ใครจะรู้ว่า ณ ชายแดน ไทย-พม่า จะมีโรงเรียนเกรดเอตั้งอยู่
เจ้าของกล่าวอย่างภูมิใจว่าเป็นโรงเรียนที่แพงที่สุดในพื้นที่ อนุบบาล 15,000 ประถม 25,000
แต่เมื่อดิฉันเห็นครั้งแรก นึกว่าค่าเทอมจะแพงกว่านั้น โรงเรียนแห่งนี้สอน 3 ภาษา (ไทย
อังกฤษ จีน) รองรับทั้งนักเรียนไทย จีน และพม่า มีห้องคอมพิวเตอร์อย่างดี
ห้องเรียนทุกห้องมีแอร์ โรงเรียนสะอาดสะอ้าน ที่สำคัญ เจ้าของลงเอง
“กว่าสิบปีก่อน พี่มาเที่ยวที่ชายแดน และสัญญากับตัวเองว่า
จะกลับมาพัฒนาพื้นที่ชายแดนให้ดี ด้วยการสร้างโรงเรียน” สิบปีผ่านไป
หุ้นส่วนถอนทุน เพราะการทำโรงเรียนให้ดี ไม่ได้กำไร (เร็ว) อย่างที่ดี
“ถ้าคุณสังเกต พี่เพิ่งทำห้องคอมพิวเตอร์ใหม่ ... และสิ่งสำคัญ คือ ครูต้องดี
เพราะฉะนั้น หากจะให้ครูดี ๆ อยู่กับเรา เราต้องดูแลให้ดี” เพราะฉะนั้น
ค่าเทอมทั้งหมดจะเอามาลงกับการพัฒนาครู และการพัฒนาโรงเรียนทั้งหมด
ดิฉันประทับใจเจ้าของท่านนี้ เพราะท่านทิ้งชีวิตนักการศึกษาในอเมริกา
ทิ้งสามีและลูกทั้ง 3 (กระจัดกระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพและอเมริกา) มาทำโรงเรียนที่ชายแดนไทย
– พม่า แห่งนี้ “บางครั้งเงินไม่พอ พี่ก็จะยืมสามี” แหม
สามีของพี่ช่างใจกว้างเหลือเกิน
ความจริงดิฉันก็ตั้งใจไปขายนวัตกรรมการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนนี้แหละค่ะ
แต่คุยกันถูกคอเหลือเกิน
“คิมน่าจะไปต่อรองกับรัฐบาลว่า แทนที่จะบังคับให้พี่ซื้อนมแจกเด็ก ขอผันงบประมาณมาซื้อของของคิมดีกว่า
ปีหนึ่ง พี่ถูกบังคับซื้อนมหลายแสน และต้องซื้อกับเจ้าที่เขากำหนด
ซื้อมาเด็กก็ไม่กิน เพราะเดี๋ยวนี้พ่อแม่หลายบ้านก็ไม่ให้ลูกกินนมวัว
ให้กินแต่นมถั่วเหลือง”
“ไม่ใช่แค่นมนะคะ โรงเรียนอย่างพี่ยังถูกบังคับให้ต้องซื้อสมุด
ดินสอแจกเด็กด้วย ทุกปีต้องแจกชุดนักเรียน 1 ชุด”
ถึงแม้ฟังดูเหมือนเป็นสิทธิพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนควรได้ ให้ก็ดีไม่ใช่หรือคะ
“การให้คงต้องดูบริบท
นักเรียนโรงเรียนนี้มีสมุดดินสอของตัวเองอยู่แล้ว
เงินก้อนนี้สามารถนำมาบริหารจัดการ หาสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับโรงเรียนของเราอย่างมีประสิทธิผลมากกว่า
ทำไมพี่ต้องเอาเงินก้อนที่ควรจะช่วยโรงเรียนจัดการเรียนรู้ให้ดี มาซื้อสมุดดินสอ
จากร้าน...เท่านั้น หากไม่ซื้อแบบที่กำหนด
ก็ไม่สามารถไปเบิกเงินที่นักเรียนพึงจะได้ใช้ประโยชน์
มาใช้ให้เหมาะกับบริบทของโรงเรียน”
กลับมาเรื่องเจ้าของท่านนี้ดีกว่าค่ะ ท่านทิ้งบ้านที่กรุงเทพมา
ตอนนี้พักในห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งในหอพักครูและนักเรียน
ปิดเทอมทีก็กลับบ้านไปหาครอบครัว ปีนี้ท่านก็อายุ 63 ปีแล้ว
แต่ดูแข็งแรงทั้งใจและกาย การทำโรงเรียนที่ชายแดนไม่ง่าย
เทอมนี้มีนักเรียนหกล้มหัวแตก พี่ก็พาขับรถเข้าเมืองอีก 30 กม.
ไปให้หมอเย็บ และพี่ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะหากพี่ไม่สบาย
พี่ก็ต้องเข้าเมืองเหมือนกัน
“การที่ส่วนกลางดูแลโรงเรียนเอกชน บ้างก็เป็นเรื่องดี
แต่พี่คิดว่าใช้งบประมาณแบบนี้ไม่มีประสิทธิผล
จ้างคนมากมายทั้งในกรุงเทพและในพื้นที่ ด้วยวัตถุประสงค์ให้มาช่วยโรงเรียน
แต่ให้ช่วยอะไร และคนเหล่านี้มีความรู้ความสามารถที่จะช่วยพัฒนาจริง ๆ หรือไม่
นี่คือคำถาม งบเหล่านี้เอามาให้โรงเรียนพัฒนาครู
สรรหาสื่อการเรียนการสอนที่ดีไม่ดีกว่าหรือ”
เพราะฉะนั้น หากกลับมาเรื่องเดิม “พี่ขอไม่เอานม
ไม่เอาสมุดดินสอได้ไหมคะ คิมไปคุยกับในกระทรวงได้ไหมคะ” เอ่อ ...
ดิฉันก็เป็นเพียงคนผู้น้อย อย่างมาก ได้ฟังก็เอามาเล่าต่อค่ะ
แต่การสนทนาครั้งนี้ทำให้ดิฉันครุ่นคิดพอสมควร ทั้งเรื่องสิทธิพื้นฐานของนักเรียน
เพราะคงไม่ใช้ผู้บริหารโรงเรียนทุกโรงจะคิดเป็น รู้จักสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับนักเรียนอย่างเจ้าของท่านนี้
บางครั้งส่วนกลางก็ต้องบังคับเรื่องที่เป็นพื้นฐานเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น