วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2557

London State of Mind

ลอนดอนช่างเต็มไปด้วยศิลปะและวัฒนธรรม สองฝั่งทางเดินในสถานีรถไฟมีโปสเตอร์แนะนำนิทรรศการใหม่ ๆ ของพิพิธภัณฑ์ หนังสือออกใหม่ ละครเวที และคอนเสิร์ต เต็มไปหมด ทำให้ดิฉันระลึกถึงนิวยอร์กและเบอร์ลิน มหานครของโลกมันเป็นสถานที่ที่ก่อแรงบันดาลใจเสมอ

มาลอนดอนครั้งนี้ ดิฉันได้ดูละครเวทีในโรงละครเป็นครั้งแรกในชีวิต สมัยที่ดิฉันเรียนมัธยมที่โรงเรียนนานาชาติดัลลิช มีโอกาสอ่านบทละครเวทีหลายเรื่อง ที่ชอบที่สุดคงเป็นเรื่อง Death of a Salesman ของ Tennessee William ครูมักจะให้พวกเราเลือกว่าจะเป็นตัวละครตัวไหน และอ่านบทละครด้วยกันในวิชาภาษาอังกฤษ ตอนนั้นคิดว่านักเขียนช่างเก่งเหลือเกิน ที่สามารถสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกของสังคมผ่านเรื่องราวของตัวละครได้อย่างดี

ละครที่ดิฉันได้ดูครั้งนี้ชื่อว่า Warhorse มาทราบทีหลังว่าดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Warhorse ของ Michael Morphurgo ถึงแม้ว่านานมีบุ๊คส์จะไม่ได้พิมพ์เรื่อง Warhorse แต่เราก็ได้รับเกียรติพิมพ์หนังสือเล่มอื่น ๆ ของเขา ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่วรรณกรรมแนวนี้ไม่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านชาวไทยเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ละครเวทีเรื่อง Warhorse สนุกมากกกกกกก ทีมงานสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนและม้าได้อย่างดี ดีจนนั่งไม่ติดพนัก และน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้ง

ตอนแรกดิฉันยังงง ๆ ว่าผู้จัดจะเอาม้าตัวจริงมาเล่น หรือให้คนใส่หน้ากากเป็นม้าเหมือนเรื่อง Lion King หรือจะเป็นหุ่นมือ สุดท้ายพบว่า ผู้จัดสร้างหุ่น 3 มิติเป็นตัวม้าจริง ๆ ขึ้นมา และมีผู้ชัก 2 คนเพื่อกำกับศรีษะ ขาหน้า และขาหลัง คือเหมือนจริงมากค่ะ

และดิฉันคงไม่ได้มาถึงลอนดอน หากไม่ได้ไปพิพิธภัณฑ์ ครั้งนี้ได้ไป 2 แห่งค่ะ คือ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Tate Modern ซึ่งมีนิทรรศการพิเศษของ Paul Klee และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ตอนที่เดินเที่ยวในนิทรรศการของ Klee ดิฉันเขียน 2 คำในสมุด คือ “กระโดด” และ “การสอน” มีรูปภาพหลายชิ้นของ Klee ที่สะท้อนถึงความต้องการที่จะกระโดดข้ามผ่านความว่างเปล่าหรือความลำบาก ซึ่งคิดว่าเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกคน คือ เมื่อเจออุปสรรค เราต้องกระโดดข้ามไปค่ะ และเพิ่งทราบว่า Klee ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศิลปิน แต่เป็นครูด้วย ที่สำคัญคือเป็นครูที่ไม่หยุดยั้งที่จะหาวิธีการสอนใหม่ ๆ ให้กับนักเรียนค่ะ ดิฉันจึงคิดว่าไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไร เราต้องไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเองให้เก่งในวิชาชีพของตน และสร้างคนรุ่นหลังให้มาสอนต่องานของเรา

ก่อนที่เราจะร่วมมือเปิดศูนย์วิทยาศาสตร์ Phaenomenta กับพาร์ทเนอร์เยอรมัน Dr. Lutz Fiesser (ผู้ก่อตั้ง Phaenomenta) เคยเล่าให้ฟังถึงวิวัฒนาการของศูนย์วิทยาศาตร์ค่ะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้เราเสพความรู้ด้วยตา มองดูและอ่านข้อมูล ต่อมาพัฒนาไปสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์แบบคลาสสิก คือ ให้ปฏิบัติด้วยมือจริง แต่ยังมีบอกวิธีการและคำอธิบายสิ่งที่เห็น จนมาสู่ศูนย์วิทยาศาสตร์แบบ natural process ซึ่งคือให้ปฏิบัติด้วยมือจริง และไม่มีคำอธิบายว่าเห็นอะไร เพราะอะไร

ประสบการณ์ของดิฉันที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ลอนดอนเป็นเหมือนที่ Dr. Fiesser เคยบอกไว้เลยค่ะ คือ เน้นดูและอ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะคะ ดิฉันถือว่าเด็กอังกฤษโชคดีมาก เพราะเขารวบรวมสิ่งประดิษฐ์ในหลายแขนงวิทยาศาสตร์มาตั้งโชว์ให้ดู หากไม่ได้มาคงได้ดูแต่ในหนังสือแน่ ๆ เลยค่ะ แต่ที่พิเศษคือที่ชั้น 4 ค่ะ เพราะเขาให้ที่เกือบครึ่งชั้นให้เป็นแบบ hands-on อย่างแท้จริง ตอนแรกดิฉันสงสัยว่าทำไมคนมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์น้อยจัง แต่พอไปถึงชั้น 4 ก็ถึงบางอ้อเลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ ทุกคนมาเล่นกันอยู่ที่ชั้น 4 นั่นเอง!

 การเดินทางมาลอนดอนครั้งนี้คงไม่สมบูรณ์ หากปราศจากการนัดพบเพื่อนและครูเก่าสมัยเรียนที่ดัลลิชค่ะ บางคนก็ไม่ได้เจอกัน 15 ปีแล้วค่ะ เมื่อบรรดาครูทราบว่าพวกเราอายุ 30 ปีกันแล้ว ต่างไม่อยากเชื่อ ครูของพวกเราก็มาสอนที่ประเทศไทยตอนอายุประมาณนี้เหมือนกัน ทำให้ดิฉันคิดว่า เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วและไม่รอใคร หากเราอยากทำอะไรตอนนี้ควรทำทันทีเลยค่ะ

ถึงแม้ว่าเราจะเลยเทศกาลปีใหม่มาแล้ว หากท่านยังไม่ได้เขียนคำปณิธานประจำปี 2014 ขอให้เขียนออกมา ลงมือทำและขออวยพรให้ทำสำเร็จนะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น