โรงเรียนสำหรับ Active Citizen
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา
kim@nanmeebooks.com
ทุกคนล้วนเชื่อว่าการศึกษาสร้างคน แล้วคนแบบไหนล่ะที่โลกต้องการ
ดิฉันนำเสนอแนวคิดเรื่อง Active Citizen คนเก่ง คนดี
รับผิดชอบต่อตัวเองได้และมีหน้าที่ทำให้สังคมของเราดีขึ้น
ฟังดูดีแต่จะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร
มีกรณีศึกษาจากสองประเทศมาแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ค่ะ
ห้าปีก่อน นานมีบุ๊คส์เชิญ Dr. Peter Fauser
มาแลกเปลี่ยนว่าโรงเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร ท่านบอกว่าโรงเรียนที่ดีควรสามารถสร้างนักเรียนให้เป็นคนเก่ง
รับผิดชอบ และอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเกณฑ์การให้รางวัล German
School Prize ซึ่งเริ่มในปี 2006 โดยมูลนิธิ
Robert Bosch และมูลนิธิ Heidehof
ดิฉันสนใจแนวคิดนี้เพราะรางวัลนี้จะให้กับโรงเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้
ปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ จุดไฟปรารถนาสู่ความสำเร็จ
สร้างความสุขและความกล้าหาญในการใช้ชีวิต
และสอนให้นักเรียนมีความรับผิดชอบและความยุติธรรม มีสโลแกนว่า “Give wings to learning!”
เป้าหมาย
คือ ส่งเสริมให้จัดการตัวเอง เรียนรู้อย่างเต็มที่ อย่างเข้าใจ มีความรับผิดชอบ
และใฝ่ความสำเร็จ การจะทำแบบนี้ได้ จำเป็นต้องทะลายระบบการสอนแบบเดิมที่แข็งตัว
ต้องใส่ใจเรื่องการพัฒนาศักยภาพเป็นรายบุคคล นอกจากนั้น การสอนที่ดี
บรรยากาศในโรงเรียน วัฒนธรรมของโรงเรียน ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งและความเชื่อใจเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก
โรงเรียนที่ดียังต้องมีผู้นำที่ดี บริหารองค์กรบนพื้นฐานของประชาธิปไตย
โรงเรียนที่ได้รางวัลไม่ใช่โรงเรียนที่มีผลการเรียนที่ดีที่สุด
หรือเป็นโรงเรียนที่โด่งดังที่สุดในเยอรมนี
แต่เป็นโรงเรียนที่มีผลงานที่เป็นรูปธรรม และแสดงศักยภาพในการพัฒนาเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
เกณฑ์ในการตัดสินมี 6 ข้อ คือ ผลการเรียน การจัดการกับความหลากหลาย
คุณภาพของการสอน ความรับผิดชอบ ชีวิตในโรงเรียน
และโรงเรียนในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้อีกประเทศคือ อิสราเอล ด้วยแนวคิดโรงเรียนประชาธิปไตย ปัจจุบันมีกว่า 20
แห่งทั่วประเทศ เขาบอกว่าโรงเรียนประชาธิปไตย (democratic school) ไม่เหมือนกับการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย
(democracy education) นะคะ นักเรียนจะผ่านกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนเสมือนกำลังเป็น Active
Citizen ในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกติกาการอยู่ร่วมกัน
การยอมรับและชื่นชมในความแตกต่างระหว่างคนในโรงเรียน
สิทธิซึ่งมาพร้อมหน้าที่และความรับผิดชอบ
ในโรงเรียนประชาธิปไตย นักเรียนถูกฝึกให้ใช้สิทธิในการเลือก
มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง[1]พูดถึงเหตุผลที่ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนประเภทนี้ว่า
โรงเรียนส่วนมากเป็นองค์กรแบบเผด็จการ ผู้บริหารโรงเรียนสั่งการอะไรมา
ทุกคนก็ทำตามนั้น ครูสอนตามหลักสูตรที่ตั้งไว้ นักเรียนเรียนด้วยวิธีการ
ด้วยสื่อการเรียนการสอนที่โรงเรียนกำหนดไว้ โดยไม่ได้หวนคิดเลยว่า
วิวัฒนาการทางปัญญาส่งผลกระทบให้โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันทำให้การเรียนรู้ไม่มีความหมายกับชีวิตของผู้เรียนอีกแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม สังคม เทคโนโลยี หรือการเมือง
ทำให้บรรยากาศของความกระหายอยากรู้แบบปัญญาชน ความสงสัย อยากเสาะหา
และการคิดพลิกแพลงหายไป
กลไกที่แยบยลของโรงเรียนประชาธิปไตยทำให้ระบบบริหารจัดการโรงเรียนโปร่งใส ชัดเจน
และมีวิธีการฝึกให้นักเรียนรู้จักรับผิดชอบตัวเอง
หนังสือ “เข็มทิศ Kid ดี” ของ Hwang, Sang-Kyu มีบทหนึ่งชื่อ
“รับผิดชอบตัวเองได้ย่อมดีที่สุด” อ้างอิงแนวคิดของ ชอง-ปอล ซาตร์ ว่า
“มนุษย์เลือกสร้างตัวเองในแบบที่อยากเป็นได้ มนุษย์ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงตนเองได้เท่านั้น
แต่ยังพัฒนาตนเองได้ด้วย สิ่งสำคัญในการตัดสินใจว่าตนเองต้องใช้ชีวิตอย่างไร คือ
“ตัดสินใจอย่างอิสระ” ดั่งประโยคที่ว่า “ชีวิตของเรา เราเท่านั้นเป็นผู้กำหนด” และ
“ความอิสระคือสัจธรรม” ดังนั้นเมื่อมีอิสระในการตัดสินใจก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำทั้งหมดของตัวเอง”
หากโรงเรียนสามารถสร้างคนให้เป็น Active Citizen
ได้จริงคงดีไม่น้อย ความท้าทายคือจะนำแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างไร
ปีนี้ดิฉันถึงวางแผนพาผู้บริหารโรงเรียนไทยไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ได้รางวัล
German School Award ในช่วงปิดเทอมใหญ่ และปลายปีจะเชิญวิทยากรจากสองประเทศนี้มาแบ่งปันแนวทางปฏิบัติจริงกับโรงเรียนไทยอีกที
แล้วจะมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านอีกครั้งนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น