“เราก้าวทะลุโปสการ์ดได้อย่างไร”
!?!? งงใช่ไหมคะ
สัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันมีโอกาสไปร่วมการสัมมนา “ทำอย่างไรให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าอ่านสำหรับเยาวชน”
จัดโดยกรุงเทพมหานคร และนี่เป็นคำถามที่ Professor Dr. Albrecht
Beutelspacher ผู้ก่อตั้ง Mathematikum พิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์ Hands-on
แห่งแรกในโลกถามขึ้น
ขอย้อนเวลาไป 5 ปี ระหว่างที่ คุณแม่ (สุวดี จงสถิตย์วัฒนา)
ไปทำงาน ณ Frankfurt Book Fair เพื่อนรักชาวเยอรมัน Joachim Hecker ก็เล่าให้ท่านฟังเกี่ยวกับ
Mathematikum ท่านจึงนั่งรถไฟไปเมืองกีเซ่น (Giessen)
เพื่อไปดูว่าพิพิธภัณฑ์คณิตศาสตร์เป็นหน้าตาเป็นอย่างไร และทำให้เป็น
hands-on ได้อย่างไร
ตอนนั้น ท่านอีเมลให้ลูก ๆ ฟังอย่างตื่นเต้นว่า “อยากให้เด็กไทยมีแหล่งเรียนรู้แบบนี้บ้าง”
และแล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันแบบไม่ได้นัดหมาย
เมื่อดิฉันซื้อลิขสิทธิ์หนังสือคณิตศาสตร์ hands-on ของดร.
อัลเบรท มาแปลเป็นภาษาไทย และเตรียมไปขอทุนจากสถาบันเกอเธ่เพื่อเชิญ
ดร.อัลเบรทมาอบรมครูคณิตศาสตร์ชาวไทย
สถาบันเกอเธ่ก็ลงทุนสร้างนิทรรศการเคลื่อนที่ของ Mathematikum ไปทั่วโลก
ตอนนี้อยู่อินเดีย และปีหน้าจะมาเมืองไทย! จึงตอบตกลงทันที เพราะทิศทางเดียวกัน
พร้อมกันนั้น กรุงเทพมหานครวางแผนจัดสัมมนาเรื่องทำอย่างไรให้เด็กไทยไม่กลัวหนังสือวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ดร.อัลเบรทเลยได้มาร่วมตั้งคำถามและแบ่งปันความคิดกับพวกเราค่ะ
ท่านใช้ 3 วิธี คือ
1. ตั้งคำถามกวน ๆ
ที่พิสูจน์ได้การทดลองคณิตศาสตร์แบบ hands-on เช่น
“เราก้าวทะลุโปสการ์ดได้อย่างไร”
2. ลับสมองด้วย brainteaser
แบบคณิตศาสตร์ เช่น “ทำอย่างไรให้วัวกินหญ้าเป็นรูปครึ่งวงกลม” และ
3. ผ่านการเล่านิทาน
ท่านเล่าว่า ท่านก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Mathematikum
เป็นเพราะตอนท่านสอนนักศึกษาที่จะมาเป็นครูคณิตศาสตร์ รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก
จับต้องไม่ได้ จึงร่วมมือกับนักศึกษาสร้างสถานีการทดลองคณิตศาสตร์แบบ hands-on ขึ้น
เพื่อให้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่จับต้องได้
ปัจจุบันนอกจากมีนิทรรศการประจำที่เมืองกีเซ่น
ยังมีนิทรรศการเคลื่อนที่ไปโรงเรียนและชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลก
ไม่กี่ปีที่แล้ว
มีมูลนิธิของบริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีคิดหนักว่า
ควรใช้เงินกับโครงการประเภทไหนดี สุดท้ายทำโครงการพัฒนาครูคณิตศาสตร์ระดับประถมสอนคณิตศาสตร์ได้แบบ
hands-on และสนุกสนาน เพื่อสุดท้ายสามารถสร้างคนที่มีพื้นฐานความคิดแบบมีตรรกะ
ช่วยกันพัฒนาประเทศ!
คิดไกลมากใช่ไหมคะ
ในงานสัมมนา Dr. Norbert Spitz ผอ. สถาบันเกอเธ่
ยังกล่าวถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ก่อน เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างในการเล่น เล่นเป็นกลุ่ม
คือแบบ hands-on ซึ่งสามารถฝึกทักษะสังคม การแก้ปัญหา แต่เดี๋ยวนี้เด็ก ๆ
มักเล่นคนเดียว คือ เล่นคอมพิวเตอร์ สื่อสารทางเดียว ทำให้ไม่ค่อยตั้งคำถาม
เพราะฉะนั้นการวางกลยุทธให้เด็กไทยอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ
และทำได้ง่าย เพราะการอ่านนำสู่การตั้งคำถาม และต้องค้นหาคำตอบด้วยการปฏิบัติจริง
เรื่องนี้จะทำได้ง่ายขึ้นหากครูและผู้ปกครองสร้างเวทีให้เกิด
ดิฉันขอปิดท้ายบทความด้วยคำกล่าวปิดงานของ มรว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร
คือ “เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์
และไม่ใช่ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้
เราเพียงต้องการให้คนไทยรู้จักคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์”
ซึ่งดิฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น