“หากครูลา 3 ชั่วโมง เด็กก็โง่ไป 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น หากครูจะลากิจ
ต้องสลับคาบสอนให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ถึงจะลาได้” วันก่อนมีโอกาสนั่งสนทนากับ
อ.ศิลป์ชัย สัมพันธ์พร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชลบุรี คุยสนุกถูกคอมาก
เลยมาเล่าต่อให้ฟังนะคะ
“จะเห็นได้ว่า ผอ. ไม่ค่อยออกไปซู่ซ่านอกโรงเรียนเท่าไร
เพราะทุกครั้งที่ ผอ. ไม่อยู่ คุณภาพการสอนของครูจะลดถอยประมาณ 10% ผอ.
จะเดินทั่วโรงเรียน เดินผ่าน ครูก็จะสะดุ้ง บางครั้งเห็นครูสอนน่าเบื่อ
ก็จะเข้าไปช่วยสอนด้วย ครูบางคนทดสอบสูตรคูณได้ทีละ 1 คน แต่ผอ.
ทดสอบได้ทีละ 3-4 คนนะ คือ คนหนึ่งยืนข้างซ้าย ใช้หูซ้ายฟัง คนหนึ่งยืนข้างขวา
ใช้หูขวาฟัง อีกคนยืนข้างหน้า ใช้ตาดู บางครั้งให้คนที่ท่องเสร็จแล้วมายืนข้าง ๆ
ช่วยให้ฟังช่วยกันดูอีก”
แหมเทคนิคแพรวพราวนะคะ “ผอ. คิดว่า หากเราต้องการให้ครูสอนอย่างไร
ครูต้องถูกสอนอย่างนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ในมหาวิทยาลัย อาจารย์บอกนักศึกษาว่า
เวลาสอนต้องจัดกิจกรรมกับนักเรียนนะ แต่ผอ. ขอถามหน่อยว่า
อาจารย์มหาวิทยาลัยเหล่านั้น เคยจัดกิจกรรมกับนักศึกษาหรือไม่
เมื่อไม่สอนอย่างที่พูด เมื่อนักศึกษาเรียนจบมา เขาจะมาสอนแบบจัดกิจกรรมได้อย่างไร
ผอ. สัมภาษณ์ครูเองทุกคน ล้วงลูกมาเยอะ หลายครั้ง อาจารย์มหาวิทยาลัยบอกนักศึกษา
“ให้ไปค้นมา” แต่เคยสอนไหมว่า ควรค้นด้วยหลักการอะไร
“จุดเน้นของโรงเรียนเรา คือ เด็กต้องดี เก่ง แข็งแรง
และอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย เราเชื่อเรื่องการเรียนรู้แบบองค์รวม ผอ.
ไม่ได้รู้มาก แต่ผอ. อ่านหนังสือมาก อ่านมาแล้วทุกทฤษฎีการศึกษา” ว่าแล้ว
ท่านก็เล่าแต่ละทฏษฎีที่ท่านเห็นด้วยให้เราฟัง ฟัง ๆ ไปต้องแอบบอก ผอ. ว่า
เราคิดเหมือนกันในหลายเรื่อง หากคิมเปิด powerpoint
ของสถาบันนานมีบุ๊คส์อินโนเวชั่นให้ ผอ. ดู ท่านจะเซอร์ไพรส์ ที่เห็น key
word
หลายคำที่ตรงกัน สุดยอดมาก
“ผอ. สนับสนุนการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และ science show
ซึ่งต้องใช้เงินเยอะมาก แต่สำคัญ เพราะทักษะจะติดตัวไปกับเด็ก ไม่ train
เพียงเรื่องวิทย์ แต่ครูของเราเชิญนักมายากลมา train
นักเรียนเรื่องการนำเสนอให้สนุกด้วย สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือ การฟัง
ทำอย่างไรให้ฟังจับใจความได้ ฟังรู้เรื่อง ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ผอ. ก็เชิญ อ. เจริญ
บวรรัตน์ จาก ม. เกษตร มาช่วยวางวิธีการ คือ ตอนนี้เด็กอนุบาลทำกิจกรรมสมาธิทุกวัน
แต่ไม่ใช่นั่งสมาธินะ แต่ทำกิจกรรมสมาธิกับกระดาน 9 ช่อง
ผอ. เล่าให้เราฟังว่า บทบาทสำคัญของการเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน คือ
การหาเงินคงกระพัน “รัฐให้เงินมา 6 ล้าน แค่ค่าไฟโรงเรียนเราก็เดือนละ 400,000
บาท
คูณเข้าไปก็ปีละ 4.8 ล้าน ที่เหลือซื้อชอล์คยังไม่พอ” พูดแล้วทุกคนก็ฮาตรึม
ถ้าไม่มีเงินมาพัฒนาโรงเรียน โอกาสที่จะโตหรือจะดีนั้นยากมาก
เพราะคู่แข่งเยอะแยะไปหมด “ผอ. กล้าพูดเลยว่าโรงเรียนของเราดีที่สุดในจังหวัด
เราลงทุนด้านสื่ออุปกรณ์ให้ทันสมัย เราลงทุนพัฒนาครู ยินดีจ้างวิทยากรแพง ๆ ดี ๆ
มาอบรมครู ส่งครูไปเรียนต่างประเทศ ผอ. คิดว่าครูต้องฉลาดกว่าเดิม อบรมแต่ละที
เก่งขึ้น 5% ก็หรูแล้ว อบรม 3 ครั้งก็เก่งขึ้น 15% ผอ.
