เมื่อดิฉันได้รับเชิญจากโรงเรียนเก่า
(ปัจจุบันชื่อ British
International School, Phuket) ให้ไปกล่าวสุนทรพจน์แสดงความยินดีกับรุ่นน้อง
ม. 6 ที่เพิ่งเรียนจบ
ดิฉันรู้สึกภาคภูมิใจและไม่แน่ใจในขณะเดียวกัน เวลาผ่านไป 12 ปีแล้วที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์นี้ให้กับพวกเรา
แล้วฉันประสบความสำเร็จมากพอที่จะมาพูดให้รุ่นน้องฟังแล้วหรือ
ดิฉันจึงศึกษาแนวทางการกล่าวสุนทรพจน์ของ เจ เค โรว์ลิ่ง ตอนที่ได้รับเชิญจาก ม.ฮาร์วาร์ด
ในปี 2008 ดิฉันพบว่า
การพูดถึงสิ่งที่เราค้นพบและทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้น่าจะดีที่สุด
เลยขอแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านที่มีลูกหลานหรือคนรู้จักที่กำลังจะ (หรือเพิ่ง) จบม. 6 นะคะ
โดยขอเขียนเสมือนพูดกับรุ่นน้องนะคะ
“วันนี้พี่ขอพูดถึง
2 หัวข้อนะคะ คือ การเปิดใจและ social change (การเปลี่ยนแปลงสังคม)
สมัยพี่เรียนม. ปลาย
พี่เป็นคนมีความแข่งขันสูงมาก พี่ต้องเป็นที่หนึ่งในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องเรียน
เรื่องสังคม เรื่องกีฬา เรื่องดนตรี เมื่อมหาวิทยาลัยปฏิเสธไม่รับพี่
ตอนนั้นพี่เสียใจเป็นที่สุด คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ
แต่โชคดีที่ได้รับกำลังใจอย่างล้นหลาม ทำให้พี่คิดได้ พี่เครียดเพราะพี่ตั้งความคาดหวังให้ตัวเองสูงเกินไป
คือ พี่นึกว่าคนรอบข้างหวังสูงกับพี่ แต่แท้ที่จริงแล้ว
ทุกคนพียงต้องการให้เรามีความสุขเท่านั้น
เมื่อพี่เข้ามหาวิทยาลัยมิชิแกน
พี่จึงตัดสินใจปรับทัศนคติ พี่บอกตัวเองว่าพี่จะเปิดใจ
คือทำให้ดีที่สุดและจะแข่งขันกับตัวเองเท่านั้น
ไม่ต้องซีเรียสกับเรื่องเรียนจนเกินไป โอโห ความเครียดแทบมลายหายไป
ถึงแม้ว่าพี่จะสมัครเรียนวิศวกรรม แต่พี่ลงวิชาเลือกในวิชาที่พี่สนใจ เช่น
การเมือง ประวัติศาสตร์ พี่เข้าร่วมคณะร้องเพลงประสานเสียง ทำนิตยสาร
และก่อตั้งชมรมค่ายอาสา เมื่อมีเวลาพี่มักไปฟังคอนเสิร์ต ไปชมนิทรรศการศิลปะ
ไปฟังสัมมนา
ที่
BIS เราไม่ค่อยได้คุยกันเรื่องศาสนาหรือความเชื่อ
และเรามักจะคิดว่าโรงเรียนของเรามีทุกอย่างแล้ว แต่เมื่อพี่เข้ามหาวิทยาลัย
พี่ได้พบกับคนที่หลากหลาย
และพบว่าโลกนี้มีสิ่งที่สามารถเรียนรู้ได้อีกมากเหลือเกิน มันสุดยอดมาก
เพราะฉะนั้น พี่ขอท้าทายให้พวกเราก้าวสู่บทต่อไปของชีวิตด้วยหัวใจที่เปิดอ้า
เพราะฉะนั้น อย่าหมกอยู่แต่ในหอในวันเสาร์-อาทิตย์
อย่าไม่ทำอะไรในช่วงปิดเทอม อย่ายุ่งเกินไปที่จะไปพบเพื่อนใหม่
วางแผนกิจกรรมในช่วงปิดเทอมให้ดี ผจญอุทยานแห่งชาติเขาสก ทำงานพิเศษบนเรือยอช
ฝึกงานที่สหประชาชาติ เพราะกิจกรรมที่่น่าตื่นเต้นแบบนี้ไม่ได้ลอยมาหาเรา
และที่แน่ ๆ มันไม่ได้ฟรี เราต้องตั้งเป้าและวางแผน
และเมื่อเราเรียนจบและทำงานประจำ
คงไม่มีโอกาสมาทำกิจกรรมแบบนี้ได้ง่ายเหมือนสมัยเรียนแน่ ๆ ค่ะ
แต่อย่าเข้าใจผิดนะคะ
พี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องสนใจเรื่องเรียนนะคะ เพราะเรื่องนั้นมันของตายอยู่แล้ว
บางครั้งการที่ได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียนดี ๆ
