วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คิดเปลี่ยนคุณ

“ใครก็ตามที่รู้ว่ามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร จะสามารถอยู่ได้ไม่ว่าจะอยู่อย่างไร” – ฟิคทอร์ อี. ฟรังเคิล

ดร. อเล็กซานเดอร์ เพาฟ์เลอร์ เขียนในบทที่ 2 ของหนังสือ คิดเปลี่ยนคุณ ว่าหนึ่งอุปสรรคที่สกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ในตัวเราคือการไม่รู้ว่า “อะไร” เติมเต็มความหมายในชีวิต เพราะปราศจาคโฟกัส ความฝัน และเป้าหมาย ดร.อเล็กซ์จึงชวนพวกเราเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว (Personal Mission Statement) ค่ะ

ก่อนจะลงรายละเอียด เราอาจตั้งคำถามว่า หากเราไม่ได้มีอาชีพศิลปินหรือใช้ศิลปะในชีวิตโดยตรง ทำไมต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มาร์การเรต เจ. วีตลีย์ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเราจะกลัวความไม่แน่นอน ความปั่นป่วน และความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในองค์กรก็ตาม ขอให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์”

สำหรับตัวดิฉันเอง เมื่อบริษัทมีพนักงานใหม่ มีสินค้าใหม่ ต้องขยายธุรกิจไปทิศทางอื่น ๆ  หากเราทำงานแบบเดิม อาจตกหลุมพรางแห่งความเคยชิน และเกิดความขัดแย้งทางความคิดได้

เมื่อดิฉันทราบว่าอดีต CEO ของเมอร์เซเดส เบนซ์ อย่าง ดร.อเล็กซ์ มาเล่นเรื่องการปลุกความคิดสร้างสรรค์ในผู้นำ ดิฉันจึงสนใจทันทีค่ะ

กลับมาเรื่องพันธกิจส่วนตัว ดร.อเล็กซ์ได้ความคิดนี้มาจาก ดร.สตีเว่น โควีย์ ซึ่งดิฉันก็เป็นแฟนพันธ์แท้เช่นกัน ดร.โควีย์แนะนำให้เรา “เริ่มต้นด้วยจุดหมายในใจ” ลองนึกภาพตามนะคะ

คุณอยู่ในงานวันเกิดครบรอบ 80 ปีของคุณ มีคนที่คุณรักในทุกบทบาท เช่น พ่อแม่ ลูก สามี ลูกน้อง เพื่อน ฯลฯ รายล้อมเต็มไปหมด ก่อนเป่าเค้ก แต่ละคนจะยืนกล่าวคำชื่นชมให้กับคุณ คุณอยากให้พวกเขาพูดถึงคุณอย่างไร

จากนั้นดิฉันชวนคุณคิดต่อว่า หากเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ คุณต้องทำอะไรบ้าง ถึงจะคู่ควรต่อคำพูดเหล่านั้น
หนึ่งในสิ่งที่ดิฉันเขียน คือ ดิฉันอยากให้เพื่อน ๆ พูดถึงดิฉันว่า “คิมเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้ในยามลำบาก ที่สนับสนุนฉันอย่างไม่มีอคติ และสนุกทุกทีที่ได้อยู่ด้วยกัน” เมื่อเขียนเสร็จ ดิฉันก็รู้สึกตัวทันทีว่า หากเป็น ณ ตอนนี้ ต้องไม่มีใครพูดถึงดิฉันแบบนี้แน่นอน เพราะดิฉันเป็นคนบ้างาน ไม่ค่อยแบ่งเวลาให้เพื่อน ทำให้เพื่อนหลายคนเกรงใจที่จะชวนไปเที่ยวไหน เมื่อรู้ตัว จึงต้องรีบปฏิวัติตัวเอง จัดเวลาให้สมดุล ใส่ใจกับคนรอบข้างให้มากกว่านี้ เป็นต้น

หลังจากนั้น คุณอาจจะคิดต่อว่าใครคือไอดอลของคุณ เพราะมันจะสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญกับคุณ
หนึ่งในไอดอลของดิฉันคือคุณแม่ เพราะท่านมีความมุ่งมั่น มีพลังผลักดันความเปลี่ยนแปลงในสังคม กล้าเสี่ยง และยึดมั่นในหลักการที่ศรัทธา เมื่อเขียนออกมาจะเห็นภาพชัดว่า เราเลือกคนเหล่านี้เป็นไอดอลเพราะอะไร ทั้งหมดนี้จะช่วยในกระบวนการเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว ค่ะ

“อย่าตั้งเป้าหมายอย่างไร้ความหมาย หรือเป้าหมายที่มาจากความโลภ” – อริสโตเติล

ดร.อเล็กซ์ ให้ข้อคิดว่า เวลาตั้งเป้าหมาย ต้องระวังยาพิษ 3 ประเภท คือ 
1. เปรียบเทียบเงินเดือนและสิ่งที่มีตอนนี้กับเงินเดือนมากขึ้นที่อยากจะมีในอนาคต เพราะเราไม่ควรมีเฉพาะเป้าหมายที่เป็นวัตถุ  
2. เปรียบเทียบเงินเดือนตอนนี้กับเงินเดือนที่เคยได้มากกว่า เพราะยามที่ “ได้น้อยลง” มักจะแลกมาด้วยประสบการณ์ดี ๆ ความเชี่ยวชาญ และมิตรภาพเพิ่มขึ้น  
3. เปรียบเทียบเงินเดือนตัวเองกับของคนอื่น เพราะสนามหญ้าบ้านเราไม่เคยเขียวเท่าข้างบ้านอยู่แล้ว
สรุปคือ การเปรียบเทียบมากเกินไปจนไม่ได้ชื่นชมยินดีกับความสำเร็จของเราจะเป็นยาพิษที่ทำร้ายเราเอง เรื่องนี้สำคัญมากถึงขนาดที่นักเขียนดัง ดร.สเปนเซอร์ จอห์นสัน ยังต้องออกมาเขียนเรื่อง ของขวัญแห่งปัจจุบันกาลซึ่งคนไทยน่าจะเข้าใจง่ายเพราะเชื่อมโยงกับคำสอนของศาสนาพุทธด้วย

ในเบื้องต้น ดิฉันคงสามารถท้าทายให้คุณตั้งคำถามได้แล้วว่า ทำไมต้อง “คิดเปลี่ยนคุณ” และพลังความคิดสร้างสรรค์สำคัญไฉนในการเอาชีวิตรอดในภาวะเศรษฐกิจและสภาพสังคมในปัจจุบัน จึงขอจบบทความด้วยส่วนหนึ่งของหนังสือ “อลิซในดินแดนมหัศจรรย์” ค่ะ

อลิซถามแมวว่าจากนี้ควรไปที่ไหนต่อ แมวจึงตอบว่า “ทางไหน” ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะไปที่ไหน เมื่ออลิซบอกว่าเธอไม่สนใจหรอกว่าจะไปที่ไหน แมวจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น มันก็ไม่สำคัญหรอกว่าคุณจะไปทางไหน”
อ่านจบแล้ว เริ่มเขียน คำประกาศพันธกิจส่วนตัว เลยนะคะ ขอให้โชคดีค่ะ


(หมายเหตุ: ขอขอบคุณ ดร.อเล็กซ์ ที่ท้าให้ดิฉัน “คิดเปลี่ยนคุณ” และขอขอบคุณบริษัท  PacRim ที่จัดหลักสูตร 7 อุปนิสัยสำหรับผู้มีประสิทธิผลสูง ซึ่งช่วยชีวิตของดิฉันในปีนี้ค่ะ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น