ทำอย่างไรให้อยากอ่าน
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com
kim@nanmeebooks.com
เด็กไทยไม่อ่านหนังสือแล้วจริงหรือไม่ ด้วยไลฟสไตล์ที่ผู้คนเสพข้อมูลทาง social media หรือออนไลน์มากขึ้น เราจะทำอย่างไรดีให้เด็กและเยาวชนยังเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสืออยู่ งานสัปดาห์หนังสือใกล้เข้ามาถึงแล้ว ในฐานะที่ไปขายหนังสือในงานทุกปีตั้งแต่เรียนจบตรี (ตอนนี้ก็สิบปีแล้วค่ะ) เห็นถึงจำนวนคนมาเที่ยวงานน้อยลงทุกครั้ง ก็ใจหายเหมือนกัน
ล่าสุดได้เชิญไอดอล 25 คนที่ประสบความสำเร็จจากการอ่าน ให้ช่วยโน้มน้าวเด็กไทยถึงความสำคัญของการอ่าน นิ้วกลม (คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) บอกว่า “หนังสือมีตัวตนเยอะมากที่มีส่วนผสมของคนอื่น แต่หนังสือนี่แหละจะช่วยผสมเราคนใหม่ขึ้นมา จนทำให้เราเป็นเราได้” ดิฉันเห็นด้วยเป็นที่สุด จึงคิดว่าภารกิจที่จะกระตุ้นให้เด็กไทยรักการอ่านเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ (และเด็ก) ทุกคน โดยแกนนำสำคัญคือเครือข่ายโรงเรียนและครอบครัว
ดิฉันได้อ่านแฟ้มผลงานแข่งขันสุดยอดบรรณารักษ์ของโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับปีที่ 16 รู้สึกประทับใจมาก จึงขอเล่าตัวอย่างดี ๆ ที่โรงเรียนทำเพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากอ่านหนังสือ
ครูนัยป์พร พญาชน จากโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุปราษฎร์นุสรน์) จ.สมุทรสาคร ใช้คาบเรียน “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่กระทรวงกำหนดในการจัดกิจกรรม “คู่บัดดี้ พี่รหัส ผลัดกันอ่าน” ทุกสัปดาห์รุ่นพี่รุ่นน้องจะจับคู่กันอ่านหนังสือ พี่อ่านหนังสือที่สนใจให้น้องฟังในครึ่งแรก น้องอ่านหนังสือที่ชอบให้พี่ฟังในครึ่งหลัก ก่อนจบคาบพี่จะรายงานผลพัฒนาการการอ่านของน้องให้ครูฟัง ไอเดียดี เพราะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างวัยด้วย พี่ ๆ ก็ได้ฝึกความเป็นผู้นำในเวทีจริง
หากไปเที่ยวโรงเรียนอนุบาลนครนายก จะเห็นตะกร้าความรู้ในห้องเรียนทุกห้อง และตามจุดสนามหญ้าหน้าอาคารเรียน ครูวันเพ็ญ สุขนิยม แบ่งปันว่าตะกร้าแต่ละใบจะมีหนังสือประมาณ 15-20 เล่ม แก้ปัญหาที่เด็กเข้าห้องสมุดน้อยลง โดยพาหนังสือไปที่เด็กเสียเลย เด็ก ๆ จะเป็นคนมายืมหนังสือที่ห้องสมุด เพื่อหมุนเวียนหนังสือในตะกร้าทุกสัปดาห์ ส่วนสำหรับเด็กเล็ก ครูจะช่วยจัดการให้ ดิฉันชอบไอเดียที่มีมุมหนังสือในห้องเรียน ที่อเมริกามีวัฒนธรรม classroom library ดีใจที่นครนายกก็มีแบบนี้เหมือนกัน
