ในโลกปัจจุบัน หากจะอยู่อย่างเดียวดาย ทุกอย่างทำเอง
คงไม่สำเร็จเหมือนเมื่อก่อน ทุกคนเริ่ม outsource
ทุกคนเริ่มหาเครือข่าย วงการการศึกษาก็เช่นกัน
เมื่อไม่นานมานี้ดิฉันได้ไปร่วมการประชุมกับผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ
โต้โผใหญ่โดย ดร. สำเริง กุจิรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม
และนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดแห่งประเทศไทย
ทำให้เห็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการสร้างเครือข่าย
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 แห่ง ดร.
เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า
“อนุบาลประจำจังหวัดเป็นผู้บุกเบิกการเรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเรียนรู้ตัวอย่าง สำหรับโรงเรียนประถมทั่วประเทศ”
ปัจจุบันยังทำหน้าที่พี่ใหญ่ให้กับโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษาอีก 183 แห่ง
ใครว่าโรงเรียนรัฐบาลด้อยคุณภาพ การร่วมประชุมครั้งนี้เปิดตาให้ดิฉันรู้ว่า
ที่แท้อนุบาลประจำจังหวัดนี่แหละที่กล้าคิดนอกกรอบ ลองนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ใครเจออะไรดี
ๆ ก็จะแบ่งปันต่อยอด สองสัปดาห์ที่ผ่านมา สสส. จัดอบรมเรื่องทักษะชีวิต ดร.สำเริง
ก็เจรจาให้อบรมให้ทั้งเครือข่ายแบบไม่มีค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมาโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเริ่มใช้หลักสูตร
“ห้องเรียนทดลองวิทย์” จากประเทศญี่ปุ่น ใช้แล้วดีก็ขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ และรู้ไหมว่าโรงเรียนอนุบาลนครปฐมเปิดหลักสูตร English Program
(นิยมมากในปัจจุบัน)
ก่อนที่กระทรวงจะมีนโยบายในเรื่องนี้เสียอีก
ปัจจัยสำเร็จอีกหนึ่งอย่าง คือ ระบบการบริหารการศึกษาแบบ 40:30:30
ของ
ผอ. สุทธิ สายสุนี โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสตูล คือ ให้สัดส่วนความสำคัญกับ 3 ภาคี 40%
แรกให้กับกลุ่มครอบครัว 30% ที่สองให้กับครู และอีก 30%
สุดท้ายให้กับประชาสังคม
โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดสตูล จัดตั้งกรรมการผู้ปกครองชั้นละ 5 คน
ร่วมทำปฏิทินกิจกรรมของโรงเรียนด้วยกัน โรงเรียนจัดสรรงบให้บางส่วน
ผู้ปกครองเรี่ยไรที่เหลือ ทำให้เกิดความมีส่วนร่วม สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง
นักเรียนเกิดความภูมิใจ สำหรับครู โรงเรียนจัดให้มีการพัฒนาบุคคลากรอยู่เสมอ
หมัดเด็ดที่ถูกใจดิฉัน คือ ผอ. สุทธิ บอกว่าเราจะยกระดับการศึกษาได้ ต้องร่วมมือกับประชาสังคม เช่น สำนักพิมพ์ องค์กรในชุมชน เป็นต้น ดิฉันรู้สึกประทับใจเพราะบางคน (รุ่นเก่า) ในวงราชการจะไม่ชอบทำงานร่วมกับเอกชน เพราะคิดว่าจะมาหาประโยชน์จากเขา หรือทำการค้าอย่างเดียว แต่ดิฉันเชื่อมั่นในระบบเครือข่าย ไม่มีใครเก่งได้ทุกเรื่อง หากเราต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาแบบโดยรวม (raising the bar) เราไม่สามารถทำเอง หรือรอบริจาคได้
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณทำงานอะไร
ขอให้รู้งานของคุณให้ดีที่สุด เพราะนี่คือวิชาชีพคุณ และด้วยแนวคิดการสร้างเครือข่ายและหาภาคี
จะทำให้บทบาทของเราในจิ๊กซอว์สังคมชัดเจนและมีความสำคัญ หากเราทำงานไปวัน ๆ
รู้กว้าง ๆ เราคงต้องตั้งคำถามว่า เราสร้างประโยชน์หรือ value-added อะไรให้กับสังคม แน่นอนว่าดิฉันทำงานสำนักพิมพ์ อยู่ได้ด้วยการจำหน่ายหนังสือและ
content
หากเราขายของดี ขายปัญญา ดิฉันก็ไม่อายเด็ดขาดที่จะบอกว่าวันนี้มาขายของนะคะ
หลายครั้งดิฉันก็ภูมิใจบอกว่า โครงการนี้ฟรีนะคะ ช่วยกันทำค่ะ ในฐานะองค์กรเอกชน
เราโชคดีที่มีความยืดหยุ่นในการเสาะหานวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ
จับมือกับหน่วยงานจากต่างประเทศ ซึ่งหากเรามองตัวเองเป็นหนึ่งตัวต่อของ “เครือข่ายการศึกษา”
บทบาทเราชัดเจนทันทีว่า เราเป็นผู้เสาะหานวัตกรรมการเรียนรู้มาสู่ระบบการศึกษาไทย
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการสร้างเครือข่ายจะราบรื่นเสมอไป
จึงอยากทิ้งท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยคำพูดของ ดร. ดีพัค ซี เจน อดีตคณบดีของ INSEAD
และ Kellogg
School of Management ความจริงท่านเป็นอาจารย์ของดิฉันสมัยเรียนที่ศศินทร์ค่ะ
วันหนึ่งท่านเขียนบนกระดาษขาว ท่านบอกว่าเขียนไม่ถนัดเลย เพราะลื่น
ปกติจะเขียนบนกระดานดำ ท่านจึงให้ข้อคิดพวกเราชาวศศินทร์ว่า
“บางครั้งลื่นไปก็ไม่ดี ชีวิตเราต้องการแรงเสียดทานบ้าง จะไม่ได้ล้ม” ดิฉันหวังว่าข้อคิดนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น