การปลูกฝังให้เด็กรักและชื่นชมธรรมชาติทำได้ง่ายจากการอ่านหนังสือและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสความมหัศจรรย์ของสิ่งรอบตัว
เมื่อวานดิฉันได้รับเกียรติร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือนิทาน
“ฉันชื่อ...เจน” โดย Patrick McDonnell ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่
47 “ฉันชื่อ...เจน” ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ ดร.เจน กูดออลล์
นักสัตววิทยาชื่อดังของโลก เชี่ยวชาญเรื่องลิงชิมแปนซี ปัจจุบันเป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่สร้างความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ถึงแม้ว่าลิงชิมแปนซีไม่ได้เป็นสัตว์พื้นเพของประเทศไทย ดิฉันตกหลุมรัก “ฉันชื่อ...เจน”
เพราะมันพาเรากลับไปความคิดพื้นฐานที่สุด คือ ความเรียบง่ายที่สวยงามของธรรมชาติ
ในหนังสือ เจนเป็นเด็กหญิงที่รักสัตว์มาก มีตุ๊กตาลิงชิมแปนซีชื่อจูบิลี เจน
(และจูบิลี) ชอบออกไปเล่นนอกบ้านที่สุด ชอบดูนกทำรัง ดูแมงมุมชักใย
ดูกระรอกวิ่งไล่กันไปมา ไต่ต้นไม้
เจนรียนรู้เรื่องสัตว์เพิ่มเติมจากการสำรวจสวนหลังบ้านและอ่านหนังสือ
เมื่อเจนสงสัยว่าไข่มาจากไหน ก็จะแอบไปดูไก่ไข่ในเล้าไก่ของคุณยาย
Patrick McDonnell เขียนว่า
“นี่คือโลกมหัศจรรย์ที่มีแต่เรื่องสนุกและน่าทึ่ง
เจนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้” จะดีไม่น้อย หากพวกเรา
ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ จะเตือนใจตัวเองได้ทันกาล
เมื่อรู้สึกย่อท้อและหมดหวัง เปลี่ยนหน้าเครียดเป็นรอยยิ้มกว้าง
เมื่อเห็นพลังของธรรมชาติที่แสนลี้ลับและพิศวง
ดวงอาทิตย์ที่กลมดิก จันทร์เสี้ยวที่ยิ้มให้เรา
เสียงนกที่หยอกล้อกัน หรือแม้กระทั่ง “เสียงน้ำเลี้ยงที่ไหลวนอยู่ใต้เปลือกไม้”
ที่เจนชอบแนบแก้มฟัง และ “เสียงหัวใจที่กำลังเต้น ตึ้กตั้ก ตึ้กตั้ก ตึ้กตั้ก”
ดร.เจน กูดออลล์ เกิดมาในบ้านที่ไม่ค่อยมีเงิน
รักสัตว์และธรรมชาติตั้งแต่เด็ก มีความฝันอยากไปแอฟริกาตั้งแต่ 10 ขวบ ไปอยู่กับสัตว์
อยากไปอยู่ในป่าเหมือนทาร์ซาน (ที่มีแฟนชื่อเจน!) และเมื่อโอกาสมาถึง เธอก็คว้ามันทันที เจนไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย
เธอไม่ได้เป็นนักสัตววิทยา
ความจริงแล้วงานแรกของเธอในแอฟริกาคือเป็นเลขาให้นักมานุษยวิทยา
หลุยส์ ลีกกี้ แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษที่รักสัตว์ ช่างสังเกต ชอบตั้งคำถาม
และค้นหาศึกษาหาคำตอบ มุ่งมั่น และใจเย็น
ลีกกี้ก็มอบหมายให้เจนไปศึกษาลิงชิมแปนซีที่แทนซาเนีย ซึ่งต้องบุกเข้าไปในป่าเอง มีผู้ติดตามไม่กี่คน
ที่สำคัญต้องอยู่นาน กินนอนในนั้นเลย ครั้งนี้เจนชวนแม่ของเธอเข้าไปด้วย
ศึกษา เฝ้ามองอยู่นาน เจนค้นพบว่าลิงชิมแปนซีประดิษฐ์และใช้เครื่องมือได้
คือ อยู่ดี ๆ ชิมแปนซีก็หักกิ่งไม้ รูดใบไม้ออก แล้วแหย่ไม้เข้าไปในรังมด เหตุการณ์นั้นทำให้โลกต้องหวนคิดว่า
“สิ่งใดทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์” แต่เจนเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีปริญญา
เส้นทางชีวิตของเจนต้องต่อสู้ทางความคิดกับนักวิทยาศาสตร์หัวเก่ามากมาย
40 ปีในแอฟริกา เจนเห็นถึงปัญหาตัดไม้ทำลายป่า
ซึ่งทำลายที่อยู่ธรรมชาติของลิงชิมแปนซี แต่เจนก็พบว่า การที่มนุษย์ตัดป่าเพราะยากจน
ไม่มีอะไรกิน สร้างแรงบันดาลใจให้ ดร.เจน ก่อตั้งสถาบันเจน กูดออลล์ ขึ้น
ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องช่วยให้ชุมชนใกล้ป่าเพาะปลูกอาหารได้มากขึ้น
และสอนให้ผู้คนรู้จักวิธีปกป้องสัตว์ป่าในบริเวณใกล้เคียง สถาบันฯ
ยังมีโครงการชื่อ “Roots and Shoots”
เชิญชวนคนหนุ่มสาวให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม
และลุกขึ้นมาแก้ปัญหานั้น ปัจจุบันมีเครือข่ายในกว่า 120 ประเทศ
ดร.เจน กล่าวความในใจในหนังสือว่า
“เราทุกคนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ละวันที่ใช้ชีวิต
เราก่อผลกระทบต่อโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่เราก็มีทางเลือกว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบใด
ชีวิตมนุษย์เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ฉันอยากขอแรงพวกเราทุกคน
โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว มาช่วยกันทำให้โลกนี้เป็นที่ที่ดีขึ้นสำหรับผู้คน
เหล่าสัตว์และสิ่งแวดล้อม”
กลับไปที่นิทาน
ดิฉันคิดว่าแรงปรารถนานี้จะลุกโชนได้ หากเด็ก ๆ รักธรรมชาติและรู้สึกว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้