สัปดาห์ที่แล้วได้พบเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่าทำไมถึงหย่ากับสามี ทั้งที่ภายนอกดูเหมือนเป็นคู่ที่เพอร์เฟ็ก แต่แท้ที่จริง ถูกสามีคุกคามจิตใจ ดูถูกต่อว่า ใช้คำพูดเชือดเฉือนหัวใจเสมอ “อย่างเธอ ไม่มีวันเป็นแม่ของลูกฉันหรอก” “เธอทำให้ฉันอยากอ๊วกเป็นเลือด” ทำลายความเคารพตัวเองและความเชื่อมั่นในเพื่อนของดิฉันจนหมด ทุกครั้งที่เงินเดือนออก ต้องเบิกเงินทั้งหมดพร้อมสลิปเงินเดือนไปให้สามี ให้เงินเป็นวันเหมือนกัน หากต้องการซื้ออะไรต้องขอเป็นครั้ง ๆ ไป ตอนหนีออกมา ไม่มีเงินสักแดง
แปลกแต่จริง นิยายที่ดิฉันอ่านอยู่มีเค้าโครงคล้ายกัน นางเอกเคยเป็นสาวน้อยที่เต็มไปด้วยไฟและจิตวิญญาณ แต่เมื่อถูกพรากจากแม่ ให้ไปอยู่กับพ่อใจร้าย กดขี่ทางจิตใจหลายปี ไม่ให้แสดงอารมณ์ ความคิดเห็น ก็ทำให้เปลี่ยนไปสิ้นเชิง จนกว่าจะมีเพื่อนดี มีคนรักที่ส่งเสริมให้รักและเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมา ยืนหยัดต่อสู่เพื่อตัวเองได้
ตอนดิฉันเรียนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เคยเป็นอาสาสมัครในเซฟเฮ้าส์ดูแลผู้หญิงที่ถูกทำร้าย (domestic violence) ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่รู้ว่าการถูกทำร้าย ไม่ใช่เพียงทางกาย แต่เป็นทางใจด้วย บางคนไม่เคยถูกทุบตี แต่ถูกดุด่า ควบคุม ยึดทุกสิ่งอย่างที่จะทำให้อยู่รอดด้วยตัวเองได้ เช่น ไม่ให้เงิน ไม่ให้ออกจากบ้าน ขู่ว่าหากออกจากบ้านจะฆ่า ฯลฯ สะท้อนให้คิดว่า หากเรา (หรือเพื่อนของเรา) ตกอยู่ในสภาพนั้น จะต้องทำอย่างไร
พนักงานบริษัทนานมีบุ๊คส์ส่วนมากเป็นผู้หญิงค่ะ ตั้งแต่ทำงานมามีประมาณ 10 คนแล้วที่ลาออกเพราะแฟนบังคับให้ออก ไม่ใช่ว่าไม่สนุกกับงาน แต่แฟนบอกว่า เป็นห่วง ไม่อยากให้ทำงานดึกถึงหนึ่งทุ่ม เมื่อสอบถามเพิ่มเติม หลายคนต้องเลี้ยงแฟนด้วยซ้ำ เพราะแฟนไม่ทำงาน
คุณแม่พูดกับพวกเราเสมอว่า พวกเราต้องยืนได้ด้วยตัวเอง อย่าคิดว่าใครจะต้องมาเลี้ยงเรา หากมีถือว่าได้แต้ม แต่อย่าตกไปอยู่ในสภาพที่ไม่มีทางเลือก เพราะฉะนั้น เราต้องมีวิชาชีพ ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ บริษัทเรามีแม่เลี้ยงเดี่ยวจำนวนหนึ่งเลยค่ะ ทำให้ดิฉันประทับใจความแกร่งของเพศหญิงอย่างมาก ไม่ว่าจะเจอมรสุมอะไร จะสู้ไม่ถอย
ตอนนี้นานมีบุ๊คส์กำลังจะจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “แค่ 13” เรื่องราวชีวิตของ ลอน จากเด็กหนีออกจากบ้านมาเป็นหญิงขายบริการเรทติ้งอันดับหนึ่ง เด็กผู้หญิงที่ไม่มีค่าพอที่พ่อแม่จะส่งเรียนหนังสือ แต่เป็นแหล่งรายได้สำคัญให้ครอบครัว ได้เงินจากไหนไม่เคยมีใครถาม ยิ่งให้บริการแบบ “พิศดาร” เท่าไรก็ได้เงินมากขึ้น และแม่ก็เอาไปหมด
ลอน เขียนในอารัมภบทว่า “หลังจากทนทุกช์มานานกว่าสิบปี ฉันก็หนีออกจากประเทศไทยสำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ฉันก็พบว่า การอยู่อีกประเทศหนึ่งหรือการแต่งงานกับคนอังกฤษ ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ชีวิตของฉันเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงต้องมาจากภายใน ฉันต้องการเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องการทำให้หญิงสาวคนอื่น ๆ เห็นว่าพวกเธอก็ทำสำเร็จได้ ... เราต้องรู้ให้ลึกถึงจิตวิญญาณว่าร่างกายมนุษย์เป็นสมบัติล้ำค่า เราแต่ละคนมีคุณค่า และสามารถทำความดีเพื่อสังคมได้ เราจึงจะเอาชนะเกมชีวิตนี้ได้”
โจทย์ของพวกเราคือ จะเลี้ยงดูสั่งสอนลูกหลานของเราอย่างไร ให้มีวิชาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ มีความรัก เคารพตัวเอง และมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถแก้ปัญหาได้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น