วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ยืนหยัดเข้มแข็ง

ยืนหยัดเข้มแข็ง

โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

มีใครเคยถูกข่มเหงรังแก (bully) บ้าง หรือมีใครเคยข่มเหงรังแกผู้อื่นบ้าง หลายคนคงจำคุณ นิค วูยิชิช เจ้าของผลงานเรื่อง “ชีวิตไร้ขีดจำกัด” “หยุดไม่อยู่” และล่าสุด “ยืนหยัด เข้มแข็ง” ได้ คุณนิคไม่มีแขน ไม่มีขา กำเนิดมาพร้อมกับโรค... ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณนิคจะประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยเหลือคนทั่วโลกนับล้าน มีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น ภรรยาแสนสวยและลูกที่แสนน่ารัก แต่คุณนิคก็เคยผ่านมรสุมชีวิตมามาก เคยเกือบยอมแพ้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีทำให้ตัวเองจมน้ำระหว่างอาบน้ำ
แน่นอนว่า คนที่มีรูปกายแตกต่างอย่างเด่นชัดอย่างคุณนิคคงถูกข่มเหงรังแกมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือทางวาจา แต่แท้จริงแล้วการข่มเหงรังแกมาในหลายรูปแบบ ลองยกตัวอย่างในโรงเรียนนะคะ เด็กบางคนอ้วนพิเศษ สูงโย่งพิเศษ ผิวขาวพิเศษ (เผือก) ผิวดำพิเศษ สิวเยอะเป็นพิเศษ ยากจนเป็นพิเศษ รวยเวอร์เป็นพิเศษ คือแตกต่างจากชาวบ้าน ก็จะถูกล้อเลียน บางครั้งรุนแรง จนทำให้เหยื่อมีปัญหาทางจิต หรือถูกทำร้ายร่างกายบ้างก็มีเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้คนที่แตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจได้ ทำอย่างไรให้คนเราไม่ยึด “สิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็น” เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สำคัญที่สุด คือ ทำอย่างไรให้คนที่ถูกข่มเหงรังแกสามารถยืนหยัดเข้มแข็งจากภายในได้ คุณนิคบอกว่า “ถ้าคุณโดนข่มเหงรังแกสิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือการกลั่นแกล้งคำพูดเยาะเย้ยและการกระทำร้ายกาจของพวกเขาแท้จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวคุณ หรือความบกพร่องใด ๆ ที่คุณอาจมีหรือพฤติกรรมใดๆ ของคุณเลย อันธพาลมีปัญหาของเขาเองจึงแกล้งคุณเพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นเพื่อระบายความโกรธ เพื่อให้รู้สึกมีอำนาจมากขึ้นหรือบางครั้งอาจเพียงเพราะไม่รู้จะทำอะไรดี”

ในงานเปิดตัวหนังสือ “ยืนหยัด เข้มแข็ง” คุณโรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิ The Rainbow Room แบ่งปันว่า “เราไม่รู้หรอกว่าจะถูกข่มเหงรังแกเมื่อไร แต่หนังสือเล่มนี้ช่วยให้วิธีการรับมือกับวิกฤติการณ์ที่คาดไม่ถึงได้อย่างมีเกียรติ โดยไม่ทำร้ายคนอื่นด้วย”
ในหนังสือ คุณนิคแบ่งปัน “ระบบป้องกันการข่มเหงรังแกจากภายใน” 10 ข้อ วันนี้ขอเล่าแค่สี่ข้อนะคะ อันดับแรก เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่าเราเป็นใคร อันธพาลจะได้ไม่ทำให้เราไขว้เขว อันดับที่สอง เราต้องรับผิดชอบพฤติกรรมและความสุขของเราเอง อันธพาลจะได้ไม่มีอำนาจเหนือเรา อันดับที่สาม กำหนดค่านิยมที่ชัดเจน จนไม่มีอันธพาลคนไหนมาโยกคลอนได้ อีกข้อ คือ สร้างพื้นที่ปลอดภัยภายใน เป็นที่ที่ไม่ให้อันธพาลหรือใครที่ไหนทำให้เรารู้สึกแย่ได้
ด้วยข้อสุดท้าย คุณนิคยังมีตัวอย่างคำถามที่ให้เราถามตัวเองเพื่อค้นพาพื้นที่ปลอดภัย 13 ข้อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครอง เพื่อน หรือครูชมเชยคุณในเรื่องใดบ่อยที่สุด คุณชอบทำอะไรมากที่สุด อะไรที่ปลอบประโลมจิตวิญญาณของคุณและทำให้คุณทุ่มเทกายใจจนลืมทุกอย่างไปหมด เป็นต้น 

คุณนิคบอกว่า หลายคนที่ถูกรังแกกลายเป็นอันธพาลเสียเอง สุดท้ายเป็นวงจรอุบาทว์ จึงมีความตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อทำลายวงจรนี้ พวกเราทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องนี้ ขอให้ช่วยกันแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับเพื่อน พี่น้อง ผู้ปกครอง ครู และใครก็ได้ที่คิดว่าจะมีประโยชน์ ติดตามเรื่องราวของคุณนิคได้ที่ www.facebook.com/nickvujicic

ยังมีหนังสือดี ๆ อีกหลายเล่มที่ปลูกฝังให้เราอยู่ร่วมกับคนที่ต่างกับเราได้อย่างสุนทรีย์ เช่น Nancy The Cat (โดย Ellen Sim เกี่ยวกับหนูที่อุปถัมภ์แมวเป็นลูก) เมาคลีลูกหมาป่า (โดย Rudyard Kipling เกี่ยวกับเด็กผู้ชายที่ถูกหมาป่าอุปถัมภ์) คิดแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ (โดย Hong Seo-yeo เกี่ยวกับเรื่องราวของบุคคลสำคัญของโลกที่มองต่างมุม เช่น บีโทเฟน ดาวินชี เป็นต้น) ลูกเป็นคนพิเศษนะ (โดย Ann Meek เกี่ยวกับเด็กที่มักถูกเพื่อนกีดกันไม่ให้เล่นด้วย) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น