ก็ดีใจแล้ว”
“ตอนที่ ผอ. ได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนครั้งแรก คือ
ที่โรงเรียนบ้านโสม แถวบ้านบึง โรงเรียนมีเงินเหลือแค่ 65 บาท
ภายในสองปี ผอ. บริหารให้โรงเรียนมีเงินเป็นแสน เช่น ตอนนั้นเงินน้อย
ครูเสนอให้ไปซื้อสับปะรด ผอ. กลับไปซื้อหน่อสับปะรด ได้มา 49,000 บาท
ให้เด็กกิน แล้วเอาที่เหลือไปขาย สุดท้ายได้แสนกว่าบาท ทีหลัง ผอ.
สามารถทำกับข้าวให้เด็กกินฟรีทุกวัน ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน เพราะได้กินข้าวอร่อย
บางวัน เด็กคนไหนไม่มา ผอ. ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามถึงบ้าน เห็นผู้ปกครองนั่งเล่นไพ่ ผอ. ด่าเลยว่า หากคุณไม่เป็นตัวอย่างให้ลูก
แล้วลูกจะเป็นคนดีได้อย่างไร ผู้ปกครองกลัว ผอ. กันหมด”
“ผอ. เคยทำโครงการให้ผู้ใหญ่ใจดีเลี้ยงอาหารกลางวันเด็ก ไม่ต้องทำมานะ
เอาเงินมา เราให้คนงานที่โรงเรียนทำ พอมีเงิน เราก็ได้ทำแบบดีหน่อย ยังจำได้เลย
ครั้งแรกเลี้ยงข้าวหมูแดง เด็กกินข้าวหมูแดงไม่เป็น ทำหน้าเบ้กันหมด ผอ. ก็เดินคุม
“กินเข้าไป” จนสุดท้าย ทุกคนชอบกินข้าวหมูแดง”
จริง ๆ นะคะ ทำโรงเรียนให้ดีนั้นไม่ง่าย ต้องใช้เงินเยอะ
และต้องกล้าลงทุน ดิฉันเคยเขียนบทความชิ้นหนึ่ง ชื่อ “มีข้าวกิน หรือกินข้าวอร่อย”
เพื่อสะท้อนว่า ตอนนี้เพียงแค่จัดการศึกษานั้นไม่พอแล้ว ต้องจัดการศึกษาที่ดีด้วย
ซึ่งต้องลงทุน
วันก่อนดิฉันได้คุยกับซิสเตอร์โรงเรียนหนึ่ง
ท่านเพิ่งย้ายมาอยู่โรงเรียน xxx ได้ 6 เดือน ท่านปรับทุกข์ให้ฟังว่า
จากที่โรงเรียนของท่านเคยเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด แต่เพราะขาดการพัฒนา
นึกว่าดีอยู่แล้ว โรงเรียนซิสเตอร์มีนักเรียนสามพันคน โรงเรียนข้างบ้านมีหกร้อยคน
ตอนนี้เหลือเพียงพันกว่าคนแต่ข้างบ้านมีสองพันคนแล้ว สมัยก่อนอนุบาลของท่านเฟื่องฟู
มีนักเรียนสามร้อยคน ตอนนี้เหลือแค่หกสิบคนเอง ทำให้ดิฉันคิดว่า
วงการโรงเรียนก็เหมือนกับโกดักนะคะ หากไม่ระวัง ฟิล์มก็โดนทดแทนโดยกล้องดิจิตอลโดยไม่รู้ตัว
เช่นเดียวกับโรงเรียน หากไปพัฒนาไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะลำบากได้เช่นกัน
จึงขอปิดท้ายด้วยคำพูดของ ผอ. ศิลป์ชัยว่า
“อาชีพครูไม่สามารถหยุดยั้งเวลาได้ อย่าปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์” ขอให้ PDCA
Plan Do Check Act ไปอย่างไม่หยุดยั้งนะคะ สู้สู้ค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น