ดิฉันเคยไปเที่ยวกับครอบครัวของคุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท รถฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประทับใจ (แกมแปลกใจ)
ที่ครอบครัวของคุณชัยวัฒน์สนิทสนมกันและอบอุ่นเป็นที่สุด
คุยกันไปมาถึงได้รู้ถึงหลักการเลี้ยงลูกสไตล์ SML ปรับใช้ตามวัยของลูก
(และลูกน้อง!) จึงขอเอามาแบ่งปันกับทุกท่านค่ะ
ลูกวัยเล็ก เป็นช่วงพ่อแม่สร้างตัว
ต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรเวลา ใช้หลัก 4S
- S1. Sense of Trust – เชื่อและศรัทธาในตัวลูกว่าเป็นคนดีได้ พัฒนาได้ แต่อย่าหลงลูกตัวเอง ต้องใช้หลัก Check & Balance ให้พอดี
- S2. Sense of Belonging – ให้ลูกรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียว เช่น ไปงานโรงเรียน ทำกิจกรรมร่วมกัน อย่าหวงแหนคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ”
- S3. Sense of Obligation – ใช้พระเดชพระคุณ ถึงจะสนิทแต่ต้องวางตัวให้ลูกเคารพและเกรงใจ คือให้ลูกรู้จักกาละเทศะ ลูกทำดีขอให้ชม แต่ะหากอะไรไม่ถูกต้องต้องทำโทษ เช่น พี่น้องตีกันเป็นเรื่องที่ร้ายแรง
- S4. Sense of Humour – มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในครอบครัว
ลูกวัยรุ่น วุ่นวายที่สุดเพราะลูกเป็นตัวของตัวเองสูง
ต้องใช้หลัก 4M ไม่ให้ลูกรู้สึกถูกแทรกแซง
- M1. Management by Objective – บริหารแบบมีเป้าหมาย ไม่ใช่ให้ลูกเรียนไปวัน ๆ แต่ช่วยให้เขาค้นพบตัวเอง ที่สำคัญพ่อแม่อย่าหลอกตัวเอง
- M2. Management by Example – เป็น (หรือหา) ตัวอย่างที่ดีให้ลูก ให้เห็นถึงความสำคัญของการเรียน ให้ไปฝึกงาน
- M3. Management by Role Model – สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกผ่านไอดอล ไม่จำเป็นต้องมีคนเดียว บางครั้งต้องให้เพื่อนช่วยพูดกับลูก
- M4. Management by Walk Around – รู้จักคนรอบข้างของลูก เช่น พูดคุยกับครู ทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ของลูก ไปดูว่าที่โรงเรียนลูกเป็นอย่างไร
ลูกวัยทำงาน เริ่มมีชีวิตของตัวเอง ใช้หลัก 4L
- L1. Love – รักลูกแบบผู้ใหญ่ ต้องบริหารความคาดหวังของพ่อแม่ ลูกทำงานแล้ว มีชีวิตของตัวเอง ต้องเข้าใจบริบทที่เปลี่ยนไป
- L2. Learn –โลก (โดยเฉพาะโลกของลูก) ที่เปลี่ยนไปทำให้พ่อแม่ต้องเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่ลูกอยู่และงานที่ลูกทำ หาองค์ความรู้เพื่อจะได้ช่วยเหลือและคุยกับลูกได้
- L3. Laugh – ลดเสียงบ่น เพิ่มเสียงหัวเราะ
- L4. Lifestyle – give & take กับไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในบ้าน ลูก ๆ ใช้ whatsapp แล้วพ่อแม่ใช้หรือยัง
ตอนนี้คุณชัยวัฒน์ได้แบ่งปันแนวคิดนี้ในหนังสือเรื่อง “เลี้ยงลูก 3 วัยสไตล์ SML” ถึงแม้ดิฉันยังไม่มีลูก
แต่ดิฉันมี “ลูกน้อง” และยังทำงานด้านเด็กและเยาวชน จึงคิดว่าแนวคิด SML นี้สามารถปรับใช้ได้อย่างดี
ตั้งแต่เริ่มทำงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือการบริหารคน
แต่ละคนหลากหลายเหลือเกิน บ้างต้องใช้เทคนิค coaching
บ้างต้องใช้เทคนิคพี่น้อง บ้างต้องสั่งการ ทำให้รู้สึกเหนื่อยสมองเหมือนกันนะคะ สิ่งที่ถูกใช้คือ
check & balance สุดท้ายต้องมีกระบวนการ PDCA หรือ Plan Do Check Act
เพราะโลกนี้ไม่มีสูตรตายตัว เมื่อวางแผนและทำอะไรแล้ว
ต้องกลับมาสะท้อนว่ามันเหมาะสมและได้ผลหรือไม่ มันเว่อร์เกินไปหรือไม่ แล้วก็มาปรับสำหรับครั้งหน้า
หนังสือเล่มนี้ช่วยดิฉันเสริมอาวุธในการบริหารคน จึงหวังว่าแนวคิด SML
นี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น