ร้านหนังสือ Waterstone ที่อังกฤษมีวิธีจัด display หนังสือได้ถูกใจมาก คือจัดเป็น theme ทำให้ผู้อ่านเลือกหนังสือได้ง่าย เช่น The Book Game วรรณกรรมที่มีเกมสอดแทรก หรือ In Space No One Can Hear You Read ในอวกาศ ไม่มีใครได้ยินคุณอ่านหนังสือ กลับมาก็ชักชวนทีมงานว่า เวลาเราจัดร้านแว่นแก้ว ก็ต้องมี theme เหมือนกัน บางครั้งลูกค้าอยากอ่าน แต่ไม่รู้จะอ่านอะไร ถือเป็นตัวช่วย
จึงยิ่งประทับใจเมื่อเห็นว่า ครูภัสรีวัลย์ ทะคง ก็ทำกิจกรรมแบบนี้ที่โรงเรียนชุมแพศึกษา จ.ขอนแก่น เช่นกัน โดยร่วมมือกับทีมยุวบรรณารักษ์ตั้ง theme ใหญ่ว่า More Reading More Knowledge แต่เปลี่ยน theme ย่อยทุกเดือน เช่น 4H (Head Heart Hand Health) อาเซียน ซีไรท์ เป็นต้น
ในการยั่วน้ำลายให้อยากอ่าน ครูสวิตตา มุ่งธนวรกุลและทีมยุวบรรณารักษ์ของโรงเรียนบุญวัฒนา จ.โคราช จะแนะนำหนังสือน่าอ่านผ่านระบบเสียงตามสายก่อนตั้งแถวเคารพธงชาติทุกวันพุธ เด็ก ๆ จะเขียนบทพูดกันเอง ทำให้คนที่ได้ฟังก็เข้าห้องสมุดมาตามหาหนังสือที่พูดถึงเยอะมาก
การใช้ social media มากระตุ้นให้อยากอ่านก็ได้ผลนะคะ ดิฉันได้ติดตาม page ของร้านหนังสืออนไลน์ Readery และก๊องดิด ทุกครั้งที่เห็นโพสต์ก็ทำให้อยากอ่านมาทุกครั้ง ล่าสุดได้อ่าน post ของ ด.ญ.ชลพรรษ ศิริสาธิตกิจ และด.ญ.โชติกา นพสุวรรณ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา รีวิวหนังสือเรื่องฟักทอง สองสาวเขียนว่าอ่านเสร็จก็ได้ลองปลูกฟักทอง แล้วนำมาทำอาหารให้ครอบครัวด้วย! ก็ต้องขอบคุณ Dek-D.com ที่ร่วมเป็นพันธมิตรส่งเสริมการอ่านกับโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้งคลับปีที่ 17 ตอน Read & Share เปิดเพจพิเศษให้เด็ก ๆ มารีวิวหนังสือในปีการศึกษา 60 นะคะ
ที่เดนมาร์คจะมีจัดงาน Next Library Festival ในเดือนมิถุนายนนี้ เป็นงานที่รวมคนหัวก้าวหน้าที่ทำงานด้านห้องสมุดจากทั่วโลก ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ดิฉันคิดว่าน่าสนใจ หัวก้าวหน้าด้านห้องสมุดคืออะไร ที่ได้ข่าวนี้เพราะมีบรรณารักษ์คนหนึ่งที่ห้องสมุดประชาชนนาคูรู ประเทศเคนยา ชื่อ เพียวริตี้ คาวูรี-มูตูคู ใช้นวัตกรรม Maths-Whizz (ที่ดิฉันซื้อลิขสิทธิ์มา) ในการส่งเสริมการอ่าน ทักษะด้านภาษา คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ดิฉันประทับใจข่าวนี้เพราะเพิ่งเคยได้ยินว่ามีบรรณารักษ์ใช้ Maths-Whizz ในการส่งเสริมการอ่านด้วย
สุดท้ายขอฝากข้อคิดของไอดอลอีกท่าน คือ ดร.คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณอยุธยา “หนังสือไม่เพียงแต่เป็นคู่มือแห่งวิถีชีวิต แต่ยังเป็นเพื่อนเคียงกายที่สำคัญ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น