แบบเราอาจทำให้เราไม่สำนึกในโอกาสได้นะคะ
เพื่อนของพี่ที่มิชิแกนส่วนมากต้องกู้เงินเพื่อส่งเสียตัวเองเรียน เพราะฉะนั้น
หากเราโชคดีขนาดที่มีคนส่งเสียให้เรียน เราจะต้องทำให้ดีที่สุด
และทำอย่างเปิดใจค่ะ
มาถึงหัวข้อที่สอง
คือ social changeพี่รู้สึกโชคดีมากที่ได้เรียนหลักสูตร
IB
ขอบคุณ
Peter Koret ครูชาวอเมริกันที่สอนภาษาไทย
ที่ท้าทายให้เราอ่าน “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ขอบคุณ Patrick Barnham ที่แนะนำให้อ่าน “บ้านปรารถนารัก” เมื่อเติมความเข้มข้นด้วยการเรียน Theory
of Knowledge ที่ชวนตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเห็นมีจริงหรือไม่
และการเขียน extended essay เกี่ยวกับกิจกรรมของนักศึกษาในยุค
1970 หลักสูตร IB เกือบทำให้พี่เป็นบ้า
หากโลกของเราเต็มไปด้วยคอรัปชั่นทั้งในศาสนา
การเมือง และระบบทุนนิยม เราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร
คือเป็นมากกระทั่งคิดว่าหากพี่โดนรถชนตาย อาจไม่มีอะไรนัยยะสำคัญอะไร
เพราะชีวิตก็ไม่ได้มีความหมายขนาดนั้นอยู่ดี
อ.
วิทยากร เชียงกูล เรียกช่วงนี้ว่า “ฉันจึงมาหาความหมาย” พวกเราอาจจะรู้สึกแบบนี้อยู่
สำคัญคือให้ตระหนักว่ากระบวนการนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น เราจะ “หา”
มากเท่าไรก็ได้ แต่อย่าจมปลักกับมัน มันจะค่อย ๆ คลี่คลายไปเอง
โชคดีที่พี่ได้ก่อตั้งชมรมค่ายอาสาที่ชื่อว่า
World Service Team บทบาทของพวกเรา
คือ คัดเลือกโครงการเพื่อสังคมในประเทศโลกที่สาม ทำกิจกรรมเรี่ยไรเงิน
และพานักศึกษาไปทำกิจกรรมให้สำเร็จ โครงการชิ้นแรกของเราอยู่ที่ประเทศเขมรค่ะ
ก่อนไป
เราได้เชิญคุณแม่ของเพื่อนร่วมทีมที่เป็นคนเขมรที่ลี้ภัยจากพวกเขมรแดงไปอยู่อเมริกามาเล่าให้ฟังถึงประวัติศาสตร์
คุณแม่เล่าถึงคราวที่ถูกทหารใช้คีมถอนเล็บออกมาทั้ง 10 นิ้วเพราะทาเล็บ
และเล่าถึงเมื่อทหารฆ่าเพื่อนที่เป็นปัญญาชน
เพราะไม่อยากให้เผยแพร่ความคิดที่ต่อต้านกับรัฐบาล
พวกเราจึงไปเขมรด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ
"โอ ชาวเขมรที่น่าสงสาร
เราจะเป็นดั่งแสงไฟให้ชีวิตที่มืดมน" พวกเราช่างโง่เขลาและจองหอง
ถึงแม้ว่าผู้คนที่เราได้พบปะเป็นเต็มไปด้วยรอยยิ้มและความหวัง ทำให้พี่คิดได้ว่า
หากคนที่ผ่านเรื่องเลวร้ายขนาดพวกเขายังมีความพอใจในชีวิต
พี่เป็นใครมาจากไหนถึงจะคิดว่าชีวิตไร้ความหมาย
เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
พวกเราอาจจะหลงลืมหรือตั้งคำถามว่าเรียนไปเพื่ออะไร แต่บางครั้งเราไม่ต้องมีคำตอบก็ได้นะคะ
พวกเราจะพบเจอกับประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจ หรือกระตุกความเป็นตัวตนของเรา
พี่ขอให้เราตั้งใจเรียนฝึกฝนทักษะและวิชาชีพให้ดีที่สุด เพื่อสุดท้าย
ถึงแม้ว่าเราจะมีเงินหรือไม่ อย่างน้อยเรามีมันสมอง มีความเชี่ยวชาญ
ที่จะมาช่วยผลักดันและแก้ไขประเด็นทางสังคมนั้น ๆ
สุดท้ายนี้
พี่ขอแสดงความยินดีกับพวกเราทุกคนที่เรียนจบมัธยม 6 และขอให้ชีวิตมหาวิทยาลัยสนุกสุดยอดไปเลยนะคะ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น