วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ลูกไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์จะทำอย่างไรดี

“สวัสดีค่ะ หนูอายุ 8 ขวบ แต่อายุทางคณิตศาสตร์ 9.1 ขวบค่ะ”

รู้ไหมว่าอายุธรรมดากับอายุทางคณิตศาสตร์ (Maths AgeTM) แตกต่างกัน นอกจากนั้น วิจัยยังบอกว่าในห้องเรียนขนาด 40 คน มีช่องว่างระหว่างเด็กที่เก่งคณิตศาสตร์ที่สุดและอ่อนที่สุดมากถึง 4 ปี เพราะฉะนั้นครูมักจะสอนไปที่ค่าเฉลี่ยเสมอ ทำให้ทุกชั่วขณะ จะมีเด็กนั่งงงและนั่งเบื่ออยู่ และรู้ไหมว่า อายุทางคณิตศาสตร์ของแต่ละหัวข้อย่อยของแต่ละคน (เช่น บวก ลบ เรขาคณิต ฯลฯ) ยังไม่เหมือนกันอีก!

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงกับทุกวิชา และเป็นประเด็นร้อนในวงการศึกษาโลกที่เราเรียกกันว่า Personalised Learning นั่นคือ หากเด็กมีความสามารถแตกต่างกัน มีสไตล์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เราจะจัดเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตามรายบุคคลอย่างไร

วันนี้ดิฉันขอเล่าสู่กันฟังถึงเรื่อง Personalised Learning จากงานสัมมนาเรื่อง “ยกระดับการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แนวใหม่” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมานะคะ

รัฐบาลอังกฤษทำวิจัยเพื่อหาวิธีสนับสนุนให้ได้เรียนแบบ Personalised Learning พบว่าทำได้หลายวิธี เช่น เพิ่มจำนวนครูต่อห้อง ลดจำนวนเด็กต่อห้อง ให้เด็กเรียนพิเศษแบบตัวต่อตัว และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ผลวิจัยด้านคณิตศาสตร์พบว่าหากเด็กได้เรียนพิเศษตัวต่อตัว 20 ชั่วโมง อายุทางคณิตศาสตร์จะเพิ่มขึ้น 1.2 เท่า

หากแต่การเรียนพิเศษตัวต่อตัวต้องใช้งบประมาณสูงมาก และไม่สามารถทำได้ในภาพกว้าง จึงมีการวิจัยต่อกับนักเรียน 8,388 คนที่ประเทศอังกฤษ โดยใช้โปรแกรมติวเตอร์ออนไลน์ Maths-Whizz พบว่า เมื่อใช้โปรแกรม 60 นาที/สัปดาห์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือน อายุทางคณิตศาสตร์จะเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ทำให้โรงเรียนกว่า 4,000 แห่งในประเทศอังกฤษ และอีก 11 ประเทศทั่วโลกใช้โปรแกรม Maths-Whizz นี้แล้ว

คุณเลียม เพททิท ผู้เชี่ยวชาญด้าน Personalised Learning วิชาคณิตศาสตร์จาก Whizz Education ประเทศอังกฤษกล่าวว่า “ปัจจัยสำเร็จของการยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ขึ้นอยู่กับสามเหลี่ยมแห่งความสำเร็จ หนึ่งคือกระตุ้นให้เด็กสนุกและตื่นเต้นกับคณิตศาสตร์ สองคือครูมีข้อมูลพัฒนาการของเด็กรายบุคคล รู้ว่าเด็กคนไหนต้องการความช่วยเหลือตรงไหน และสามคือผู้ปกครองมีส่วนร่วม สนับสนุนนโยบายของโรงเรียนในการทำกิจกรรมคณิตศาสตร์”

คุณเลียมเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องสนุก “เด็กส่วนมากจะตัดสินใจว่าชอบหรือไม่ชอบคณิตศาสตร์ในระหว่างอายุ 7-9 ปี หากเขาคิดว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก ทำไม่ได้ ในอายุช่วงนั้น เขาจะไม่ชอบคณิตศาสตร์อีกเลย” นี่คือความท้าทายของผู้จัดการเรียนรู้ที่จะทำให้บทเรียนคณิตศาสตร์สนุก มีแอนิเมชั่น มีกิมมิคมัดใจเด็ก

