วันจันทร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2559

ฉันรักปู่ย่าตายาย

ฉันรักปู่ย่าตายาย
โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.omc

ดิฉันโชคดีที่เกิดมาได้รู้จักอากง (ตา) และอาม่า (ย่า) ยายและปู่เสียชีวิตก่อนดิฉันเกิด ตอนมหาวิทยาลัย ดิฉันเรียนภาษาจีนเพื่อจะได้เขียนจดหมายหาอากงเป็นภาษาจีน เล่าถึงความคิดเห็นในเรื่องสังคมให้ท่านฟัง ถึงแม้เราไม่เคยคุยกันเรื่องความคิดคำนึง อย่างน้อย ดิฉันก็อยากให้ท่านได้รู้จักฉันในเชิงความคิดบ้าง
เด็กบางคนกลัวปู่ย่าตายาย ริ้วรอยเต็มหน้าและพูดจาไม่เหมือนพ่อแม่อาจทำให้ดูเหมือนดุ ในหนังสือ “เล่นกับปู่สนุกจัง” ลูกหมีถาม “ทำไมคุณปู่ถึงแก่ล่ะครับ” ทำไมที่ปากมีรอยย่น ทำไมที่ตามีรอยย่น ทำไมมีรอยย่นตรงกลางระหว่างตา เมื่อคุณปู่หยอกล้อตอบความ ว่าเป็นเพราะปู่ชอบหัวเราะ ชอบจ้องเขม็งตอนจับปลา หรือเพราะชอบมองขึ้นฟ้าเวลาเอาก้นถูต้นไม้  “ผมจะไม่เล่นกับคุณปู่แล้ว ผมไม่อยากมีรอยย่นเยอะ ๆ เดี๋ยวแก่เร็ว”
นักเขียน Tadao Miyamoto พูดถึงความสำคัญของปู่ย่าตายายว่า “เด็ก ๆ จะอบอุ่นใจเมื่อปู่ย่าตายาย เล่าเรื่องตอนที่พ่อแม่ยังเด็กให้ฟัง เพราะการที่เด็กได้รับรู้ว่าครั้งหนึ่งพ่อแม่ก็เคยดื้อและซนเหมือนพวกเขา จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนพ่อแม่” กิจกรรมที่สามารถทำกับลูกได้ เช่น เมื่ออ่านนิทานจน ให้ช่วยกันทำการ์ดให้ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน เพื่อแสดงความกตัญญู
Trace Moroney เขียนบทส่งท้ายใน “ถ้วยฟูรักปู่ย่าตายาย” ว่า “ปู่ย่าตายายอาจเล่นได้หลายบทบาท เช่น เป็นนักประวัติศาสตร์ประจำตระกูล เป็นที่ปรึกษา พ่อแม่จำเป็น เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้โอบอุ้มคุ้มครอง เป็นอะไรต่อมิอะไรที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก กำลังใจ ความสบายใจ คำแนะนำและแรงหนุนที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว” เพราะเด็ก ๆ ทุกคนล้วนอยากให้คนรัก
ในหนังสืออีกเล่มของเธอ “ถ้วยฟูอยากให้คนรัก” ถ้วยฟูบอกว่า “เมื่อฉันเป็นที่รักของใคร ๆ ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองมีปีก และได้บินไปบนฟ้าที่มีหมู่ดาวระยิบระยับ ... การเป็นที่รักของใคร ๆ ทำให้ฉันเข้มแข็ง” หากมีปัญหา ก็มั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้ ทำให้ฉันมีความสุขและมั่นใจในตัวเอง “การเป็นที่รักทำให้ฉันรักตัวเองและรักคนอื่นด้วย” ทำให้รู้ว่าการแบ่งปันความรักให้กันและกันง่ายนิดเดียว นักเขียนยังบอกอีกว่า พ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกตระหนักในคุณค่าของตัวเอง ด้วยการใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ เล่นกับลูก อ่านหนังสือกับลูก และรับฟังเขา
บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเรามันกระอักกระอ่วนว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ในหนังสือ “อ๊บ อ๊บ ลูกกบหาแม่” โดย Brigitte Weninger ลูกกบสองพี่น้องร้องไห้หาแม่ เพราะแม่ออกไปตามพ่อกลับบ้านแล้วไม่กลับมาอีกเลย ทั้งเม่น กา และตุ่น รู้สึกสงสาร แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะรับลูกกบไปเลี้ยง สุดท้ายแม่หนูยกมืออาสา หลายสิ่งอย่างเกิดขึ้น แต่สุดท้ายทั้งลูกหนูและลูกกบก็มีชีวิตที่มีความสุข แม่หนูทิ้งท้ายว่า “ผู้ใหญ่อย่างเราน่ะอาจแตกต่างกันไป แต่อย่างไรเสีย...เด็กก็คือเด็ก”
หลาน ๆ คนไหนอยากหากิจกรรมทำกับปู่ย่าตายาย หาไอเดียได้จากหนังสือ “เคล็ดลับคุณปู่อายุยืน 103 ปี เพื่อสุขภาพดีไม่มีป่วย” โดย Tsui, Jie-Chen ในนี้จะมีวิธีฝึกกังฟูบนที่นอน 20 ท่า ฝึกกังฟูเลียนแบบท่าสัตว์ 8 ชนิด ฯลฯ ที่นักเขียนทำจริง จนอายุ 103 ปีแล้ว ยังไม่เจ็บป่วย ฉีกขาได้เกือบ 180 องศา ยกเท้าพาดคอไม่ติดขัด ไม่เคยใช้บัตรประกันสุขภาพ!
หากพ่อแม่คนไหนอยากบอกรักลูก แต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็หาไอเดียจาก “เขียนให้รู้ว่ารัก” โดย Garth Callaghan ได้ คุณชาติศิริ โสภณพานิช เขียนในคำนิยมว่าเป็น “กุศโลบายแสดงความรักและสั่งสอนลูกให้เข้าใจชีวิตเพื่อพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง”


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น