและมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ The Hermitage ซึ่งผูกขาดกิจการในอุทยาน คงไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีปัญหานี้ เส้นใหญ่เท่านั้นถึงจะรุ่งเรือง (น้ำอร่อยอีกแล้ว)

·                   ฟันยัค (Funyak – คล้ายล่องแก่งบนเรือยาง) บนแม่น้ำ Dart River เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นลักษณะแม่น้ำแบบ Braided River (เกิดขึ้นจากธารน้ำแข็ง มีเฉพาะในเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ อะแลสกา แคนาดา หิมาลัย) และพบว่าน้ำใน Dart River ช่างอร่อยเหลือเกิน ไกด์ทุกคนต้องผ่านการเรียนเรื่องระบบแม่น้ำอย่างดี เพื่อสามารถกู้ภัยได้ทันที ทำให้เห็นว่าโลกนี้มีหลายวิชาชีพเหลือเกิน และทุกวิชาชีพต้องมีความรู้ การฝึกซ้อม และการประเมินคุณภาพ
·                เผชิญกับความกลัวตอนกระโดดบันจี้จากสะพานคาวาราว ก่อนจะกระโดด ดิฉันหันไปบอกเจ้าหน้าที่ว่า “ฉันคงทำไม่ได้แน่ ๆ” แต่พอเขาบอกว่า “เธอทำได้แน่นอน เงยหน้าขึ้น แล้วกระโดด” ก็ทำได้


สุดท้าย ขอยกนิ้วโป้งพร้อมยืมสมญานามที่ Riyadh Kipling มอบให้นิวซีแลนด์ว่า “8th Wonder of the World!