สมัยเริ่มทำงานใหม่ ๆ ดิฉันปรับทุกข์ให้เพื่อนสมัยเซนต์โยฟังว่า
ดิฉันมีปัญหาเรื่องอารมณ์อ่อนไหว บางครั้งควบคุมไม่ได้ หากได้แรงกดดัน
จะร้องไห้กลางที่ประชุม หรือบางครั้งอารมณ์ฉุนเฉียว
เพื่อนคนนั้นจึงเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่เขาเป็นอาสาสมัครอยู่ในตอนนั้น ซึ่งเป็นการอบรมโดย
อ. ศุภวรรณ กรีน
อ. ศุภวรรณ บอกว่าคนเรามีทั้งตัวกายและตัวใจ เมื่อใจเราปั่นป่วน
เราต้องหาตัวใจกลับบ้าน คนส่วนมากดูแลตัวกายอย่างดี กินอาหารดี ออกกำลังกาย
แต่มักไม่ได้ดูแลตัวใจ
ต่อมา ค้นพบว่าแกนนำที่เผยแพร่แนวคิดของ อ. ศุภวรรณ กรีน คือ คุณวิศาล
เอกวานิช เจ้าของร้านหนังสือ เดอะบุ๊คส์ ที่ภูเก็ตนั่นเอง
ครอบครัวคุณวิศาลทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นเศรษฐีใหญ่
แต่เปิดร้านหนังสือเพราะรักการอ่าน เมื่อคุณวิศาลมาเที่ยวศูนย์วิทยาศาสตร์ที่
Nanmeebooks Learning Center ท่านบอกดิฉันว่าอยากไปเปิดที่ภูเก็ตด้วย เพราะท่านกำลังเปิดร้านใหม่
จะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ภายใต้คอนเซ็ป “รู้ศึกษา รู้สึกตัว”
ตอนแรกดิฉันบอกว่า ทำศูนย์วิทยาศาสตร์ต้องใช้เงินเยอะ
นานมีบุ๊คส์เปิดเพราะมันตรงกับอุดมการณ์เราเด๊ะ
และเชื่อมโยงกับสินค้าและบริการของเราด้วย แต่คุณวิศาลเปิดร้านหนังสือ ไม่อยากให้เปิดเลยค่ะ
มันไม่น่าจะคุ้ม
ท่านบอกว่า ค่านิยมในปัจจุบันผลักดันให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือเยอะมาก
ความจริงท่านเห็นด้วยว่าต้องเรียน แต่ท่านอยากส่งเสริมให้เรียนแบบถูกวิธี คือ ผ่าน
hands-on และการตั้งคำถาม ท่านจึงบอกว่าที่อยากเปิด เพราะไม่ใช่ต้องการเงิน
แต่อยากให้ภูเก็ตมีแหล่งเรียนรู้แบบนี้บ้าง
ท่านจึงชวนดิฉันตั้งคำถามต่อ ... ดิฉันเป็นคนใฝ่เรียน ทำงานหนัก
ถือว่าเก่งพอใช้ นี่เรียกว่า “รู้ศึกษา” แต่เวลาดิฉันอยู่ในสถานการณ์กดดัน
ดิฉันเสียอารมณ์ง่าย มีอะไรมาป่วนใจ บางครั้งปรี๊ดแตก แบบนี้ถือว่าดีแล้วหรือ
เพราะฉะนั้น นอกจากจะ “รู้ศึกษา” แล้ว เราต้อง “รู้สึกตัว” ด้วย จึงเป็นที่มาของชื่ออาคาร
“รู้ศึกษา รู้สึกตัว” ที่ภูเก็ต ซึ่งเปิดทำการวันแรกวันที่ 19 ต.ค. ค่ะ
ในวันเปิด คุณวิศาลเชิญ อ. ศุภวรรณ มาอบรมพวกเราเรื่อง
“พาตัวใจกลับบ้าน” ด้วย ซึ่งวางแผนจะจัดอบรมต่อเนื่องที่นี่ทุกครั้งที่ อ.
