Sensory Integration & Active Learning เพื่อสร้าง Active
Citizen
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com
kim@nanmeebooks.com
วันนี้ได้ฟังครูหวาน ธิดา พิทักษ์สินสุข
แบ่งปันเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปการศึกษาปฐมวัย ร่วมกับครูอนุบาลอีกกว่า 300
ชีวิตในงานสัมมนา Sensory Integration & Active Learning for Active
Citizen รู้สึกตื่นเต้นมาก
หลายคนคงกระอักกระอ่วนใจเมื่อเห็นเด็กอนุบาลโตเกินวัย คือ
แทนที่จะได้เรียนรู้ผ่านการเล่น กลับต้องติวสอบเข้า ป. 1 ฝึกอ่านเขียน “ก เอือก
เกือก” หรือแม้กระทั่งฝึกเขียนคำยาก ๆ เช่น “พระมหากษัตริย์” หรือ “อัฒจันทร์”
ขนาดดิฉันยังต้องเปิดพจนานุกรมเลยค่ะ
ดิฉันเคยถามผู้รู้นะคะว่า
ทำไมประเทศเราต้องออกแบบหลักสูตรให้เด็กต้องอ่านออกเขียนได้ บวกลบ
กันเอาจริงเอาจังขนาดนี้ เคยเล่าให้เพื่อน ๆ ต่างประเทศฟัง ยังตกใจ
จึงเพิ่งมาทราบว่า ความจริงแล้วหลักสูตรของเราไม่ได้กดดันแบบที่เราคิดเลย
แต่เป็นระบบการสอบเข้า ป. 1 ต่างหากที่ตั้งธงสูง
จึงเกิดปรากฏการณ์เรียนเพื่อเตรียมสอบเข้า ป. 1
ครูหวานเล่าว่า ความจริงผู้ใหญ่ของประเทศก็เห็นด้วยนะคะ ว่าอายุ 3-6
ปีเป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ พัฒนาศักยภาพได้สูงสุด
เป็นเวลาที่ควรเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก นั่นก็คือ เรียนรู้ผ่านการเล่น
เรียนรู้จากปรากฏการณ์ธรรมชาติรอบตัว พัฒนา Sensory Integration (ประสาทรับสัมผัส
เอ็นข้อต่อ การเคลื่อนไหวและการทรงตัว) พัฒนา Executive Function (EF)
พัฒนาทักษะชีวิต ฝึกคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ กำกับตัวเอง เข้าใจตัวเองและผู้อ่าน
ซึ่งเราสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ หากจัดการเรียนรู้แบบ Active
Learning คือ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แบบ hands-on ปฏิบัติจริง
ครูหวานแบ่งปันว่า
ทิศทางปฏิรูปการศึกษาปฐมวัยจะมีการพูดถึงการออกแบบรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมให้แนบเนียน
เหมาะสมมากขึ้น ยกเลิกการสอบเข้าอนุบาล สอบเข้า ป.1
ไม่ส่งเสริมเรื่องการประกวดหรือแข่งขัน
และหยุดการใช้เทคโนโลยีจอภาพในการจัดการเรียนรู้ปฐมวัย เป็นต้น
พูดถึงตรงนี้ มีครูจากหลายโรงเรียนแลกเปลี่ยนอย่างโล่งอก
เพราะหลายคนเห็นด้วยกับการจัดการเรียนรู้แบบนี้ แต่ไม่รู้จะต้านกระแสสังคมอย่างไร
เมื่อไม่ได้ให้การบ้านเด็ก ก็จะถูกผู้ปกครองต่อว่า เมื่อไม่ได้เน้นเรื่องการเขียน
ก็กลัวว่าลูกศิษฐ์จะเข้า ป. 1 ไม่ได้ ทุกวันนี้
ถึงแม้จะพยายามจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (project based learning)
แต่ก็ต้องมีช่วงติวสอบด้วย
ดิฉันได้แบ่งปันว่าโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย
เป็นอีกเครื่องมืออันทรงพลังที่จะช่วยครูให้จัดการเรียนรู้แบบ Active
Learning ได้ โดยใช้วัฐจักรการสืบเสาะ (inquiry cycle)
