วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

รู้ไหมว่าประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากที่สุดในโลก มีบริษัทที่มีอายุมากกว่า 200 ปีมากกว่า 3,000 ราย ตามมาด้วยเยอรมนี (1,500 กว่าราย) และฝรั่งเศส (ประมาณ 330 ราย)

ดิฉันและคุณแม่มีโอกาสไปเยี่ยมชมธุรกิจครอบครัวในประเทศญี่ปุ่นกับโครงการ KFamClub ของธนาคารกสิกรไทย คณะของเรามีทั้งหมด 13 ครอบครัวจากหลายวงการ ล้วนสงสัยว่าทำอย่างไรธุรกิจครอบครัวจึงส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน

ก่อนไปเล่าให้เพื่อนฟังว่าจะได้ไปพักโรงแรมที่สืบทอดกันมากว่า 40 รุ่น เพื่อนแซวว่าดิฉันโอเว่อร์ เพราะนั่นหมายถึงเป็นพันปี ไม่น่าจะเป็นได้ พูดเองงงเอง สงสัยจะจำผิด

เมื่อไปแล้วพบว่าตัวเลขอาจจะผิด แต่แก่นของเรื่องไม่โอเว่อร์ พวกเราได้ไปแบ่งปันประสบการณ์กับ คุณซาโต้ คันซาบูโร่ ประธานรุ่นที่ 34 ของเรียวกังเก่าแก่ชื่อ “ซาคัน” ในเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ปีนี้ครบรอบ 1,009 ปี ถึงแม้จะเกินพัน แต่เก่าไม่ที่สุด เพราะเก่าเป็นอันดับ 4 เท่านั้นค่ะ คุณซาโต้บอกว่าความจริงอาจมีมากกว่า 34 รุ่น แต่จะนับเฉพาะประธานที่เป็นผู้ชายเท่านั้น!

คุณซาโต้เป็นลูกเขยที่ได้รับตำแหน่งผู้สืบทอด เปลี่ยนชื่อมา 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนแต่งงานเข้ามาให้ตระกูล ต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ซาโต้” ให้เหมือนภรรยา และเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว

เปลี่ยนชื่อครั้งที่สอง คือ เมื่อได้เลื่อนขั้นเป็นประธาน คราวนี้ต้องเปลี่ยนชื่อจริงให้เป็น คันซาบูโร่ เพราะประธานของ “ซาคัน” ทั้ง 33 รุ่นก่อนหน้านี้มีชื่อเดียวกัน คือ ซาโต้ คันซาบูโร่ และที่เรียวกังแห่งนี้มีชื่อว่า “ซาคัน” เป็นการเอาคำแรกของชื่อและนามสกุลมาต่อกัน

ในการเปลี่ยนชื่อในแต่ละครั้งใช้เวลา 6 ปีในการวิ่งเข้าออกในศาลครอบครัว ถือไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการสืบทอดธุรกิจครอบครัวสไตล์ญี่ปุ่น เมื่อได้ยินเรื่องนี้ ดิฉันคิดถึงบทละครของเชคสเปียร์เรื่อง “โรมิโอและจูเลียต” เมื่อมีการพูดถึง “What’s in a name … ชื่อนั้นสำคัญไฉน”

หากไม่ใช้ชื่อเดียวกันจะทำให้การสืบทอดลดหย่อนคุณภาพหรือไม่ เมื่อเปลี่ยนชื่อ ตัวตนของเราเปลี่ยนด้วยไหม หรือชื่อก็คือชื่อ ตัวตนของเราก็คือตัวตนของเรา ดิฉันเกือบถามคุณซาโต้ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องเปลี่ยนชื่อตั้ง 2 ครั้ง โชคดีที่ยั้งตัวได้ทัน

สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จะมีเพื่อน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีธุรกิจครอบครัวและไม่มี กลุ่มแรกก็แตกสองเสียงค่ะ ทั้งรู้สึกโชคดีที่มีธุรกิจมารองรับ ไม่ต้องหางาน และมีที่รู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวเป็นภาระ ดิฉันเคยรู้สึกทั้งสองแบบค่ะ

คุณเคยไหมคะที่คิดว่าปัญหาของตนยิ่งใหญ่เหลือเกิน และเคยไหมคะที่อยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลีของโลกใหญ่ไพศาล ครั้งหนึ่ง คุณสุภาวดี หาญเมธี แห่งรักลูกกรุ๊ปให้โอกาสดิฉันและทีมงานนานมีบุ๊คส์ติดตามไปดูงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์เปิดตา ทำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของแต่ละประเทศ แต่ละอารยธรรม ทำให้ตัวเองถ่อมตนและคิดได้ว่า เราเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของจักรวาลใหญ่ ๆ

เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัว เราเป็นเพียง 1 รุ่นของอีก 10 20 30 รุ่น (ฟังดูแล้วอาจจะโอเว่อร์นะคะ เพราะธุรกิจครอบครัวส่วนมากอยู่ไม่เกินรุ่นที่ 3 ค่ะ) เพราะฉะนั้น การที่เรารู้สึกว่าธุรกิจครอบครัวเป็นภาระ หยุดทำดีกว่า ถือเป็นการมองความต้องการของตัวเองเป็นหลัก ไม่ได้นึกถึงรุ่นลูกหลานอีกกี่ร้อย กี่พันปีที่จะตามมา

ในขณะเดียวกัน คนเราเกิดมาหนึ่งชีวิต ทำไมเราต้องเลือกเส้นทางชีวิตเพื่อรุ่นอื่นที่ไม่ใช่รุ่นเรา
ทั้งสองมุมมองถือเป็นสิ่งที่ควรจะตั้งคำถามและสนทนากันในครอบครัวนะคะ

อย่างไรก็ตาม สำคัญน่าจะอยู่ที่ค่านิยมหรือวัฒนธรรมที่เราต้องการสืบทอดต่อมาสู่รุ่นต่อไป ซึ่งถูกบันทึกอยู่ในธรรมนูญครอบครัว หลักสูตร KFamClub ฝึกให้เราตั้งคำถามว่าค่านิยมอะไรที่สำคัญต่อครอบครัวเรา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่ก็ได้

หากท่านสนใจ อยากให้ลองอ่านธรรมนูญครอบครัวของตระกูลโมกิ เจ้าของซีอิ้วยี่ห้อ “คิโคมัน” นะคะบริษัทนี้ยาวนานถึง 383 ปีแล้วค่ะ ดิฉันอาจไม่ได้เล่าให้ฟังทั้งหมด แต่มีข้อหนึ่งที่ชอบเป็นพิเศษ คือ ความดีเป็นเหตุ ทรัพย์เป็นผล อย่าเข้าใจผิดระหว่างเหตุและผล อย่าตัดสินคนจากความรวยหรือจน
“ความเป็นคน” ไม่ได้สอนกันง่าย ๆ บางครั้ง ดิฉันพูดคุยเล่นกับเพื่อน ๆ ว่าไม่อยากมีลูก เพราะกลัวเลี้ยงได้ไม่ดี คำถามคือ อะไรคือดี ความเป็นคนดีที่คิดเป็นมันสอนกันได้หรือไม่ ธุรกิจครอบครัวอาจเป็นเวทีให้ครอบครัวสามัคคี และมีกลไลส่งต่อค่านิยมที่ครอบครัวเชื่อและศรัทธานะคะ

กลับมาที่คำถามแรก ชื่อนั้นสำคัญไฉน หากชื่อเป็นสัญญลักษณ์ของทุกสิ่งที่เป็นครอบครัว การส่งชื่อจากรุ่นสู่รุ่นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและเข้าใจได้ เส้นทาง 1,009 ปีของ “ซากัน” ไม่ได้ราบรื่นตลอด

“ซากัน” โด่งดังด้วยน้ำพุร้อนอากิ สี่ร้อยปีก่อนเกิดเหตุน้ำพุร้อนแห้งเหือด ทำอย่างไรก็ไม่ผุดอีก จนกระทั่งได้ไปไหว้ศาลเจ้าไฟที่เมืองวากายามา (อีกฟากหนึ่งของประเทศ) เจ้าของในตอนนั้นนำไฟจากศาลเจ้ากลับมาที่เรียวกัง น้ำพุร้อนจึงผุดใหม่ ปัจจุบัน ไฟจากศาลเจ้าไฟเมื่อสี่ร้อยปีก่อนยังไหม้อยู่ใน “ซากัน”  ให้เราเห็นและไม่เคยดับอีกเลย

นอกจากนั้นในปี 2011 จังหวัดมิยางิก็ถูกผลกระทบจากซึนามิอย่างแรง ในจังหวัดมีเรียวกัง 5 แห่ง ทุกแห่งต้องไล่คนงานออก ยกเว้น “ซากัน” เพราะเชื่อว่าธุรกิจจะกลับมาได้อีกครั้ง ทุกคนร่วมแรงร่วมใจต่อสู้อุปสรรคจนสำเร็จ นี่ก็เป็นผลพวงของความ “ศรัทธา” ในพลังของธุรกิจครอบครัว คุณซาโต้บอกว่า “ในยามวิกฤติ ผู้นำครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญที่จะนำพาลูกหลานและทีมงานไปทางที่ถูกต้อง เช่นเกียวกับการบริหารประเทศ”

ดิฉันจึงขอชวนทุกท่านลองคิดว่า ค่านิยมอะไรที่สำคัญสำหรับครอบครัวของท่าน ที่ท่านอยากส่งต่อสู่ชั่วลูกชั่วหลาน และลองเขียนออกมาเป็นธรรมนูญครอบครัวดูนะคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น