วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำให้ดีที่สุดดีกว่าไม่ทำเลย

สัปดาห์นี้ดิฉันได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า British International School Phuket หรือ BISP (เดิมชื่อ Dulwich International College) รู้สึกประทับใจโรงเรียนภายใต้การบริหารของครูใหญ่ Mr. Niel Richards อย่างมาก หลายคนก็อยากคิดว่าโรงเรียนในรุ่นของเรานั้นดีสุด แต่ดิฉันดีใจแทนรุ่นน้องที่ได้รับการศึกษาชั้นเลิศจากโรงเรียนในปัจจุบัน

ก่อนที่ Mr. Richards จะย้ายมาเป็นครูใหญ่ที่นี่ในปี 2011 ท่านเคยเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียน United World College of the Atlantics ที่เวลส์มาก่อน อัพเดทกันคราวนี้ Mr. Richards เล่าถึงนโยบายของเจ้าของโรงเรียน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่จะทำให้โรงเรียน BISP เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร พร้อมสร้าง “บรรยากาศแห่งความเป็นเลิศ” ในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

ตอนนี้โรงเรียนวางกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบของ Academy หรือที่ Mr. Richards เรียกว่า “หลักสูตรแห่งความใฝ่ฝัน” (aspirational curriculum) ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้ต่อยอดจนถึงความเป็นเลิศ ทำอย่างไรที่จะสร้างโอกาสให้นักเรียนแสดงความสามารถเกินความคาดหมาย ทะลุเพดานการสอนแบบดั้งเดิมของโรงเรียน และสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้จากในโรงเรียนสู่โลกภายนอกได้ ตอนนี้ BISP มีทั้งหมด 8 Academy ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นด้านกีฬา ครอบคลุมถึงการว่ายน้ำ (Flying Fish / JSA) ฟุตบอล (Cruzeiro Football Academy) เทนนิส (RPT Tennis) และกอล์ฟ (Golf Academy) นอกเหนือจากด้านกีฬา โรงเรียนยังมี Academy สำหรับภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ศิลปะ การแสดง และธุรกิจ

ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนต้องเรียน Academy เด็กทุกคนจะต้องได้เรียนในหลักสูตรปกติอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่หากคนไหนต้องการพัฒนาศักยภาพให้สูงสุด ก็มาเรียนเพิ่มใน Academy ได้ ตอนนี้นักเรียน BISP ได้ไปแข่งชนะในระดับโอลิมปิกเยาวชน การแข่งขันระดับโลก เอเชียนเกมสม์ ซีเกมส์ และอีกมากมาย

สำหรับดิฉันเอง ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการเป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ดิฉันรู้สึกประทับใจเมื่อได้อ่านจดหมายที่ Mr. Richards เขียนถึงผู้ปกครองเกี่ยวกับการเล่นกีฬา จึงขอแลกเปลี่ยนกับทุกท่านนะคะ

Mr. Richards เล่าถึงคราวที่เป็นโค้ชให้ทีมนักเรียน มีนักเรียนคนหนึ่งหันมาบอกว่า “มันเป็นเพียงแค่เกม” ถึงแม้ว่าน้องคนนั้นพูดถูก ทำไม Mr. Richards ถึงรู้สึกโกรธขนาดนี้ ทำให้คิดต่อว่า หากเป็นเพียงแค่เกม ฉันจะคาดหวังให้นักกีฬาเสียสละ ลงแรง ลงใจมากขนาดนี้ได้อย่างไร

“แต่นี่ก็คือหัวใจของกีฬา มันไม่บ่อยที่เราจะมีโอกาสโฟกัสร่างกายและสมองเพื่อมุ่งสู่จุดสำเร็จ โดยเฉพาะหากทำได้เป็นทีม ยิ่งสอนให้เราสลัดความเห็นแก่ตัว และรวมพลังกับ สหาย ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เกิดบ่อยกับกิจกรรมประเภทอื่น ในระหว่างการแข่ง ผมคาดหวังว่านักกีฬาจะต้องมีสมาธิและเล่นเต็มที่ ทั้งใจและกาย ถือเป็นการสร้างคุณลักษณะ (character) ให้กับคน ซึ่งก็คือกระดูกสันหลังของชีวิตนั่นเอง

“มันจะเป็นเพียงแค่เกม เมื่อการแข่งขันจบลงแล้ว เมื่อนักกีฬาได้ทำดีที่สุดเพื่อชัยชนะของทีม เมื่อนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่ผลลัพธ์อีกต่อไป มีแต่ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง

ว่าแล้ว Mr. Richards ก็อ้างอิงถึงบทกวี “IF” ของ Rudyard Kipling ที่ขอให้เรามองภาพลวงตาของ “ความสำเร็จ” และ “ความหายนะ” อย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นบทกวีที่ติดอยู่ทางเข้านักกีฬาของสนามแข่งวิมเบิลดัน และยังต่อยอดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับกีฬา แต่กับเรื่องอื่นด้วย เช่น ศิลปะ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่ทักษะทางกายภาพกับความนึกคิดต้องทำงานร่วมกัน”

ดิฉันเห็นด้วยกับข้อความในจดหมายของ Mr. Richards นะคะ ดิฉันเคยให้ข้ออ้างกับตัวเองว่า ไม่ต้องซีเรียสหรอก มันไม่ใช่ทางของเรา จนตัวเองไม่ได้ลองทำให้ดีที่สุด พอมาคิดดู เหมือนเราดูถูกตัวเองนะคะ หากเราไม่ลองให้เต็มที่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราทำได้


ปิดท้ายด้วยคำถามยอดนิยมของดิฉัน โรงเรียนที่ดีต้องเป็นอย่างไร Mr. Richards บอกว่าโรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนที่แคร์ ท่านเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องอ่อนไหว หมายถึงปัจจัยสำเร็จในการเรียนรู้คือจิตภาวะของนักเรียน ความจริงแล้วเบื้องลึกของมนุษย์ทุกคนมีความเอื้ออาทร หากปราศจากโอกาสที่จะแสดงความห่วงใยให้กับผู้อื่น หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่น ความเอื้ออาทรนี้ก็จะลดหายลงเรื่อย ๆ แต่หากนักเรียนมีโอกาสนี้ ก็จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น