มีนักข่าวท่านหนึ่งถามดิฉันว่า ทำไมนานมีบุ๊คส์ถึงพิมพ์นิทานธรรมะกับคุณหนิง ศรัยฉัตร กุญชร ณอยุธยา จีระแพทย์ คำตอบแรก คือ เพราะชื่นชมความตั้งใจเผยแพร่เรื่องดี ๆ ให้เด็ก ๆ แต่เมื่อนั่งคิดลึก พบว่าอาจเป็นเพราะดิฉันประทับใจความ “พูดจริงทำจริง” ของคุณหนิงมากกว่า เพราะทุกสิ่งที่คุณหนิงเขียน ล้วนเป็นสิ่งที่คุณหนิงทำกับน้องเบลล่า (ลูกสาว) จริง ๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ทำสมาธิ เวียนเทียน และไปวัด
การสนทนาครั้งนั้น ทำให้ดิฉันคิดถึงเรื่อง Lead by Example คือ หากเรา “นำความคิด” ด้วยการปฏิบัติอเป็นตัวอย่าง จะซึมซับอย่างฝังลึก ไม่ว่าจะเป็นการที่คุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง อ่านหนังสือให้เด็กเห็นเป็นนิสัย ก็จะทำให้เด็ก ๆ รักการอ่านอย่างธรรมชาติ ดิฉันจึงไปลองค้นจากหนังสือ “5Q ฉลาดรอบกับ 30 ยอดอัจฉริยะ” โดย Kim, Hyun-Tae ถึงผู้นำในวงการต่าง ๆ ว่าเขา Lead by Example อย่างไร
บทหนึ่งพูดถึง โจวเอิ้นไหล นายกรัฐมนตรีผู้มัธยัสถ์ของจีน ผู้ถูกล่าวขานนามว่า “สหายของประชาชน” โจวเอิ้นไหลใส่เสื้อตัวเดิมจนเก่า วันหนึ่งขอให้เลขาซ่อมเสื้อให้ เลขาเสนอให้ซื้อเสื้อใหม่ เวลาเจอผู้นำประเทศอื่นจะได้ดูดี และดูเหมือนให้เกียรติ
นายกโจวบอกว่า “ผมไม่คิดว่าการใส่เสื้อเก่าเป็นการไม่ให้เกียรตินะ สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตใจที่แสดงออกมาไม่ใช่หรือ ถ้าเราภาคภูมิใจเสียอย่าง จะมีปัญหาอะไร ... ชีวิตที่อยู่อย่างประหยัดไม่ใช่เรื่องที่น่าดูถูกหรือเป็นการไม่ให้เกียรติ แต่เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี ผมบอกให้ประชาชนใช้ชีวิตอยู่อย่างประหยัด แต่ผมจะอยู่อย่างสุรุ่ยสุร่ายอย่างนั้นหรือ”
กล่าวกันว่าทั้งชีวิตเขามีชุดนอนและชุดโค้ตเพียงอย่างละตัวเท่านั้น
ก่อนจะจบบท นักเขียนยังให้ข้อคิดว่า “คนรวมที่แท้จริง คือคนที่รู้จักความพอเพียง” และเล่าเรื่องจากสมัยราชวงศ์โชซอน พระเจ้าเซจองให้ทหารไปซ่อมกระท่อมของเสนาบดีที่ชื่อ ยูควัน เพราะสภาพซอมซ่อเต็มที วันหนึ่งฝนตกเข้ามาให้ห้อง ยูควันหลบฝนด้วยการใส่งอบ ในขณะนั้นเขาพึมพำว่า “ฝนตกหนักอย่างนี้ คนที่ไม่มีงอบจะเป็นอย่างไรบ้างนะ”
สรุปให้เด็ก ๆ (ผู้อ่าน) เห็นว่าควรมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่อยากได้ของคนอื่น และมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อคนรอบข้าง
บทสุดท้ายของหนังสือสรุปเส้นทางสู่อัจฉริยะโดยใช้ตัวอย่างของบุคคลที่ประสบความสำเร็จของโลกออกมา 7 ข้อค่ะ ดิฉันจะยกมาเล่ากันบางข้อนะคะ
1.รักการจดบันทึก เมื่อมีไอเดียหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ให้จดทันที เพราะเราจำได้ไม่หมด นักวิทยาศาสตร์ ทอมัส เอดิสัน มีสมุดบันทึกมากถึง 3,400 เล่ม นักประพันธ์ดนตรี ฟรันซ์ บูแบร์ท บันทึกตัวโน้ตบนเสื้อที่สวมทุกครั้งเมื่อไอเดียเพลงใหม่ขึ้นมาในหัว ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น เสียบดินสอไว้ใต้หมวกตลอดเวลา
2. อย่ายอมแพ้ เมื่อ วินสตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มากล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขาคิดว่าจะพูดอะไรดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อบัณฑิตที่สุด คำแรกที่เขาพูดคือ “อย่ายอมแพ้” ทุกคนก็พยักหน้าฟังอย่างตั้งใจ รอว่าจะพูดอะไรต่อ เชอร์ชิลล์พูดต่อด้วยเสียงดังว่า “อย่ายอมแพ้เด็ดขาด” แล้วก็เดินลงจากเวที
3. ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง หลายครั้งเรามักคิดว่า เราทำได้แค่นี่ แต่หากเราจะแปลงจากผู้แพ้เป็นผู้ชนะ เราต้องทะลุกรอบของเราให้ได้ รู้ไหมว่า กว่าแอลเบิร์ต ไอน์สไตน์จะอ่านหนังสือออกก็อายุเกือบ 10 ปีแล้ว มีตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูอาจตลกนะคะ ดิฉันอยากผิวปากได้มากเหลือเกิน ผิวเท่าไรก็ไม่ได้ จนยอมแพ้ คิดว่าไม่ใช่ทุกคนผิวปากได้ แต่พอหลังจบปริญญาตรี คิดว่าจะลองใหม่ ซ้อมทั้งวัน ทุกวันติดต่อกัน 2 สัปดาห์ สุดท้ายผิวได้แล้วค่ะ!
ดิฉันขอปิดท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยทฤษฎี “ผลปิกมาเลียน” นะคะ คือ
เชื่ออย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น หากเราชมลูกหลาน (และลูกน้อง) บ่อย ๆ
จนพวกเขาเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่ง ก็จะเก่งขึ้นได้จริง
เรื่องนี้คงต้องใช้แบบมีสมดุลนะคะ แต่ดิฉันอยากจะเชิญชวนพวกเราสร้างบรรยากาศด้านบวก
สร้างแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างอยากทำสิ่งดี ๆ มีหลักการชม 3 ข้อค่ะ
1. พูดชมได้ทันที ไม่ต้องรอเวลา
2. เวลาชมใครควรชมดัง ๆ ให้คนรอบข้างได้ยินด้วย
(ในทางกลับกัน ไม่ควรต่อว่าลูกหลานต่อหน้าคนอื่น)
3. มองหาโอกาสที่จะชมเชยอยู่เสมอค่ะ
1. พูดชมได้ทันที ไม่ต้องรอเวลา
2. เวลาชมใครควรชมดัง ๆ ให้คนรอบข้างได้ยินด้วย
(ในทางกลับกัน ไม่ควรต่อว่าลูกหลานต่อหน้าคนอื่น)
3. มองหาโอกาสที่จะชมเชยอยู่เสมอค่ะ
ดิฉันหวังว่าตัวอย่างที่แบ่งปันวันนี้จะทำให้ท่านอยากกลับไป Lead
by example กันนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น