“ผมคิดว่าสาเหตุที่ Maths-Whizz ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดนวัตกรรมการเรียนรู้นานาชาติ เช่น  BETT Awards, Education Resource Award หรือแม้กระทั่งรางวัล Queen’s Award for Enterprise จากพระราชินีอลิซาเบทที่ 2 นั่นเป็นเพราะเราสร้างสรรค์โปรแกรมติวเตอร์ที่ตอบโจทย์สามเหลี่ยมแห่งความสำเร็จ เด็ก ๆ ชอบ Maths-Whizz มากเพราะได้ทำแบบฝึกหัดแอนิเมชั่นที่สนุก ทุกครั้งที่ทำจะได้สะสมแต้มไปซื้อของเล่น ซื้อสัตว์เลี้ยง สามารถท้าชิงเพื่อนจากทั่วโลกได้

ครูชอบ Maths-Whizz เพราะครูเห็นรายงานพัฒนาการของเด็กแบบ real-time วิเคราะห์ได้เป็นรายห้องเรียนและรายบุคคล และสำหรับผู้ปกครองประทับใจ เพราะเป็นวิธีที่ให้ลูกได้ทำคณิตศาสตร์แบบไม่ต้องบังคับ และเห็นผลได้จริง”

อาจารย์ดวงใจ ตระกูลช่าง ผู้รับใบอนุญาตกลุ่มโรงเรียนแย้มสอาด เล่าว่า “ตั้งแต่โรงเรียนนำเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการกับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม IPAD หรือ Maths-Whizz พบว่าผลการเรียนดีขึ้นจริง ๆ ที่สำคัญเด็ก ๆ กระตือรือร้นอย่างเห็นได้ชัด ปกติวันจันทร์เด็ก ๆ จะไม่อยากเรียน แต่ตั้งแต่เปิดเทอมมา 6 สัปดาห์ ไม่มีใครขาดเรียนเลย”

ผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์จาก สสวท. ดร. รณชัย ปานะโปย เสนอเพิ่มเติมว่า “ครูเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ถึงแม้ว่าโลกปัจจุบันไม่สามารถปฏิเสธเทคโนโลยีได้ แต่สิ่งสำคัญคือการสนทนาในห้องเรียน ครูจะต้องจัดเวลาในการพูดคุยกับเด็ก ตั้งคำถามและเปิดเวทีให้มีการพูดคุยและอภิปรายในห้องเรียนด้วย”
ด้านหน่วยงานที่สร้างครูอย่าง ดร. ยุรวัฒน์ คล้ายมงคล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยังเสริมอีกว่า “การเรียนรู้ที่เหมาะสม จะต้องมีทั้งส่วน Personalised Learning ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล และต้องให้ความสำคัญของการเรียนรู้แบบทั้งห้อง (whole-class) ให้มีความเป็น interactive และสนุกสนาน”

“โรงเรียนหลายแห่งปฏิเสธเทคโนโลยีเพราะกลัวครูไม่ยอมใช้ ผมต้องตั้งคำถามว่า ในโลกปัจจุบัน เด็ก ๆ ใช้เทคโนโลยีกันหมดแล้ว เราจะปฏิเสธความจริงของโลกทำไม แต่สิ่งสำคัญ คือ การใช้เทคโนโลยีด้วย Best Practice ต่างหาก ถึงจะยกระดับการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง”

ดิฉันขอทิ้งท้ายบทความด้วยสิ่งที่ได้ยินมานะคะ

“น้องกันไม่เก่งเลขหรอกค่ะ ให้เล่นบอลดีกว่า ไม่ต้องเครียด” น้องกันมองหน้าคุณแม่อย่างงง ๆ คุณคิดว่าหากน้องกันไม่มีโอกาสได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง และเพียงคุณครูและคุณแม่ตัดสินใจว่าน้องกันไม่เก่งเลข โดยยังไม่รู้ข้อเท็จจริง คุณคิดว่าน้องกันจะอยากลองทำเลขต่อไปไหมคะ หรือน้องกันจะคิดว่า “เออ ผมคงไม่เก่งเลขจริง ๆ ช่างมันเถอะ!”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น