วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559

Mini Phaenomenta ศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียน


โดย คิม จงสถิตย์วัฒนา kim@nanmeebooks.com

ลายเดือนก่อน ดิฉันเล่าถึงโครงการสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนที่นานมีบุ๊คส์ร่วมดำเนินงานกับมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสนับสนุนโดยสถาบันเกอเธ่ ตอนนี้โครงการนี้เริ่มแล้วนะคะ
ตอนที่ดิฉันเชื้อเชิญโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ามาฟังว่า Mini Phaenomenta เป็นอย่างไร อาจสุดโต่งอย่างไร ก็มีโรงเรียนทั้งหมด 7 แห่ง[1]ลงชื่อว่าจะนำร่องด้วย เมื่อเดือนที่แล้วทั้ง 7 โรงเรียนนี้ส่งตัวแทนครูและผู้ปกครองที่แอ็กทีฟโรงเรียนละ 3 คนมาร่วมเวิร์กช็อป 3 วัน 2 คืนด้วยกันที่ Go Genius Learning Center เขาใหญ่
เป้าหมายของเวิร์กช็อปคือทลายกำแพงของ “ความเป็นไปไม่ได้” ในการทำงานไม้ การก่อสร้าง ความจริงในโรงเรียนนานาชาติ เด็กทุกคนจะมีประสบการณ์ทำงานช่าง งานไม้ในวิชา Design & Technology แต่โรงเรียนไทยไม่มีวิชานี้ เพราะฉะนั้น คนไทยส่วนมากไม่เคยจับเครื่องมือมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อยไม้ เจาะรู ตัดกระจก เป็นต้น

ในครั้งนี้ ผู้ร่วมเวิร์กช็อปถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน แต่ละกลุ่มจะได้ “วิธีสร้าง” สถานีวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนกัน แล้วลงมือทำจริง โดยวิทยากรจะสวมหมวก facilitator คือ ไม่บอก ไม่สั่ง แต่คอยแนะถึงเทคนิค เช่น วิธีการตัดไม้รูปครึ่งวงกลม เป็นต้น พอสิ้นวัน ทุกคนจะเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจ เพราะเห็นประจักษ์ว่า “ฉันทำได้ด้วยมือของฉันเอง”
ความจริงแล้ว พอถึงคราวที่แต่ละโรงเรียนจะไปสร้างสถานีการทดลองเอง ครูจะไม่ได้เป็นคนสร้างนะคะ แต่จะเชิญชวนให้ผู้ปกครองเป็นคนสร้างให้โรงเรียน ระหว่างที่เราสะท้อนความคิดตอนกลางคืน หลายท่านบอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกิจกรรมกับผู้ปกครองแบบนี้ รู้สึกพิเศษมาก หลายท่านคงจำได้ว่า ก่อนดิฉันรับปาก ดร.ฟีเซอร์ (ผู้คิดค้นคอนเซ็ป Mini Phaenomenta) ว่าจะทำโครงการนี้ที่ประเทศไทย ดิฉันเคยเถียงท่านว่า ผู้ปกครองชาวไทยไม่น่าจะยอมสร้างสถานีฯ เป็นอันขาด คงจะว่าจ้างช่างไม้ข้างนอก หรือไม่ก็ให้ครูทำ ตอนนี้ดิฉันเข้าใจแล้ว การที่ ดร.ฟีเซอร์ กำหนดว่าทุกโรงเรียนที่ร่วมโครงการจะต้องส่งตัวแทนมาเวิร์กช็อปก่อน ก็เพื่อโน้มน้าวแบบธรรมชาติที่สุดว่า “เราทำได้” และเมื่อเชิญผู้ปกครองมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยแล้ว คนกลุ่มนี้นี่แหละที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับเราต่อไป

จุดเด่นอีกอย่างของ Mini Phaenomenta คือ ห้ามติดป้ายชื่อ วิธีเล่น และคำอธิบายของปรากฏการณ์เด็ดขาด เรื่องนี้คือเรื่องสุดโต่งที่ดิฉันกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่โดนแรงต้านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในระดับวิทยากรของเราเองก็ตาม ครู และผู้ปกครอง แต่ในวันสุดท้ายของเวิร์กช็อป ทุกคนจะทำกิจกรรม Genetic Talk คือ เราแบ่งกันเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั่งล้อมรอบสถานีที่ประทับใจที่สุด ในเวลานี้ วิทยากรทำหน้าที่ facilitate อย่างเดียว ซึ่งทุกคนต้องอดใจเปิดปากอย่างมาก เราจะเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเวิร์กช็อป “เล่น” กับสถานีต่อหน้าทุกคน โดยมีกติกาคือ จะต้องพูดออกมาเสียงดังว่า “ฉันกำลังจะทำอะไร ฉันคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น” แล้วก็ทำมัน จากนั้นให้พูดว่า “พบว่ามันเกิดอะไรขึ้น น่าจะเป็นเพราะอะไร” แล้วก็กลับที่ คนต่อไปที่ยกมือก็จะเวียนกระบวนการนี้ แต่จะเปลี่ยนตัวแปรไปเรื่อย ๆ “คราวนี้ฉันจะทำแบบนี้บ้าง ฉันคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น” ลองทำดู “ฮืม มันกลับเป็นแบบนั้น” ฯลฯ ที่ต้องบอกว่าวิทยากรต้องปิดปากตัวเองเป็นเพราะ สิ่งที่บางคนพูดมันผิดเพี้ยนมาก หรือถูกต้องโป๊ะเชะมาก แต่วิทยากรห้ามโต้เถียง ห้ามอธิบาย หรือห้ามคอนเฟิร์ม นี่คือคือกระบวนการเรียนรู้แบบธรรมชาติ โดยใช้วิธีการ Accommodation (เรียนรู้จากความแตกต่างในความคิดตอนต้น) ซึ่งครู (หรือในที่นี้คือวิทยากร) สามารถกระตุ้นได้มากขึ้นด้วยกระบวนการ Genetic Talk ค่ะ


ตอนนี้เปิดเทอมสองแล้ว ทั้ง 7 โรงเรียนเริ่มนำ Mini Phaenomenta เข้าโรงเรียนจริง โดยก้าวแรก โครงการของเราจะเอาสถานีเคลื่อนที่ไปให้ยืมโรงละสองสัปดาห์ ระหว่างนั้น โรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองให้มาเห็นความมหัศจรรย์และแววตาของเด็ก ๆ เพื่อหลังจากที่สถานีถูกเวียนไปโรงเรียนอื่น ผู้ปกครองก็จะได้ยกมืออาสาสร้างสถานีประจำให้กับโรงเรียน หากโรงเรียนไหนสนใจร่วมโครงการกับเราในปีการศึกษา 2559 กรุณาอีเมลหาดิฉันได้เลยค่ะ



[1] โรงเรียนทั้ง 7 แห่ง ได้แก่ เซนต์โยเซฟทิพวัล จิตรลดา อัสสัมชัญสมุทรปราการ เพลินพัฒนา รุ่งอรุณ อนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ อนุบาลเมืองอุทัยธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น