ซึ่งมีตัวอย่างให้ลงมือทำกันด้วย บนโต๊ะของแต่ละกลุ่มมีกะละมังใส่น้ำ มีแหวนโลหะ
20 วง มีหลอด ไม้เสียบลูกชิ้น คลิบหนีบกระดาษ ดินน้ำมัน แผ่นพลาสติก
และให้ออกแบบภาชนะที่จะบรรจุแหวนจำนวนมากที่สุดและลอยน้ำได้ ทุกคนสนุกสนานกันใหญ่
ระหว่างทำจะเกิดกระบวนการตั้งคำถาม รวบรวมความคิดและข้อสันนิษฐาน
ทดสอบและปฏิบัติการสืบเสาะ สังเกตและบรรยาย บันทึกข้อมูล และอภิปรายผล
แต่ละกลุ่มก็ตั้งคำถามไม่เหมือนกัน
นอกจากกิจกรรมวิทยาศาสตร์ งานนี้ยังมีวิทยากรอีกท่านจากไต้หวัน Mr.Elton
Chiu
จาก We Play มาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการใช้สื่อการเรียนรู้พัฒนา Sensory
Integration นอกจากการเรียนรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (มองเห็น ได้ยิน ฟัง ดม
สัมผัส) SI พูดถึงการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทางร่างกาย การเคลื่อนไหว
พัฒนาเอ็นข้อต่อ และการทรงตัวอีกด้วย
Mr.Elton แชร์ว่าเด็กอนุบาลจำเป็นต้องพัฒนา SI อย่างมาก
หากเด็ก ๆ มีโอกาสได้ฝึกการมองผ่านการเล่น จะช่วยเรื่องมิติสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างมือและตา การเล็งเป้า ต่อไปเวลาอ่านหนังสือ
จะไม่มีปัญหาเรื่องการอ่านข้ามบรรทัดโดยไม่รู้ตัว ส่วนเรื่องการฟังจะละเอียดอ่อน
เป็นไหมคะที่เวลาคนพูดว่า wait และ weight หรือ
knows และ nose เรามักจะฟังสลับกัน เพราะฉะนั้นหากเราพัฒนาทักษะการฟังแต่เล็ก
การรู้จำเสียง จับคู่เสียง และจดจำเสียงจะไม่เป็นปัญหา
ด้านประสาทรับสัมผัสยิ่งสำคัญมาก
เคยเห็นเด็กบางคนที่เวลาถูกเพื่อนสะกิดแล้วจะตกใจกลัวมากไหมคะ
หรือเวลาเดินเท้าเปล่าบนทรายและรู้สึกกลัว รู้สึกเจ็บ
เพราะฉะนั้นเราต้องกระตุ้นประสาทรับสัมผัสให้เหมาะสม
เพราะยังช่วยเรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก และความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย
มีครูท่านหนึ่งตั้งคำถาม “ที่โรงเรียนมีเด็กคนหนึ่งที่ร้องไห้เมื่อถูกสัมผัส
บางครั้งแค่มีคนเดินผ่าน ก็ร้องไห้” Mr.Elton
บอกว่านี่เป็นตัวอย่างของเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกเรื่องนี้มา สิ่งที่ทำได้ คือ
ครูเอาลูกบอลนวดยางสัมผัสไล้ไปตามแขนขา พร้อมคุยกับเด็กด้วยเสียงนุ่มนวล
เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้ว่า การสัมผัสเป็นเรื่องที่ปลอดภัย ไม่น่ากลัว
เมื่อมีครูถามว่าจะจัดกิจกรรมสำหรับเด็กธรรมดาและเด็กสมาธิสั้นร่วมกันอย่างไร
Mr.Elton ยกตัวอย่างว่า หากให้เด็ก ๆ เดินบนคาน
เด็กสมาธิสั้นจะอยากเดินเร็วมาก และอาจแซงคิว
ครูอาจให้เด็กคนนั้นถือถุงทรายบนอุ้งมือทั้งสองข้าง จะทำให้เดินยากขึ้น
ต้องใช้สมาธิ และค่อย ๆ เดิน
ดูเหมือนการจัดการเรียนรู้แบบ Sensory Integration และ
Active Learning ไม่ยากเกินเอื้อม จึงขอเชิญชวนครูที่อ่านบทความนี้ลองไปคิดต่อนะคะ
ว่าจะไปปรับใช้ในห้องเรียนของท่านอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น