กลับมาประเทศไทยค่ะ
ดิฉันถือว่าโชคดี ได้กัลยานมิตรที่สอนทั้งเรื่องงานและเรื่องใจ
จึงอยากเล่าต่อถึงกัลยานมิตรอีกท่าน
สัปดาห์ที่แล้ว
ดิฉันและคณะแกนนำเรื่องส่งเสริมการอ่านมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโครงการนานมีบุ๊คส์รีดดิ้ลคลับปีที่ 12
ดิฉันจึงมีโอกาสสนทนากับ ผอ. บุญเลิศ ค่อนสอาด ถึงแนวทางการบริหาร
เพราะท่านเป็นนักบุกเบิกอย่างแท้จริง ผอ. บุญเลิศเพิ่งย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาฯ
จ.ฉะเชิงเทรา ในปีการศึกษานี้ ก่อนหน้านี้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนทอง
ดิฉันสังเกตว่า ผอ. บุญเลิศ ริเริ่มนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ
ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย”
จากเยอรมนีสำหรับวิทยาศาสตร์อนุบาล โครงการ “ห้องเรียนทดลองวิทย์”
จากญี่ปุ่นสำหรับวิทยาศาสตร์ประถม โครงการ “Maths-Whizz” จากอังกฤษสำหรับคณิตศาสตร์ประถม
และยังพัฒนาห้องสมุดให้มีชีวิตอีกด้วย
ในการบริหารองค์กร สิ่งที่ทุกคนต่างหวาดกลัวคือ “ความเปลี่ยนแปลง”
ดิฉันจึงถาม ผอ. บุญเลิศ ว่าท่านบริหารความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร “สำคัญ คือ
ต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน” ท่านใช้วิธีสื่อสาร “ความฝันและวิสัยทัศน์”
ให้กับคณะครูและผู้บริหาร เมื่อทุกคนมีเป้าหมายที่เห็นร่วมกัน
เราสามารถเอาชนะความท้าทายได้
ท่านเล่าต่อว่า มีครั้งหนึ่งที่ได้ขึ้นเวทีในฐานะ ผอ.
โรงเรียนวัดปิตุลา แล้วผู้ชมเงียบ เมื่อพิธีกรเอ่ยว่า ท่านเป็นอดีตผอ.
โรงเรียนวัดดอนทอง ทุกคนปรบมือสนั่นห้องประชุม ครูโรงเรียนวัดปิตุลาจึงถามท่านว่า
ทำไมพวกเขาไม่รู้จักโรงเรียนเรา ท่านจึงบอกว่าไม่ต้องกลัว
พวกเราจะร่วมกันทำให้โรงเรียนวัดปิตุลาชื่อเสียงโด่งดังให้ได้
ดิฉันคิดว่าการมีวิสัยทัศน์หรือมีเป้าหมายร่วมกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ
และไม่ใช่เพียงในการบริหารองค์กร และในการเรียนรู้ของเด็กด้วย
แต่เดิมเราอาจะให้นักเรียนเรียนรู้ a b c เพียงเพื่อให้รู้ แต่ด้วยโลกที่เปลี่ยนไป
วิธีการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับเด็กรุ่นอีกต่อไปค่ะ เราต้องเขียนฝันให้เขา เรียนสิ่งนี้เพื่ออะไร
เราจะเรียนรู้ a b c เพื่อบรรลุ d e f เพื่อเราจะได้ j k l เป็นต้น
เพื่อปิดท้าย ดิฉันขอฝากสูตรหนึ่ง ซึ่งต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์
แต่มีหัวใจดังต่อไปนี้
รู้ศึกษา + รู้สึกตัว = [ความรู้หลัก (วิทย์ คณิต อังกฤษ ...) + ทักษะของเด็กศตวรรษที่ 21 (สังคม คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม ...)]อย่างมีเป้าหมาย + รู้สึกตัว
และหากท่านไหนไปเที่ยวภูเก็ต
อย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมอาคาร “รู้ศึกษา รู้สึกตัว” กันนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น